ว.วีระทักษ์
นายวีระศักดิ์ สุนทรวีราทักษ์

ฮีตสิบสอง คือประเพณีสิบสองเดือนของชาวภาคอีสานที่คนรุ่นหลังควรที่จะรู้จัก


ฮีตสิบสอง คือประเพณีสิบสองเดือนของชาวภาคอีสานที่คนรุ่นหลังควรที่จะรู้จัก

ฮีตสิบสอง

กาพย์ฉบัง ๑๖     ว.วีระทักษ์

                                    พวกเรานั้นชาวอีสาน                           ล้วนมีตำนาน

            โบราณสืบต่อกันมา

                                    เคร่งครัดทั้งด้วยวาจา                          อากัปกิริยา

            งดงามเหนือกว่าภาคใด

 

                                    ก็ชาวอีสานนั้นไซร้                              มีประเพณีไง

            ครบหมดทั้งสิบสองเดือน

                                    พวกเรานั้นอย่าเเชเชือน                       อย่าได้บิดเบือน

            ยึดถือและปฏิบัติตาม

 

                            เดือนอ้ายถือว่าเดือนงาม                      จะขอเอ่ยนาม

            เขาเรียกว่าบุญเข้ากรรม

                                    ทั้งพระและโยมกระทำ                         รักษาศีลธรรม

            ถือศีลแผ่ภาวนา

 

                                    เดือนยี่คือเดือนต่อมา                           งานบุญนี้หนา

            เขาเรียกว่าบุญคูนลาน

                        บุญนี้มีการให้ทาน                               สืบต่อประสาน

            ข้าวเปลือกเก็บใส่ยุ้งฉาง

 

                                    จดจำมิให้จืดจาง                                  อย่าได้ปล่อยวาง

            คงไว้ซึ่งประเพณี

                                    ยึดถือในสิ่งที่ดี                                     คุณข้าวมากมี

            ประโยชน์นั้นอีกมากมาย

 

           

 

                       

เดือนสามมีบุญมากหลาย                     มิเคยเสื่อมคลาย

            ประเพณีบุญข้าวจี่

                                    ข้าวเหนียวนึ่งสุกแล้วนี่                        ปั้นเป็นก้อนซี

            แล้วนำไปจี่กับไฟ

 

                                    เครื่องปรุงน้ำอ้อยพร้อมไข่                  ทาใส่ลงไป

            กลิ่นหอมชวนน่ารับประทาน

                                    สุกแล้วนำจัดใส่จาน                             ทำบุญทำทาน

            พร้อมกับอาหารหวานคาว

 

                                    เดือนสี่ประวัติยืดยาว                  ลุงป้าน้าสาว

            พากันทำบุญพระเวส

                                    บุญนี้มีพระมาเทศน์                             ผู้คนทั่วเขต

            มาฟังเทศน์มหาชาติ

 

                                    ผู้คนจิตใจสะอาด                                 นิมนต์เจ้าอาวาส

            ให้พากันแห่กันหลอน

                                    บรรยากาศเป็นตาออนซอน                 ตอนเย็นแดดอ่อน

            พากันแห่ผ้าพระเวส

 

                                    เดือนห้ารู้กันทั่วเขต                             ทั้งในประเทศ

            เราเรียกว่าบุญสงกรานต์

                                    อากาศร้อนเกินประมาณ                      มีการทำทาน

            สรงน้ำผู้มีพระคุณ

 

 

 

 

                       

 

            จะมีผลาเป็นทุน                                   ไว้คอยเกื้อหนุน

            มีบุญให้กับตัวเรา

                        ต่อไปจะไม่อับเฉา                                และไม่โง่เขลา

            อนาคตไปได้ไกล

 

                                    เดือนหกมีบุญบั้งไฟ                             เพราะเดือนนี้ไซร้

            ชาวนาจะเริ่มปลูกข้าว

                                    มีการขอฝนจากเจ้า                              และก็พวกเรา

            บั้งไฟจุดเพื่อบวงสรวง

 

                                    ฝนตกลงมาอย่าห่วง                            ชาวนาทั้งปวง

            ก็ไปทำบุญซำฮะ

                        หรือเรียกว่าการชำระ                           เดือนเจ็ดนี้นะ

            สะอาดหมดจดงดงาม

 

                                    เดือนแปดก็เข้ามายาม                          เลื่องชื่อลือนาม

            หรือว่าบุญเข้าพรรษา

                                    ชาวบ้านทำเทียนงามตา                       ถวายบูชา

            และจัดขบวนสวยงาม

 

                                    เดือนเก้าผู้คนคอยถาม                         ภูตผีมายาม

            เขาเรียกบุญข้าวประดับดิน

                                    อุทิศบุญให้ผีทุกถิ่น                    ขาดญาติไร้สิ้น

            มารับบุญเป็นกุศล

           

           

 

 

 

            อีกบุญที่มีผู้คน                                     ทำบุญให้ญาติตน

            ที่ตายล่วงลับดับไป

                                    ข้าวปลาอาหารนั้นไซร้                                    นำไปวางไว้

            ที่ตามท้องไร่ท้องนา

 

                                    ที่กล่าวมานี้นี่หนา                                เดือนนี้ชื่อว่า

            ประเพณีทำบุญข้าวสาก

                                    มีการทำข้าวสลาก                                จำไว้ติดปาก

            หรือเรียกว่ากระยาสารท

 

                                    สิบเอ็ดทำบุญตักบาตร                         จิตใจสะอาด

            เรียกว่าบุญออกพรรษา

                                    ชาวไทยชาวพุทธนี้หนา                      มากหน้าหลายตา

            พากันใส่บาตรเทโว

 

                                    สิบสองจัดงานใหญ่โต                         มีบุญอักโข

            หากได้ทำบุญกฐิน

                        ทั่วทิศทั่วแดนทั่วถิ่น                           ชาวพุทธทั้งสิ้น

            ทำบุญสืบต่อกันมา

 

                                    ทั้งหมดกล่าวตามตำรา                                    ประเพณีนี้หนา

            เรียกว่าบุญฮีตสิบสอง

                                    ขอเชิญชาวไทยทั้งผอง                                    อย่าทิ้งครรลอง

            รักษาสืบต่อกันไป

 

 

 

           

คำอธิบายศัพท์

 

เดือนยี่                                      เดือนลำดับที่สองทางจันทรคติ อยู่ในช่วงเดือนมกราคม

เดือนอ้าย                                  เดือนที่หนึ่งทางจันทรคติ  อยู่ในช่วงเดือนธันวาคม

บุญข้าวจี่                                 การนำเอาข้าวเหนียวมาจี่ไฟ  แล้วทำบุญตักบาตร

บุญข้าวประดับดิน                  การทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ผีที่ไม่มีญาติ

บุญข้าวสาก                             บุญเดือนสิบ  ข้าวสาก หรือ ข้าวกระยาสารท

บุญเข้ากรรม                            บุญที่พระและโยมไปจำศีลภาวนาที่วัดเป็นเวลาติดต่อกัน                                                                  หลายวัน

บุญคูนลาน                              ประเพณีทำบุญรับขวัญข้าว

บุญซำฮะ                                 ชำระ   บุญที่เริ่มต้นจะทำนา มีการเลี้ยงเจ้าที่นา

บุญพระเวส                             บุญมหาชาติ

ผลา                                          เป็นภาษาอีสาน  แปลว่า  บุญญาธิการ

แห่กันหลอน                            การแห่ที่อยู่ในช่วงบุญพระเวส

ออนซอน                                 ประทับใจ,วังเวง,เศร้าโศก,สงสาร

ฮีตสิบสอง                               ประเพณีสิบสองเดือนของชาวอีสาน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

กิจกรรมท้ายบทเรียน

                   1.นักเรียนอ่านบทประพันธ์นี้  เป็นร้อยแก้ว 1 จบ  หรือจนชำนาญ

                        2. อ่านบทประพันธ์นี้เป็นร้อยกรอง 1 จบ หรือจนชำนาญ

                        3.ถอดคำประพันธ์จากเนื้อเรื่องให้เป็นร้อยแก้ว

                        4.ตอบคำถามจากเนื้อเรื่องต่อไปนี้

                                    4.1 ฮีตสิบสอง หมายถึงอะไร

                                    4.2 ฮีตสิบสอง ใช้กับ ประชาชนชาวภาคใดเป็นส่วนมาก

                                    4.3 เดือนอ้ายมีบุญอะไร

                                    4.4 ทำไมจึงเรียกว่าบุญคูนลาน

                                    4.5 การจี่ข้าวใช้ข้าวอะไรจี่และมีวิธีจี่อย่างไร

                                    4.6 ทำไมบุญสงกรานต์จึงมีประเพณีสรงน้ำคนเฒ่าคนแก่

                                    4.7 บุญที่ทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผีมีบุญใดบ้าง

                                    4.8 การจัดประเพณีบุญบั้งไฟเขามีความเชื่อว่าอย่างไร

                                    4.9 เดือนสิบสองมีการทำบุญอะไร

                                    4.10 เราเป็นเยาวชนรุ่นใหม่จะมีวีการอนุรักษ์ฮีตสิบสองไว้อย่างไร

                        5.ลองฝึกแต่งคำประพันธ์ประเภท กาพย์ฉบัง 16 อย่างน้อย 4  บท

 

                       

 

หมายเลขบันทึก: 359516เขียนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2010 07:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 15:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • สวัสดีค่ะ
  • แวะมาเยี่ยมเยียนกันค่ะ และมาทักทายก่อนวันทำงานดี ๆ ค่ะ
  • นำภาพน่ารัก ๆ มาฝากกันค่ะ

                      

งานบุญฝั่งอิสานนี่เยอะมากๆ เคยดูปฏิทินเรียกได้ว่าแทบทุกเดือนเลยนะคะ

ชอบบุญคูณลาน กับบุญข้าวประดับดินค่ะ และประทับใจงานบุญบั้งไฟ ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณ คุณครูว.วีระทักษ์

ที่ไม่ทำให้คนอีสานลืม สิ่งที่ดีงามที่เราควรรักษาไว้

ให้อยู่กับเราชาวอีสานตลอดไปครับ

ขอบคุณมากคะ คุณครูวี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท