ต้นธารแห่งศรัธทา
นิติกรชำนาญการ นักวิชาการศุลกากรชำนาญการ (ปัจจุบัน) อรอนงค์ ต้นธารแห่งศรัธทา นิลธจิตรัตน์

วิเคราะห์ผลประโยชน์ที่ไทยได้รับในการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินในทางการค้าระหว่างประเทศ ประธานกรรมการสอบ ดร. วิลาวรรณ ลาภวงศ์วัฒนา ตอนจบ


อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินในทางการค้าระหว่างประเทศ Conventions on the Assignment of the Receivables in International Trade

บทที่ 4

 บทวิเคราะห์อนุสัญญาการโอนสิทธิเรียกร้องการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงิน

ตอนจบ

3.  วิเคราะห์ผลประโยชน์โดยรวม ที่ประเทศไทยจะได้รับหากเข้าเป็นภาคีของอนุสัญญาฯ

 1)  อนุสัญญาฯฉบับนี้มีประโยชน์ในการช่วยสร้างมาตรฐานของกรอบกฎหมายที่เกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงินให้มีความชัดเจนเกี่ยวกับกฎเกณฑ์การอ้างอิงทางด้านกฎหมายเพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจและความเชื่อมั่นของทุกฝ่ายในระดับสากล ซึ่งจะมีส่วนช่วย  ส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ อันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศระยะยาวโดยเฉพาะอย่างยิ่งจะเป็นการเป็นพัฒนาการทางด้านกฎหมายระหว่างประเทศที่เน้นเกี่ยวกับการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินที่เกิดจากการค้าและการค้าบริการให้มีความเป็นสากลมากขึ้นและจะช่วยให้ประเทศไทยได้ประโยชน์สูงสุด อันจะเป็นประโยชน์ในการปรับปรุง หรือ ยกร่างกฎหมายของประเทศไทยในอนาคตให้ทันสมัยและสอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบันเพื่อเกิดความคล่องตัวในการทำการค้าและการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ

2)  อนุสัญญาฯ ได้วางหลักไว้อย่างยืดหยุ่นมากเมื่อมองในภาพรวมของอนุสัญญาฯ เป็นบทบัญญัติที่ดี โดยอนุสัญญาได้เปิดโอกาสให้ประเทศภาคีสามารถทำข้อสงวนในเรื่องที่สำคัญ ๆ ได้หลายเรื่อง อันได้แก่

(1)อนุสัญญาฯ นี้ สร้างหลักสมดุลอันเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญาฯ ที่เกี่ยวข้องทั้งสามฝ่าย ได้แก่ผู้โอน ผู้รับโน และโดยเฉพาะในฝ่ายของลูกหนี้ การยืนยันหลักความเป็นอิสระของคู่สัญญาที่จะตกลงกันเป็นอย่างอื่นจากบทบัญญัติของอนุสัญญาฯ ได้

(2)  การเลือกยกเว้นธุรกรรมการโอนสิทธิเรียกร้อง หรือสิทธิเรียกร้องบางประเภทจากขอบเขตบังคับใช้ของอนุสัญญาฯ โดยข้อ 41ของอนุสัญญาฯ ได้กำหนดไว้เป็นหลักการว่า ประเทศภาคีสามารถประกาศว่ายกเว้นธุรกรรมการโอนสิทธิเรียกร้องประเภทใดประเภทหนึ่งจากบังคับของอนุสัญญาฯ ได้ การที่อนุสัญญาซึ่งเป็นหลักกฎหมายระหว่างประเทศได้วางหลักการเช่นนี้ ถือว่าเป็นความยืดหยุ่นของอนุสัญญาฯ ที่จะให้ประเทศภาคีมีโอกาสเลือกที่จะยกเว้นธุรกรรมใด ๆ ทั้งที่มีอยู่ปัจจุบัน หรือทั้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งตรงนี้ถือเป็นข้อดีของอนุสัญญาและจะเป็นผลประโยชน์ต่อประเทศไทยหากประเทศไทยต้องผูกพันเข้าเป็นภาคีของอนุสัญญาฯ ในแง่ที่ว่า ธุรกรรมบางอย่างของประเทศไทยที่ยังไม่เกิดขึ้นหรือยังไม่พัฒนาเท่านานาประเทศก็สามารถทำให้ประเทศไทยสามารถประกาศยกเว้นได้ ซึ่งจะไม่ทำให้เสียเปรียบคู่ค้าสำหรับธุรกรรมทีเรายังไม่พัฒนาหรือเป็นธุรกรรมที่ยังไม่มีใช้ในประเทศของตนได้ รวมทั้งสิทธิของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐ

(3) การเลือกหลักเกณฑ์ในการตัดสินว่าผู้ใดมีสิทธิดีกว่าให้สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติที่ใช้อยู่ในแต่ละประเทศได้

(4) การเลือกยกเว้นที่จะไม่ใช้หลักกฎหมายขัดกันของอนุสัญญาฯในการใช้บังคับกับการโอนสิทธิเรียกร้องจากหลักการดังกล่าว

วิเคราะห์แล้วเห็นว่าหากมีหลักการกฎหมายที่ให้ความยืดหยุ่นในลักษณะ ดังกล่าว  เบื้องต้น เห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการทำธุรกรรมระหว่างประเทศของภาคเอกชนที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการหรือนายทุนมั่นใจในหลักความคุ้มครองในด้านการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น ซึ่งในที่สุดก็จะเป็นผลประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศ ที่ช่วยให้มีการไหลเวียนของเงินทุน ในส่วนของรัฐเองก็จะเป็นประโยชน์เช่นกันเพราะสามารถที่จะเลือกทำข้อสงวนในธุรกรรมบางอย่างได้หากเห็นว่าส่งผลต่อการเงินการคลังของประเทศ

3)  อนุสัญญาว่าด้วยการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินในการค้าระหว่างประเทศจะครอบคลุมทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง กล่าวคือ อนุสัญญาดังกล่าวกำหนดหลักเกณฑ์การเกิดขึ้นและความสมบูรณ์ของสัญญา สิทธิ หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้โอน ผู้รับโอน ลูกหนี้ และบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการสิ้นสุดของสัญญาการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงิน ในการค้าระหว่างประเทศโดยอนุสัญญาฉบับนี้ใช้บังคับกับเรื่องธุรกิจระหว่างประเทศที่เกิดจากการค้าและบริการ รวมถึงธุรกรรมทางการเงินด้วย ซึ่งจะส่งผลดีต่อคู่สัญญาในหลายประการ อาทิ สามารถหาแหล่งเงินทุนในต่างประเทศได้โดยผ่านสถาบันการเงินของไทยที่ให้บริการด้านกิจการวิเทศธนกิจ การประกอบธุรกิจของ    

ภาคเอกชนบางประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจ Non-bank[1] ธุรกิจแฟ็คเตอริ่ง โปรเจ็ค-ไฟแนนซ์ สัญญาสัมปทาน รวมถึงหนี้ทางการค้าอื่น ๆ ที่มีความจำเป็นจะต้องรับโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินกับต่างประเทศ นอกจากนี้อนุสัญญาดังกล่าวอาจก่อให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น กล่าวคือ ลูกหนี้รายใหญ่ที่อยู่ภายใต้สัญญาการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินสามารถที่จะหาแหล่งเงินทุนใหม่ด้วยการกระจายความรับผิดในหนี้ที่มีอยู่เพื่อรักษาความมั่นคงทางด้านการเงินโดยที่ยังคงมีความรับผิดในหนี้ตามสัญญาเดิมเป็นหลักประกันการชำระเงิน (Original Contract)

   แต่อย่างไรก็ดีหากมองกลับกันแล้วภายใต้อนุสัญญาฉบับนี้อาจเกิดข้อขัดข้องบางประการ คือ ความไม่แน่นอนของความรับผิดในกฎหมายของแต่ละประเทศ เนื่องจากรัฐที่เป็นคู่สัญญาจะมีเขตอำนาจอธิปไตยของรัฐในการบังคับใช้กฎหมายที่แตกต่างกัน 

4)  ประโยชน์ในเรื่องของการตีความทางด้านกฎหมาย

   จากการศึกษาเห็นว่า นอกจากอนุสัญญาได้ให้คำนิยามไว้อย่างครอบคลุมและชัดเจนแล้ว อนุสัญญายังได้วางหลักการตีความไว้อย่างเป็นประโยชน์ สำหรับประเทศภาคีด้วย ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการวางหลักตีความอนุสัญญาฯ และเพื่อระงับข้อพิพาทหากกรณีต้องมีข้อพิพาทเกิดขึ้นระหว่างภาคีสมาชิก กล่าวคือ ข้อ 7 ของอนุสัญญาฯ ได้วางหลักการตีความของอนุสัญญาฯ ไว้ โดยให้คำนึงถึงวัตถุประสงค์ และความมุ่งประสงค์ที่กำหนดไว้ในอารัมภบทของอนุสัญญาฯ ความเป็นระหว่างประเทศของอนุสัญญาฯ และความจำเป็นที่จะส่งเสริมให้มีการใช้บังคับเป็นมาตรฐานเดียวกันและคงคำนึงและรักษาไว้ซึ่งหลักสุจริตความสุจริตในการค้าระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ข้อ 7ยังได้บัญญัติไว้ว่า หากมีปัญหาที่ไม่สามารถระงับได้อย่างแจ้งชัดโดยอนุสัญญาก็ให้ระงับตามหลักกฎหมายทั่วไป และหากไม่มีหลักกฎหมายทั่วไปก็ให้นำหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลมาใช้อ้างอิง

  ดังนั้น เห็นได้ว่า หากประเทศไทยเข้าเป็นภาคี ประโยชน์และความสะดวกที่ประเทศไทยได้รับ คือ หากเกิดกรณีข้อพิพาทขึ้นก็จะไม่ต้องก่อให้เกิดความยุ่งยากในการตีความกฎหมายเพราะอนุสัญญาได้วางหลักไว้อย่างชัดเจนในหลักรักษาไว้ซึ่งความสุจริตในการทำการค้าระหว่างประเทศ อันจะเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับทุกฝ่ายในการทำการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินในทางการค้าระหว่างประเทศจากการที่มีกฎหมายใช้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

  เมื่อกฎหมายวางหลักเช่นนี้ ก็จะส่งผลต่อการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ประกอบการของประเทศไทยกล้าที่จะทำธุรกรรมระหว่างประเทศมากขึ้น ขณะเดียวกัน หากประเทศไทยเข้าเป็นภาคี และเป็นคู่ค้ากับประเทศอื่นการมีหลักกฎหมายที่เป็นสากลใช้บังคับ หากเกิดข้อพิพาทขึ้น ก็จะทำให้ประเทศคู่ค้าเองก็กล้าที่จะเข้ามาลงทุน หรือประกอบการ ทำการค้าหรือธุรกรรมระหว่างประเทศกับประเทศไทยได้อย่างมั่นใจซึ่งจะส่งผลต่อการไหลเวียนของเงินทุน อันเป็นกลไกในการส่งเสริมและสนับสนุนการค้าระหว่างประเทศเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศทั้งทางด้านการเงินการคลังและการลงทุนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

นอกจากนี้ ความเข้าใจสาระสำคัญของอนุสัญญาฯ จะช่วยในการประเมินผลกระทบเบื้องต้นที่มีต่อเศรษฐกิจในระดับมหภาคและต่อผู้ประกอบการในระดับจุลภาค เนื่องจากเกี่ยวพันกับสิทธิเรียกร้องทางการเงินหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการโอนสิทธิเรียกร้องที่เกี่ยวเนื่องกับการค้า เช่น  Factoring (แฟ็คเตอริ่ง) หรือ Forfeiting (ฟอร์ฟิตติ้ง)  หรือสิทธิเรียกร้องที่เกิดจากธุรกรรมทางการเงิน เช่น Securitization(การแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์) Project financing (โปรเจ็คไฟแนนช์) หรือที่อยู่ในรูปอื่น เช่น Refinancing of Loans[2]หรือ Real Estate Receivables (สิทธิเรียกร้องในธุรกรรมด้านอสังหาริมทรัพย์)เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศในระดับที่แตกต่างกันไป เนื่องจากประเทศไทยยังมีการควบคุมการเคลื่อนย้ายเงินทุน ในระดับหนึ่ง ซึ่งจะเป็นข้อมูลประกอบในการพิจารณาประกอบการเข้าร่วมเป็นภาคีในอีกมิติหนึ่งนอกเหนือจากมิติทางด้านกฎหมาย

โดยข้อดีที่เห็นได้อย่างชัดเจน หากประเทศไทย เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ คือ          ผลกระทบทางการเงินการคลัง และการเคลื่อนย้ายเงินทุนของประเทศ (ดังกล่าวเบื้องต้น)เพราะผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ ถือเป็นวัตถุประสงค์อันสำคัญในการร่างอนุสัญญาฯ ฉบับนี้ ก็เพื่อให้เอื้อต่อการส่งเสริมการทำธุรกรรมการค้าและการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศให้เพิ่มมากขึ้น

   ดังนั้น โดยรวมแล้ว หลักการของอนุสัญญาฯ น่าจะส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศอีกทั้งจะเป็นการส่งเสริมและพัฒนาการทำธุรกรรมทางการเงินประเภทใหม่ ๆ ให้แก่สถาบันการเงินซึ่งรวมทั้งธนาคารพาณิชย์ด้วย เนื่องมาจากการมีกฎหมายระหว่างประเทศที่มีกฎเกณฑ์หรือ กติกาที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ที่สร้างความชัดเจน หากเกิดกรณีพิพาทกันขึ้น จะทำให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิฯ เกิดความมั่นใจมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการไหลเวียนของเงินทุน

ทั้งนี้เนื่องจากหากประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญานี้ จะทำให้เงินทุนสามารถไหลเวียนเข้ามาในประเทศได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการภายในประเทศ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยและรายเล็ก เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ สามารถที่จะเข้าถึงแหล่งเงินทุนระหว่างประเทศ หรือหาแหล่ง เงินทุนได้หลากหลาย มีทางเลือกมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินโดยเฉลี่ยต่ำลงมาสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของตนเอง โดยไม่ไม่จำต้องพึ่งพาการหาหลักทรัพย์ที่เป็นอสังหาริมทรัพย์มาเป็นหลักประกันในการกู้ยืมเงินจากธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินแต่เพียงวิธีเดียวเท่านั้น

แต่ทั้งนี้ต้องเฝ้าระวังเรื่องผลกระทบของอนุสัญญากับการไหลเวียนของเงินทุนสำหรับประเด็นดังกล่าวนี้ ในส่วนของนักการเงินและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมีข้อกังวลว่าพัฒนาการทางกฎหมายในเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ ถึงแม้ว่าขอบเขตอนุสัญญาฯ จะครอบ-คลุมการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินที่เกิดจากธุรกรรมทางการค้าเป็นหลัก แต่ก็รวมถึงธุรกรรมทางการเงินด้วยบางส่วน โดยที่อนุสัญญาฯ ครอบคลุมทางการเงินบางประเภท ที่ยังไม่มีในประเทศไทย[3]

  อีกทั้งผู้ศึกษามองว่า อนุสัญญาฯ นี้จะส่งผลกระทบต่อการเปิดเสรีทางการเงินด้วย ซึ่งประเด็นการเปิดเสรีทางการเงินนี้ ยังมีหลายฝ่ายมองกันว่า หากมีการเปิดเสรีทางการเงิน ก็จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤติระบบการเงินได้อีกรอบและหากปล่อยให้มีการไหลเวียนของเงินทุนมากหรือการเคลื่อนย้ายเงินทุนเป็นไปอย่างเสรีเกินไปจะทำให้เศรษฐกิจไทยไร้เสถียรภาพ

 ดังนั้น จึงจำเป็นต้องพิจารณาถึงสารัตถะให้อย่างรอบคอบถึงผลกระทบต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินจะส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนย้ายทางการเงินข้ามประเทศเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว และหากมีการทำสัญญาโอนข้ามประเทศเป็นจำนวนมาก ปัญหาที่ตามมาก็คือ ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะตรวจสอบการไหลเวียนของเงินข้ามประเทศตลอดทั้งควบคุมการไหลออกของเงินไปนอกประเทศได้ยากขึ้น ในที่สุดแล้วก็อาจจะส่งผลต่อความมั่นคงและ     เสถียรภาพทางเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ เพราะฉะนั้น หากประเทศไทยจะต้องเข้าเป็นภาคี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องการตรวจสอบก็ต้องเฝ้าระวังหรือออกมาตรการทางกฎหมายมาควบคุมให้สอดคล้องกับตัวอนุสัญญาฯ

     ***หมายเหตุ ทุกตอนที่นำมาลงนำมาจากวิทยานิพนธ์ หากเป็นประโยชน์กับผู้ใดขอยกความดีให้แก่ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ ดร. วิลาวรรณ มังคละธนะกุล และกรรรมการสอบทุกคน และที่สำคัญที่ส่งผลให้วิทยานิพนธ์นี้สำเร็จ คือคณะทำงานย่อยอนุสัญญาการโอนสิทธิเรียกร้องทางการเงินในทางการค้าระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โดยเฉพาะ พี่ตู่ กฤษฎา  จีนวิจารณะ ณ ขณะนั้นเป็น ผอ สกม สศค. ตอนนี้ท่านเป็นรอง ผอ.สศค.ผู้ให้โอกาสคนแรกในการทำงาน ผู้เมตตาสอนให้ทำงานที่อดทนและให้โอกาสทำงานกับผู้ใหญ่จนผู้เขียนแกร่งในการทำงาน ณ ขณะนี้ และขอขอบคุณ อ.ดร สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธ์ ดร.มัลลิกา พินิจจันทร์ ดร.วิสูตร ตุวะยานนท์ พ่อแม่และป๊า ผู้มีพระคุณทั้งหมด***

       *** แต่ถ้าหากผิดพลาดประการใดหรือไม่มีประโยชน์อันใดผู้เขียนขอน้อมรับไว้แต่เพียงผู้เดียว***


[1]ธุรกิจ Non-bank ประกอบด้วย สถาบันการเงินเพื่อการพัฒนา (Development Finance Institutions), ธุรกิจเงินทุนและการให้เช่าแบบลิสซิ่ง (Finance and Leasing Companies), ธุรกิจแฟ็คเตอริ่ง (Factoring Companies), ธุรกิจประกันภัยและเงินทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Insurance Firms and Pension Schemes), ธุรกิจรับจำนอง (Mortgage Institutions), ตลาดตราสารและธุรกิจหลักทรัพย์ (Secutaries Market and Securities Firms), สถาบันการเงินฐานราก (Micro Finance Institutions), ธุรกิจรับฝากเงินทางไปรษณีย์ (Postal Saving Institutions), ธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและรับซื้อลดตั๋วเงิน (Forex Bureau and Discount Houses), ธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital).

[2]การก่อหนี้ใหม่เพื่อไถ่ถอน หรือชำระคืนหนี้เก่าที่ถึงกำหนดแล้ว หรือยังไม่ถึงกำหนดก็ได้ หรืออีกนัยหนึ่งอาจจะหมายถึงเงินกู้ในธุรกรรมการเปลี่ยนพันธบัตรหรือ  หุ้นใหม่แทนฉบับเก่า ซึ่งโดยปกติจะให้ดอกเบี้ยหรือเงินปันผลต่ำกว่า.

[3]วิลาวรรณ  มังคละธนะกุล, เรื่องเดิม, หน้า 13.



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท