ของฝากจากคณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมฯ : ประสบการณ์จากการตรวจเยี่ยมศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการคนพิการในชุมชน


๓.๓ จากประสบการณ์ของคณะผู้ศึกษาดูงานพบว่า ชุมชนใดที่จัดสวัสดิการหรือให้บริการที่ดีต่อคนพิการ มักจะได้รับการยกย่องว่าเป็นชุมชนน่าอยู่ เนื่องจากเป็นการจัดสวัสดิการที่ยากและอาจมีค่าใช้จ่ายมากกว่ากลุ่มอื่น หากแต่สวัสดิการนั้นๆ สามารถใช้บริการร่วมกันได้ทุกกลุ่มวัย

ผมกลัวลืม ขออนุญาตใช้บันทึกนี้เป็นบันทึกความจำเสียหน่อยครับ

เรื่องมันมีอยู่ว่า

คณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ สว (กมธ ๓) ๐๐๑๙/๔๔๑ ลงวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๕๓ แจ้งประสานยังสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดขอนแก่น เพื่อเข้าศึกษาดูงานด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการในชุมชน การเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายคนพิการ และร่วมประชุมหารือในประเด็นบูรณาการแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการประจำจังหวัดเข้ากับแผนพัฒนาจังหวัดขอนแก่น

และประสงค์เข้าศึกษาดูงาน ณ ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการในชุมชนตำบลหนองกุงเซิน อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากสำนักบริการสวัสดิการสังคม และอยู่ในความรับผิดชอบของศูนย์ฟื้นฟูอาชีพคนพิการขอนแก่น ในวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ และสำนักบริการสวัสดิการสังคม ได้มีหนังสือที่ พม ๐๓๐๒/๑๖๐ ลงวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ มอบหมายให้ศูนย์ฟื้นฟูอาชีพคนพิการขอนแก่น ให้การต้อนรับคณะผู้เข้าศึกษาดูงาน.....

เจ้านายให้ผมเขียนรายงานการเยี่ยมชมครั้งนี้ เสนอต่ออธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ

นั่งคิดอยู่นาน เพราะเขียนรายงานแบบจารีตราชการว่า "เรื่องเดิม ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย ข้อพิจารณา ข้อเสนอ" ไม่เป็น ไม่ถนัด ไม่คุ้นเคย เลยจำต้องออกแบบการเขียนรายงานเชิงพรรณา (ตามแนวที่คิดว่าพอถนัด) เป็น ๔ ตอน ได้แก่ ๑. การประสานเครือข่ายพื้นที่เพื่อเข้าร่วมต้อนรับ ๒. รูปแบบการศึกษาดูงาน ๓. ข้อสังเกตจากการนำเสนอและประเด็นการอภิปรายในที่ประชุม และ ๔. การประชาสัมพันธ์และเผยแพร่กิจกรรม

ขออนุญาตนำเสนอเฉพาะตอนที่ ๓. ข้อสังเกตจากการนำเสนอและประเด็นการอภิปรายในที่ประชุม ดังนี้.....


๓. ข้อสังเกตจากการนำเสนอและประเด็นการอภิปรายในที่ประชุม

ภายหลังจากคณะผู้ศึกษาดูงานได้รับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินงานและแลกเปลี่ยนประสบการณ์แล้ว คณะผู้ศึกษาดูงานได้ให้ข้อสังเกต และคำแนะนำต่อการดำเนินงานของศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการตำบลหนองกุงเซิน โดยสรุป ดังนี้

๓.๑ คณะผู้ศึกษาดูงานเห็นว่าสิ่งที่ประสบความสำเร็จที่สุดของโครงการศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการในชุมชน ได้แก่ การที่คนพิการและผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงบริการการฟื้นฟูได้โดยสะดวก ซึ่งนี่เป็นสิ่งสะท้อนว่าการออกแบบโครงการหรือกิจกรรมในลักษณะศูนย์บริการที่มีขนาดเล็ก (Small Scale) แต่ให้กระจายอยู่ในชุมชนต่างๆ เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่กระจายอยู่ตามชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม และแนวคิดนี้ได้รับการยอมรับกันแล้วทั่วโลก

๓.๒ จากประสบการณ์ตรวจเยี่ยมในหลายภูมิภาคทั่วประเทศ พบว่าสิ่งดีๆ (โครงการ/กิจกรรม) ที่เกิดขึ้นในชุมชนมักจะมาพร้อมกับผู้นำที่ดี ในขณะเดียวกันก็มักจะล่มสลายไปพร้อมกับผู้นำเมื่อพ้นสภาพบทบาทหน้าที่ด้านการบริหารด้วยเช่นกัน ดังนั้น จึงควรที่ชุมชนโดยองค์การบริหารส่วนตำบล ศูนย์สุขภาพชุมชน หรือคณะกรรมการบริหารศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการในชุมชน จะต้องดำเนินการถอดบทเรียนในแต่ละด้าน ตลอดจนการจัดเก็บรวบรวมผลการปฏิบัติงานที่เป็นเลิศ (Best Practice) ของชุมชน เพื่อความยั่งยืนและก้าวกระโดดในการดำเนินงาน

๓.๓ จากประสบการณ์ของคณะผู้ศึกษาดูงานพบว่า ชุมชนใดที่จัดสวัสดิการหรือให้บริการที่ดีต่อคนพิการ มักจะได้รับการยกย่องว่าเป็นชุมชนน่าอยู่ เนื่องจากเป็นการจัดสวัสดิการที่ยากและอาจมีค่าใช้จ่ายมากกว่ากลุ่มอื่น หากแต่สวัสดิการนั้นๆ สามารถใช้บริการร่วมกันได้ทุกกลุ่มวัย

๓.๔ สำนักงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (สปสช.) ได้กำหนดกรอบบริหารงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว ประจำปี ๒๕๕๓ โดยกำหนดวงเงินรายหัวด้านบริการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ ๘ บาทเศษ ซึ่งองค์การบริหารส่วนตำบลอาจเขียนโครงการขอรับการสนับสนุนด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการในชุมชนได้ตามความเหมาะสม

๓.๕ องค์การบริหารส่วนตำบล สามารถใช้มาตรา ๒๑ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งระบุว่า “มาตรา ๒๑ เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการให้ราชการส่วนท้องถิ่นออกข้อบัญญัติ เทศบัญญัติ ข้อกำหนด ระเบียบหรือประกาศ แล้วแต่กรณี ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ” เป็นหลักการอ้างอิงในการออกข้อบัญญัติเพื่อการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ตลอดจนทราบว่าในขณะนี้กระทรวงมหาดไทย อยู่ระหว่างการแจ้งเวียนคู่มือแนวทางการออกข้อบัญญัติที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๒ ได้มีมติเห็นชอบให้หน่วยงานราชการสำรวจและจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกให้คนพิการเข้าถึงได้ ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ ดังนี้

๑) กำหนดให้หน่วยงานราชการดำเนินการสำรวจและจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวก เนื่องจากมีคนพิการใช้บริการมากตามลำดับ

๒) ให้หน่วยงานราชการดังกล่าวสามารถขอตั้งงบประมาณหรือเจียดจ่ายหรือเปลี่ยนแปลงงบประมาณในการจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ โดยให้เป็นอำนาจของหัวหน้าส่วนราชการหรือผู้ว่าราชการจังหวัดอนุมัติ ซึ่งองค์การบริหารส่วนตำบลสามารถใช้มติคณะรัฐมนตรีเป็นหลักการอ้างอิงในการออกข้อบัญญัติได้.....

 

ทราบภายหลังว่ารายงานฉบับที่ผมเขียนคราวนั้น
ได้รับการถ่ายสำเนาแจกจ่ายกันพอสมควร

มิใช่ผมเขียนดี
แต่เพราะเป็นของฝากจากคณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมฯ

 

คลิก เพื่ออ่านรายละเอียดรายงานฉบับสมบูรณ์

 

หมายเลขบันทึก: 361304เขียนเมื่อ 25 พฤษภาคม 2010 16:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 14:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท