กศน.ตำบล แหล่งเรียนรู้ราคาถูก(1)


ใกล้ชิดรากหญ้า

 

 

กศน.ตำบล แหล่งเรียนรู้ราคาถูก (1)

               มีสองเรื่องประจวบเหมาะเข้ามายังผมในช่วงเวลาใกล้เคียงกันคือ หนึ่ง...มีจดหมายจากสำนักงาน กศน.เชิญผมในฐานะกรรมการส่งเสริมสนับสนุนและประสานความร่วมมือการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กรรมการชาติที่ รมต.ศึกษาเป็นประธาน) เข้าประชุมครั้งแรกในวันที่ 4 มิถุนายนนี้ โดยมีสาระสำคัญคือประเด็นเกี่ยวกับ "กศน.ตำบล แหล่งเรียนรู้ราคาถูก" เรื่องนี้สอดคล้องกับเรื่องที่สอง ซึ่งเพื่อนเก่าแก่ที่เคารพของผมคืออาจารย์ชลทิตย์ เอี่ยมสำอางค์ ในฐานะบรรณาธิการวารสาร กศน.ได้ส่งวารสารเล่มล่าสุดที่โปรยหัวข้อเรื่องไว้ที่ปกว่า "แหล่งการเรียนรู้ราคาถูก กศน.ตำบล"มาให้ผมในวันนี้พอดี (เหมือนดั่งจะหยั่งรู้ว่า ผมจะเข้าประชุมในเรื่องนี้)
               ต่อเรื่องราวนี้ ผมมีเรื่องเก่าเกือบ 20 ปีล่วงมาแล้วจะเล่าให้ฟังว่า แต่ครั้งที่ ดร.รุ่ง แก้วแดง รับผิดชอบเป็นอธิบดี กศน. ท่านได้จัดตั้งเครือข่ายการเรียนรู้ใหญ่ที่ประกอบไปด้วยผู้บริหารของ กศน. ผู้บริหารส่วนราชการอื่น  สื่อมวลชนและผู้นำองค์กรพัฒนาเอกชน เครือข่ายนี้ทำให้ผมได้เรียนรู้ร่วมกับสมาชิกทั้งหลายเป็นระยะๆ นานหลายเดือน ทั้งยังได้ไปดูงานด้านการศึกษานอกระบบร่วมกันที่ประเทศญี่ปุ่น 
               ในช่วงนั้น ผมประทับใจในการขยายบทบาท กศน.ลงไปที่ระดับอำเภอ ซึ่งเป็นกลไกในการช่วยให้ประชาชนทุกกลุ่มทุกวัยได้เพิ่มการเรียนรู้ที่หลากหลายอย่างกว้างขวาง  แม้ต่อมาเมื่อมีการปฎิรูประบบราชการที่ทำให้ราชการส่วนท้องถิ่นที่ใกล้ชิดกับชาวบ้านทั้งหลายต้องยุบลงอย่างน่าเสียดาย แต่ กศน.อำเภอก็ยังอยู่อย่างยืนยง
               ไม่น่าเชื่อว่าในยุคนี้  ยุคที่หน่วยราชการอื่นถูกยุบหายไปจากระดับตำบลจนหมด  แต่ กศน.ตำบลกลับเกิดขึ้นได้ภายใต้ปรัชญาของการกระจายอำนาจทางการเรียนรู้ ซึ่งน่าจะเต็มพื้นที่ทุกตำบล 7,409 ตำบลในเดือนกันยายนนี้ ภายใต้ภาระกิจที่สำคัญคือเป็นแหล่งเรียนรู้ราคาถูกที่ต้องการให้คนไทย "ได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ"
               เพื่อนครู กศน.ทั้งหลาย จะสื่อสารอะไรถึงผมเพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมก็เชิญนะครับ เราสื่อสารกันไปมาสองทาง เมื่อประชุมแล้วได้ผลเป็นเช่นไร จะนำมารายงานเพื่อรู้กันต่อไป
  

 

หมายเลขบันทึก: 362446เขียนเมื่อ 30 พฤษภาคม 2010 13:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2012 20:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ดีใจมากครับที่บุคคลที่มีชื่อเสียงระดับประเทศได้เข้ามาเป็นกรรมการส่งเสริมสนับสนุนและประสานความร่วมมือการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และได้รู้เห็นความเคลื่อนไหว กศน.ในระดับตำบล

ดีใจค่ะที่บุคคลที่มีคุณภาพอย่างครูหยุยกำลังจะเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานของกศน.

 

ดีใจด้วยคนครับ ที่ได้คนมีคุณภาพทำงานอย่างจริงจังเข้ามาร่วมงาน กศน. ผมได้สนับสนุนให้ กศน.ตำบล จัดกิจกรรมบ้านหลังเรียนโดยใช้ กศน.ตำบล ซึ่งมีทั้งห้องคอมพิวเตอร์ ห้องสมุดชุมชน รวมทั้งให้เปิดบริการทุกรวมทั้งวันเสาร์อาทิตย์ มีเด็กและเยาวชนเข้ามาใช้กันมาก ตอนนี้ กศน.ตำบลสนับสนุน สภาเด็กและเยาวชนตำบล รวมทั้งเริ่มจัดตั้ง ชมรม To Be Number One ประเภทชุมชน ด้วย..และกำลังพยายามให้กลุ่มเด็กและเยาวชนเหล่านี้เข้ามาร่วมดูแลบริหารจัดการ กศน.ตำบลร่วมกัน .....ถ้านโยบายชัดเจน มีการสนับสนุนจริงจัง หน่วยงานนอกพื้นที่หลายหน่วยร่วมมือกันและคนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ผลที่จะเกิดขึ้นในชุมชน ก็คือ สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ฝากเรื่อง การสนับสนุนงานเยาวชนที่จริงจังและชัดเจนด้วยครับให้มีงบประมาณ และงบประมาณลงถึงพื้นที่โดยเฉพาะ กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชนจะได้เจริญก้าวหน้า เด็กและเยาวชนจะได้มีโอกาสการเรียนรู้และพัฒนาเพิ่มมากขึ้น ขอขอบคุณล่วงหน้านะครับ

อยากฝากเรื่องให้พิจารณาดังนี้ครับ

  • ควรสนับสนุนให้มีบุคลากรให้เพียงพอ ไม่ใช้ว่าเปิดกศน.ตำบลเสร็จ ก็ปล่อยทิ้งไว้ไม่ดูแล (ถ้าคนไม่พอก็ให้ข้าราชการไปดูแลบ้าง ไม่ใช่เป็นข้าราชการชี้นิ้วสั่งอย่างเดียว ทำงานไม่เป็น ลงพื้นที่ไม่ได้) 
  • บุคลากรที่ประจำ กศน.ตำบล ควรมีคุณภาพบ้าง และที่สำคัญต้องใจรักและอดทน ไม่ใช้ว่าเอาใครก็ไม่รู้มาทำงาน  ( ครู ศรช. เงินเดือน7000-8000 สวัสดิการไม่มี จะหาคุณภาพจากไหน คนเก่งก็หนีไปทำงานอื่นหมด)
  • สนับสนุนงบประมาณให้ชัดเจน ไม่ใช้ให้ใช้ความสามารถไปขอจากหน่วยงานอื่นเรื่อยไป (ขอ80 จ่ายเอง20 ใครเขาจะช่วย)
  • อยากให้กระทรวงมหาดไทย มีหนังสือสั่งการให้ อปท. สนับสนุน กศน.ตำบลอย่างชัดเจน เพราะไม่มีการสั่งจากกระทรวง อปท.หลายแห่งก็ไม่สนับสนุน
  • คอมพิวเตอร์พิมพ์งาน หรืออุปกรณ์ที่จำเป็นในการเรียนการสอน การจัดกิจกรรม ยังไม่มีให้กศน.ตำบล แล้วจะทำงานอย่างไร
  • กศน.ตำบล บางแห่งอาคารสถานที่ ก็แบบขอไปที ที่เขาปล่อยร้างผุพังแล้ว ก็ไปเอามาเป็น กศน.ตำบล แหล่งเรียนรู้ราคาถูกจริงๆ(ทำไงได้เดี๋ยวเปิดไม่ทัน)
  • อยากให้เปลี่ยนจาก "แหล่งเรียนรู้ราคาถูก" เป็น "แหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต" น่าจะดีกว่า เพราะได้ยินคนบ่นกันมากกับราคาถูก  แต่พูดอะไรไม่ได้เพราะเป็นความคิด รมต. 

ทั้งหมดเป็นเรื่องที่อยากจะนำเสนอ จากประสบการณ์ที่ทำกิจกรรม เกี่ยวกับ กศน.ตำบล  เหนื่อยมากกับการเปิด กศน.ตำบล (ทั้งเรื่องหลักสูตร2551 หลักสูตรนำร่อง หลักสูตร2544  กศน.ตำบลเดียว จัดการศึกษาขั้นพี้นฐาน 3 หลักสูตร อีกทั้งตัองจัดกิจกรรมการศึกษาต่อเนื่อง และอัธยาศัย อีกด้วย  ตอนนี้ที่อำเภอ ครู 1 คน รับผิดชอบ 3 ตำบล ลองคิดดูนะครับ หนักครับ)  

กศน.ตำบลเปิดแล้วก็ไปต่อไม่ได้ ไม่อยากเห็นภาพแบบนั้น ฝากคุณครูด้วยนะครับ

  

ขอบคุณครับ 

ขอบคุณมากสำหรับข้อเสนอแนะทุกข้อ ผมจะแจกแจงประมวลรวมเป็นข้อๆ ไว้นำเสนอต่อที่ประชุมให้ครับ

น่าจะช่วยให้ กศน.ตำบล ดำเนินการไปได้ดีกว่าเดิมนะครับ

เมื่อวาน ผมเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการส่งเสริมฯ ร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแล้ว นอกจากจะทราบถึงความสำคัญของ กศน.ตำนลและเป้าหมายที่จะขยายให้ครบทั้ง 7,000 กว่าแห่งในเดือนกันยายนนี้แล้ว ผมและคณะกรรมการหลายท่าน ได้อภิปรายในประเด็นที่หลากหลายเพื่อการเสนอแนะ แต่ที่ตรงกันและต้องการนำมาเล่าสู่กันฟังก็คือ ทุกคนเห็นตรงกันว่า กศน.ตำบล จะเดินก้าวไปข้างหน้าได้นั้น ส่วนสำคัญสุดคือ บุคลากรต้องได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจัง ทั้งสถานะที่มั่นคง รายได้ที่ตรงตามวุฒิการศึกษา รวมทั้งได้รับการพัฒนาในด้านต่างๆ อยู่เสมอ เพราะเป็นงานสำคัญ อยู่กับประชาชนระดับรากหญ้าและต้องร่วมประสานงานกับกลไกอื่นๆ อีกมากในชุมชน

รัฐมนตรี เห็นด้วยกับข้อเสนอแนะและมอบหมายให้คณะทำงานรับไปดำเนินการต่อไป แล้วแจ้งความคืบหน้าให้คณะกรรมการฯทราบในโอกาสต่อไป

ครับ ผมทำหน้าที่สื่อสารให้แล้ว ท่านคอยติดตามว่าผลจะเป็นเช่นไร นะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท