การจัดการรายกรณีทางสังคมสงเคราะห์ ( Social work case management )


การนำแนวคิดการจัดการและการมีเจ้าภาพหลักในการให้ความช่วยเหลือผู้มีปมปัญหาซับซ้อน

                                                                                                                                                                                                

สังคมโลกยุคดิจิตอลมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงความคิด  ค่านิยมและแบบแผนการดำเนินชีวิตของคนในสังคม ซึ่งเห็นได้จากปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นจะมีความซับซ้อน แก้ไขได้ยากขึ้นไม่ว่าจะเป็นปัญหาความยากจน ปัญหายาเสพติด  ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว  หรือปัญหาเด็กและเยาวชนที่มีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ ฯลฯ ล้วนมีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกับเหตุและปัจจัยหลายด้านเป็นห่วงลูกโซ่เกี่ยวพันทับซ้อนกัน  การแก้ไขปัญหาใดปัญหาหนึ่งเพียงอย่างเดียวใช้มิได้ผล  ต้องมีการวิเคราะห์ปัญหาและดำเนินการแก้ไขเยียวยาเป็นองค์รวมซึ่งต้องใช้ทรัพยากรและบริการจากหลากหลายหน่วยงาน ในขณะที่ทรัพยากรมีอยู่อย่างจำกัด ระบบการให้บริการยังกระจัดกระจายตามหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ จึงไม่เอื้อต่อการให้บริการแบบองค์รวม ฉะนั้นรูปแบบงานสวัสดิการสังคมที่เน้นการให้บริการเฉพาะในหน่วยงานของตนเป็นแกนหลักเพียงอย่างเดียวจึงไม่เหมาะสมและพอเพียงสำหรับการแก้ไข ป้องกันปัญหายุคปัจจุบัน                แนวคิดการจัดการรายกรณี (Case Management)   เกิดขึ้นตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 แต่ได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อย จนกระทั่งปัจจุบันได้ถูกนำมาปรับใช้เป็นรูปแบบบริการที่กำลังแพร่หลายและเป็นที่นิยมแถบประเทศอเมริกาและยุโรปโดยเฉพาะงานสวัสดิการสังคมด้านเครือข่ายการดูแลรักษาสุขภาพและการบริการสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาซับซ้อนที่ต้องการบริการที่หลากหลาย จึงต้องมีระบบการจัดการและมีผู้จัดการประสานทรัพยากรต่างๆ สู่ระบบผู้ใช้บริการเฉพาะราย  รวมทั้งต้องมีการเปลี่ยนแปลงระบบนโยบายและการจัดสรรงบประมาณเพื่อให้สอดคล้องและสร้างความมั่นคงเข้มแข็งให้กับรูปแบบการให้บริการแบบการจัดการราย กรณี ( เฉพาะบุคคลหรือครอบครัว )                                         

ความหมาย                Karla Krogrud Miley และคณะ (2004, p.355)  ได้ค้นคว้าและให้ความหมายของการจัดการรายกรณีทางสังคมสงเคราะห์ไว้ว่า   บริการการจัดการรายกรณีเป็นการส่งมอบบริการโดยบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือทีม  จัดตั้ง รวบรวม  ประสานและบำรุงรักษาเครือข่ายทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการที่ให้บริการช่วยเหลือ และออกแบบบริการเพื่อให้ผู้ใช้บริการที่มีความต้องการจำเป็นที่ซับซ้อนได้เข้าถึงแหล่งทรัพยากร จนกระทั่งสามารถทำหน้าที่ทางสังคมได้อย่างเหมาะสม    ผู้จัดการรายกรณีต้องทำงานร่วมกับทีมสหวิชาชีพเพื่อจัดการการให้บริการสำหรับผู้ใช้บริการเฉพาะราย ผู้จัดการรายกรณี  จะต้องเป็นผู้ค้นหา สนับสนุน และสร้างความมั่นใจว่า ผู้ใช้บริการในระบบการให้บริการได้รับบริการ การบำบัดรักษา  การดูแล รวมทั้งโอกาสต่างๆที่เขาสมควรได้รับรับตามสิทธิในการกลับมาทำหน้าที่ทางสังคมได้อย่างเหมาะสม (Weil & Karls,1989, p.1)               

สมาคมนักสังคมสงเคราะห์ระหว่างประเทศ (NASW)  ได้ให้ความหมายว่า การจัดการรายกรณีทางสังคมสงเคราะห์ เป็นวิธีการให้บริการความช่วยเหลือที่นักสังคมสงเคราะห์ประเมินความต้องการจำเป็นของผู้ใช้บริการและครอบครัว จึงประสานความร่วมมือติดตาม  ประเมินผล และพิทักษ์สิทธิ์เพื่อให้ได้มาซึ่งบริการหรือทรัพยากรที่จำเป็นต่อการคลี่คลายปัญหาที่ซับซ้อน (NASW,1992,p.3)

กล่าวโดยสรุป การจัดการรายกรณีทางสังคมสงเคราะห์  หมายถึง  วิธีการให้บริการที่นักสังคมสงเคราะห์ ประเมินความต้องการจำเป็นของผู้ใช้บริการและครอบครัว ประสานความร่วมมือ ดำเนินการช่วยเหลือ   จัดสรรทรัพยากรจากระบบบริการ  ติดตามประเมินผล ทั้งในส่วนของผู้ใช้บริการและระบบผู้ให้บริการจากหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการที่เกี่ยวข้อง  ตลอดจนพิทักษ์สิทธิ์  เพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพยากรที่จำเป็นต่อการคลี่คลายปัญหาที่ซับซ้อนของผู้ใช้บริการ    

 เป้าหมาย    เป้าหมายหลักที่สำคัญของการจัดการรายกรณี คือ การช่วยเหลือให้ผู้ใช้บริการที่มีปัญหาซับซ้อนสามารถทำหน้าที่ทางสังคมของตนเองได้ดีที่สุดโดยการให้บริการที่มีคุณภาพมีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพมากที่สุด   

งานและหน้าที่แม้ว่าบทบาทและความรับผิดชอบของผู้จัดการรายกรณีทางสังคมสงเคราะห์แต่ละคนมีความหลากหลายขึ้นอยู่กับโครงการหรือวัตถุประสงค์ของระบบบริการโดยทั่วไปผู้จัดการรายกรณีจะปฏิบัติงานในส่วนเกี่ยวข้องกับการเข้าแทรกแซงช่วยเหลือในระดับผู้ใช้บริการ และระดับระบบการให้บริการดังนี้

1. การเข้าแทรกแซงช่วยเหลือระดับผู้ใช้บริการ ผู้จัดการรายกรณีทางสังคมสงเคราะห์ควรแทรกแซงช่วยเหลือผู้ใช้บริการเพื่อจัดหาและ/หรือประสานการจัดบริการให้กับผู้ใช้บริการและครอบครัวโดยตรง ซึ่งมีองค์ประกอบที่สำคัญ ดังนี้

การเข้าถึงผู้ใช้บริการ การส่งต่อ การระบุตัวผู้ใช้บริการ และการมีส่วนร่วมของผู้ใช้บริการ ด้วยกระบวนการจัดบริการเชิงรุก นักสังคมสงเคราะห์สามารถเข้าถึงและระบุได้ว่าใครคือผู้ที่สมควรได้รับบริการ และเป็นบริการแบบใดจึงจะเหมาะสมและมีประโยชน์สูงสุดเมื่อผู้ใช้บริการที่ถูกคัดเลือกให้เข้าสู่บริการ การจัดการรายกรณี ผู้จัดการรายกรณีจะต้องประเมินสภาวะแวดล้อมของผู้ใช้บริการและทรัพยากรเพื่อการจัดบริการที่เหมาะสมต่อไป               

การประเมินทางสังคมจิตวิทยาของผู้ใช้บริการ ผู้จัดการรายกรณีจะต้องทำการประเมินสภาวะทางกาย จิต และสังคมของผู้ใช้บริการเพื่อค้นหาจุดแข็งและจุดอ่อนของผู้ใช้บริการตามสถานการณ์ที่เขาเผชิญอยู่และการทำหน้าที่ทางสังคมของเขา เพื่อที่จะเข้าใจสภาพองค์รวมของปัญหา โดยที่การประเมินทั้งด้านร่างกาย  สภาวะแวดล้อม  พฤติกรรม  สภาวะทางจิตใจ  เศรษฐกิจ และสังคม ความต้องการจำเป็น แหล่งที่ให้ความช่วยเหลือผู้ใช้บริการอย่างไม่เป็นทางการ สมาชิกในครอบครัว เพื่อน ๆ การเป็นสมาชิกในองค์กรต่าง ๆ สถานะทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึง สภาพการทำงาน และความต้องการพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมและศาสนาเป็นต้น  ผู้จัดการรายกรณีทางสังคมสงเคราะห์ควรกำหนดแนวทางการแทรกแซงช่วยเหลือบนพื้นฐานของข้อค้นพบจากการประเมินดังกล่าว               

การพัฒนาแผนการให้บริการ ภายใต้พื้นฐานการประเมินปัญหาโดยใช้แนวคิด กาย จิต สังคม  ผู้จัดการรายกรณีทางสังคมสงเคราะห์ควรร่วมมือกับผู้ใช้บริการและครอบครัวทำการเลือกและจัดลำดับความสำคัญของบริการและวางแผนการให้บริการแต่ละรายอย่างเหมาะสม ผู้จัดการรายกรณีจะรับผิดชอบเรื่องการประสานงานและจัดทำเอกสารบันทึกพัฒนาการของแผนการให้บริการร่วมกับผู้ใช้บริการ หากเป็นไปได้ควรให้ผู้เชี่ยวชาญของแต่ละวิชาชีพมีส่วนร่วมและรับผิดชอบในการประเมินปัญหาและพัฒนาแผนโดยยึดหลักความเป็นส่วนตัวและศักยภาพในการกำหนดเป้าหมายของผู้ใช้บริการ

แผนการให้บริการสู่การปฏิบัติ   การปฏิบัติงานตามแผนเป็นการให้บริการอย่างต่อเนื่องโดยผ่านระบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการเพื่อสร้างความมั่นใจว่าบริการเหล่านั้นเหมาะสมกับความต้องการจำเป็นของผู้ใช้บริการและมีประสิทธิผลคุ้มค่า         ผู้จัดการรายกรณีทางสังคมสงเคราะห์ควรเลือกหน่วยงานที่ให้บริการมีมาตรฐานและคาดหวังว่าจะได้รับการบริการตรงตามที่เสนอไว้  ผู้จัดการรายกรณีต้องสามารถชี้ให้เห็นบทบาทของตนในการจัดบริการ อธิบายให้ผู้ใช้บริการเข้าใจถึงการให้บริการ วันเวลาของการเริ่มต้นการให้บริการและส่งเสริมบริการหรือกิจกรรมที่ทำให้ผู้ใช้บริการพึ่งพาตนเองได้ในที่สุด

การติดต่อประสานงานและติดตามการให้บริการ   ผู้จัดการรายกรณีควรประสานงานการให้บริการเพื่อรับประกันความต่อเนื่องและความครบถ้วนของการให้บริการ ผู้จัดการรายกรณีควรติดต่อกับผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นว่ามีการให้บริการอย่างต่อเนื่องตรงตามที่ระบุไว้ในแผนบริการและตรงกับความต้องการของผู้ใช้บริการ มีการติดตามผลของการบริการที่ผู้ใช้บริการได้รับ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการปรับปรุงแผนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของผู้ใช้บริการอย่างทันท่วงที

การพิทักษ์สิทธิผู้ใช้บริการ  ผู้จัดการรายกรณีทางสังคมสงเคราะห์จะต้องเป็นผู้พิทักษ์สิทธิผู้ใช้บริการและครอบครัวเพื่อให้ได้รับบริการที่ต้องการจำเป็นอย่างเหมาะสมทั้งจากหน่วยงานอื่นและหน่วยงานของตนเอง  ผู้จัดการรายกรณีทางสังคมสงเคราะห์ควรเป็นผู้ทำให้เกิดความมั่นใจว่ามีการส่งมอบบริการและลดช่องว่างในการให้บริการ มีการรับรู้ความต้องการของผู้ใช้บริการแต่ละคน การบริการจะไม่สิ้นสุดก่อนเวลาอันสมควร การรวบรวมข้อมูลในระยะการปฏิบัติงานและการติดตามผลจะถูกนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพิทักษ์คุ้มครองผู้ใช้บริการด้วยก็ได้

การประเมินสถานการณ์ของผู้ใช้บริการเป็นระยะ  ผู้จัดการรายกรณีทางสังคมสงเคราะห์ควรประเมินความต้องการและความก้าวหน้าตามวัตถุประสงค์ของผู้ใช้บริการเป็นระยะ ๆ ให้สอดคล้องกับเป้าหมาย โดยกำหนดเงื่อนเวลาการประเมินให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง การประเมินผลซ้ำอาจจำเป็นต้องจัดทำทั้งโครงการหรือเพียงบางส่วน ขึ้นอยู่กับลักษณะปัญหาเฉพาะของผู้ใช้บริการ การประเมินผลซ้ำอาจจะเป็นการให้ข้อมูลใหม่ซึ่งจะต้องมีการปรับปรุงวิธีการใหม่หรือแผนการแทรกแซงและเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริการ

การยุติการให้บริการ  การยุติการให้บริการอาจเกิดจากหลายเหตุผล เช่น ผู้ใช้บริการบรรลุผลตามเป้าหมาย  ผู้ใช้บริการหรือครอบครัวไม่ยอมรับ  ผู้ใช้บริการหรือผู้จัดการรายกรณีถอนตัว หรือผู้ใช้บริการเสียชีวิต การยุติการให้บริการอาจเกิดขึ้นเพราะข้อจำกัดของการบริการที่มีอยู่ซึ่งผู้ใช้บริการโอนย้ายไปอยู่โครงการอื่น ๆ ที่เหมาะสม  เป็นหน้าที่รับผิดชอบของผู้จัดการรายกรณีที่จะต้องเตรียมความพร้อมให้ผู้ใช้บริการ ทราบถึงผลกระทบของการยุติการให้บริการ สรุปรายงานให้แก่ผู้ใช้บริการและสรุปค่าใช้จ่ายเป็นรายกรณีหลังจากการยุติให้การบริการ จำเป็นที่ต้องมีการติดตามผู้ใช้บริการและครอบครัวอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าสถานการณ์ปัจจุบันเข้าสู่สมดุล 

2. การแทรกแซงระดับระบบบริการการแทรกแซงดับระบบบริการเป็นการเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนนโยบาย การบริหารโดยเฉพาะในส่วนของงบประมาณขององค์กร หรือหน่วยงานที่ให้บริการ ผู้จัดการรายกรณีต้องเข้าใจว่าหน่วยงานการให้บริการกับระบบสภาวะแวดล้อมนั้นอาจมีส่วนกระทบต่อผู้ใช้บริการไม่ว่าจะเป็นทางด้านดีหรือไม่ดี   ผู้จัดการรายกรณีควรจะได้เข้าไปแทรกแซงถึงในระดับระบบบริการ และสามารถจัดการกับเงื่อนไขการจัดบริการให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผู้จัดการรายกรณีควรสนับสนุนและส่งเสริมระบบจัดการที่มีอยู่ให้ดียิ่งขึ้น โดย (1) วิเคราะห์จุดแข็งและข้อจำกัดของระบบสภาวะแวดล้อม (2) กำหนดผลลัพธ์ที่ปรารถนาจะให้เกิดขึ้น (3) เลือกกลยุทธ์เพื่อปรับปรุงระบบ           (4) ประเมินประสิทธิภาพของกลยุทธ์  (5 ) มีการทบทวนผลลัพธ์และกลยุทธ์อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้การแทรกแซงช่วยเหลือในระบบบริการจะต้องมีการดำเนินกิจกรรมเฉพาะด้านอื่น ๆ อีกเช่นการพัฒนาแหล่งทรัพยากรและงบประมาณ  การพิทักษ์สิทธิ์  การทบทวนและการปรับปรุงนโยบายขององค์กรให้บริการ การรวบรวมข้อมูล การจัดการข้อมูล  และการประกันคุณภาพ ดังรายละเอียดต่อไปนี้  

การพัฒนาแหล่งทรัพยากรและงบประมาณ   ผู้จัดการรายกรณีทางสังคมสงเคราะห์ควรมีความรู้เกี่ยวกับแหล่งทรัพยากรต่าง ๆ ที่สามารถนำมาใช้ได้และเป็นเสมือนตัวแทนของหน่วยงานให้บริการ และสามารถปฏิบัติงานได้หลายระดับ มีอำนาจการจัดสรรทรัพยากรที่กว้างขวาง   หากมีการขยายขอบเขตอำนาจทางการเงินมากขึ้นจะส่งผลให้สามารถจัดการให้บริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียวได้  การกำหนดหน้าที่ระบบการจัดการในลักษณะนี้  ผู้จัดการรายกรณีจะทำหน้าที่เสมือน ผู้คุมทีมคอยควบคุมการเข้าถึงและการจัดสรรแหล่งทรัพยากร  องค์การให้บริการควรสร้างเกณฑ์ให้ผู้จัดการรายกรณีได้กำหนดว่าผู้ใช้บริการควรได้รับอนุญาตให้ใช้แหล่งทรัพยากรที่ขาดแคลนประเภทใดและภายใต้สภาพแวดล้อมใดบ้าง ในฐานะผู้คุมทีมและเป็นคนจัดสรรทรัพยากร ผู้จัดการรายกรณีต้องเป็นผู้รวบรวมข้อมูลและให้ข้อมูลย้อนกลับเกี่ยวกับงบประมาณที่มีผลต่อองค์กรให้บริการ  การปรับปรุงโครงการตามความจำเป็น การเปลี่ยนแปลงระบบการบริการ คุณภาพของผู้ให้บริการ และผลที่เกิดจากการจัดบริการตามสัญญาหรือข้อตกลง

การพิทักษ์สิทธิ  เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าองค์กรหรือหน่วยงานต่าง ๆ ให้บริการตามข้อตกลงหรือแผนการให้บริการอย่างเพียงพอ มีการให้บริการที่เป็นจริง ความต้องการของผู้ใช้บริการต้องได้รับการพิจารณา และผู้ให้บริการจะไม่ยกเลิกการบริการก่อนถึงกำหนด นอกจากนี้ผู้จัดการรายกรณีต้องนำเสนอข้อมูลเป็นลายลักษณ์อักษรต่อผู้บริหารองค์กร ผู้นำชุมชน รัฐบาล และตัวแทนผู้ให้บริการให้ทราบถึงข้อจำกัดของทรัพยากรและปัญหาอื่น ๆ ในการจัดการรายกรณี ตลอดจนแนวทางแก้ปัญหา ผู้จัดการรายกรณีควรมีส่วนร่วมในการประเมินความต้องการของชุมชน การจัดระเบียบชุมชน การพัฒนาทรัพยากรเพื่อให้แน่ใจว่าความต้องการของผู้ใช้บริการได้รับการตอบสนอง

การทบทวนและการปรับปรุงนโยบายขององค์กรที่ให้บริการ   การจัดการรายกรณีทางสังคมสงเคราะห์ต้องได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการบริหารองค์กร โดยผ่านการวางแผนของหน่วยงานที่ให้บริการ การจัดทำนโยบาย การบริหารงานบุคคล และกระบวนการจัดทำงบประมาณนโยบายขององค์กรให้บริการที่เกี่ยวกับการจัดการรายกรณีควรได้รับการทบทวนเป็นระยะ ๆ การทบทวนนั้นควรรวมขั้นตอนของการให้บริการ การประเมินปัญหาความต้องการของผู้ใช้บริการ การวางแผนและการประเมินผลการจัดการรายกรณี การส่งต่อและการติดตามผลรวมทั้งการแบ่งปันความรับผิดชอบกับบุคคลหรือหน่วยงานอื่นๆ

การเก็บรวบรวมข้อมูลและการจัดการระบบข้อมูล  การเข้าถึงข้อมูลของรายบุคคลและโครงการเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับประเมินผลงานของบุคลากรและองค์กรที่ให้บริการ การตัดสินใจเกี่ยวกับการบริการเป็นการรับรองประสิทธิภาพขององค์กรหรือหน่วยงานให้บริการ ข้อมูลข่าวสารเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการจัดบริการ  และการวิจัยเป็นการสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ให้เงินหรือแหล่งเงินทุน และเพื่อการจ่ายเงินชดเชย  นโยบายขององค์กรที่ให้บริการควรระบุให้ชัดเจนเกี่ยวกับความต้องการให้มีการเก็บบันทึกข้อมูลรวมทั้งระยะเวลาที่ให้บริการ ควรระบุให้ชัดเจนเกี่ยวกับความต้องการให้มีการเก็บบันทึกข้อมูลรวมทั้งระยะเวลาที่ให้บริการรายบุคคลและดำรงรักษาความลับของการเก็บรวบรวมข้อมูลในโครงการการประกันคุณภาพ  องค์กรให้บริการควรมีการประกันคุณภาพที่เหมาะสม  และประสิทธิภาพของระบบการจัดการรายกรณี     ผู้จัดการรายกรณีควรมีส่วนร่วมในการประเมินคุณภาพ ความเหมาะสมและประสิทธิภาพของการจัดการรายกรณีทางสังคมสงเคราะห์ในสองระดับคือ ระดับผู้ใช้บริการแต่ละคน ผู้จัดการรายกรณีต้องมีการบันทึกข้อมูลครบถ้วน การเก็บรักษาบันทึก  รายงาน การมีส่วนร่วมในการพิจารณาคัดกรองเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง  ทันเวลาในแต่ละกรณี   การดำเนินงานของผู้จัดการรายกรณีควรมีการติดตามผล การประเมินผล  ส่วนในระดับระบบการให้บริการ ได้แก่ การบรรลุความสำเร็จของโครงการควรปรับปรุงโครงการและความเชื่อมั่นในการจัดสรรทรัพยากรซึ่งขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือของข้อมูลต่าง ๆ ที่แสดงความจำเป็นและความขาดแคลนของการบริการ ตลอดจนการจัดทำเอกสารบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับการยุติปัญหาและปัญหาที่ยังคงอยู่ การประเมินผลและการประกันคุณภาพช่วยรับรองผลลัพธ์ของการบริการตามที่มุ่งหวังไว้และได้มาตรฐาน               

สรุป                  การประยุกต์ใช้การจัดการรายกรณีทางสังคมสงเคราะห์ในประเทศไทย  หากพิจารณาจากวิธีการปฏิบัติงานของผู้จัดการรายกรณีซึ่งจะต้องปฏิบัติงานช่วยเหลือโดยตรงกับผู้ใช้บริการแล้วยังต้องเข้าแทรกแซงระบบการให้บริการจากหน่วยงานหรือองค์กรอื่นๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งบริการที่จำเป็นในการแก้ไขปัญหา  หรือฟื้นฟูศักยภาพของผู้ใช้บริการแล้ว  ผู้เขียนคิดว่าหากหน่วยงานหรือองค์กรมีนโยบายให้จัดบริการเป็นแบบการจัดการรายกรณี นักสังคมสงเคราะห์หรือผู้ปฏิบัติงานสามารถนำแนวคิด วิธีการมาปฏิบัติได้ทันที  โดยมีการปรับเปลี่ยนเรียนรู้ กระบวนการที่เหมาะสมกับวัฒนธรรมองค์กรในหน่วยงานและสังคมไทย  แต่การเข้าแทรกแซงในระบบบริการซึ่งมีหลากหลายหน่วยงานและองค์กรที่ให้บริการซึ่งมีนโยบาย  และวิธีการบริหารองค์กร เป้าหมายการให้บริการที่แตกต่าง  โดยเฉพาะในส่วนของงบประมาณของแต่ละแห่ง  คงเป็นการยากที่จะเข้าไปแทรกแซงให้จัดบริการได้                งานชิ้นสำคัญของผู้ปฏิบัติงานและผู้บริการหน่วยงานนักวิชาการด้านสวัสดิการสังคมคือการผลักดันให้มีการก่อรูปของนโยบายสวัสดิการสังคมที่ส่งเสริมรูปแบบวิธีการจัดการรายกรณีในหน่วยงานหรือองค์กรและขยายกว้างในระดับชาติ

บรรณานุกรม
Albert R. Roberts, Gilbert J. Greene. (2002).  Social Workers’desk Reference. Oxford
              niversity Press, Inc.

Kar;a Krogsrud Miley, Michael O’Melia, Brenda DuBois.(2004). Generalist Social Work                 Practice An Empowering Approach . Person Education, Inc.NASW. (2005).  NASW Standards for Social Work Case Management. http://www.naswdc.org/practice/standards/sw_case_mgmt.asp 

หมายเลขบันทึก: 36246เขียนเมื่อ 30 มิถุนายน 2006 14:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 10:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณมากครับ กำลังหาอยู่พอดี

วายุภักษ์ นักสังคมสงเคราะห์

ยินดีค่ะ

ถ้ามีความคิดเห็นอย่างไรจะเพิ่มเติมก็ยินดีแลกเปลี่ยน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท