Parkinson’s Law กฎที่ไม่มีวันตาย


ผมเชื่อว่าทุกท่านที่เรียนการบริหาร จัดการมา น่าจะเคยผ่านหูผ่านตามาบ้าง เกี่ยวกับเรื่องของ Parkinson’s Law นะครับ สำหรับท่านที่ยังไม่เคยรู้ว่ามันคืออะไร ก็ไม่เป็นไรครับ เดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟังใหม่

Parkinson’s Law นั้นคนคิดก็ชื่อเดียวกันกับชื่อของกฎนี่แหละครับ ก็คือ Prof. Cyril Northcote Parkinson โดยกฎที่ท่านได้วิจัยขึ้น และเป็นกฎที่เป็นจริงเสมอ และมีชื่อเสียงโด่งดังมากนั้นก็คือ
Work expands so as to fill the time available for its completion.

ซึ่งแปลเป็นไทยอย่างเข้าใจง่ายๆ ว่า งานจะขยายเวลาออกไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงกำหนดเสร็จ ไม่ทราบว่าท่านผู้อ่านคิดว่าจริงหรือไม่ครับ

ผมประสบเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้มากับตัวเองด้วย และจากเพื่อนร่วมงาน ลูกค้า ฯลฯ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ งานจะเสร็จเรียบร้อยเอาตอนวินาทีสุดท้ายที่จะต้องส่งงาน บางครั้งมีเวลาเยอะแยะก่อนหน้านี้ แต่ก็ไม่ทำบ้าง หรือมัวแต่ไปทำอย่างอื่นบ้าง จนกระทั่งใกล้ๆ เวลาที่จะต้องส่งงาน จึงจะเริ่มลงมือทำ พอเริ่มลงมือทำ ก็จะพบกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นมากมายจนบางครั้งทำให้จำเป็นต้องค้างคืนกันในบริษัทเลยทีเดียว

มีอยู่เหตุการณ์หนึ่ง ที่ผมพบจากบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งจะต้องส่งข้อเสนอในการทำงานเพื่อให้ลูกค้าพิจารณา โดยในช่วงแรกนั้นลูกค้าเขากำหนดว่าจะต้องส่งภายในวันพฤหัสบดี พนักงานรู้ล่วงหน้าเป็นเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ในช่วงแรกก็ไม่มีการทำอะไรกัน การวางแผนพูดคุยกันว่าจะทำงานกันอย่างไร จะเสนองานกันอย่างไร ก็เริ่มมาคุยกันในวันอังคาร กว่าจะรวบรวมข้อมูล กว่าจะจัดพิมพ์ พอถึงวันพุธ ก่อนวันส่งงานหนึ่งว้น ทีมงานก็เริ่มเครียดว่าจะส่งได้ทันหรือไม่ ต่างก็พยายามเร่งงานสุดตัวเลย

แต่ก็มีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น ลูกค้าโทรมาบอกว่า ให้ยืดเวลาส่งงานออกไปได้ ก็คือจากวันพฤหัสบดี ก็เลื่อนออกไปส่งในวันจันทร์ได้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็คือ แทนที่จะรีบทำงานนั้นให้เสร็จซะตั้งแต่วันพฤหัสบดี ทีมงานกลับดีใจ และเลิกทำงานนั้นทันที โดยยืดเวลาออกไปเรื่อยๆ สบายๆ กันไปเรื่อยๆ พอถึงวันอาทิตย์ก็เริ่มเครียดกันอีกแล้วว่าจะส่งทันหรือไม่ คราวนี้ก็เลยต้องลงทุนนอนกันในบริษัท ทำงานกันข้ามคืนเลยทีเดียว เพื่อให้รายงานเสร็จทันส่งในวันจันทร์

ไม่ทราบว่าท่านเคยมีประสบการณ์คล้ายๆ แบบนี้หรือไม่ครับ ผมเชื่อว่าทุกคนเคยเจอกับเหตุการณ์แบบนี้แน่นอน ไม่ว่ากับตัวเอง หรือกับเพื่อนร่วมงานก็ตาม ถามว่าแล้วทำไมไม่แก้ไขกัน ผมเชื่อว่านี่คืออุปนิสัยของมนุษย์เราโดยปกติครับ มักจะยืดเวลาในการทำงานออกไป ถ้าไม่ใกล้กำหนดเส้นตายก็จะยังไม่ยอมทำกัน

เหมือนกับว่าเป็นนิสัยที่ชอบผลัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อยๆ ถ้าไม่ใกล้วันส่งก็ไม่ทำ รอให้ใกล้ๆ ก่อนแล้วค่อยลงมือ ทั้งๆ ที่บางครั้งก็นั่งว่างๆ กัน เล่นกัน ฟังเพลงกัน พอใกล้ส่งก็มาตาลีตาเหลือกทำงานกัน ผลก็คือความผิดพลาดครับ แน่นอนงานรีบๆ ย่อมมีผิดพลาด พอเห็นว่าพลาด ก็ต้องแก้ พอต้องแก้ ก็ต้องใช้เวลามากขึ้น ใช้เวลามากขึ้นก็รนลานกันมากขึ้น ก็ยิ่งผิดมากขึ้นไปอีก

สิ่งนี้ก็เลยเป็นสาเหตุที่ทำให้คนเราที่ชอบวางแผนกันแล้ว ทำไม่ได้ตามแผนที่วางไว้ เพราะไม่ยอมทำตามแผนปฏิบัติการที่กำหนดไว้น่ะสิครับ ลองคิดดูนะครับ ถ้าเราเดินงานตามแผน โดยเพิ่มวินัยในตนเองเข้าไปอีกหน่อย ทำงานโดยกำหนดว่าจะต้องเสร็จก่อนวันส่งล่วงหน้า 1 วัน เพื่อจะได้มีเวลาในการตรวจสอบความเรียบร้อยเพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดขึ้น จะดีกว่าหรือไม่ครับ

แต่ก็อย่างว่าครับ คนเราปกติมักจะรักความสบายตรงหน้าไว้ก่อน แล้วไปลำบากทีหลัง แทนที่จะยอมลำบากกันก่อน เพื่อให้เกิดความสบายในภายหลัง

แล้วสิ่งที่ผมมักจะได้ยินบ่อยๆ จากคนกลุ่มนี้ก็คือ “งานผมยุ่งมากเลย แทบจะไม่มีเวลาทำอย่างอื่น” ทั้งๆ ที่เราเองก็เห็นว่าเขามีเวลา แต่เขาไม่ทำ มักจะมาทำงานกันเอาวินาทีสุดท้าย แล้วก็มาบ่นว่า ยุ่งมาก ไม่มีเวลาเลย ตอนนี้หัวหมุนไปหมดแล้ว ฯลฯ

ท่านผู้อ่านล่ะครับ เคยเป็น หรือเคยประสบกับ Parkinson’s Law บ้างหรือเปล่าครับ

คำสำคัญ (Tags): #วินัยในตนเอง
หมายเลขบันทึก: 361191เขียนเมื่อ 25 พฤษภาคม 2010 06:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 14:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท