ผลงานทางวิชาการของครู ตอนที่ 1


วิทยฐานะใหม่ตาม ว 17

ผลงานทางวิชาการของครู  ตอนที่ 1

                                                                โดยยืนยง  ราชวงษ์

ตามที่ ก.ค.ศ.ได้กำหนดทำคู่มือ การประเมินเพื่อให้มีหรือเลื่อนวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ในแต่ละสายงาน ตามหนังสือ สำนักงาน ก.ค.ศ. ด่วนที่สุด ที่ ศธ 0206.4/1100 ลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2553 ก็ฝากให้ครูผู้รักความก้าวหน้าในวิชาชีพได้ทำการศึกษาคู่มือเพื่อเป็นประโยชน์สำหรับตนเองและเพื่อนร่วมงานต่อไป มีสิ่งที่น่าสนใจเบื้องต้น คือ ยังมีการประเมิน 3 ด้านเช่นเดิม คือ ด้านที่ 1 ด้านวินัย คุณธรรม จริยธรรมและจรรยาบรรณวิชาชีพ ด้านที่ 2 ใช้ภาษาใหม่ว่า ด้านความรู้ความสามารถ และด้านที่ 3 ด้านผลการปฏิบัติงาน

ในการประเมินหรือเลื่อนวิทยฐานะก็ยังคงอยู่ในรูปของคณะกรรมเหมือนเดิม ถ้าต้องการมีวิทยฐานะชำนาญการ ก็ใช้คณะกรรมชุดเดียวประเมินด้านที่ 1 ถึง ด้านที่ 3 แต่ถ้าวิทยฐานะชำนาญการพิเศษจนถึงเชี่ยวชาญพิเศษ ก็ใช้คณะกรรมการประเมิน 2 ชุด ชุดที่ 1 ประเมินด้านที่ 1 และด้านที่ 2 สำหรับชุดที่ 3 ประเมินด้านที่ 3 วิธีการยื่นคำขอเปลี่ยนแปลงไปยื่นได้รอบปีละ 1 ครั้ง ขณะยื่นคำขอประเมินทุกด้านต้องพร้อมรับประเมิน โดยเฉพาะด้านที่ 3 ด้านผลการปฏิบัติงานจะมีผลงานทางวิชาการอยู่ด้วย ต้องส่งพร้อมกับคำขอ  สิ่งที่ต้องการให้ครูมีความพร้อมคือด้านที่ 2 และด้านที่ 3 มีความเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้นในการประเมิน มีเกณฑ์การให้ระดับคะแนนค่อนข้างชัดเจน ยกเว้นผลงานทางวิชาการที่ไม่ได้กำหนดเกณฑ์การให้คะแนน เพียงแต่กำหนดเป็นประเด็นมาให้ว่าจะประเมินอะไรบ้าง และประเด็นดังกล่าวกี่คะแนน สำหรับคณะกรรมการจะให้คะแนนเท่าไรก็อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการ วันนี้ขอนำเสนอการประเมินด้านที่ 2 ที่ถือว่าเป็นส่วนสำคัญ สำหรับด้านที่ 1 จะไม่นำเสนอ ว่าครูจะเตรียมตัวอะไรบ้างเพื่อรับการประเมิน

ด้านที่ 2 ด้านความรู้ความสามารถของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา สายงานการสอน มีคะแนนเต็ม 100 คะแนน ประเมิน 2 ส่วน คือ

ส่วนที่ 1 การเป็นผู้มีความสามารถในการจัดการเรียนการสอน (60 คะแนน) มีจำนวน 4 ตัวบ่งชี้

ตัวบ่งชี้ที่ 1 ความสามารถในการจัดทำหลักสูตรอย่างเป็นระบบ หมายถึง ความสามารถ   ในการวิเคราะห์หลักสูตร พัฒนาหลักสูตร การนำหลักสูตรไปใช้ การประเมินหลักสูตรและการปรับปรุงหลักสูตร(หลักสูตร หมายถึง มวลประสบการณ์ที่ผู้สอนจัดทำขึ้นเพื่อใช้ในการจัดการเรียนรู้ในสาระ/รายวิชา/สาขาที่เสนอขอโดยมีการวิเคราะห์มาตรฐานและตัวชี้วัด สมรรถนะ คุณลักษณะอันพึงประสงค์ กระบวนการเรียนรู้ แนวทางการจัดการเรียนรู้ สื่อการเรียนรู้ การวัดและการประเมินผล ที่กำหนดไว้ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 หรือหลักสูตรอื่นตามที่หน่วยงานกำหนด)

 การที่ครูปกติทั่วไปและครูปฐมวัยจะได้คะแนนระดับ 4 ครูต้องมีความสามารถในการจัดทำหลักสูตรอย่างเป็นระบบโดยมีการวิเคราะห์หลักสูตร การพัฒนาหลักสูตรการนำหลักสูตรไปใช้ การประเมินหลักสูตรการปรับปรุงหลักสูตร ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการและเป็นแบบอย่างที่ดีได้

ตัวบ่งชี้ที่ 2 แผนการจัดการเรียนรู้/แผนการจัดประสบการณ์/แผนการจัด การศึกษาเฉพาะบุคคล (IEP) หมายถึง ความสามารถในการจัดทำแผนการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับหลักสูตร ผู้เรียนและบริบทของชุมชน มีองค์ประกอบของแผนครบถ้วนสอดคล้องกัน และถูกต้องตามหลักวิชาการ มีการออกแบบการเรียนรู้ที่หลากหลายและถูกต้อง มีการวัดและประเมินผลสอดคล้องกับจุดประสงค์และกระบวนการจัดการเรียนรู้โดยใช้วิธีการที่หลากหลาย มีการบันทึกผลการจัดการเรียนรู้และการนำมาพัฒนาการจัดการเรียนรู้ สำหรับผู้ขอรับการประเมินที่สอนระดับปฐมวัย แผนการจัดประสบการณ์ต้องสอดคล้องกับกิจกรรมหลักครอบคลุมพัฒนาการเด็กทุกด้าน และมีความสมดุลสำหรับผู้ขอรับการประเมินที่สอนการศึกษาพิเศษ แผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล

หมายความว่า แผนซึ่งกำหนดแนวทางการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการจำเป็นพิเศษของเด็กพิการตลอดจนกำหนดเทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการ และความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษาเฉพาะบุคคล

การที่ครูปกติทั่วไปจะได้ระดับ 4 ครูต้องมีแผนการจัดการเรียนรู้ โดยมีคุณภาพดังนี้ สอดคล้องกับหลักสูตร ผู้เรียน และบริบทของชุมชน มีองค์ประกอบของแผนครบถ้วนสอดคล้องกันและถูกต้องตามหลักวิชาการ มีการออกแบบการเรียนรู้ที่หลากหลายและถูกต้อง มีการวัดและประเมินผลสอดคล้องกับจุดประสงค์การเรียนรู้ และกระบวนการจัดการเรียนรู้โดยใช้วิธีการที่หลากหลายมีการบันทึกผลการจัดการเรียนรู้ และนำผลจากการบันทึกมาพัฒนาการจัดการเรียนรู้ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ และเป็นแบบอย่างที่ดีได้

ถ้าครูปฐมวัยต้องมีแผนการจัดประสบการณ์ ที่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้ โดยมีคุณภาพดังนี้ สอดคล้องกับกิจกรรมหลักครอบคลุมพัฒนาการเด็กทุกด้านและมีความสมดุล  มีองค์ประกอบของแผนครบถ้วนสอดคล้องกันและถูกต้องตามหลักวิชาการ มีการออกแบบการเรียนรู้และการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้มีการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่หลากหลายและถูกต้อง มีการวัดและประเมินผลสอดคล้องกับจุดประสงค์และกระบวนการจัดประสบการณ์โดยใช้วิธีการที่หลากหลาย  มีการบันทึกผลการจัดประสบการณ์ และนำผลจากการบันทึกมาพัฒนาการจัดประสบการณ์ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ และเป็นแบบอย่างที่ดีได้

ตัวบ่งชี้ที่ 3 ความสามารถในการเลือก/ออกแบบ การผลิต/จัดหา การนำไปใช้การประเมินผลและการพัฒนาสื่อ/นวัตกรรมที่สอดคล้องกับกระบวนการจัดการเรียนรู้หมายถึง ความสามารถในการเลือก ผลิต ใช้ และพัฒนาสื่อ/นวัตกรรมที่ถูกต้องตามหลักวิชาการสอดคล้องกับกระบวนการจัดการเรียนรู้ (สื่อ/นวัตกรรม สื่อ หมายถึง สิ่งที่ใช้ประกอบการจัดการเรียนรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการเรียนการสอน โดยอาจเป็นวัสดุ อุปกรณ์ วิธีการในการจัดการเรียนรู้ที่ผู้สอน เลือก จัดหา หรือจัดทำขึ้นใช้ ส่วนนวัตกรรม หมายถึง สิ่งที่ผู้สอน จัดทำขึ้นใหม่ โดยใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของตนเอง ต่อยอดความคิดจากสื่อเดิมให้เกิดประโยชน์ยิ่งขึ้น นอกจากนี้ นวัตกรรม อาจเป็นกระบวนการ เทคนิค วิธีการที่ผู้สอนคิดขึ้นเพื่อใช้จัดการเรียนรู้ให้มีคุณภาพตามมาตรฐานและตัวชี้วัดหรือจุดมุ่งหมายของหลักสูตรอื่น)

การที่ครูปกติทั่วไปจะได้ระดับ 4 ต้องมีความสามารถในการเลือก/ออกแบบ ผลิต /จัดหานำไปใช้ ประเมินผล และพัฒนาสื่อ/นวัตกรรมโดยสอดคล้องกับกระบวนการจัดการเรียนรู้ถูกต้องตามหลักวิชาการ และเป็นแบบอย่างที่ดีได้

ถ้าครูปฐมวัยต้องมีความสามารถในการเลือก/ออกแบบ ผลิต/จัดหานำไปใช้ ประเมินผล และพัฒนาสื่อ/นวัตกรรมโดยสอดคล้องกับลักษณะพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย ถูกต้องตามหลักวิชาการและเป็นแบบอย่างที่ดีได้

ตัวบ่งชี้ที่ 4 แฟ้มสะสมผลงานคัดสรรที่เกี่ยวกับผู้เรียน สถานศึกษา ชุมชน และตนเอง หมายถึง แฟ้มสะสมผลงานที่ผู้สอนได้คัดเลือกผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติงานในหน้าที่ และงานที่ได้รับมอบหมายของผู้สอนที่เกี่ยวข้องกับผู้เรียน สถานศึกษา ชุมชน และตนเองโดยเป็นผลงานดีเด่นหรือผลงานที่แสดงพัฒนาการของการปฏิบัติงานในแต่ละกลุ่มสำหรับผู้ขอรับการประเมินที่สอนการศึกษาพิเศษ แฟ้มสะสมผลงาน หมายถึง แฟ้มสะสมผลงานที่ผู้สอนได้รับมอบหมายเกี่ยวกับการสอน

การที่ครูปกติทั่วไปและครูปฐมวัยจะได้ระดับ 4 ครูต้องมีแฟ้มสะสมผลงานคัดสรรที่เกี่ยวกับผู้เรียนสถานศึกษา ชุมชน และตนเองครบถ้วนทั้ง 4 ด้านและเป็นแบบอย่างที่ดีได้

ส่วนที่ 2 การพัฒนาตนเองเพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะในสาขาหรือกลุ่มสาระที่รับผิดชอบ

หรือในงานที่รับผิดชอบ (40 คะแนน) มีจำนวน 3 ตัวบ่งชี้ ดังนี้

ตัวบ่งชี้ที่ 1 การศึกษาค้นคว้าหาความรู้ด้วยวิธีการต่างๆ ที่ทำให้เกิดความรู้และทักษะเพิ่มขึ้น หมายถึง การศึกษาค้นคว้าหาความรู้ ด้วยการเข้าประชุมทางวิชาการ การอบรมสัมมนา การศึกษาต่อ การศึกษาเอกสารทางวิชาการ การศึกษาค้นคว้าจากสื่อ/วิธีการอื่นๆ และการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางวิชาการที่ทำให้เกิดความรู้และทักษะเพิ่มขึ้น

การที่ครูปกติทั่วไปและครูปฐมวัยจะได้ระดับ 4 ครูต้องมีการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ด้วยการวิธีการต่าง ๆ 4 รายการ ที่ทำให้เกิดความรู้และทักษะเพิ่มขึ้น ดังนี้ 1)การประชุมทางวิชาการ/ การอบรม/การสัมมนารวมแล้วไม่น้อยกว่า 20 ชั่วโมงต่อปี หรือการศึกษาต่อ 1 หลักสูตร 2)การศึกษาเอกสารทางวิชาการ 4 เรื่องต่อปี 3)การศึกษาค้นคว้าจากสื่อ/วิธีการอื่นๆ 4 เรื่องต่อปี 4) การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการ 4 ครั้งต่อปี

ตัวบ่งชี้ที่ 2 การประมวลความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาวิชาการและวิชาชีพ และการนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน หมายถึง การเลือก การสรุป การจัดระบบความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาวิชาการและวิชาชีพ และจัดทำเป็นเอกสารทางวิชาการเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอน

การที่ครูปกติทั่วไปและครูปฐมวัยจะได้ระดับ 4 ครูต้องมีการประมวลความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาวิชาการและวิชาชีพ เป็นเอกสารทางวิชาการ 6 เรื่องต่อปีและนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนครบทั้ง 6 เรื่องต่อปี

ตัวบ่งชี้ที่ 3 การให้บริการทางวิชาการและวิชาชีพ หมายถึง การเป็นวิทยากร การเผยแพร่เอกสาร สื่อ/นวัตกรรม การให้ความร่วมมือด้านวิชาการและวิชาชีพแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง

การที่ครูปกติทั่วไปและครูปฐมวัยจะได้ระดับ 4 ครูต้องมีการให้บริการทางวิชาการและวิชาชีพโดยการเป็นวิทยากร/การเผยแพร่เอกสาร/สื่อ/นวัตกรรม/การให้ความร่วมมือด้านวิชาการและวิชาชีพ 4 เรื่องต่อปี

 

หมายเลขบันทึก: 363725เขียนเมื่อ 4 มิถุนายน 2010 13:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 08:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ขอบคุณค่ะ อธิบายทำให้เห็นแนวทางในการนำไปปฏิบัติได้ชัดเจนค่ะ

ตอนนี้กำลังศึกษาเพื่อที่จะทำผลงานเลื่อนวิทยะฐานะตามเกณฑ์ใหม่ค่ะ

ครั้งต่อไปจะมาขอคำปรึกษาจากท่านนะคะ

ขอบคุณทำให้เข้าใจเรื่องแฟ้มสะสมผลงานคัดสรรได้ชัดเจนขึ้นค่ะ

นอกจาก ว๑๗ แล้ว ยังมีว๕ เป็นรูปแบบล่าสุดที่ ก.ค.ศ. กำหนดให้มีหรือเลื่อนวิทยฐานะเป็นชำนาญการพิเศษและเชี่ยวชาญ ทุกสายงาน/ตำแหน่ง นะครับ

ขอบคุณมาก มีเพื่อนครูที่โรงเรียนกำลังทำระดับปฐมวัย ได้แนวทางไปดำเนินการ ขอบคุณมากค่ะ

สวัสดีค่ะ

  • ว.17 พอจะเข้าใจบ้าง  แต่ดูลึกลงไปว่าต้องจัดทำหรือจัดเตรียมอะไรบ้าง
  • และแต่ละขั้นตอน..ผู้ขอประเมิน ต้องเตรียมเอกสารอย่างไร
  • รายละเอียดของแฟ้มสะสมงาน ฯลฯ
  • อยากทราบรายละเอียดของ ว.5 ด้วยค่ะ 
  • ไว้ประดับเป็นความรู้และแนะนำน้องๆได้ถูกทางและถูกต้อง
  • ขอบคุณมากค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท