จิตตปัญญาเวชศึกษา 138: ปฐมนิเทศ (3) "ลงมือกระทำ กับ การปรับตัว"


"ลงมือกระทำ" กับ "การปรับตัว"

ปีนี้เราปรับเปลี่ยนรูปแบบ workshop ใหม่เล็กน้อย ปกติเราจะฉายภาพยนต์ palliative care ในคืนแรก แบ่งกลุ่มแพทย์ให้เตรียมวิเคราะห์ วิพากษ์ตอนเช้า ปีนี้เราคิดว่าน้องๆเขาอาจจะเหนื่อย เพลีย ต้องการเวลาพักผ่อนบ้าง ไม่ใช่เรียนกันทั้งวัน ทั้งคืน แถมการบ้านก่อนนอน ปีนี้ภาคกลางคืนของวันแรกเราเลยตัดภาพยนต์ออกไป เสริมด้วยกิจกรรมเกมสร้างสรรค์ของอาจารย์กระแตแทน

มีสองเกม คือ เกมต่อหลอด กับ เกมเล่นไพ่!!!


เกมต่อหลอด

(เสียดาย ตอนกลางคืนไม่ได้เอากล้องลงมา เลยไม่ได้ถ่ายบรรยากาศให้ชม) เราแบ่งกลุ่มหมอทั้งหลายออกเป็นห้ากลุ่ม นั่งจับกลุ่มกันห่างพอสมควร หลังจากนั้นก็แจกหลอดกาแฟ (ที่จริงดูดอะไรก็ได้ที่เป็นน้ำ ไม่จำเป็นต้องเฉพาะกาแฟ) กลุ่มละ 2-3 ห่อใหญ่ พร้อมกับพลาสเตอร์ใสกลุ่มละม้วน

คำสั่ง: "ภายในเวลา 10 นาที ให้ทุกกลุ่มใช้อุปกรณ์ที่มี สร้างโครงสร้างอะไรก็ได้ วัตถุประสงค์ก็คือ เมื่อสิ้นสุดเวลา ให้ยืนตั้งอยู่ได้อย่างน้อย 10 วินาที และมีความสูงมากที่สุด"

ลงมือได้!

ทีนี้เราก็จะเห็น culture ในการทำงานเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ เนื่องจากเวลาจำกัด เราจะเห็น dominant trait หรือ "ภาวะผู้นำ" (อีกนัยหนึ่ง "ภาวะชอบนำ") เห็น follower trait หรือ "ภาวะผู้ตาม" ซึ่งเป็นสัมพัทธ์จากสมาชิกในทุกๆกลุ่ม ช่วยๆกันต่อหลอดกันใหญ่

มีกลุ่มหนึ่ง เน้นอภิปราย discuss ทฤษฎีต่างๆ วางแผนอย่างละเอียด ปรากฏว่ากว่าจะเริ่มก็ค่อนข้าง late ตึกหลอดกาแฟที่สร้างออกมา ล้มลงก่อน 10 วินาที จึงหลุดรอบตัดสินไปเป็นกลุ่มแรก

อีกกลุ่มหนึ่งกลัวจะล้มมาก เน้นฐาน ไปดูแล้วยอมรับว่าฐานบึกบึนมาก แต่สุดท้ายหมดเวลา เลยเตี้ยนิดเดียว

อีกสามกลุ่มน่าสนใจ กลุ่มนึงก็ทำอะไรก็ไม่รู้ ดูเหมือนไม่มีอะไรก้าวหน้าเลย ไม่มีโครงสร้างอะไรออกมา จู่ๆใกล้เวลาหมด สงสัยจะมีปิ๊งแวบ มีคนนึงเอากำหลอดทั้งหมดตั้งฉึบ เอาพลาสเตอร์ใสมัดๆๆ กลายเป็นคล้ายๆฐานเสาซิเมนต์ เสร็จแล้วก็เอาพวกหลอดเสียบตรงกลางได้ออกมาสูงปริ๊ดเลย

อีกกลุ่มนึงทำสวยงามมาก วิจิตรพิศดาร  แถมยัง stable กลุ่มนี้เห็นโครงสร้างขึ้นมาตั้งแต่เริ่มทำ แล้วงอกออกไปเรื่อยๆ เข้าไปตัดเชือกกับกลุ่มสุดท้าย ที่ได้ฐานที่สมดุลมากๆ สมดุลขนาดต่อความสูงเป็นหลอดชั้นเดียวยาวเฟื้่อยไปเกือบถึงหลังคา กลุ่มสุดท้ายชนะเฉือนกลุ่มรองสุดท้ายไปกระตี๊ดเดียว แต่ stable สู้กลุ่มรองชนะเลิศไม่ได้

วิจารณ์

อันดับแรก เราจะเห็นว่าบางโครงการ อย่าไปเน้นคุยเยอะ ยังไงๆผลงานต้องออกมาจากการ "ลงมือทำ" ทำไปแก้ไขไป เพราะปัญหาบางอย่างเราไม่เห็นขณะวางแผน อุตส่าห์วางแผนซะดิบดี (และนาน) พอล้มเหลวจากอุปสรรคเฉียบพลัน จะแก้ไขก็หมดเวลาเสียก่อน (ข้อดีก็คือ "ถ้า"​ มีเวลาอีกหน่อย อาจจะดีก็ได้ แต่... ไม่มีเวลา)

อันดับที่สอง "วัตถุประสงค์หลัก และวัตถุประสงค์รองต้องชัดเจน" โจทย์ให้แข่งกันที่ "ความสูง" ส่วนความมั่นคงนั้น เอาแค่ 10 วินาที ดังนั้น พอเราดันไปเน้นวัตถุประสงค์รองมากเกิน ทำซะมั่นคงขนาดตั้งได้สิบปีท่ามกลางพายุก็ไม่ล้ม แต่ผลก็คือ เราไม่ได้รับวัตถุประสงค์หลัก ในชีวิตจริงเกิดบ่อย โดยเฉพาะคุณภาพที่เป็นนามธรรม ที่เราไปตั้ง surrogate parameter หรือตัววัดจำลองมาช่วยสะท้อนคุณค่าเดิม แต่เผลอไปเผลอมา มันบิดเบี้ยว แล้วเราก็ลืมไปว่าเราอยากจะได้อะไรแต่แรก ไปเน้นที่ของปลอม ของเทียมเสียนี่

อันดับสาม การทำงานบางทีเราก็ใช้ "ปิ๊งแวบ" ความคิดบรรเจิดที่เกิดขึ้นขณะทำงาน ฉะนั้น ตอนทำงานอย่าได้ละเลยอะไรที่เรา "ฉุกคิด" มา นั้นคือปัญญาที่ผุดปรากฏ ถ้าเราไม่หยิบฉวยให้ทัน ไป fix idea กับแผนดั้งเดิม เราก็จะเสียโอกาสไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ ในชีวิตจริง "ฌานทัศนะ" ที่ว่านี้เกิดขึ้นบ่อยๆ โดยเฉพาะในขณะที่เรามีสมาธิมุ่งมั่นทำอะไร โดยจิตตื่นรู้ sensitive กับเรื่องราวเฉพาะหน้า

ทีนี้ในสองกลุ่มหลัง ใช้วิธีทำไป แก้ไขไป ปัญหาที่เกิดก็จะเป็นปัญหาเชิงปฏิบัติ ไม่ใช่ทฤษฎี วิธีแก้ ก็เป็นแก้ไป ดูผลไป "ทักษะ" ที่เกิดขึ้นไม่ได้อยู่ในตำราหรือแค่ห้วงคิดคำนึง หากแต่เป็นทักษะที่ได้จากการลงมือกระทำจริงๆ

สิ่งหนึ่งที่น่าสังเกตก็คือ หอคอยหลังชนะเลิศและรองชนะเลิศนั้น ไม่เพียงแค่สูงอย่างเดียว แต่มีความสมดุล สวยงาม และสมมาตรอย่างน่าประหลาดใจ ผมนึกถึงสมัยเรียนวิชาศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ (orthopedics) อาจารย์สมัยนั้นจะเน้นแล้วเน้นอีกถึง Form and Function ว่ามันจะไปด้วยกันได้ดี เพราะกายภาพเรานั้นออกแบบมาอย่างพิศดาร ลงตัว เหมาะสม ไม่มีรูปร่างไหนที่เกิดขึ้นโดยไม่มีหน้าที่ของมัน มาถึงหอคอยข้างหน้านี้ก็เช่นกัน ทั้ง form และ function (รูปร่างและหน้าที่) ไปด้วยกันอย่างกลมกลืน

แล้วอะไรที่เป็นตัวตัดสิน?

ในเวลาจำกัดแบบนี้ และแพ้ชนะกันเพียงแค่ไม่มีเซนติเมตร ต้องมีปัจจัยอีกประการหนึ่งครับ นั่นคือ "ดวง" ครับ!! เพราะไม่มีกลุ่มไหนที่จะมีเวลาเหลือเฟือ ใครเริ่มมาได้ดีก่อน ก็จะทำเสร็จและสวยงาม ส่วนที่จะต้องแก้เยอะๆ ถ้ามีเวลาอาจจะดีกว่า ก็ทำไม่ทันไป ดวงนี้อาจจะเป็นปัจจัยสำคัญมากหรือน้อยก็ได้ แล้วแต่ลักษณะงาน


เกมเล่นไพ่

หลังจากเกมแรกเสร็จสิ้นลง สะท้อนกันเรียบร้อย เราก็เริ่มเกมที่สอง ใช้กลุ่มเดิม

เราแจกไพ่กลุ่มละสำรับ แจกเบี้ยเงินจำลอง (หลังจากส่งคนไปดูแล้วว่าไม่มีตำรวจเดินป้วนเปี้ยนแถวนี้ เพราะขี้เกียจอธิบาย) ให้ทุกกลุ่ม หลังจากนั้น ก็แจกกติกาเกมสั้นๆใส่แผ่นกระดาษให้ทุกกลุ่ม พออ่านกติกาเข้าใจ ก็เริ่ม

คำสั่ง: รอบแรก สามารถสนทนาพูดคุยใช้เสียงได้ ให้้เล่นไป 5 เกม กินเงินอะไรต่อมิอะไรตามกติกา พอเสร็จ 5 เกมแล้วก็ให้คนที่แพ้เกมที่ห้ายืนขึ้น

คนที่แพ้ให้ออกไปจากวง ไปหาวงใหม่ ก่อนจะเริ่มรอบที่สอง

ในรอบที่สอง กติกาเพิ่มเติมคือ "ห้ามใช้เสียงเด็ดขาด" ให้เล่นเงียบๆ ในรอบนี้ก็เล่น 5 เกม แต่เกมไหนมีคนแพ้ปุ๊บ คนแพ้ก็ลุกขึ้นเปลี่ยนวงไปเรื่อยๆ จนครบ 5 เกม

ตอนรอบแรกก็ไม่ค่อยมีปัญหาอะไร มีการแสดงความสามารถในการสับไพ่ แจกไพ่ (มีแม้กระทั่งการเอาผ้าห่มคลุมไพ่หน้าตัก แสดงความจัดจ้านระดับมืออาชีพ!!) เห็นความคล่องของน้องๆแล้ว แทบอยากจะลองแกล้งตะโกนตำรวจมาดังๆ ดูสิว่าจะมีใครเผลอวิ่ง หรือเอาไพ่เคี้ยวกลืนบ้างไหม

พอรอบที่สองที่ห้ามใช้เสียง ประเดี๋ยวเดียวก็เริ่มเห็นปฏิกิริยาแปลกๆของคนที่ต้องย้ายกลุ่ม แต่ละกลุ่มเริ่มมีภาษามือ ภาษากาย (บางกลุ่มเริ่มใช้อวัยวะแปลกๆในการสื่อสารอย่างพิศดาร!!) ทั้งนี้แหละทั้งนั้น ก็ทู่ซี้เล่นกันไป

เหตุผลก็คือ "กติกาการเล่นของแต่ละวงนั้น ไม่เหมือนกันเลย criteria ในการแพ้ชนะก็ไม่เหมือนกัน" ดังนั้นคนที่พึ่งเปลี่ยนวงก็จะมี dilemma ในการต้อง "เดา" วิธีเล่น

วิจารณ์

เกมนี้สำหรับคนที่พึ่งเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมใหม่ ที่อยู่ใหม่ ที่ทำงานใหม่ จะพบว่า ระเบียบวัฒนธรรมประเพณีการอยู่ การทำงาน ในที่ใหม่ มันมักจะไม่เหมือนของเดิมซะทีเดียว ถ้าเราเอาความคุ้นชินเดิมๆมาใช้โดยปราศจากการปรับตัว ก็จะเกิดโกลาหลขึ้นทันที

ทีนี้ก็มีหลากหลายสไตล์ของคนมาใหม่!

บางคนก็มาดมั่น ฉันถูกแน่นอน จะไม่ยอมเปลี่ยน ไปๆมาๆคนในองค์กรเองก็งงๆ หรือเริ่มหงุดหงิด บางคนก็หัวอ่อน แบไพ่ ใครจะว่ายังไงฉันพร้อมจะเปลี่ยนทั้งกาย ทั้งใจ ทั้งตัว คนในองค์กรอาจจะมีความสุข แต่ก็จะอดเรียนกติกาใหม่ๆ วิธีใหม่ๆในการทำงานจากผู้มาใหม่

ช่วงแรกที่เราเดินทางไปอยู่ในที่ใหม่ เราก็ควรจะต้องใจเย็นๆ ศึกษาไปว่าที่นี่เขาทำกันอย่างไร เข้าเมืองตาหลิ่ว เราก็ต้องหัดหลิ่วตา และทางที่ดี เราเองก็ไม่ถึงกับต้องทิ้งของเดิมอย่างสิ้นเชิง อะไรที่ดี เราอาจจะนำมาแบ่งปันกับที่ใหม่ด้วยก็ได้

เราไม่สามารถที่จะเปลี่ยนทุกๆที่ให้เหมาะกับตัวเองไปเสียทุกที่ และในขณะเดียวกัน เราเองก็มี "ศักยภาพที่จะเรียนรู้" อยู่ในตัวอยู่แล้ว ถึงเวลาที่เราจะต้องนำมาใช้ให้เต็มที่ ยิ่งเป็นของใหม่ๆ ยิ่งน่าเรียน เพราะ education หรือการเรียนรู้ ก็คือการก้าวไปคลุกคลีสัมผัสกับสิ่งที่เราไม่รู้ ไม่คุ้นนั้นเอง

หมายเลขบันทึก: 362651เขียนเมื่อ 31 พฤษภาคม 2010 14:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 14:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอแสดงความเห็นด้วยคนคะ

กิจกรรมแรก : หนูชอบมาก เป็นการสอนเรื่องวิธีการทำงานอย่างแยบยล ในเวลาสั้นๆ

1.ลงรายละเอียดมากไป กว่าจะตกลงกันได้ ก็ไม่ได้ลงมือทำจริงๆ เสียที

2.ไม่วางแผนเลย แก้ปัญหาแบบ ad-hoc ก็เสี่ยง ( แต่คิดว่า คนไทย มีทักษะส่วนนี้สูง ไม่ทราบว่าเป็นความสามารถเฉพาะตัว ทำให้เราไม่ค่อยใส่ใจวางแผน หรือเพราะ ไม่ค่อยวางแผนเลยมี skill ส่วนนี้สูง นะคะ)

3. การทำงานที่เกิดผลได้ จึงควรมี ภาพรวม แต่ไม่ต้องลงรายละเอียดมากนักตอนเริ่มต้น เพราะทำไป เรียนรู้ไป ปรับปรุงไป ใครมีไอเดียใหม่ๆ ก็ใส่เข้าไปได้

กิจกรรมที่สอง: เรื่องการปรับตัวเข้ากับองค์กร

บางครั้งโจทย์แรกคือ เราเป็น"องค์กร" จริงๆ หรือการที่คนหลายๆคนมารับตำแหน่งภายใต้สังกัดเดียวกันเท่านั้น

เปรียบเทียบไป คงเหมือน วงไพ่ ที่ต่างคนต่างถือไพ่ แต่ไม่เล่น ก็เลยไม่ต้องตกลงกติการ่วมกัน ไม่ต้องทะเลาะกัน เหมือนทุกคนจะมีความสุข แต่ก็ไม่ได้เปิดใจเรียนรู้ซึ่งกันและกันเลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท