ความรู้เรื่องถังดับเพลิง.......ตรวจเช็กพร้อมใช้...ลดภัยสูญเสีย


ความรู้เรื่องถังดับเพลิง.......ตรวจเช็กพร้อมใช้...ลดภัยสูญเสีย

ความรู้เรื่องถังดับเพลิง.......ตรวจเช็กพร้อมใช้...ลดภัยสูญเสีย
              การที่เราได้เห็นเพลิงไหม้บ้านเรือนหรืออาคารใด ๆ จะพบว่า ความรุนแรงและความเสียหายที่เกิดขึ้นจะส่งผลให้หลายคนเห็นผลการทำลายและเกิดความหวาดกลัวอัคคีภัยซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา ถือเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เราควรให้ความสำคัญให้มากกว่าที่เป็นอยู่อย่างทุกวันนี้

             อุปกรณ์ที่จะช่วยดับเพลิงหรือถังดับเพลิงถือเป็นอุปกรณ์หนึ่งที่ทุกบ้านควรจะต้องหาซื้อมามีติดตั้งไว้เพื่อป้องกันเพลิงไหม้   แต่การมาติดตั้งไว้เพื่อความไม่ประมาทนี่เองจะทำให้เกิดปัญหา    นั่นก็คือเรามั่นใจหรือไม่ว่าเราดูแลตรวจสอบอุปกรณ์ต่าง ๆ ไว้พร้อมใช้งานไม่   เพราะถ้าไม่มีการตรวจสอบเป็นระยะ ๆ ตามคู่มือแนะนำแล้ว  เมื่อเกิดเหตุการณ์อุปกรณ์เหล่านั้นก็ใช้งานไม่ได้  ความสูญเสียก็จะตามมา  

              นายสมเชษฐ กองเขน ผู้อำนวยการส่วนเครื่องจักรกลสาธารณภัย สำนักมาตรการป้องกันสาธารณภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ได้แนะนำความรู้เกี่ยวกับถังดับเพลิงที่มีไว้ประจำบ้านเพื่อใช้ระงับอัคคีภัยว่า โดยพื้นฐานทั่วไปการเกิดอัคคีภัยจริง ๆ แล้วเกิดขึ้นยากเนื่องจากต้องมีองค์ประกอบ 3 อย่างด้วยกันคือ

                  1.เชื้อเพลิง

                  2.ความร้อนที่สูงมาก

                  3.อากาศ (ออกซิเจน)

                เมื่อองค์ประกอบทั้ง 3  ประการนี้มารวมกัน จึงจะทำให้เกิดไอระเหยของคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นมา เป็นเปลวเพลิงประเภทต่าง ๆ ซึ่งประเภทของเพลิงดังกล่าวจะเป็นพื้นฐานที่นำไปสู่การเลือกใช้ถังดับเพลิง โดยแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่

                   1.ประเภท A คือ เพลิงที่เกิดจากเชื้อเพลิงธรรมดา เช่น ไม้ ผ้า กระดาษ พลาสติก ยาง เป็นต้น

                   2.ประเภท B คือ เพลิงที่เกิดจากก๊าซของเหลวติดไฟ ไข และน้ำมันต่าง ๆ

                   3.ประเภท C คือ เพลิงที่เกิดกับอุปกรณ์ไฟฟ้า หรือวัตถุที่มีกระแสไฟฟ้า เช่น สายไฟ

                   4.ประเภท D คือ เพลิงที่เกิดจากสารเคมีติดไฟได้ ส่วนใหญ่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม
   
                 ถังดับเพลิงส่วนใหญ่ที่รู้จักนั้นมี 3 สี ได้แก่ สีแดง สีเหลือง และสีเขียว โดยเฉพาะสีแดงเราจะพบเห็นบ่อยตามบ้านเรือนประชาชนและสถานที่ราชการต่าง ๆ แต่ถ้าสังเกตดี ๆ จะพบว่า  ยังแบ่งเป็น 2 แบบอีกด้วย คือ

                    แบบบรรจุสารเคมี ได้แก่ผงเคมีแห้งที่ผ่านการอบ  แห้งแล้ว เวลาพ่นออกมาจะเป็นละอองแป้งสีขาว ๆ ใช้ได้ง่ายครอบคลุมเพลิงทุกประเภท แต่มีข้อเสียคือจะ  ทำให้เหลือผงสีขาว ๆ เลอะเทอะเปรอะเปื้อน 

                     แบบบรรจุก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สามารถสังเกตได้คือ จะมีกรวยรูปแตรหรือทรงยาวอยู่ที่สายดับเพลิง เวลาพ่นก๊าซออกมาจะเป็นเหมือนหมอกปกคลุมแต่ไม่ทิ้งคราบสกปรกเหมาะสำหรับใช้ในปั๊มน้ำมัน เพราะไม่ทิ้งสารตกค้างทำให้พื้นที่สะอาดแต่สามารถใช้ได้กับเพลิงประเภท B และ C เท่านั้น

                 สำหรับอันตรายจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ถ้านำไปใช้ในที่อับอาจทำให้คนที่อยู่ข้างในขาดอากาศหายใจได้ ส่วนอันตรายของผงเคมีแห้ง ถ้าสัมผัสถูก  บริเวณผิวหนัง ดวงตา จะมีอาการระคายเคือง ปวดแสบ ปวดร้อน แต่สามารถล้างน้ำ ออกได้ 
    
                 ถังดับเพลิงสีเหลือง เป็นถังดับเพลิง ชนิดน้ำยาเหลวระเหยบีซีฮาลอน คุณสมบัติมีความเย็นจัด เหมาะสำหรับสถานที่ที่ใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์สื่อสาร เนื่องจากไม่ทิ้งคราบสกปรกไว้หลังจากใช้งาน เพราะเป็นสารสะอาด

                 ส่วน ถังสีเขียวคุณสมบัติคล้าย ๆ สีเหลือง  แต่ดีกว่าตรงที่น้ำยาเป็นสาร ระเหยที่ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมแถมช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย แต่ทั้ง2 ชนิดนี้ค่อนข้างแพงจึงไม่เป็นที่นิยมใช้ในอาคารบ้านเรือน
   
                 ขนาดของถังดับเพลิง ส่วนใหญ่ที่ใช้กันทั่วไปได้แก่ 5, 10 และ 15 ปอนด์ โดยไม่ควรใช้เกิน 10 กก. หรือ 15 ปอนด์ หรือหากต้องการพกพาไว้ในรถจะใช้แค่ 2 กก. หรือ 5 ปอนด์ และในการติดตั้งถังดับเพลิงรวมความสูงของถังจากพื้นไม่ควรสูงเกิน 150 ซม. เพื่อให้หยิบใช้ได้สะดวก ในการเลือกซื้อถัง  ดับเพลิงที่สำคัญจะต้องได้มาตรฐาน มอก.332-2537 ด้วย เนื่องจากจะอ้างอิงเกี่ยวกับระยะเวลาการฉีดใช้งาน
   
                 เมื่อมีถังดับเพลิงแล้วไม่ใช่จะปล่อยให้ติดตั้งไว้เฉย ๆ รอให้เกิดเหตุอัคคีภัยแล้วค่อยนำออกมาใช้    จะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำวิธีการดูแลรักษาถังดับเพลิงว่า การดูแลรักษาภายนอกถังควรตรวจสอบสภาพไม่ว่าจะเป็นสายฉีด ไม่แตก หัก รั่ว และตัวถังไม่ผุกร่อนอันเกิดจากสนิมสนิม ส่วนการดูแลรักษาน้ำยาในถังให้หมั่นพลิกถังดับเพลิงกลับหัวลง เพื่อตรวจสอบว่าน้ำยาดับเพลิงในถังยังคงสภาพเดิม (เป็นของเหลว) ไม่จับตัวเป็นก้อนแข็ง และตรวจสอบแรงดันของถังดับเพลิงที่มาตรวัดว่า ถ้าเข็มยังอยู่ในแถบสีเขียว แสดงว่ายังใช้งานได้ แต่ถ้าต่ำลงมาที่ขีดแดงควรเติมน้ำยาได้แล้วซึ่งถังซื้อใหม่มีอายุการใช้งาน 5-7 ปี หรือขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อมในการติดตั้ง แต่ควรเติมน้ำยาทุก 3-5 ปี เนื่องจากคุณภาพจะเสื่อม เพราะในเรื่องของอัคคีภัยเครื่องมือป้องกันต่าง ๆ ต้องใช้งานได้ 100 เปอร์เซ็นต์ หากไม่มีการตรวจสอบดูแลตามคำแนะนำ  พอเกิดเหตุนำไปใช้งานไม่ได้ก็ทำให้เกิดเหตุรุนแรงได้ 
   
             แต่หากบ้านไหนยังไม่มีถังดับเพลิงประจำบ้านวิธีการเบื้องต้นในการดับเพลิงส่วนมากมักเข้าใจผิดคิดว่าเอาน้ำไปสาดเยอะ ๆไฟจึงจะดับ แต่การดับเพลิงจริง ๆ คือ การลดอุณหภูมิความร้อนให้ต่ำและคลุมไม่ให้อากาศเข้าหรืออาจจะใช้ผ้าชุบน้ำคลุมไฟ เช่น กองไฟเศษขี้เลื่อย เศษกระดาษ หากฉีดน้ำใส่จะทำให้กระจายได้ และการฉีดน้ำที่ถูกวิธี  ควรฉีดไปที่ฐาน ของไฟจึงะได้ผลมากกว่าฉีดไปที่จุดอื่นๆ
             การระงับอัคคีภัยให้มีประสิทธิภาพลดความเสียหาย จึงควรหมั่นตรวจสอบอุปกรณ์ต่าง ๆ ในการดับไฟให้พร้อมใช้งานตลอดเวลา และอย่าละเลยในเรื่องนี้เพราะอาจทำให้บ้านที่อยู่อาศัยวอดวายได้ ที่สำคัญ ต้องมีสติอย่าตกใจจนทำอะไรไม่ถูก ขณะไฟกำลังไหม้เพราะเปลวไฟจะลุกลามรุนแรงก็ต่อเมื่อเราปล่อยให้มันไหม้นานเกิน 3-4 นาทีไปแล้ว ดังนั้นเรายังพอมีเวลาที่จะปกป้องชีวิตและทรัพย์สินได้โดยการตั้งสติแล้วคิดหาวิธีดับไฟ  ถังอยู่ตรงไหนและต้องทำอย่างไร

              วิธีการใช้ถังดับเพลิง   
                  1. ดึง คือ เมื่อยกถังดับเพลิงออกมาตั้งแล้ว สังเกตบนถังจะมีสลักเหมือนกระเดื่องระเบิดสอดไว้ค่อย ๆ ดึงออก
   
                  2. ปลด คือ ปลดสายหัวฉีดออกมาและถือให้มั่นคง
   
                  3. กด คือ เล็งหัวฉีดไปที่ฐานของไฟ จากนั้นกดคันบังคับเปิดน้ำยา

                  4.ส่าย คือ ส่ายสายฉีดไปให้ทั่วฐานของไฟจนไฟดับ

                  5.พยายามเข้าใกล้ระยะประมาณ 2-4 เมตร เป็นระยะหวังผลได้ดี

          แหล่งอ้างอิงที่มา.....เดลินิวส์ออนไลน์  ประจำวันที่ 31 พฤษภาคม พศ2553

หมายเลขบันทึก: 362582เขียนเมื่อ 31 พฤษภาคม 2010 10:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 16:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ได้ความรู้มาก ๆ เกี่ยวกับการใช้ถังดับเพลิง มีข้อควรจำสั้น ๆ ได้ประโยชน์กับคนที่ไม่เคยใช้หรือความรู้เกี่ยวกับการใช้ถังดับเพลิง ขอขอบคุณมากนะครับ ที่ให้ความรู้เป็นวิชญาทานสำหรับประชาชนทั่วไป

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท