คนตานี
saifuddeen Abu Ni-nasreen (سيف ألدين) ibn ni-umar ibn ni-kejik An-nuree

12 โอวาทแด่ครอบครัวชาวพิกุล


12 โอวาทแด่ครอบครัวชาวพิกุล

 

 

12 โอวาทแด่ครอบครัวชาวพิกุล

คัดลอกจาก...http://www.yiu.ac.th/th/index.php/12-โอวาทแด่ครอบครัวชาวพิกุล.html



โอวาทที่ 1 : ยำเกรงอัลลอฮฺ
ขอให้ทุกท่านยำเกรงอัลลอฮฺ (ตักวา) ผู้ทรงรอบรู้และผู้ทรงวิทยญาณ พระองค์คือผู้ทรงเฝ้าสังเกต ตรวจสอบ เพ่งพินิจ รับฟัง รับทราบ คิดคำนวณและทรงตอบแทนทุกอย่างทั้งในดุนยาและอาคิเราะฮฺที่เป็นกิจการบ่าวของพระองค์ในทุกเวลาและสถานที่ตักวาที่ทำให้เกิดความบริสุทธิ์ใจ  (อิคลาศ) สู่การหลุดพ้นจากการตั้งภาคี (ชิริก) การโอ้อวด (ริยาอฺ) การหลงระเริง การกระทำสิ่งที่เป็นอบายมุขทั้งหลาย การอุตริในศาสนา(บิดอะฮฺ) และความเชื่องมงายต่างๆ ตักวาที่สร้างจุดประกายให้เกิดความรักต่ออัลลอฮฺและรอซูล ด้วยการยึดมั่นคำสอนของพระองค์และปฏิบัติตามซุนนะฮฺสู่การพัฒนาตนเองและสร้างครอบครัวเปี่ยมสุข ตักวาที่คอยย้ำเตือนว่ามีมะลาอิกะฮฺคอยประกบเขาตลอดเวลา และชัยฏอนคือศัตรูตัวฉกาจสำหรับเขา เพราะตักวาคือรากฐานแห่งความสำเร็จและปัจจัยหลักของการมีชีวิตที่มีเกียรติ ภายใต้การกำหนดสภาวการณ์ของอัลลอฮฺ(กอฎอและกอดัร)ทั้งในดุนยาและอาคิเราะฮฺอันถาวรนิรันดร์


โอวาทที่ 2 : อามัลอิสลามีย์
ขอให้ทุกท่านที่เป็นมุสลิมีนจงหมั่นละหมาดฟัรฎูห้าเวลาทุกครั้งพร้อมญะมาอะฮฺที่มัสยิด ส่วนมุสลีมะฮฺขอให้ละหมาดในช่วงต้นเวลา ทุกครั้งด้วยหัวใจที่สงบนิ่งและมีความสำรวม ขอให้อ่านอัลกุรอานเป็นกิจวัตรประจำวัน อ่านอัซการฺนะบะวียะฮฺทุกเช้าเย็น หมั่นอ่านบทซิกิรหลังละหมาด (เอาร็อด มะซูเราะฮฺ) อ่านดุอา ซิกิรประจำวันและปฏิบัติอะมัลที่อิสลามบัญญัติไว้ อาทิ ละหมาด  สุนัตต่างๆ เช่น เราะวาติบ ตะฮัจจุด วิติรฺ ฎูฮาและละหมาดเอาวาบีนช่วงเช้าตรู่ จงหมั่นรักษาศิยามสุนัตสามวันต่อเดือน จงดำรงตนด้วยอาภรณ์แห่งน้ำละหมาดตลอดระยะเวลาชั่วโมงทำงานของเราในแต่ละวัน



โอวาทที่ 3 : แสวงหาความรู้
ขอให้ทุกท่านมุ่งมั่นในการเพิ่มพูนความรู้แก่ตนเอง ทั้งความรู้ที่เกี่ยวเนื่องกับการทำอีบาดะฮฺ หรือศาสตร์ที่เป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่อง ขอให้ทุกท่านให้ความสำคัญกับภาษาต่างๆ ไม่ว่าภาษาที่มีความจำเป็นในระดับท้องถิ่น ระดับชาติและนานาชาติ หรือภาษาที่มีความจำเป็นทางศาสนา ทุกคนต้องเป็นผู้ใฝ่รู้ กระหายที่จะเรียนรู้ และแสวงหาความรู้ทั้งด้านเทคโนโลยี และความรู้ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นเลิศทางด้านการให้บริการ อัลลอฮฺตรัสว่า  وَقُل رَّبِّ زِدۡنِى عِلۡمً۬ا  (มีความหมายว่า "และจงกล่าวเถิดข้าแต่พระเจ้าของข้าพระองค์ขอพระองค์ทรงโปรดเพิ่มพูนความรู้แก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด") พึงทราบเถิดว่า การใช้ชีวิตของนบีมูฮัมมัด (ขอความสันติจงมีแด่ท่าน)  ตลอดระยะเวลา 23 ปี เป็นการใช้ชีวิตที่ถูกประดับประดาเสริมแต่งด้วยคำวิวรณ์(วะหฺยู) เพื่อเสริมสร้างความรู้อันลุ่มลึกที่เป็นกุญแจสำคัญสู่การปฏิบัติอะมัล เป็นรัศมีของการทำอีบาดะฮฺ วิญญาณของการเผยแผ่ เส[บียงอาวุธของการญิฮาด ตลอดจนเป็นเงื่อนไขหลักแห่งความสำเร็จและความเจริญทั้งดุนยาและอาคิเราะฮฺ


โอวาทที่ 4 : ภารดรภาพ
ขอให้ทุกท่านถักทอสายสัมพันธ์ความเป็นภราดรภาพในอิสลามที่พันผูกในครอบครัวอันเดียวกันอย่างแน่นแฟ้น บนหลักการวะลาอฺ (ความรักและให้ความช่วยเหลือ) ทำความรู้จัก ถามไถ่ทุกข์สุขอย่างใกล้ชิด ให้และรับสลามด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้ม ให้เกียรติซึ่งกันและกัน มอบความรักและเอ็นดูแก่ผู้น้อย ให้เกียรติและเคารพต่อผู้อาวุโส มีกิริยามารยาทที่งดงาม มีความเอื้ออาทรและสามัคคีปรองดอง ปกป้องซึ่งกันและกัน เยี่ยมเยียน ให้อภัยและขอดุอาทั้งต่อหน้าและลับหลัง จงห่างไกลจากนิสัยที่ไม่ดีที่ทำให้สายสัมพันธ์ฉันท์พี่น้องต้องขาดสะบั้นลง พึงระวังพฤติกรรมที่นำไปสู่การแตกแยกและการแบ่งพรรคแบ่งพวก นี่คือฐานแห่งการสร้างชีวิตที่เปี่ยมสุขของประชาชาตินี้


โอวาทที่ 5 : เผยแผ่อิสลาม
ขอให้ทุกท่านพึงตระหนักว่า มนุษย์ทุกคนล้วนเป็นบ่าวของ อัลลอฮฺ ลูกหลานของนบีอาดัมและประชาชาติของนบีมูฮัมมัด (ขอความสันติจงมีแด่ท่าน) ดังนั้น จงพยายามเผยแผ่อิสลาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งแก่บรรดาชนต่างศาสนิกด้วยวิทยปัญญาอันลุ่มลึก ปลูกฝังวิญญาณการ   ญิฮาดตามแนวทางของอัลลอฮฺที่ยึดมั่นหลักการสายกลางที่มีความสันติและวิทยปัญญาอันนำไปสู่ความเมตตา ความสงบสุขและความเจริญแก่สากลจักรวาล  จงห่างไกลจากแนวคิดสุดโต่งและพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงที่นำไปสู่ความเสียหายและความถดถอยล้าหลัง ขอให้ทุกท่านฟื้นฟูบรรยากาศของการตักเตือนกันและกันในสิ่งที่เป็นสัจธรรมและขันติธรรมในรูปแบบที่หลากหลายทั้งโดยตรงหรือผ่านกระบวนการหะละเกาะฮฺอัลกุรอาน(การเสวนากลุ่ม) ประจำสัปดาห์  นี่คือเสาหลักในการใช้ชีวิตอันเปี่ยมสุขทั้งดุนยาและอาคีเราะฮฺ وَتَوَاصَوۡاْ بِٱلۡحَقِّ وَتَوَاصَوۡاْ بِٱلصَّبۡرِ
 

โอวาทที่ 6 : บริหารเวลา
ขอให้ทุกท่านมุ่งมั่นและให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการเวลาอย่างมีประสิทธิภาพ กระชับ เปี่ยมด้วยสิริมงคล(บะเราะกะฮฺ) และมีความสมดุลในหน้าที่ประจำวันตามภารกิจที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะเวลาไป/กลับจากการเรียนการสอนและทำงานในมหาวิทยาลัย ห้ามมาสายกลับเร็วจากเวลาที่กำหนดโดยเด็ดขาด อย่าให้เวลาผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ พึงรู้ว่าเวลาคือชีวิต การบริหารจัดการเวลาในความเป็นจริงแล้ว เป็นการบริหารจัดการชีวิต ขณะที่การโจรกรรมเวลาแท้จริงแล้วคือการฆาตกรรมชีวิตทั้งชีวิตของตนเอง ชีวิตของมหาวิทยาลัยและชีวิตของประชาชาติทั้งมวล

 

โอวาทที่ 7 : จุดนัดพบประจำวัน

จงหมั่นรักษาละหมาดซุฮรีพร้อมญะมาอะฮ ณ มัสยิดอัลหะรอมัยน์ในมหาวิทยาลัย อันเป็นศาสนสถานที่เราสามารถรำลึกถึงอัลลอฮฺและเป็นห้วงเวลาที่เราสามารถถ่ายทอดความรู้สึกที่ดีๆระหว่างกันภายใต้บรรยากาศของความรู้สึกสำนึกขอบคุณ(ชุโกร์)และหัวใจที่สำรวม นอกจากนี้ยังเป็นจุดพบปะประจำวันของครอบครัวชาวม.อ.ย. ทั้งชายและหญิง ให้เกียรติมัสยิดและสร้างบรรยากาศของการเคารพภักดีด้วยหัวใจที่นิ่งสงบและมั่นคง จงสดับรับฟังเทศนาธรรม (นะศิฮัต) หลังละหมาดซุฮรีจากอิมามนำละหมาดเพื่อปรับปรุงอีมาน และฟื้นฟูบรรยากาศของความรักและความเป็นห่วงเป็นใยในอิสลาม

     
โอวาทที่ 8 : มุ่งมั่นสู่ความเป็นเลิศ

พึงปฏิบัติตามและยึดมั่นต่อกฎระเบียบต่างๆ ให้เป็นไปตาม  ยุทธ์ศาสตร์ของมหาวิทยาลัย และดำเนินงานตามภาระหน้าที่ที่เปี่ยมด้วยความรับผิดชอบ (อะมานะฮฺ) มีระเบียบ ประสิทธิภาพและเป็นเลิศ โดยอาศัยความขยันหมั่นเพียร ทุ่มเท กระตือรือร้น มีความต่อเนื่อง มุ่งมั่น ใฝ่สัมฤทธิ์ และตระหนักในหน้าที่ เพราะอัลลอฮฺทรงพอพระทัยทุกกิจการงานที่มีความเป็นเลิศและต่อเนื่อง พระองค์ทรงมอบวัตถุปัจจัยต่างๆ และทรงตอบแทนตามปริมาณและคุณภาพของงานนั้นๆ ขอให้ทุกฝ่ายขอลุแก่โทษและสารภาพผิดต่ออัลลอฮฺให้มากต่อการกระทำทุกอย่างที่นำพาไปสู่ความล้าหลังและความล้มเหลว ขอให้กล่าวสรรเสริญและก้มกราบขอบคุณต่ออัลลอฮฺในความสำเร็จและความก้าวหน้าของกิจการ  ขอให้ลูกๆนักศึกษาจำไว้ว่าลูกๆ กำลังแสวงหาความรู้  ไขว่คว้าสัจธรรมและรวบรวม วิทยปัญญาซึ่งปัจจุบันได้อันตรธานหายไปจากการครอบครองของบรรดาผู้ศรัทธา  ขอให้ลูกๆ ประดับประดาตนเองด้วยรัศมีแห่งอีมาน  ความรู้และอะมัลศอลิหฺ  เข้าร่วมกิจกรรมตัรบียะฮฺและกิจกรรมสาธารณประโยชน์ด้วยการยึดมั่นในหลักการฮิจเราะฮฺและสร้างจิตสำนึกแห่งการเปลี่ยนแปลงสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีมีคุณธรรม ตลอดจนสรรค์สร้างบุคลิกภาพที่มีความสมดุลทั้งร่างกายสติปัญญา จิตวิญญาณ อารมณ์และสังคมเพื่อยกระดับการเป็นวะลีย์ที่แท้จริงของอัลลอฮฺ โดยผ่านกระบวนการการเคารพเชื่อฟังที่เปี่ยมล้นและการพัฒนาความเชี่ยวชาญในศาสตร์ต่างๆ ตามความถนัดของตนเอง ลูกๆ นักศึกษาต้องรู้จักเก็บเกี่ยวประสบการณ์และความรู้เพื่อสร้างความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านนอกจากนี้ลูกๆ นักศึกษาควรต้องติดตามข่าวสาร และเหตุการณ์ร่วมสมัยอย่างรู้เท่าทันและครอบคลุม พร้อมตระหนักว่าลูกๆ  คือความหวังของประชาชาติที่คอยขับเคลื่อนสู่การเปลี่ยนแปลงในยุคโลกาภิวัตน์ที่เต็มไปด้วยความท้าทาย


โอวาทที่ 9 : อาภรณ์อันทรงเกียรติ

พึงสวมใส่อาภรณ์ตามบทบัญญัติของอิสลามที่เน้นความสะอาด  มีความสง่างาม  ความพอเพียงและปกปิดเอาเราะฮฺ  ไม่คล้อยตามแฟชั่นญาฮิลียะฮฺ ผู้ชายไม่ควรสวมเครื่องแต่งกายที่ยาวเลยตาตุ่ม โดยเฉพาะในเวลาละหมาด  สำหรับมุสลิมะฮฺพึงแต่งฮิญาบที่ตรงตามหลักศาสนบัญญัติ ไม่สวมใส่เสื้อผ้าที่มีสีฉูดฉาดและเป็นที่ดึงดูดความสนใจ ไม่ใส่ผ้าคลุมที่เปิดเผยสรีระร่างกายและเครื่องประดับต่างๆ ไม่ใส่น้ำหอมที่มีกลิ่นฉุน และหลีกเลี่ยงจากการแต่งหน้า


โอวาทที่ 10 : ทำงานเป็นทีม

ขอให้ทุกท่านรักษาประกาศ กฎระเบียบ ข้อบังคับ และข้อกำหนดของมหาวิทยาลัยอย่างเคร่งครัด ตลอดจนให้ความสำคัญกับกิจกรรมและคำเชิญชวนของมหาวิทยาลัย  เคารพเชื่อฟังผู้นำ ใส่ใจคำตักเตือน ยึดมั่นหลักการปรึกษาหารือ (ชูรอ) และหลักการทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะ (ญะมาอะฮฺ) ใช้ความวิริยะอุตสาหะ  เสียสละเวลาและทรัพย์สิน รวมทั้งหมั่น ดุอาเพื่อให้มหาวิทยาลัยและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องประสบผลสำเร็จและรุดก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง รักษาชื่อเสียงมหาวิทยาลัยทุกวิถีทางตามโอกาสและความสามารถ เชิญชวนและบริการคนอื่นเพื่อให้การสนับสนุนสาสน์มหาวิทยาลัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแขกผู้มาเยี่ยมมาเยือนและบรรดาเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ เพราะมหาวิทยาลัยคือศูนย์กลางแห่งการนำสังคมและพัฒนาประชาชาติ
 


โอวาทที่ 11 : ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง

ขอให้ทุกท่านรักษาความสะอาดเรียบร้อย ความสงบและความสวยงามของมหาวิทยาลัยไม่ว่าที่พักอาศัย สำนักงานและอาณาบริเวณ ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ไม่สุรุ่ยสุร่าย โดยเฉพาะการใช้จ่ายรายวัน การใช้พลังงานไฟฟ้า น้ำ อาคารตลอดจนอุปกรณ์และครุภัณฑ์โดยคำนึงถึงความประหยัด ประโยชน์และประสิทธิภาพสูงสุดหลีกเลี่ยงพฤติกรรมฟุ่มเฟือยทั้งทรัพย์สินและเวลาของมหาวิทยาลัย


โอวาทที่ 12 : คุณภาพชีวิตที่ดี

ขอให้ทุกท่านระมัดระวังความสัมพันธ์ที่หะรอมระหว่างชายหญิงอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการอยู่สองต่อสองระหว่างชายหญิง การกระทำซินา  และความสัมพันธ์ที่ต้องห้ามทั้งหลาย จงห่างไกล ละ เลิกบุหรี่และยาเสพติดทุกประเภทเลี่ยงการบริโภคสิ่งที่หะรอมไม่ว่าอาหาร เครื่องดื่มเสื้อผ้าอาภรณ์และทรัพย์สินเงินทองทั้งหลาย จงห่างไกลสิ่งอบายมุขทั้งปวง สนับสนุนและเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่เสริมสร้างสุขภาพที่ดีและพลานามัยที่สมบูรณ์แข็งแรงภายใต้กรอบคำสอนตามหลักศาสนบัญญัติ และซุนนะฮฺนบีมูฮัมมัด (ขอความสันติจงมีแด่ท่าน)

 ขอเชิญชวนทุกท่านปฏิบัติคุณงามความดี (อะมัลศอลิหฺ) ด้วยวิญญาณของการทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะ (ญะมาอะฮฺ) ด้วยความบริสุทธิ์ใจ(อิคลาศ) มั่นคงต่อเนื่อง(อิสติกอมะฮฺ) บนพื้นฐานโอวาททั้ง 12 ประการนี้ หวังว่าอัลลอฮฺ ทรงประทานความพึงพอใจ  ความสิริมงคล (บะรอกะฮฺ) ยกระดับและฐานะพวกเราทั้งในดุนยาและอาคิเราะฮฺ

พึงจำไว้ว่าเราคือกลุ่มชนที่อัลลอฮฺได้ทรงทำให้เรามีเกียรติสูงส่งเหนือกลุ่มชนอื่นเนื่องจากเรายึดมั่นศรัทธาในอิสลาม  ตราบใดที่เราแสวงหาเกียรติยศและศักดิ์ศรีด้วยแนวทางที่ไม่ใช่อิสลามแล้วไซร้ อัลลอฮฺจะทำให้เราเป็นกลุ่มชนที่ต่ำต้อยและไร้คุณค่า



 وصلى الله على نبينا محمد وعلى آله وصحبه وسلم، سبحان ربك رب العزة

عما يصفون وسلام على المرسلين والحمد لله رب العالمين

ดร.อิสมาอีลลุตฟี  จะปะกียา

อธิการบดีมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา

7/6/1430 (1/6/2009)


หมายเลขบันทึก: 361467เขียนเมื่อ 26 พฤษภาคม 2010 10:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 14:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท