พิธีทำขวัญนาค ตอนที่ 2 งานบวชที่คุ้มทุนอิ่มใจในผลบุญที่ได้รับตอบแทน


งานนี้เจ้าภาพต้องลงทุนมาก มีหลายอย่าง (ไม่จนเกินไป) แต่ก็อิ่มเอมใจที่ได้ผลตอบแทนกลับมา

พิธีทำขวัญนาค

ตอนที่ 2 งานบวชที่คุ้มทุน

อิ่มใจในผลบุญที่ได้รับตอบแทน

ชำเลือง มณีวงษ์ (เล่าเรื่อง)

         ในความคิดเห็นของหลาย ๆ ท่าน ที่มีต่องานบวชนาค (บวชชายหนุ่มเป็นพระ) มีทั้งเห็นด้วย ไม่เห็นด้วยกับการที่จะต้องลงทุนอย่างมากมายมหาศาลในการจัดงานบวชลูกชายในแต่ละบ้าน เพราะอะไรเขาเหล่านั้นจึงต้องลงทุนมากมายทั้งที่เป้าหมายปลายทางคือ ได้บวชพระ 1 องค์

        ในฐานะที่ผมได้มีโอกาสไปร่วมงานบวชนาคมานานกว่า 40 ปี ผมได้ยินได้ฟังคำกล่าวอย่างนี้ ก็ถือว่า นานาจิตตัง เป็นสิทธิของแต่ละบุคคล จะเป็นด้วยฐานะ จุดประสงค์ ความต้องการที่แตกต่างกันไป ผมขอเคารพในสิทธิของแต่ละท่านด้วยความจริงใจ เราไม่อาจที่จะแข่งศรัทธาซึ่งอยู่ภายในของทุกท่านได้ ในใจของท่านคิดเรื่องงานบุญอย่างไร ผู้อื่นมิอาจที่จะล่วงรู้ได้

        บางท่านกล่าวว่า “จัดงานบวชลูกชาย มิได้จัดงานรื่นเริงสนุกสนาน ดังนั้นท่านจึง เตรียมการเรื่องเครื่องอัตถบริขาร จัดทำอาหารถวายพระ (แบบข้าวหม้อแกงหม้อ) โกนหัวโกนคิ้วให้ลูกนุ่งขาวห่มขาว ถือผ้าไตร สะพายบาตรพาไปเวียนรอบโบสถ์ 3 รอบ เข้าสู่พิธีบวชนาค ออกมาฉลองพระใหม่ เสร็จพิธีใน 1 วัน อิ่มใจในผลบุญที่ได้รับตอบแทน

        บางท่านกล่าวว่า “จะบวชลูกทั้งที แถมมีลูกชายเพียงคนเดียว จะต้องจัดงานบวชให้สมกับที่ได้ตั้งตารอคอยมา 20 ปี โดยจัดให้มีพิธีทำขวัญนาค จัดหาหมอทำขวัญที่เลือกสรรแล้วว่าดีที่สุด ถูกใจที่สุดมาเรียกขวัญให้กับลูกชาย (ทุกคนรับฟังด้วยความสุขและเกิดปัญญา) หาวงดนตรีไทยที่ได้มาตรฐานมาบรรเลงในงานบุญครั้งนี้ร่วมในพิธีทำขวัญนาคด้วย มีการแจกการ์ดบัตรเชิญไปยังเพื่อนพ้องที่ใกล้ชิดสนิทกันให้มาร่วมงานและรับประทานอาหารเย็น (ทานเลี้ยงแบบโต๊ะไทย) ใครมาก็จัดอาหารรับรอง มีเต็นท์กางเอาไว้ให้แขกนั่งพักผ่อน รุ่งเช้านำนาคไปอุปสมบท และฉลองพระใหม่ จัดงานถึง 2 วัน (ไม่รวมวันที่เตรียมการ) เสร็จงานแล้วอิ่มใจในผลบุญที่ได้รับตอบแทน

        บางท่านบอกว่า “การจัดงานบวชมิได้มีอะไรยุ่งยากเลย ส่งนาคเข้าโบสถ์แล้วก็เป็นเรื่องของพระอุปัชฌาย์ แต่ยุ่งมากก็คือ ตอนแจกการ์ด กว่าที่ท่านจะแจกการ์ดจำนวน 5,000 ใบ ได้หมดต้องใช้เวลาเป็นเดือน ๆ บางวันแจกการ์ดได้ 3 ใบ ก็มืดเสียแล้วเพราะมัวแต่คุยกันจนล่วงเวลาไปก็มี จัดเตรียมการก่อนวันงาน 1-2 วัน มีการประดับไฟแสงสี เตรียมการจัดสถานที่กินเลี้ยง (รับประทานอาหาร) 500 โต๊ะ ยังน้อยไปนะนี่ ความจริงเขามีแขกนับหมื่นคนเลยทีเดียว ในวันสุกดิบจัดให้มีพิธีการสอนนาคโดยนิมนต์พระคุณเจ้ามาเทศน์สอนนาค โดยใช้เวลาประมาณ 20 นาทีก็เสร็จสิ้น หลังจากนั้นก็เตรียมการโดยมุ่งไปที่การจัดเลี้ยง ณ สนามกลางแจ้งที่เต็มไปด้วยแขกเหลื่อเป็นจำนวนมาก กิจกรรมบนเวที เชิญแขกผู้มีเกียรติขึ้นไปคล้องพวงมาลัยให้กับเจ้านาคหลายสิบท่านและกล่าวอนุโมทนา มีวงดนตรีชั้นนำบรรเลง มีนักร้องดังและแดนเซอร์ประกอบความรื่นเริงสนุกสนาน รุ่งเช้าแห่นาคไปอุปสมบทที่วัด และกลับมาฉลองพระใหม่ที่บ้าน งานนี้มีการจัดเตรียมจนถึงวันงานแล้วเสร็จเป็นเวลา 3-5 วัน  เสร็จงานแล้วอิ่มใจในผลบุญที่ได้รับตอบแทน

        ไม่ว่าแต่ละท่านจะคิดอย่างไร จะปฏิบัติอย่างไรล้วนแล้วแต่เป็นสิทธิและเป็นรูปแบบที่ปรากฏอยู่ในสังคม คำว่าทำบุญ ใครมีทรัพย์มากก็เสียสละได้มาก ไม่เดือดร้อน ใครมีทรัพย์น้อยก็จ่ายให้ลดน้อยลง เพื่อที่จะได้ไม่เดือดร้อน เช่นกัน หากสิ่งที่ได้รับเกิดความอิ่มเอมใจในผลบุญ เป็นสิ่งตอบแทนก็ถือว่า เหมาะสมในคุณค่า โดยเฉพาะงานบวชพระที่มีหลาย ๆ ความเห็นทักท้วงในประเด็นของความฟุ่มเฟือยแบบที่ไม่ควรจ่าย ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่คิดจะไปยับยั้งในความต้องการของแต่ละคน เพียงแต่ขอให้เรายังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมไทยที่ดีงามเอาไว้ให้ได้นาน ๆ

        จากประสบการณ์ที่ผมได้มีโอกาสไปร่วมงานในฐานะโหรา (ผู้ประกอบพิธีทำขวัญนาค) ซึ่งพิธีกรรมนี้มีมานานเกือบ 200 ปี แล้ว เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2553 ผมได้รับการติดต่อจาก คุณสมพล คุณฉวี เอมปากน้ำ ให้ไปทำหน้าที่ทำขวัญนาค ที่ ถนนเพชรหึงษ์ ซอยกิ่งแก้ว 25 (ข้างวัดกิ่งแก้ว) อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ

        ผมเดินทางไปถึงบ้านงาน บ้านเลขที่ 84 หมู่ที่ 4 ซอยวัดกิ่งแก้ว 25 อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ในเวลา 11.50 น. (เกือบจะเที่ยงวัน) คุณสมพล เอมปากน้ำ (เจ้าภาพ) ออกมาต้อนรับ ผมเดินผ่านเวทีการจัดเลี้ยงที่อยู่ข้าง ๆ บ้าน มีการจัดตั้งโต๊ะอาหารเอาไว้จำนวนหนึ่ง (ไม่หนาแน่นมากนัก) ผมได้ยินเสียงวงดนตรีไทยบรรเลงด้วยความไพเราะมาก ๆ เมื่อเดินเข้าไปถึงในตัวบ้านก็ได้พบกับความยิ่งใหญ่ของวงดนตรีไทย คณะทองชุบ บัวหลวง มาจากบางใหญ่  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นวงใหญ่จริง ๆ มีนักดนตรีประมาณ 30 คน เมื่อมองเข้าไปด้านในได้เห็นการจัดสถานที่ที่ดูเรียบร้อยสวยงามมาก ที่ด้านหน้าเครื่องประกอบพิธีมีบายศรีต้น 5 ชั้นประดิษฐ์ด้วยดอกไม้สด ปรับประดาอย่างวิจิตรบรรจงเลยขึ้นไปบนยอดสุดมีข้าวขวัญและไข่ต้มจัดไว้ ทั้งเครื่องอัตถบริขารและเครื่องประกอบพิธีนำเอามาจัดอย่างครบถ้วนสมบูรณ์

        เวลาประมาณ 13.00 น. ล่วงเลยไปเล็กน้อย เป็นพิธีคล้องพวงมาลัยให้นาค โดยจัดให้เจ้านาคนั่งที่เก้าอี้ หน้าที่ตั้งเครื่องอัตถบริขาร พิธีกรเรียนเชิญท่านผู้มีเกียรติได้นำเอาพวงมาลัยไปคล้องคอให้กับเจ้านาค พวงมาลัยบางพวงติดเงินทำบุญเอาไว้ด้วย มีการบันทึกภาพร่วมกัน

        ต่อมาต้องเสียเวลาไปเล็กน้อยเพื่อที่จะให้ผมได้เตรียมการในเรื่องของเครื่องประกอบพิธี (ไม่มีตัวแทนนำเอาสิ่งของมาให้) แต่ก็เรียบร้อยดีเมื่อมีผู้เข้ามารับผิดชอบถามผมว่า หมอครับจะต้องนำเอาอะไรมาบ้าง ผมบอกไปว่าก็มี พานของหมอขวัญสำหรับไหว้ครู (มีอะไรในพานบ้างผมก็บอกไป) มีหมาก 5 คำ ดอกไม้เหล้าขาว 1 ขวด ยาสูบ 1 ซอง เงินกำนล 12 บาท ขันใส่น้ำ 1 ใบ ขันใส่ข้าวสาร 1 ใบ เครื่องกระยาบวช 1 สำรับ (ขนมต้มแดง ต้มขาว ข้าวปากหม้อ ไข่ต้ม บายศรีปากชาม 3 หวี) ใบตอง 3 ก้าน ผ้าหุ้มบายศรี 1 ผืน ไม้ซีกขนาบบายศรี 3 ซีก ด้ายสายสิญจน์ 1 ม้วน ธูป 5 ดอก เทียน 11 เล่ม ใบพลู 7 ใบ แป้งเจิมหน้านาค (ผมบอกไปทีละ 3-4 อย่าง กลัวว่าน้องเขาจะลืม)

        ผมใช้เวลาประมาณ 15 นาที ในการคำนับครูก่อนที่จะเข้าสู่พิธีทำขวัญนาคและทำน้ำมนต์ จากนั้นก็ต้องไปเปลี่ยนเป็นชุดสุภาพสีขาว น้องท็อปกับน้องแป้ง ปีนี้เขาอยู่ชั้น ม.6 แล้ว ลูกศิษย์ของผม เขาต่างก็เร่งจัดการแต่งหน้าแต่งตัวในชุดที่ดูสุภาพออกมายังพิธีทำขวัญนาค เพื่อที่จะเข้าสู่การทำขวัญนาค ดูเหมือนว่าเวลาจะเลยบ่ายโมงไปมากแล้ว ผมแนะนำให้เจ้านาค บิดา มารดาและญาติกาทั้งหมดได้รับทราบที่มาและวัตถุประสงค์ของการบวชแล้วเริ่มพิธีทำขวัญนาค ตามขั้นตอน

        - บทร้องเสภาบูชาครู ไหว้ครู เคารพคุณพระศาสดา

        - บทร้องปฏิสนธิ กำเนิดของคน การขับกล่อมเลี้ยงดูลูกของบิดา มารดา

        - บทแหล่สอนนาค และแหล่ด้นสดแนะนำกิจของสงฆ์บางประการที่สำคัญ

        - บทร้องนาคลา ลานาค เป็นการขอสมาลาโทษ ลาสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวไปบวช

        - บทเชิญขวัญนำนองธรรมวัตร ทำนองเพลงไทยเดิม

        - คำกล่าวอธิบายบายศรี พิธีเวียนเทียนเบิกบายศรี เพลงทำนองนางนาคและทำนองลาวเสี่ยงเทียน

                                

                                

                                

                                

        ตลอดเวลาของการทำขวัญนาค นาคกอล์ป สิทธิชัย เอมปากน้ำ ประมาณ 2 ชั่วโมงเศษ นาคมีความตั้งใจรับฟังอย่างเต็มที่ มีผลการตอบสนองในบทร้องที่ส่งออกไป  มีรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และอาการเคลื่อนไหว ในขณะที่แม่ฉวีของนาคกอล์ปนั่งอยู่ใกล้ ๆ ทางด้านซ้าย คุณพ่อสมพลนั่งอยู่ทางด้านขวา บทร้องทำขวัญนาคผ่านไปจนถึงตอนกล่อมนาคนอน เสียงเพลงไทยเดิมทำนองศรีนวลดังแผ่วขึ้นมา น้ำตาของผู้ที่เป็นแม่และลูกชายก็เริ่มไหลออกมาจนเห็นได้ชัดเจน ในขณะที่มือหนึ่งส่งรางวัลน้ำใจมาให้คนที่ร้องเพลง ไปจนถึงตอนนาคลา ลานาค เป็นตอนที่บรรยากาศสงบมากเงียบกันไปหมด และก็เข้าสู่พิธีเบิกบายศรีเป็นตอนสุดท้าย งานนี้เจ้าภาพลงทุนมาก (ไม่จนเกินไป) แต่ก็อิ่มเอมใจที่ได้ผลตอบแทน

      

      

                     

       ผมได้เก็บภาพบรรยากาศในงานบวชนาคกอล์ป สิทธิชัย เอมปากน้ำ มาฝาก เป็นบางช่วงบางตอนในพิธีทำขวัญนาค ที่บ้านบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2553 ขอขอบคุณ คุณสมพล คุณฉวี เอมปากน้ำ ที่ยังไม่ลืมของไทย ร่วมกันอนุรักษ์ประเพณีเก่า ๆ เอาไว้ให้คงอยู่ต่อไป 

ติดตาม ตอนที่ 3 งานบวชที่ตั้งตารอและเตรียมการมานานนับปี

หมายเลขบันทึก: 362909เขียนเมื่อ 1 มิถุนายน 2010 14:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ได้ดูเดี่ยวไมโครโฟน ๘ ของอุดม .....มีชื่ออาจารย์ชำเลือง มณีวงษ์ เป็นผู้สอนเพลงฉ่อย..ให้อุดม.....ยินดีด้วยที่...อาจารย์ได้เผยแพร่เพลงพื้นบ้าน.....สุพรรณบ้านเรา..ครับ

  • ใช่ครับ อ.พิสูจน์ ความจริงโน้ต-อุดม ติดต่อกับผมมานาน ตั้งแต่ก่อนเดี่ยว 7 (สอนเพลงแหล่ให้ไปด้วย) หลังจากที่จบชุดเดี่ยว 6 มาแล้ว
  • โน้ตเขามีความสามารถสูงมาก สามารถสะกดผู้ชมรอบละ 3,500 คน ให้หัวเราะได้ตลอดเวลา 4 ชั่วโมง (ผมไปดูที่เวทีแสดงสดมา รอบก่อนสุดท้าย) สนุกมาก
  • มีแต่ผู้ชมบอกว่าเล่นแค่ 2 ชั่วโมงก็พอ เพราะขากรรไกรค้างหมดแล้ว ฮาๆๆๆๆๆ...

ผมชอบมากเลยอะ ชอบฟังเพลงแหล่ มากๆเคยดู ที่ ทศพล กับ ลุงไวพจน์ ทำขวัญฟังแล้วชอบ ผมอยากได้หนังสือเพื่อมาอ่านศึกษา ผมแหล่ได้แต่แบบอิสาน แหล่แบบชาดก อยากลองหัดแบบภาคกลางบ้างขอความกรุณาด้วยนะครับ อยากเอาไว้ประดับความรู้ ขอบคุณครับ ติดต่อ ได้ 0900351927 หรือส่งหนังสือไฟล์ pdfมาที่เมลได้นะครับ ขอบคุณครับ

สำหรับในบทความทำขวัญนาคบล็อกนี้ มี 96 ตอน ได้ลงเนื้อหา ขั้นตอน วิธีการเอาไว้ครบถ้วนกระบวนความ สามารถศึกษาได้อย่างละเอียด ตามแบบแผนภูมิปัญญาท้องถิ่น จากต้นฉบับของเก่าจริง ๆ รวมทั้งภาพเสียงและภาพเคลื่อนไหวในสถานที่จริงที่สมบูรณ์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท