เบญจศีลเบญจธรรม อุดมชีวิตของมนุษย์


     มนุษย์เป็นสัตว์สังคมไม่สามารถอยู่คนเดียวตามลำพังได้  เป็นองคาพยพที่สำคัญของสังคม  และเป็นผลผลิตที่เกิดจากการคบหาสมาคมซึ่งกันและกันของบุคคลในสังคม  อย่างน้อยที่สุดก็มีพ่อแม่  ญาติพี่น้อง  มิตรสหาย  เพื่อนร่วมสังคมโลก  จะต้องมีหลักความเชื่อ  หลักปฏิบัติทางศาสนา  มีระบบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมที่ปฏิบัติร่วมกันเพื่อสร้างความสมานฉันท์อันนำไปสู่สันติภาพ (Peace) คือภาวะที่เกิดความสงบร่มเย็นในสังคม  ในแง่ของพระพุทธศาสนามองลึกลงไปถึงแก่นของพระศาสนาคือพระนิพพานทีเดียว  แต่มิติชาวโลกอาจจะมองความหมายของสันติภาพว่า  เป็นสภาพที่ปราศจากสงครามบ้าง  สภาวะที่ปราศจากความรุนแรงบ้าง  สภาพที่ไม่มีทั้งความ แหล่งความรู้รุนแรงและความขัดแย้งบ้าง  สภาวะที่ปราศจากความรุนแรงแต่ขัดแย้งกันได้บ้าง  และอย่างหนึ่งที่สังคมจะต้องสร้างให้เกิดมี  นั่นคือวัฒนธรรมแห่งความเอื้ออาทรฉันพี่น้อง  อบรมเมตตากรุณาพรหมวิหารให้เกิดในใจ  ที่เรียกว่า  ภราดรภาพ (Fraternit)  ให้มากขึ้น

     ประเทศไทยมีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ  แต่โบราณกาล พระมหากษัตริย์ไทยทรงเป็นพุทธมามกะและทรงเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก  ประชาชนส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา  มีศิลปวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม  ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติไทยที่คนตะวันตกต้องหันมามอง  มีพระพุทธศาสนาที่บรรพบุรุษไทยเราได้ปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นระยะเวลายาวนานเป็นฐานรองรับ  ทำให้สังคมไทยเป็นสังคมวิถีพุทธ  มีวัฒนธรรมที่หล่อหลอมจากคำสอนของพระพุทธศาสนา  การศึกษาของคนไทยในอดีตมีรากฐานอยู่ที่วัด  วัง  และบ้าน  วัดเป็นแหล่งสรรพวิทยาการทำหน้าที่เป็นทั้งสถานศึกษา  แหล่งความรู้และแหล่งถ่ายทอดวัฒนธรรมประเพณีของแต่ละท้องถิ่น  เป็นศูนย์กลางกิจกรรมทางสังคมมากมาย  โดยมีพระสงฆ์เป็นแกนนำในการพัฒนา  และเป็นที่พึ่งทางใจของสังคมมาโดยตลอด

     แต่สังคมไทยในปัจจุบันกลับตกอยู่ในสภาวะที่ขาดเสถียรภาพทางศีลธรรมอย่างหนัก  มีปัญหาเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและนับวันจะยิ่งทวีคูณ  เช่น  ปัญหาอาชญากรรม  ปัญหายาเสพติด  ปัญหาโสเภณี เป็นต้น  นอกจากนั้นปัญหาระดับชาติยังเกิดขึ้นอีก  เช่น  ปัญหาโจรก่อการร้ายในภาคใต้ เป็นต้น  แต่ปัญหาหนักที่เกิดขึ้นในขณะนี้  คือความแตกแยกของกลุ่มคน  ซึ่งมีความคิดแตกแยกและการกระทำที่แตกต่างด้านการเมืองแบ่งเป็นสองฝักสองฝ่าย  ส่งผลกระทบต่อประชาชนระดับรากหญ้าอย่างน่าสงสาร  ทั้งที่เราเกิดและมีชีวิตอยู่ร่วมแผ่นดินเดียวกัน  มีสถาบันชาติศาสนา  และพระมหากษัตริย์เดียวกัน  ในทางประชาธิปไตยขัดแย้งกันได้แต่ต้องมีหลักเกณฑ์  มีการยอมรับกัน  ที่เราเรียกกันในภาษากีฬาว่า "รู้แพ้  รู้ชนะ  รู้อภัย"  ถ้าแพ้ไม่เป็น ต้องเป็นผู้ชนะเท่านั้น  คนที่หลงตัวเองว่าชนะ คือผู้แพ้ที่โง่เขลา  จะมีประโยชน์อะไรกับการประกาศชัยชนะท่ามกลางคราบเลือดและน้ำตาของพี่น้องไทยเราเอง

     ปัจจัยที่ผลักดันให้สังคมเราเกิดความเปลี่ยนแปลง  ก็เพราะผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ  อำนาจทางการเมือง  ความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน  การมีค่านิยมที่แตกต่างกัน  มีภูมิลเนาแตกต่างกัน  มีชาติพันธ์ต่างกัน  มีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน  เป็นต้น  ถ้ามองในแง่ธรรมะจะพบว่า  มีกิเลส  ๓  ตัวที่ทำให้มนุษย์เกิดความขัดแย้ง  คือ  ตัณหา  ๑  มานะ ๑  ทิฎฐิ ๑

   ตัณหา  หมายถึง  ความอยาก  แยกเป็น  ๓  กลุ่ม  คือ

     กลุ่มแรก  กามตัณหา  ความอยากได้ใคร่ดีในกามคุณ  ๕  คือ  รูปสวย  เสียงเพราะ  กลิ่นหอม  รสอร่อย  สัมผัสที่ตรึงใจ

     กลุ่มที่สอง  ภวตัณหา  ความอยากได้  อยากมี  อยากเป็น  จนลืมความชอบธรรม

     กลุ่มที่สาม  วิภวตัณหา  ความไม่อยากได้  ไม่อยากมี  ไม่อยากเป็น  เป็นพวกเบื่อโลก  ไม่สนใจใคร

  มานะ  หมายถึง  การถือตัว  ทะนงตัวเอง  ความเชิดชูตนเองเป็นดุจธง  ที่เป็นเช่นนี้เพราะมนุษย์เรายังมีกิเลส  อยากได้  อยากดี  อยากเด่นกว่าผู้อื่นนั่นเอง

  ทิฎฐิ  หมายถึง  ความเห็น  มนุษย์มักถิอมั่นว่าความเห็นของตนถูกต้อง  ความเห็นผู้อื่นผิด  ที่เป็นเช่นนี้เพราะมนุษย์ยังขาดวิจารณปัญญา  ดังนั้นพระพุทธเจ้าส่งเสริมให้คนเราปรับความเห็นให้ตรงกัน  ยอมรับในความคิดเห็นของผู้อื่นที่เป็นจุดต่าง  เพื่อหาจุดรวมที่เรียกว่า  ทิฎฐิสามัญญตา  การมีความเห็นชอบร่วมกัน  ธรรมข้อนี้จักนำความสามัคคีมาให้แก่สังคมมนุษย์

คำสำคัญ (Tags): #บุรีรัมย์6
หมายเลขบันทึก: 362655เขียนเมื่อ 31 พฤษภาคม 2010 14:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 22:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท