“วิธีสร้างปาฏิหาริย์เมื่อสถานการณ์ถึงทางตัน”


สภาพเช่นนี้นับเป็นบททดสอบประเทศไทยและคนไทยทุกหมู่เหล่าว่ามีพลังแห่งสติและพลังปัญญามากน้อยเพียงใด เรามีวุฒิภาวะรวมหมู่พอที่จะฟันฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปได้หรือไม่ หรือว่าเรื่องราวจะจบลงด้วยการแตกสลายของประเทศชาติในฐานะองค์รวม

            ปาฐกถาเนื่องในงานวันนักเขียน โดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

จากปัญหาความไม่สงบของบ้านเมือง ทำให้ได้หยุดพักการทำงานหลายวัน  ผมพักอยู่ที่ราชบุรีครับกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงทำให้ติดตามข่าวสารข้อมูลอย่างเข้มข้น  ในยุคนี้ทำให้มีทางเลือกหลายทางในการติดตามข้อมูลข่าวสาร  บางครั้งก็เกิดอาการข้อมูลล้นและสับสน  หลายครั้งก็อดที่จะมีอารมณ์ความรู้สึกคล้อยไปกับเหตุการณ์ไม่ได้  หากแต่หลายทัศนะในข้อมูลเหล่านั้นกลับช่วยเตือนสติ  ให้มุมมองตัวเราได้เกิดการเรียนรู้  เกิดการใคร่ครวญไตร่ตรองในเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้น...ทำนองปัญหามาปัญญาเกิด...555 ที่ผมรู้สึกชื่นชอบเป็นพิเศษเห็นจะเป็นปาฐกถาของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล  หรือทัศนะของพระไพศาล วิสาโล  หรืออย่างบันทึก เรื่อง “ไฟกำลังไหม้ใจเรา” ของ นู๋ ตั้ม ครับ ที่บันทึกไว้ใน facebook ของ Woraphat Phucharoen ก็ให้แง่คิดที่น่าสนใจ ครับ

"....เราทุกคนมีงานการก็ต้องทำ อย่ามัวแต่ดูข่าว และอย่าลืมกลับมาอยู่กับตัวเองด้วย กลับมาอยู่กับลมหายใจ กลับมาดูใจของตัวว่า เราเครียด เรากำลังโกรธ เรากำลังจุดไฟเผาลนใจของเราแค่ไหน ไฟมันไม่ได้ไหม้เฉพาะรอบๆ ราชประสงค์ มันไหม้ใจเราด้วย อย่ามัวแต่ห่วงกังวลไฟที่ไหม้แถวราชปรารภ บ่อนไก่ ดินแดงเท่านั้น หันมาใส่ใจไฟที่กำลังไหม้ในใจเราด้วย ถ้าไฟไหม้ใจเราแล้วเรายังดับไม่ได้ ก็จะก่อปัญหามากขึ้น ตอนนี้พอเราเครียดแล้วไม่รู้ทันความเครียดเราก็ไปสร้างความเครียดให้กับคนอื่นใกล้ตัว ให้กับลูก ให้กับสามีภรรยา แล้วก็อาจจะอดรนทนไม่ได้ออกไปร่วมต่อสู้ ร่วมตอบโต้ ร่วมก่อความรุนแรง คนที่เป็นแบบนี้ก็เยอะ ดังนั้นเราจะทำให้สถานการณ์บ้านเมืองดีขึ้นไม่ได้เลยตราบใดที่เรายังไม่รู้จักดับไฟในใจของเรา....."

นี่เป็นแง่คิดของพระไพศาล วิสาโล ก็น่าสนใจครับ

วิธีการแก้จึงไม่ใช่การปราบปรามไล่ยิง..... อย่าไปคิดว่าทำแบบนี้จบ มันไม่จบ อันนี้เป็นสัญญาณบอกว่าเราต้องจัดการกับความรู้สึกโกรธแค้นด้วย เริ่มจากยอมรับว่าเขามีความโกรธเกลียดไม่พอใจที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ แล้วแก้ไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ

วิธีการที่จะต่อสู้กับความโกรธเกลียดต้องไม่ใช้ความรุนแรง แต่ต้องพยายามชนะใจเขา ต้องดึงเขามาเป็นพวกให้ได้ วิธีการเยียวยาความโกรธเกลียดต้องไม่ใช่การตอบโต้ด้วยความรุนแรงแรง ความรุนแรงทำได้อย่างมากแค่กำจัดคนโกรธเกลียด แต่ไม่สามารถกำจัดความโกรธเกลียดได้ เราต้องใช้สติปัญญาถึงจะแก้ปัญหาในระยาวได้

จาก “ยุติด้วยธรรม และการการแก้ปัญหาที่รากเหง้า”ปรับปรุงจากการสัมภาษณ์พระไพศาล วิสาโล โดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๓

 ส่วนบันทึกใน facebook ของ Prapon Phasukyud ก็ให้แง่คิดที่ดีครับ

 ถึงจะ "กระชับวงล้อม" ได้สำเร็จ . . แต่งานนี้สงสัยจะ "ขยายวงแค้น" . . สลดใจ เศร้าใจ . . ไม่รู้ว่าบ้านเมืองเราจะเป็นอย่างไรต่อไป

...................

ครับไม่รู้ว่าบ้านเมืองเราจะเป็นอย่างไรต่อไป ผมเองได้เคยแสดงความเห็นกับเพื่อนในG2Kแห่งนี้ไว้ว่า

  • แม้เหตุการณ์บ้านเมืองภายนอกจะวุ่นวายสับสนแค่ไหน...หากแต่ใจยังเลือกที่จะยิ้มได้
  • ถึงแม้อดไม่ได้ที่จะมีความรู้สึกกับปรากฏการณ์เหตุการณ์บ้านเมือง.....เราไม่ได้เบือนหน้าหนี  เราพร้อมที่จะเปิดใจรับรู้ด้วยใจที่ใครครวญไตร่ตรอง
  • หากแต่ด้วยใจยังมีอิสระที่จะเลือก....เลือกหยุดชั่วขณะแล้วไตร่ตรอง......
  • ด้วยความเชื่อว่าคนเราแม้จะมีมุมมองหรือรูปลักษณ์ภายนอกที่มีความสนใจที่แตกต่างกันไปนั้น   หากแต่ล้วนมีความปรารถนาอันเดียวกัน คือต้องการที่จะเรียนรู้....ต้องการอิสรภาพ อยากมีคุณค่าความหมาย...มีความรัก....ต้องการพื้นที่ยืน ณ ที่ใดที่หนึ่งที่รู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย
  • ที่สำคัญหากใจยังมีทางเลือก ....เราก็เลือกที่จะเชื่อในการมีความหวังกับอนาคตที่ดีงาม...เลือกที่จะมีพื้นที่ที่เรารู้สึกว่าเราชอบ ....ที่ที่เราคุ้นเคย......ที่ที่เรายังคุยกันได้.....ที่ที่เรามีความสุขร่วมกัน.....

..........

ในวันหยุดยาวเช่นนี้ผมถามตัวเองว่าเราทำอะไรที่ดีๆได้บ้างในสถานการณ์เช่นนี้ ครับผมเลือกที่จะอ่านหนังสือเล่มหนึ่งเป็นพิเศษ ผมอ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่าหลายๆรอบกับหนังสือเล่มที่มีชื่อว่า “วิธีสร้างปาฏิหาริย์เมื่อสถานการณ์ถึงทางตัน” ที่พูนลาภ  อุทัยเลิศอรุณเป็นคนแปลจากหนังสือ  “Solving Tough Problems”  ของ อดัม คาเฮน  หนังสือเล่มนี้มี ศ.นพ.ประเวศ  วะสี และ จิระนันท์ พิตรปรีชา  เป็นคนเขียนคำนำครับ ...

.....

วิธีสร้างปาฏิหาริย์เมื่อสถานการณ์ถึงทางตัน” เป็นประสบการณ์จริงจากผู้ที่มีส่วนช่วยคลายปมปัญหาความขัดแย้งที่ยืดเยื้อและซับซ้อนที่สุดในโลก ด้วยวิธีทางแบบเปิดกว้างเพื่อหาทางออกร่วมกันโดยปราศจากความรุนแรง

เขาคือ อดัม คาเฮน ครับ  เขาได้เข้าไปมีส่วนช่วยหาทางออกแบบสันติวิธีให้กับปัญหาความขัดแย้งที่รุนแรง  ซับซ้อนและชะงักงันที่สุดหลายครั้งหลายๆสถานการณ์ทั่วโลก  ไม่ว่าจะเป็นที่แอฟริกาใต้(ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากยุคแบ่งแยกสีผิวช่วงหลังจากที่เนลสัน  แมนเดลาพึ่งออกจากการคุมขังถึง 27 ปีในช่วงนั้นผู้ที่สนับสนุนเขาและแนวร่วมก็เป็นผู้ก่อการร้ายพรรคการเมืองของ เนลสัน  แมนเดลาก็เป็นพรรคนอกกฏหมาย) ที่โคลัมเบีย(ในช่วงสงครามกลางเมือง)ที่อาร์เจนติน่า(ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ)ที่กัวเตมาลา(ในช่วงฆ่าล้างเผ่าพันธุ์)รวมถึงความขัดแย้งขั้นวิกฤติในไอแลนด์เหนือ  ไซปรัส  อิสราเอล – ปาเลสไตน์ และแคว้นบาสก์ในประเทศสเปน  ประสบการณ์ที่มีทั้งความสำเร็จและความล้มเหลวคละเคล้ากันไป  ทำให้ อดัม  คาเฮน มองเห็นถึงสาเหตุที่ทำให้การแก้ปัญหาถึงทางตัน และวิธีการทำให้ทุกฝ่ายหันหน้ามาหาทางออกร่วมกันอย่างได้ผลโดยปราศจากความรุนแรง

.......

อดัม คาเฮน เป็นวิทยากรกระบวนการ(facilitator)ครับเขาเป็นคนที่มีมุมมองที่เป็นกลางในการแก้ปัญหา เพื่อช่วยเหลือทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้สามารถร่วมกันคิดหาทางออกของสังคมแต่ละแห่งได้(เขาบอกว่ากรณีประเทศที่แก้ปัญหาไม่ค่อยสำเร็จมักจะอยู่ที่ผู้นำครับ โดยผู้นำของประเทศนั้นมักจะคิดว่าแนวความคิดปรองดองแห่งชาติของเขานั้นดีที่สุดแล้วเหมาะสมที่สุดแล้วห้ามมีใครต่อรองใดๆทั้งสิ้นสูเจ้าจงทำตามที่ข้าพเจ้าได้แถลงการณ์ไว้แล้ว..ทุกอย่างก็จะดีเอง...5555) ผมจึงมีความคิด  มีข้อเสนอว่า บ้านเราตอนนี้น่าสนใจไหมตอนนี้ที่เราจะได้เรียนรู้วิทยายุทธ์ของอดัม คาเฮน ไม่ใช่ให้เขามาเป็นคนกลางในการเจรจาต่อรองหรอกครับหากแต่เราน่าจะได้ฝึกฝนวิทยากรกระบวนการของบ้านเรา เพื่อเตรียมรับกับสถานการณ์ในวันข้างหน้าจะดีไหมครับ

.........

ช่างน่าเจ็บปวดที่ได้เห็นผู้นำทางการเมืองที่ทรงอิทธิพลมากที่สุด(และมีอภิสิทธิ์สุดๆ...5555)กลับไร้น้ำยาเมื่อต้องเผชิญกับประเด็นปัญหาเรื้อรังอย่างปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือปัญหาช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนที่เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ(รวมทั้งปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง...555) ถ้าหากปล่อยปัญหาเหล่านี้ไว้โดยไม่แก้ไข  อนาคตของลูกหลานเราคงต้องมืดมนอย่างแน่นอน

....เมื่อต้องเผชิญกับความจริงในข้อนี้  คนเหล่านั้นก็จะมองเห็นแต่ความรู้สึกสิ้นหวังในทุกแห่งหนรวมถึงการหันมาใช้ความรุนแรงกันเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ  ความรู้สึกสิ้นหวังที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงความตระหนักว่าปัญหาสำคัญๆกำลังเข้าสู่สถานการณ์ที่ย่ำแย่ลงทุกที  ส่วนการใช้ความรุนแรงก็เป็นมาตรการที่ถูกงัดออกมาใช้เมื่อความรู้สึกสิ้นหวังสุกงอมจนถึงขีดสุด

.....แทบไม่มีใครที่ไม่รู้สึกสะทกสะท้านเมื่อได้ประจักษ์ชัดแล้วว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาในปัจจุบันกำลังหันมาพึ่งพาการใช้ความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง(เหมือนบ้านเรากำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน)

หนังสือของ  อดัม คาเฮน  เล่มนี้ได้นำเสนอทางเลือกที่สาม ซึ่งเป็นแนวทางที่จะช่วยให้พวกเราหลุดพ้นจากปัญหาอันเรื้อรังเหล่านี้ไปได้ แม้ทางเลือกนี้จะถูกสบประมาทว่าเป็นเรื่องเพ้อฝัน และไม่มีทางทำได้จริง(โดยเฉพาะในสังคมไทย...555)หากแต่อดัม คาเฮน  ก็ได้พิสูจน์จากประสบการณ์จริงในการเดินทางไปร่วมหาทางออกให้กับปัญหาที่แก้ไขได้ยากที่สุดในสถานการณ์จริงที่ท่ามกลางความร้อนระอุของความขัดแย้ง  เต็มไปด้วยความความยุ่งยากซับซ้อนในประเทศต่างๆทั่วโลก(บ้างก็ประสบความสำเร็จ  บ้างก็ล้มเหลว)

นั่นเป็นบทเกริ่นนำของปีเตอร์ เซ็งเก้ ในหนังสือ“วิธีสร้างปาฏิหาริย์เมื่อสถานการณ์ถึงทางตัน” ของ  อดัม คาเฮน  ที่ผมได้กล่าวถึงครับ

 

หมายเลขบันทึก: 360475เขียนเมื่อ 21 พฤษภาคม 2010 21:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 14:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (33)

พี่....

รีบมาต่อเร็ว...อยากรู้เรื่อง

“วิธีสร้างปาฏิหาริย์เมื่อสถานการณ์ถึงทางตัน”ของ อดัม คาเฮน

สวัสดีครับหวาน

  • ผมจึงมีความคิด  มีข้อเสนอว่า บ้านเราตอนนี้จะน่าสนใจไหมที่เราจะได้เรียนรู้วิทยายุทธ์ของอดัม คาเฮน ไม่ใช่ให้เขามาเป็นคนกลางในการเจรจาต่อรองหรอกครับหากแต่เราน่าจะได้ให้เขาได้ฝึกฝนวิทยากรกระบวนการของบ้านเรา เพื่อเตรียมรับกับสถานการณ์ในวันข้างหน้า
  • จะดีไหมครับ ช่วยกันคิดและปรึกษาหารือครับ
  • ตั้งใจจะนำเรื่องนี้เรียนปรึกษาท่านอ.ไพบูลย์ หลังกลับจากเชียงใหม่ครับ

สวัสดีค่ะ

ที่สำคัญหากใจยังมีทางเลือก ....เราก็เลือกที่จะเชื่อในการมีความหวังกับอนาคตที่ดีงาม...เลือกที่จะมีพื้นที่ที่เรารู้สึกว่าเราชอบ ....ที่ที่เราคุ้นเคย......ที่ที่เรายังคุยกันได้.....ที่ที่เรามีความสุขร่วมกัน.....รู้สึกดีกับข้อความนี้ค่ะ

ขอขอบพระคุณค่ะ

ทันสมัย น่าสนใจ มากๆๆๆๆๆๆๆเลยค่ะ

รอติดตามค่ะ อดัม คาเฮน ใช้วิธีไหนที่ถูกสบประมาทว่าเพ้อฝัน แต่พิสูจน์แล้วทำได้จริง คะ อยากรู้ๆๆ

ยินดีครับคุณครูคิมP

เราก็เลือกที่จะเชื่อในการมีความหวังกับอนาคตที่ดีงาม...

เลือกที่จะมีพื้นที่ที่เรารู้สึกว่าเราชอบ ....

ที่ที่เราคุ้นเคย......ที่ที่เรายังคุยกันได้.....

ที่ที่เรามีความสุขร่วมกัน.....

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับคุณHanaP

วิธีสร้างปาฏิหาริย์เมื่อสถานการณ์ถึงทางตัน คือกระบวนการร่วมกันสร้าง

จากการได้พูดคุยกันแบบสุนทรียะ  ได้เรียนรู้กัน 

ได้แสดงความเห็นต่อแนวโน้มอนาคตร่วมกัน

รวมทั้งได้มีประสบการณ์ออกแบบสร้างอนาคตที่มุ่งหวังร่วมกัน

เพื่อการนี้จำเป็นต้องมีคนกลางที่มีทักษะเชิงกระบวนการคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งครับ

และความสัมพันธ์กันในหมู่ผู้เข้าร่วมกระบวนการจะเน้นการเรียนรู้ร่วมกันในแนวราบครับ

 

สวัสดี ครับ คุณ สุเทพ ไชยขันธุ์

เป็นบันทึกสุดท้ายที่ได้อ่านในคืนนี้

“วิธีสร้างปาฏิหาริย์เมื่อสถานการณ์ถึงทางตัน”

อ่านบันทึกนี้ แล้ว...อยากสัมผัสหนังสือเล่มนี้ ด้วยมือตัวเอง

ขอบพระคุณ แง่คิด มุมมองที่อ่านแล้ว ..ผมยังนึกไม่ถึงในบางเรื่อง บางมุมเลย ...

 

 

 

 

ขอบคุณครับคุณแสงแห่งความดีP

  • “วิธีสร้างปาฏิหาริย์เมื่อสถานการณ์ถึงทางตัน”เป็นประสบการณ์จริงจากผู้เขียนอดัม คาเฮน
  • คุณพูนลาภ  อุทัยเลิศอรุณเป็นคนแปล ด้วยภาษาที่อ่านง่ายเหมือนฟังเรื่องเล่า
  • สอดคล้องกับยุคสมัย  ของบ้านเรา
  • หนังสือยังพอมีจำหน่ายอยู่ครับ

ขอบคุณครับ

                 ...การศึกษาเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์-เปี่ยมไปด้วยคุณค่าที่สอนใจ...
                 ....เหตุการณ์ปัจจุบัน จะกลายเป็นเรื่องเล่าขานที่ต้องบันทึกอีกยาวนาน.....กว่าจะเสร็จสิ้น ..... 
  
                 " ขอบคุณ การบอกกล่าว.... ถึงหนังสือดีๆ และแง่คิดอีกหลายมุมมองค่ะ "
                          
                                                       

สวัสดียามเช้าครับคุณครูPuallyP

  • กลับมาแล้วทันเปิดเทรอมนะครับ
  • กับการเดินทางอนยาวนาน
  • การศึกษาเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์-เปี่ยมไปด้วยคุณค่าที่สอนใจ...
  • เหตุการณ์ปัจจุบัน จะกลายเป็นเรื่องเล่าขานที่ต้องบันทึกอีกยาวนาน.....กว่าจะเสร็จสิ้น ..... 
  • หากเราอยากสร้างประวัติศาสตร์ที่งดงามด้วยสิ...ทำไงดี
  • ขอบคุณครับ

เป้นบทความที่ดีมากคุณสุเทพ ผมขออนุญาตเอาไปเผยแพร่ใน facebook นะครับ ใน imagine thailand movement ผมมองว่าในยุดวสมัยนี้ เราต้องช่วยกันสำรวจตรวจสอบ ประวัติศาสตร์ การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ เพื่อเราจะได้ร่วมพัฒนาภูมิคุ้มกันที่ดีในอนาคตกันครับ

  • บันทึกนี้คงเป็นเรื่องอ่านเล่นๆประเทืองปัญญาเท่านั้นนะคะ
    ไม่เกี่ยวกับเหตุการณ์เดือดที่เกิดขึ้นในบ้านเราที่เพิ่งผ่านไป คนละเรื่องคนละบริบทสุดขั้วนะคะ แต่มีหลายฝ่ายพยายามจับแพะชนแกะกัน
  • คุณเสกสรรค์ ประเสริฐกุล สมัยก่อนเคยเป็นผู้นำนักศึกษา(คนหนึ่ง) เคยออกมาเคลื่อนไหวในสถานะการณ์หนึ่ง ภาพลักษณะเคยมีบทบาททางก้าวหน้า การเกิดเหตุการณ์ทางการเมืองยุคหลังๆ ไม่เคยลงมาสัมผัสแสดงตัวรับผิดชอบทางความคิดกับสังคมเหมือนภาพลักษณะยุคแรกๆ ประสบการณ์ในอดีต(ที่เดินผิดพลาด?) เหมือนเป็นเบี้ยตัวหนึ่งที่ถูกเขากำหนดให้เดิน ทำให้วันนี้รู้อะไรคืออะไร จึงเป็นเพียงนักเขียนคนหนึ่งบนโลกบรรณศิลป์มากกว่านักต่อสู้เพื่อชีวิตเหมือนเมื่อยุคแรกๆ

อยากหาทางออกเหมือนกันปาฏิหารย์จงมีจริง และที่สำคัญขั้นตอนต่อมาต้องทำไงต่อ ทั้ง 2 ฝ่าย กำลังลุ้นอยู่และติดตามอย่างใกล้ชิด เมื่อสงครามประชาชนจบลง

สังคมเรามีนักคิดนักวิจารณ์มากเกินไป แต่มีนักปฎิบัติน้อยเกินไป มันง่ายนะที่จะบอกว่าอย่างนั้นดีอย่างนี้ผิด แต่มันยากที่จะเปิดหูเปิดตารับรู้ข้อมูลในมุมที่เราไม่รู้ หรือตรงข้ามกับความเชื่อเดิมของเรา แล้วกลับมาทบทวอีกกทีว่า วันนี้เราทำอะไรดีๆ รึยัง นอกจากวิจารณ์

ขอบคุณครับอ.โยP

เราต้องช่วยกันสำรวจตรวจสอบ ประวัติศาสตร์ การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ เพื่อเราจะได้ร่วมพัฒนาภูมิคุ้มกันที่ดีในอนาคตกันครับ

ขอบคุณครับคุณปาริชาติP

ยินดีแล้วครับเพียงมีคนอ่าน..มีคนแสดงความคิดเห็น

ก็ยินดีมากแล้วครับ...ขอบคุณครับ

ยินดีที่ได้รู้จักคุณปาริชาติครับ

หมูแดงอวกาศครับP

หยุดไปหลายวัน....และผมลาต่อไปเชียงใหม่...

กลับมาแล้วครับ

ขอบคุณครับ

คุณคนไม่แสดงตัวครับ

วันนี้เราทำอะไรดีๆ รึยัง นอกจากวิจารณ์

รวมทั้งการได้แสดงการวิจารณ์ที่ดีๆก็เป็นการทำอะไรดีด้วยครับ...

อย่างวิจารณ์  พานิช....(5555)

ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะคุณสุเทพ ไชยขันธุ์

 

* ปัญหาสะสมทับถมมาเรื่อยๆ มีแต่นักคิด ไม่มีนักปฏิบัติที่ลงมือกันอย่างจริงจัง  มาตรการต่างๆ ที่กำหนดขึ้นล้วนยึดติดใมอัตตาของหมู่พวกตัวเองทั้งนั้น ขาดความจริงใจ ขาดการเปิดใจ ความบริสุทธิ์ใจ ข้างนอกใสๆ กันทั้งนั้น แต่ข้างในเต็มไปด้วยโคลนที่เน่าเหม็น...ที่เก็บซ่อนเอาไว้ แฝงไปด้วยผลประโยชน์...

* วันที่เชียงใหม่มีการเผายางที่ศาลากลาง  ได้ดูทีวีช่อง5 สัมภาษน์ คุณแม่ชีศันสนีย์ ท่านกล่าวไว้ๆได้ดีมากๆ คล้ายๆ กับ บันทึกไว้ใน facebook ของ Woraphat Phucharoen 

** สรุปสั้นๆ ของคุณแม่ ท่านบอกว่า  "ถ้าไฟไหม้ก็ต้องดับไฟ ไม่ต้องถามว่าใครจุดไฟ  ซื้อน้ำมันมาจากปั๊มไหน..... คือต้องแก้ปัญหาด้วยความเมตตา..."

** และต้องชื่นชมความคิดเห็นของคุณสุเทพมากๆ  หลายๆ บันทึกเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ ครูมใจดี ก็มีความคล้ายๆ กันนี้ค่ะ

 

  • แม้เหตุการณ์บ้านเมืองภายนอกจะวุ่นวายสับสนแค่ไหน...หากแต่ใจยังเลือกที่จะยิ้มได้
  • ถึงแม้อดไม่ได้ที่จะมีความรู้สึกกับปรากฏการณ์เหตุการณ์บ้านเมือง.....เราไม่ได้เบือนหน้าหนี  เราพร้อมที่จะเปิดใจรับรู้ด้วยใจที่ใครครวญไตร่ตรอง
  • หากแต่ด้วยใจยังมีอิสระที่จะเลือก....เลือกหยุดชั่วขณะแล้วไตร่ตรอง......
  • ด้วยความเชื่อว่าคนเราแม้จะมีมุมมองหรือรูปลักษณ์ภายนอกที่มีความสนใจที่แตกต่างกันไปนั้น   หากแต่ล้วนมีความปรารถนาอันเดียวกัน คือต้องการที่จะเรียนรู้....ต้องการอิสรภาพ อยากมีคุณค่าความหมาย...มีความรัก....ต้องการพื้นที่ยืน ณ ที่ใดที่หนึ่งที่รู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย
  • ที่สำคัญหากใจยังมีทางเลือก ....เราก็เลือกที่จะเชื่อในการมีความหวังกับอนาคตที่ดีงาม...เลือกที่จะมีพื้นที่ที่เรารู้สึกว่าเราชอบ ....ที่ที่เราคุ้นเคย......ที่ที่เรายังคุยกันได้.....ที่ที่เรามีความสุขร่วมกัน.....
  •  

    ขอบพระคุณมากค่ะ

     

ขอบคุณครับคุณครูใจดีP

  • ยินดีกับน้องนุ๊กน้องเนด้วยครับ
  • อย่างน้อยยังมีพื้นที่ อย่างน้อยก็พื้นที่ของ G2K ยังคงพื้นที่ ที่เป็นเวทีของกัลยณมิตรอยู่ครับ
  • เวลานี้สิ่งที่ทำได้ คือ เรียนรู้ที่จะทำใจ เรียนรู้ที่จะบริหารความขัดแย้งและเรียนรู้ที่จะบริหารความเกลียด(ไม่รัก ไม่ชอบ)ในใจตน..เกลียดอย่างไรจึงจะ อยู่ร่วมกันและสร้างสรรค์ร่วมกันได้ครับ

P

สวัสดีค่ะคุณสุเทพ
เข้ามาตอบคำถามค่ะ ใช่เลยจริงๆ ค่ะ
"อย่างน้อยก็พื้นที่ของ G2K ยังคงพื้นที่ ที่เป็นเวทีของกัลยณมิตรอยู่"
น้องนุ๊ก เรียนวิทยาศาสตร์ชีววิทยา มช.
น้องเน เรียนอักษรศาสตร์ศิลปากร  อยู่หอเพชรัตน์ 7 ไม่มีสิทธิ์เลือก ทางหอจัดให้
เฮ่อหอ 7 เป็นหอที่แพงที่สุด  แม่แย่เลยค่ะ....
น้องนุ๊กจองหอ 6 ไว้ แต่เพื่อนจองไม่ทัน เลยเปลี่ยนเป็น 3 เพราะอยู่คณะเดียวกันค่ะ
อีกหน่อยเด็กๆ เค้าคงรู้จักกันนะคะขอบคุณมากๆ ค่ะ 
ไม่ทราบจะไปเยี่ยมลูกเมื่อไหร่คะ

สวัสดีครับคุณครูใจดีP

  • น้องนุ๊ก เรียนวิทยาศาสตร์ชีววิทยา มช.
  • น้องเน เรียนอักษรศาสตร์ศิลปากร สนามจันทร์ นครปฐม
  • บ้านผมอยู่ไม่ไกลจากศิลปากร สนามจันทร์ ไม่ถึง 20 กม.ไปแวะเยี่ยมลูกสาวอาจจะได้เจอกันครับ
  • ขอบคุณครับ

อ.ไพบูลย์ มีข้อเสนอ ร่วมสร้างปาฏิหาริย์เมื่อสถานการณ์ถึงทางตัน

"การฟื้นฟูประเทศไทยภายหลังวิกฤติ “เมษา-พฤษภา มหาวินาศ (2553)”

ไว้ที่ http://gotoknow.org/blog/paiboon/361486  สาระสำคัญคือ

  • การเชื่อมโยงผสมผสานและประยุกต์ดัดแปลงให้เหมาะสมระหว่างเรื่องข้างต้นกับ  “แผนปรองดองแห่งชาติ”  ของนายกรัฐมนตรี  (อภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ)  รวมถึงการยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่อย่างเหมาะสม  โดยฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่สำคัญ  (Key stakeholders)  มีโอกาสได้ปรึกษาหารือหาข้อสรุปหรือข้อตกลงร่วมกัน  โดยกระบวนการ  “สันติเสวนา”  (Peacebuilding  Dialogue)
  • ควรให้ความสำคัญกับ  “กระบวนการ”  (Process)  และ  “ทัศนคติ” (Attitude)  ควบคู่กับการพิจารณา  “สาระ” (Content)  ของ  “การฟื้นฟูประเทศไทย”  ซึ่งรวมถึง  “แผนปรองดองแห่งชาติ”  ของนายกรัฐมนตรี
  • “กระบวนการ”  ที่ดี  ได้แก่  การมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึงของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง  การมี  “คนกลาง”  ช่วย  “จัดกระบวนการ”  อย่างเหมาะสม  การใช้วิธีการที่หลากหลายต่อเนื่องและครบขั้นตอนอย่างบูรณาการ  ฯลฯ
  •  “ทัศนคติ”  ที่พึงปรารถนาและควรเอื้ออำนวยให้เกิดขึ้นในจิตใจอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของผู้เกี่ยวข้อง  ได้แก่  ความอดทนอดกลั้น  ความเห็นอกเห็นใจ  ความมีใจเปิดกว้าง  การรับฟังและพยายามเข้าใจคนอื่น  ความเป็นมิตรไมตรี  การมองผู้อื่นเป็นเพื่อนมนุษย์หรือพี่น้องร่วมชาติร่วมสุขร่วมทุกข์กันทั้งสิ้น  ความเอื้ออาทรผ่อนปรนยืดหยุ่น  การคิดเชิงบวกและสร้างสรรค์  การมุ่งแก้ปัญหาด้วยปัญญาและสันติวิธี  การมองวิกฤติเป็นโอกาส  การใช้ปัญหาสร้างปัญญา  การใช้  “ธรรมะ”  หรือ  “ปรัชญา”  ที่ดีๆจากทุกศาสนาทุกวัฒนธรรม  ฯลฯ
  • สวัสดีค่ะ
  • แวะมาเยี่ยมเยียนกันค่ะ สบายดีนะค่ะ  พร้อมกับมาเชิญชวนไปชม "สุดยอดส้วม...โรงพยาบาลพะโต๊ะ"
  • ขอบคุณค่ะ
  • สวัสดีครับคุณบุษราP

    ไปเยี่ยมชม "สุดยอดส้วม...โรงพยาบาลพะโต๊ะ"มาแล้วครับ

    • เป็นสุดยอด "ส้วม" ตัวอย่างที่เยี่ยมจริงๆ..... "ใส่ใจห่วงใยทุกคน ให้ความสำคัญทุกรายละอียด  ประหยัดพลังงาน  มีความเป็นสากล เป็นที่สันทนาการ สืบสานวัฒนาธรรม / ประเพณีท้องถิ่น  เป็นแหล่งเรียนรู้และการสร้างเสริมสุขภาพ  สร้างการมีส่วนร่วม"
    • โอโห้...เป็นสุดยอดตัวอย่าง "ส้วม"ที่เยี่ยมจริงๆ 
    • ขอบคุณ..สำหรับเรื่องเล่าดีๆครับ

    จากบทความของ อ.นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์  ก็มีข้อเสนอให้ตั้งคณะกรรมการที่เที่ยงธรรม มีฝีมือ เพื่อจะศึกษาให้ลึกถึงปูมหลังทางสังคม, เศรษฐกิจ, การเมือง และวัฒนธรรม ของการจลาจลในครั้งนี้  ดังนี้......

    .....โลกของ "ไพร่" และโลกของ "ผู้ดี" ในสังคมไทยแยกห่างจากกันจนสุดกู่มากขึ้น อะไรที่เคยช่วยประสานโลกทั้งสองเข้าหากัน ก็หมดพลังลงไปเสียแล้ว........
    ความหวังของคนสิ้นหวังเหล่านี้ คือ อำนาจทางการเมืองที่เท่าเทียมกัน ขนผู้คนมาเป็นจำนวนแสนๆ แต่ผู้ประท้วงเรียกร้องเพียงการ "ยุบสภา" อันเป็นมาตรการแสนจะปกติธรรมดาของการเมืองในระบอบประชาธิปไตย แต่รัฐบาลของ "ผู้ดี" ให้ไม่ได้ ......
    การจลาจลคือการเผชิญหน้ากันของโลกทั้งสอง ควันของยางรถยนต์ที่ถูกเผาไม่ได้บดบังกันและกันเท่านั้น หากยังบดบังความคับข้องใจ (grievances) ที่ส่งออกมาจากโลกของ "ไพร่" ด้วย
    แต่เมื่อควันจางลง ถึงเวลาที่โลกทั้งสองฝ่ายต้องมีสติพอจะศึกษาหาที่มาที่ไปของการจลาจล ให้ลึกกว่าเหตุการณ์เฉพาะหน้า เพราะได้พบกันมานานแล้วว่า การจลาจลไม่ว่าจะเกิดขึ้นในที่ใดของโลก ไม่เคยเกิดขึ้นจาก "น้ำผึ้งหยดเดียว" หากเพราะมีความคับข้องใจมากมายของคนจำนวนมาก ซึ่งไม่มีใครมองเห็น หรือไม่มีใครแคร์พอจะไปแก้ไข ทิ้งสะสมมาเป็นเวลานาน จนทำให้ผู้คนสิ้นหวัง มองเห็นการทำลายเพื่อระบายความคั่งแค้นที่ไม่มีใครใส่ใจออกมาอย่างเป็น
    ด้วยสภาพที่สั่งสมมาอย่างนี้ต่างหาก ที่ทำให้ "น้ำผึ้งหยดเดียว" กลายเป็นชนวนแก่การจลาจลได้

    สภาหรือนายกฯ จะตั้งกรรมการขึ้นศึกษาเหตุการณ์ว่าเกิดอะไรขึ้น และใครถูกใครผิด ก็ว่ากันไป แต่สิ่งที่จะเป็นประโยชน์แก่สังคมไทยมากกว่า ก็คือคณะกรรมการที่เที่ยงธรรม แต่ต้องมีฝีมือ เพื่อจะศึกษาให้ลึกถึงปูมหลังทางสังคม, เศรษฐกิจ, การเมือง และวัฒนธรรม ของการจลาจลในครั้งนี้ โดยไม่เกี่ยวกับว่าใครทำผิดกฎหมายหรือไม่ เพราะไม่ต้องการจะให้ข้อมูลเพื่อทำคดีแก่ใคร แต่เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจระยะห่างของโลกทั้งสองในสังคมไทย รวมทั้งจะเชื่อมประสานโลกทั้งสองอย่างไร

    เพื่อที่ว่า เราจะมีหนทางเชื่อมประสานที่ดีกว่า "รักกันไว้เถิด เราเกิดร่วมแดนไทย..."

    จาก http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1274707046&grpid&catid=02

    ศาสตราจารย์นายแพทย์ ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เตือนสติคนไทย  ด้วยการเสนอ บทความเรื่อง แนวทางการเยียวยาและฟื้นฟูบูรณะประเทศ   

    ศาสตราจารย์นายแพทย์ ประเวศ วะสี บอกว่าเรารู้มานานว่าเราไม่มีพลังป้องกันมิกสัญญี แต่เรายังมีพลังที่จะฟื้นฟูบูรณะ เรื่องใหญ่ที่สุดของเรา คือ การเยียวยาและฟื้นฟูบูรณะประเทศ และใช้โอกาสแห่งการเยียวยาและฟื้นฟูบูรณะประเทศขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่อนาคตของเราร่วมกัน สำหรับเฉพาะหน้านี้ข้อเสนอมาตรการในการเยียวยาและฟื้นฟูบูรณะ 5 ประการโดยมีข้อเสนอ ตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อสัจจะและสมานฉันท์ ( Truth and Reconciliation )
            คณะกรรมการอิสระเพื่อสัจจะและสมานฉันท์ ( Truth and Reconciliation )นี้ต้องทำหน้าที่ให้เกิดการรู้ความจริงให้ได้จึงสมานฉันท์ได้ ข้อมูลข่าวสารที่ออกมาจากฝ่ายต่างๆ จะขัดแย้งไม่ลงตัวกันและไม่ไว้ใจซึ่งกันและกัน จึงควรมีคณะกรรมการอิสระเพื่อแสวงหาความจริง ต่างหากไปจากกระบวนการทางกฎหมาย ความจริงนี้ เพื่อนำไปสู่การขอโทษ (Apology) และการให้อภัย (Forgiveness) การขอโทษและการให้อภัยเป็นพลังอันมหาศาลของมนุษย์เพื่อนำไปสู่การคืนดี

    ศาสตราจารย์นายแพทย์ ประเวศ วะสีได้ยกตัวอย่างจากหนังสือชื่อ “Solving Tough Problems” โดย Adam Kahane  ว่าปัญหาความรุนแรงในประเทศอื่นที่ร้ายแรงยิ่งกว่าเรา  เขาก็ยังแก้ไขปัญหากันได้      

    จาก  http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9530000072817

     

    ศาสตราจารย์"ชาร์ลส์ คายส์"  ศาสตราจารย์เกียรติคุณทางด้านมานุษยวิทยาและนานาชาติศึกษา แห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ทำการศึกษาเรื่องเมืองไทย โดยเฉพาะประเด็นเรื่องชาวบ้านในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมาอย่างยาวนาน ได้เขียนบทความชื่อ "ดีลลิ่ง วิธ ′เดอะ เดวิล′, เดอะ เร้ดส์ แอนด์ ลุคกิ้ง วิธอิน" (ความสัมพันธ์กับ "ปีศาจ", คนเสื้อแดง และการมองย้อนกลับเข้ามาภายใน) ลงในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์  ฉบับวันที่ 26 พฤษภาคม 2553 มติชนออนไลน์ เห็นว่าบทความดังกล่าวมีเนื้อหาน่าสนใจเป็นอย่างมาก จึงได้สรุปความและนำมาเผยแพร่ ในhttp://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1274880904&grpid=00&catid  ส่วนหนึ่งของบทความนั้นมีดังนี้....

    คนในภาครัฐบาลและส่วนอื่น ๆ ที่จะมีเข้ามาเกี่ยวข้องกับนโยบายปรองดองแห่งชาติต้องการรับความช่วยเหลือจากทุกฝ่าย เท่าที่พวกเขาจะสามารถรับได้ เพราะเมื่อกระสุนปืนถูกยิงออกไป ประเทศไทยก็ย่อมตกอยู่ในภาวะระอุคุกรุ่นอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้

    ชาวกรุงเทพฯจำนวนมากรู้สึกโกรธแค้นเดือดดาลกับบาดแผลที่เกิดขึ้นกับนครหลวงของพวกตนในช่วง 2 เดือนกว่าที่ผ่านมา พวกเขาเรียกร้องให้มีการลงโทษผู้มีส่วนรับผิดชอบโดยตรงต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น รวมทั้งผู้มีส่วนร่วมสนับสนุนการกระทำดังกล่าว ขณะเดียวกัน กลุ่มคนเสื้อแดงก็มีความโกรธเคืองที่ถูกเก็บงำไว้อย่างลึกซึ้ง เกี่ยวกับความตายและการได้รับบาดเจ็บของเพื่อนตลอดจนญาติพี่น้องของพวกเขา จนนำไปสู่การเรียกร้องให้มีการแก้แค้น

    .......

    จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่คนไทยจะต้องกลับไปรื้อฟื้นหลักธรรมทางพุทธศาสนาที่สอนให้เรารู้จักข่มระงับกิเลสตัณหาอันเร่าร้อนของตนเอง  จึง "หมดเวลา" ที่คนไทยจะยังคงแตกแยกกัน กระทั่งเกิดแผลกลัดหนองอยู่ภายในตัวตน

    แม้ผู้นำของกลุ่มการเมืองคู่ขัดแย้งในประเทศไทย ซึ่งแสวงหาแต่บทลงโทษและการแก้แค้น อาจจะเห็นต่างกับข้อเสนอนี้ แต่เราสามารถคาดหวังได้ว่าคนไทยส่วนใหญ่จะให้ความสนใจต่อเสียงร่ำไห้ที่ดังออกมาจากหัวใจของผู้คน แล้วหันเหตนเองไปสู้การทำงานอย่างค่อยเป็นค่อยไปและเต็มไปด้วยความอดทน เพื่อจะแก้ไขสาเหตุต่าง ๆ แห่งความขัดแย้งของประเทศ ซึ่งถูกนำไปใช้หาประโยชน์ใส่ตัวโดยเหล่าผู้นำที่ประพฤติตนผิดศีลธรรมหรือไร้ศีลธรรม

    อยากให้มีปาฎิหาริย์ กับบ้านเมืองเรา ในวันนี้ เพื่อวันหน้า ที่สดใส ด้วยยังมีความหวัง ว่า

    ความรัก ความเข้าใจ ความเป็นไทย จะเยียวยา ... มีความสุขกับการงานนะคะ เป็นกำลังใจค่ะ

    สวัสดีครับคุณปูP

    อยากให้มีปาฎิหาริย์ กับบ้านเมืองเรา ในวันนี้ เพื่อวันหน้า ที่สดใส เช่นกันครับ

    โดยเฉพาะปาฎิหาริย์ที่พลเมือง..คนสามัญธรรมดามีส่วนในการร่วมสร้างปาฎิหาริย์นั้น

    แม้ผู้นำของกลุ่มการเมืองคู่ขัดแย้งในประเทศไทย ซึ่งแสวงหาแต่บทลงโทษและการแก้แค้น อาจจะเห็นต่างกับข้อเสนอนี้ แต่เราสามารถคาดหวังได้ว่าคนไทยส่วนใหญ่จะให้ความสนใจต่อเสียงร่ำไห้ที่ดังออกมาจากหัวใจของผู้คน แล้วหันเหตนเองไปสู้การทำงานอย่างค่อยเป็นค่อยไปและเต็มไปด้วยความอดทน เพื่อจะแก้ไขสาเหตุต่าง ๆ แห่งความขัดแย้งของประเทศ ซึ่งถูกนำไปใช้หาประโยชน์ใส่ตัวโดยเหล่าผู้นำทั้งหลาย

    ต่อเรื่องนี้ อ. ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม มีความเห็นที่น่าสนใจ 

    อีกบันทึกหนึ่ง  ต่อเรื่องนี้   จาก บันทึกการประชุม... เตรียมการสู่ “สภาประชาชนฯ”   อ. ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม  ประธานมูลนิธิหัวใจอาสา ที่ http://gotoknow.org/blog/paiboon/361487 ก็น่าสนใจครับ

    การปฏิรูปประเทศนั้นเป็นของประชาชนไม่ใช่ของรัฐบาล ซึ่งการผลักดันเรื่องปฏิรูปประเทศไทยก็มาจากภาคประชาชนก่อนที่รัฐบาลจะเสนอให้มีแผนปรองดอง   ทั้งนี้โดยภาคประชาชนเป็นคนเริ่มก่อนให้มีทางเลือกทางออกจากความรุนแรง นำมาสู่การปฏิรูปประเทศ

    • ข้อเสนอต่อกลไก อำนาจหน้าที่สภาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย

    -  เป็นกลไก เครื่องมือ กระบอกเสียง และดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหาให้ของประชาชน

    -  เป็นกลไกที่มีระยะห่างจากรัฐ

    -  สภาประชาชน เป็น สภาฯที่เปิดกว้าง ดำเนินงานต่อเนื่อง ขยายวง มีประสิทธิภาพ ไม่ให้มองเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

    -  เป็นเวทีที่สามารถแก้ไขปัญหาประเทศในระยะยาว และการตรวจสอบในอำนาจรัฐ

    -  เป็นองค์กรที่ไม่มีอำนาจ ใช้ความรู้ และเชื่อมโยงภาครัฐ

    -  เป็นองค์กรที่ผลักดันให้ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานของรัฐปฏิบัติงาน ถ้ามีการละเลยการปฏิบัติหน้าที่

    -  การจัดโครงสร้างองค์กรต้องมีลักษณะเป็นแนวราบ เช่น คณะทำงาน คณะประสานงาน เป็นต้น

    -  มีแผนปฏิบัติการของสภาประชาชน แยกเป็นแผนปฏิบัติการการบริหารจัดการ และประเด็นเนื้อหาการปฏิรูป

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท