ผลงานทางวิชาการของครู ตอนที่ 2


วิทยฐานะใหม่ ตาม ว17

ผลงานทางวิชาการ  ตอนที่ 2

                                                โดยยืนยง  ราชวงษ์

                ตอนที่ 1 ได้นำเสนอถึงการประเมินด้านที่ 2 ว่าจะประเมินอะไรบ้าง และครูต้องทำอะไรจึงจะได้ระดับคะแนน 4 (คือคะแนนเต็ม) ตอนที่ 2 ขอนำเสนอการประเมินด้านที่ 3 ว่าประเมินอะไรบ้าง การประเมินด้านที่ 3 ด้านผลการปฏิบัติงานของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สายงานการสอน มีคะแนนเต็ม 100 คะแนน จะทำการประเมิน 2 ส่วน คือ

ส่วนที่ 1 ผลการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน (60 คะแนน) มี 3 ด้าน จำนวน 6/7  ตัวบ่งชี้

                ด้านที่ 1 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน

                สำหรับครูปกติทั่วไป( 3 ตัวบ่งชี้)

ตัวบ่งชี้ 1.1 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียน หมายถึง ค่าทีเฉลี่ยผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนโดยเปรียบเทียบก่อนเรียนและหลังเรียน

                การที่ครูจะได้ระดับ 4 ค่าทีเฉลี่ยผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน ร้อยละ 20 ของคะแนนก่อนเรียน

ตัวบ่งชี้ 1.2 ค่าทีเฉลี่ยผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของวิชาที่สอน หมายถึง ค่าทีเฉลี่ยผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนเปรียบเทียบปีปัจจุบันกับปีที่ผ่านมา

การที่ครูจะได้ระดับ 4 ค่าทีเฉลี่ยผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนปีปัจจุบันสูงกว่าของผู้เรียนปีที่ผ่านมา ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10

ตัวบ่งชี้ 1.3 ผลการประเมินและหรือการทดสอบของวิชาที่สอน/กลุ่มสาระการเรียนรู้ในระดับเขต/ประเทศ หมายถึง ความก้าวหน้าของการทดสอบในวิชาที่ผู้สอนรับผิดชอบการจัดการเรียนการสอน

การที่ครูจะได้ระดับ 4 ผลการประเมินและหรือการทดสอบของวิชาที่สอน/กลุ่มสาระการเรียนรู้ ในระดับเขต/ประเทศในปีปัจจุบันสูงกว่าปีที่ผ่านมาไม่น้อยกว่า ร้อยละ 10 ของค่าเฉลี่ยของปีที่ผ่านมา

สำหรับครูปฐมวัย ( 3 ตัวบ่งชี้)

ตัวบ่งชี้ 1.1 ผู้เรียนที่มีพัฒนาการตามมาตรฐานคุณลักษณะอันพึงประสงค์

หมายถึง ผู้เรียนมีพัฒนาการตามมาตรฐานคุณลักษณะอันพึงประสงค์ 12 ข้อ ตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2546

การที่ครูปฐมวัยจะได้ระดับ 4 ผู้เรียนร้อยละ 80 ขึ้นไป มีพัฒนาการตามมาตรฐานคุณลักษณะอันพึงประสงค์ 12 ข้อ ตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2546 สอดคล้องกับพัฒนาการตามวัยและถูกต้องตามหลักวิชาการ

ตัวบ่งชี้ 1.2 ระดับ/คะแนนพัฒนาการก่อนพัฒนาและหลังพัฒนา ในปีปัจจุบันสูงกว่าปีที่ผ่านมา หมายถึง ระดับ/คะแนนของผู้เรียนพัฒนาการของผู้เรียนทั้ง 4 ด้านโดยเปรียบเทียบปีที่ผ่านมากับปีปัจจุบัน (ระดับชั้นอนุบาล 1 หมายถึง ความก้าวหน้าทางพัฒนาการของผู้เรียนที่ศึกษาในปีการศึกษาต่างกัน หรือ ระดับชั้นอนุบาล 2 หรือระดับชั้นอนุบาล 3 หมายถึง ระดับ/คะแนนพัฒนาการของผู้เรียนกลุ่มเดียวกันที่เลื่อนระดับชั้นสูงขึ้น โดยเปรียบเทียบระหว่างระดับ/คะแนนพัฒนาการ ชั้นปีที่ผ่านมากับปีปัจจุบัน)

การที่ครูปฐมวัยจะได้ระดับ 4 ระดับ/คะแนนพัฒนาการทั้ง 4 ด้านของผู้เรียนในปีปัจจุบันสูงกว่าปีที่ผ่านมาไม่น้อยกว่าร้อยละ 10

ตัวบ่งชี้ 1.3 ผลการประเมินพัฒนาการระดับเขต/ประเทศ หมายถึง ผู้เรียนมีผลการประเมินพัฒนาการระดับเขต/ประเทศในปีปัจจุบันสูงกว่าปีที่ผ่านมา

การที่ครูปฐมวัยจะได้ระดับ 4 ผลการประเมินพัฒนาการ ระดับเขต/ประเทศในปีปัจจุบันสูงกว่าปีที่ผ่านมาไม่น้อยกว่าร้อยละ 10

ด้านที่ 2 ผลการพัฒนาผู้เรียนด้านอื่น ๆ พิจารณาตามตัวบ่งชี้ครูปกติพิจารณา 2 ตัวบ่งชี้ แต่ครูปฐมวัยพิจารณา 1 ตัวบ่งชี้ ดังนี้

                สำหรับครูปกติทั่วไป( 2 ตัวบ่งชี้ 20 คะแนน)

ตัวบ่งชี้ 2.1 ผลการพัฒนาผู้เรียน ด้านสุขภาพ ร่างกาย สติปัญญา อารมณ์และสังคม หมายถึง ผลจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้เรียนที่เกิดจากการจัดการเรียนรู้กิจกรรมประจำวัน/กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ด้านสุขภาพ ร่างกาย สติปัญญา อารมณ์และสังคม ตามหลักสูตรและตามที่สถานศึกษากำหนด

การที่ครูปกติทั่วไปจะได้ระดับ 4 ผู้เรียนร้อยละ 80 ขึ้นไป มีผลการพัฒนาด้านสุขภาพร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคมตามหลักสูตรและตามที่สถานศึกษากำหนดในระดับดีในรายวิชาที่เสนอขอผลงาน

ตัวบ่งชี้ 2.2 คุณลักษณะอันพึงประสงค์ หมายถึง ผู้เรียนมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์

ตามหลักสูตรและตามที่สถานศึกษากำหนดในรายวิชาที่เสนอขอผลงาน

การที่ครูปกติทั่วไปจะได้ระดับ 4 ผู้เรียนร้อยละ 80 ขึ้นไป มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามหลักสูตรและตามที่สถานศึกษากำหนดในระดับดีในรายวิชาที่เสนอขอผลงาน

สำหรับครูปฐมวัย(1 ตัวบ่งชี้ 20 คะแนน)

ตัวบ่งชี้ ผลการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนเพิ่มเติมจากที่กำหนดในหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2546 หมายถึง คุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนที่ครูกำหนดเพิ่มเติมจากที่กำหนดในหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2546 ซึ่งสอดคล้องกับหลักการจัดการศึกษาปฐมวัย

การที่ครูปฐมวัยจะได้ระดับ 4 ผู้เรียนร้อยละ 80 ขึ้นไป มีผลการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนเพิ่มเติมจากที่กำหนดไว้ในหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2546 จำนวน 2 คุณลักษณะ

ด้านที่ 3 ปริมาณและสภาพของงาน พิจารณาตามตัวบ่งชี้ ดังนี้

สำหรับครูปกติทั่วไป( 2 ตัวบ่งชี้ 10 คะแนน)

ตัวบ่งชี้3.1 ปริมาณงาน หมายถึง จำนวนชั่วโมงที่ปฏิบัติการสอน จำนวนกลุ่มสาระการเรียนรู้/กลุ่มประสบการณ์/สาขาวิชา/รายวิชาที่รับผิดชอบและจำนวนนักเรียนที่รับผิดชอบ

การที่ครูปกติทั่วไปจะได้ระดับ 4 มีปริมาณงาน รายการใดรายการหนึ่ง ดังนี้ จำนวนชั่วโมงสอนขั้นต่ำตามที่ส่วนราชการกำหนดและเพิ่มอีก 6 ชั่วโมง หรือ ทำการสอนไม่น้อยกว่า 4 กลุ่มสาระการเรียนรู้/กลุ่มประสบการณ์/สาขาวิชา/รายวิชา หรือ จำนวนนักเรียนที่ทำการสอน 60 คนขึ้นไป

ตัวบ่งชี้ 3.2 สภาพของงาน หมายถึง 1) ความรับผิดชอบของผู้สอนที่มีต่อนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเศรษฐกิจ/วัฒนธรรม/สังคม/พัฒนาการตามวัยและ 2) สถานศึกษาที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ปกติ 3) พื้นที่ภูเขาหรือเกาะหรือติดกับรอยตะเข็บชายแดนหรือ 4) พื้นที่มีลักษณะพิเศษเช่น กันดาร เสี่ยงภัยตามประกาศของทางราชการ เป็นต้น

การที่ครูปกติทั่วไปจะได้ระดับ 4 มีสภาพของงาน จำนวน 4 รายการ

สำหรับครูปฐมวัย( 2 ตัวบ่งชี้ 10 คะแนน)

ตัวบ่งชี้ 3.1 ปริมาณงานการใช้แหล่งเรียนรู้ โครงการหรือกิจกรรมพิเศษสอดคล้องการจัดกิจกรรมประจำวัน หมายถึง กิจกรรมหรือประสบการณ์การเรียนรู้ที่ครูจัดเพิ่มเติมจากตารางกิจกรรมประจำวันเพื่อเสริมการเรียนรู้ตามหน่วยงานการเรียนรู้ที่จัดให้กับผู้เรียนหรือเพื่อขยายประสบการณ์ในการดำเนินชีวิตที่เหมาะสมกับวัยของผู้เรียน

การที่ครูปฐมวัยจะได้ระดับ 4 มีการใช้แหล่งเรียนรู้ โครงการหรือกิจกรรมพิเศษสอดคล้องการจัดกิจกรรมประจำวันอย่างน้อย 8 ครั้งต่อปี

ตัวบ่งชี้ 3.2 สภาพของงาน หมายถึง 1) ความรับผิดชอบของผู้สอนที่มีต่อนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเศรษฐกิจ/วัฒนธรรม/สังคม/พัฒนาการตามวัยและ 2) สถานศึกษาที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ปกติ 3) พื้นที่ภูเขาหรือเกาะหรือติดกับรอยตะเข็บชายแดนหรือ 4) พื้นที่มีลักษณะพิเศษเช่น กันดาร เสี่ยงภัยตามประกาศของทางราชการ เป็นต้น

การที่ครูปฐมวัยจะได้ระดับ 4 มีสภาพของงาน จำนวน 4 รายการ

จะเห็นได้ว่าการประเมิน ส่วนที่ 1 ของด้านที่ 3 ค่อนข้างจะเป็นวิทยาศาสตร์มาก ครูต้องมุ่งมั่นที่จะพัฒนาผลสัมฤทธิ์ในวิชาที่รับผิดชอบ ต้องนำมาเปรียบก่อนหลัง เปรียบเทียบกับคนละปี (คนละรุ่น ถือว่าเป็นปัญหาในปีที่จะส่งผลงานทางวิชาการ ปรากฏว่ารุ่นนี้ผลการเรียนจะด้อยกว่ารุ่นที่แล้วก็จะไม่ได้คะแนนในการประเมินในระดับ 4)

ส่วนที่ 2 ผลงานทางวิชาการ (40 คะแนน)

ผลงานทางวิชาการของสายงานการสอน หมายถึง รายงานการศึกษา ค้นคว้า หรือผลการวิจัยในชั้นเรียน หรือผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่น ที่มีจุดมุ่งหมายในการแก้ปัญหาด้านการเรียนของผู้เรียนและสอดคล้องกับแผนการจัดการเรียนรู้ มีการศึกษาแนวคิด ทฤษฎีและองค์ความรู้ต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาและนำไปสู่การสรุปองค์ความรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียน โดยมีลักษณะดังนี้

1. ตรงกับสาขาวิชาที่ขอให้มีหรือเลื่อนวิทยฐานะ

2. เป็นผลงานที่เกี่ยวกับการพัฒนาการเรียนการสอนในกลุ่มสาระการเรียนรู้หรือสาขาวิชาต่าง ๆ และใช้ประโยชน์ในการเรียนการสอน

3. เกิดจากการปฏิบัติงานตามหน้าที่ความรับผิดชอบทางด้านการสอน

ประเภทผลงานทางวิชาการ

ผลงานทางวิชาการที่เสนอขอต้องแสดงถึงความรู้ความสามารถ ความชำนาญและความเชี่ยวชาญของผู้ขอให้มีหรือเลื่อนวิทยฐานะ แบ่งตามลักษณะของผลงานทางวิชาการ เป็น 3 ประเภท ดังนี้

1. ผลงาน งานแต่งเรียบเรียง งานแปล หนังสือ หรือบทความทางวิชาการซึ่งเป็นผลงานที่ได้รับการเผยแพร่มาแล้ว และผลงานดังกล่าวสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา

2. ผลงานวิจัย ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ได้รับการเผยแพร่มาแล้ว และผลงานดังกล่าวสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาการจัดการศึกษาและการพัฒนาคุณภาพการศึกษา

3. ผลงานทางวิชาการในลักษณะอื่น เช่น

3.1 การประเมินงาน หรือการประเมินโครงการที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานในหน้าที่

3.2 สื่อ นวัตกรรมทางการศึกษา เช่น ผลงานด้านการจัดทำสื่อการเรียนการสอน

ผลงานด้านการคิดพัฒนารูปแบบนวัตกรรมที่นำ มาใช้ในการปฏิบัติงานทำ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงขึ้น ซึ่งอาจจัดทำเป็นเอกสาร หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ รวมทั้งเทคนิค วิธีการจัดการเรียนรู้ อันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา

3.3 เอกสารประกอบการปฏิบัติหน้าที่ เป็นเอกสารที่สามารถใช้ประกอบในการปฏิบัติหน้าที่ด้านการเรียนการสอน ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนา ประสิทธิภาพการทำงานในหน้าที่ให้สูงขึ้น สำหรับแผนการจัดการเรียนรู้ให้ใช้เป็นเอกสารประกอบการประเมินด้านที่ 2 ด้านความรู้ความสามารถเท่านั้น มิให้นำมาเสนอเป็นผลงานทางวิชาการ

3.4 กรณีผลงานทางวิชาการที่ผู้ขอรับการประเมินมิได้จัดทำแต่ผู้เดียว แต่ได้ร่วมจัดทำกับผู้อื่นในรูปคณะทำงานหรือกลุ่ม ให้ชี้แจงให้ชัดเจนว่าผู้ขอรับการประเมินมีส่วนร่วมในการจัดทำในส่วนใด ตอนใด หน้าใดบ้าง คิดเป็นร้อยละเท่าไรของผลงานทางวิชาการแต่ละเล่ม และให้ผู้ร่วมจัดทำทุกคนรับรองพร้อมทั้งระบุว่าผู้ร่วมจัดทำแต่ละรายได้ทำส่วนใดบ้าง

3.5 ผลงานทางวิชาการที่เสนอขอรับการประเมินต้องไม่เป็นผลงานทางวิชาการที่ใช้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาเพื่อรับปริญญา หรือประกาศนียบัตรใดๆ หรือผลงานทางวิชาการที่เคยใช้เพื่อเลื่อนตำแหน่งหรือเพื่อให้มีวิทยฐานะหรือเลื่อนวิทยฐานะมาแล้ว

ลักษณะสำคัญของผลงานทางวิชาการ

เป็นส่วนที่คณะกรรมการพิจารณาประเมินผลงานทางวิชาการ ประกอบด้วย 2 ด้าน คือ

1. ด้านคุณภาพของผลงานทางวิชาการ (20 คะแนน)

1.1 ความถูกต้องตามหลักวิชาการ ผลงานทางวิชาการต้องมีความถูกต้องตามหลักวิชาการและรูปแบบของผลงานประเภทนั้น ๆ เช่น งานวิจัยจัดทำถูกต้องตามระเบียบวิธีวิจัย รายงานการประเมินโครงการจัดทำถูกต้องตามวิธีการและรูปแบบของการประเมินโครงการ หรือ รายงานการพัฒนานวัตกรรมจัดทำถูกต้องตามวิธีการและรูปแบบของการพัฒนานวัตกรรม เป็นต้น

1.2 ความสมบูรณ์ของเนื้อหาสาระ ผลงานทางวิชาการต้องมีเนื้อหาสาระสมบูรณ์ ครบถ้วนถูกต้องตามหลักวิชาการ ทันสมัย มีการค้นคว้าอ้างอิงถูกต้องเชื่อถือได้ การเรียบเรียงถูกต้องตามหลักภาษา และจัดหัวข้อเป็นระบบเดียวกัน ฯลฯ

1.3 ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ผลงานทางวิชาการต้องแสดงให้เห็นถึงการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ พัฒนาและการประยุกต์ใช้ โดยไม่คัดลอกหรือลอกเลียนผลงานทางวิชาการของผู้อื่นโดยมิชอบ

1.4 การจัดทำ การพิมพ์และรูปเล่ม ผลงานทางวิชาการต้องมีการจัดทำอย่างประณีต การพิมพ์ถูกต้องตามหลักวิชาการ และสวยงาม เช่น การพิมพ์หัวข้อ การย่อหน้า การพิมพ์ตาราง การพิมพ์เชิงอรรถ บรรณานุกรม การจัดทำรูปเล่มถูกต้อง มีปกหน้า ปกใน คำนำ สารบัญ เนื้อหา บรรณานุกรม ภาคผนวก ปกหลัง เป็นต้น

2. ประโยชน์ของผลงานทางวิชาการ (20 คะแนน)

2.1 ประโยชน์ต่อผู้เรียน ครู บุคลากรทางการศึกษา การจัดการศึกษาหน่วยงานการศึกษา และชุมชน พิจารณาจาก ผลที่ปรากฏต่อผู้เรียน ครู บุคลากรทางการศึกษา การจัดการศึกษา หน่วยงานการศึกษา และชุมชน อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

2.2 ประโยชน์ต่อความก้าวหน้าทางวิชาการและการเผยแพร่ในวงวิชาการ พิจารณาจากประโยชน์ต่อความก้าวหน้าทางวิชาการหรือวิชาชีพ สามารถเป็นแบบอย่างใช้เป็นแหล่งอ้างอิง หรือเป็นแบบในการปฏิบัติได้เป็นอย่างดี มีการนำผลงานไปเผยแพร่ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น จัดพิมพ์ในรายงานประจำปี เอกสาร วารสาร การนำเสนอต่อที่ประชุม สัมมนา การจัดนิทรรศการ การเผยแพร่ ทางวิทยุ โทรทัศน์ หรือ website เป็นต้น

ดังนั้นการที่ครูจะเลื่อนวิทยฐานะให้สูงขึ้นต้องมีการเตรียมการวางแผนเป็นระยะเวลานานพอสมควรอย่างน้อยที่สุด 2 ปีการศึกษา เพื่อให้ผลงานทางวิชาการนั้นมีคุณภาพและเกิดประโยชน์ตามที่ ก.ค.ศ.กำหนด

หมายเลขบันทึก: 363726เขียนเมื่อ 4 มิถุนายน 2010 13:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 01:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ท่านสมกับเป็นผู้เชี่ยวชาญจริงๆ ทั้งให้ ทั้งเผยแพร่สาระความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่เพื่อนครูมาโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง

มีผลงานระดับปฐมวัยที่ผ่านแล้ว ท่านสามารถนำไปปรับใช้ได้และมีตัวอย่างกคศ.1-12 ให้เป็นตัวอย่างด้วยคะสนใจ0892637656

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท