วิธีเอาตัวให้รอดในกรุงเทพฯวันนี้


ชีวิตคนกรุงเทพฯ ทุกวันนี้เอน็จอนาถน่าเห็นใจยิ่ง... เพราะมีการเปลี่ยนสนามการค้าเป็นสนามรบมานานนับเดือน กล่าวกันว่า โลกเบี้ยวๆ ใบนี้มีการก่อการร้ายเพิ่มขึ้น 10%/ปี ซึ่งทำให้การเอาตัวให้รอดทำได้ยากขึ้นในโลกยุคใหม่

อาจารย์แห่งเว็บไซต์ 'mongabay' ตีพิมพ์เรื่อง 'How to surviving torrorism or attacks in general' = "วิธีเอาตัวให้รอดจากการก่อการร้ายหรือจู่โจม (ในกรณีทั่วไป)" ซึ่งนำคำแนะนำรัฐบาลสหรัฐฯ มาเขียนให้เข้าใจง่าย

...

ผู้เขียนขอนำ มาเล่าสู่กันฟัง พร้อมทั้งเสริมข้อคิดจากอาจารย์ท่านอื่นๆ เพื่อให้ท่านผู้อ่านอยู่รอดปลอดภัยเท่าที่จะเป็นไปได้ครับ [ mongabay ]

...

(1). ต้องมีที่ พึ่งทางใจ

คนเราควรมีที่พึ่งทั้งทางกายและทางใจ... ที่พึ่งทางใจที่สำคัญสำหรับผู้เขียน ซึ่งเคารพนับถือพระพุทธศาสนา คือ ไตรสรณคมน์ (พระพุทธ-พระธรรม-พระสงฆ์; สงฆ์ในที่นี้หมายถึงพระอริยบุคคล 4 คู่ 8 บุคคล) จึงถือเป็นธรรมเนียมว่า ต้องตั้ง "นโมฯ", สมาทานไตรสรณคมน์ "พุทธัง สรณัง คัจฉามิ, ...", สมาทานศีลอย่างน้อยเช้า-เย็น ก่อนเดินทาง และก่อนทำงานสำคัญ

...

การมีที่ึพึ่งทางใจทำให้เราอุ่นใจ และถ้าพลาดพลั้งเสียชีวิตอะไรไปก็พอหวังสุคติ หรือ "ไปดี" ได้มากกว่าคนที่ไม่มีที่พึ่งทางใจ

ยิ่งถ้าอยู่กรุงเทพฯ ยิ่งต้องตั้ง "นโมฯ" บ่อยๆ อย่างน้อยทุก 15 นาที-1 ชั่วโมง เพราะกรุงเทพฯ ทุกวันนี้เต็มไปด้วยโลหะหนัก (ตะกั่วในกระสุน) และสารพิษที่มีอันตรายต่อสุขภาพ เช่น เปลวระเบิด ฯลฯ

...

(2). ฟิตเข้าไว้

อยู่บ้านนอกจะฟิตบ้างไม่ฟิตบ้างก็พอทน แต่อยู่กรุงเทพฯ ต้องฟิตไว้ให้มาก เพื่อจะได้วิ่งหนี ปีนป่าย หลบหลีกภัยพิบัติ เช่น การไล่ล่าจากฝ่ายต่างๆ ฯลฯ

วิธีที่ดี คือ อย่างน้อยต้องฝึกเดินเร็ว, วิ่งสปริ๊นท์ (เร็วสุดๆ) สลับช้า, ขึ้นลงบันไดไว้ เพื่อให้หัวใจและหลอดเลือดทนทานต่อการไล่ล่าได้

...

อาจารย์มวยไทยท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่า โอกาสรอดของคนเราขึ้นกับปัจจัยสำคัญ 3 ประการได้แก่ แรง ความมั่นใจ และไหวพริบ (รวมความชำนาญในการต่อสู้-หลบหลีกด้วย) 

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า จุดอ่อนในเรื่องแรงของคนส่วนใหญ่ คือ ครึ่งบนของคนเรา (นับสะดือขึ้นไป) มักจะแข็งแรงไม่พอที่จะต่อสู้ หลบหลีกได้ในภาวะฉุกเฉิน ซึ่งพัฒนาให้ดีขึ้นได้ด้วยการออกกำลังต้านแรง เช่น บาร์คู่ บาร์เดี่ยว ยกน้ำหนัก เล่นเวท ฯลฯ

...

(3). อย่าปล่อย ให้เลือดจาง

ผลการตรวจเลือดผู้บริจาคเลือดพบว่า ประมาณ 40% ขาดธาตุเหล็ก, ที่เหลือเลือดลอย (ความเข้มข้นต่ำกว่ามาตรฐาน) ด้วยสาเหตุต่างๆ เช่น นอนไม่พอ (คนส่วนใหญ่ต้องการนอน 7 ชั่วโมง/คืนขึ้นไป ส่วนน้อยต้องการนอนน้อยหรือมากกว่านี้), มีโรคเลือดจางพันธุกรรม (ธาลัสซีเมีย), มีโรคเรื้อรัง เช่น เป็นหวัดบ่อยเกิน ฯลฯ

...

การตรวจเลือดเพื่อหาว่า เป็นโรคเลือดจางหรือไม่ ถ้ามี... เป็นโรคเลือดจางพันธุกรรมหรือไม่ (ถ้าเป็น... ไม่ควรกินยาบำรุงเลือดที่มีธาตุเหล็ก ตับ หรือเลือดสัตว์

เนื่องจากโรคนี้อาจทำให้การดูดซึมธาตุเหล็กเพิ่ม เสี่ยงตับหรือกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อมจากภาวะธาตุเหล็กเกิน ควรกินเฉพาะยาที่หมอแนะนำ เช่น โฟเลต/กรดโฟลิค (วิตามิน B ชนิดหนึ่ง) ฯลฯ ซึ่งจะทำให้การสร้างเม็ดเลือดเพิ่มขึ้น แข็งแรงขึ้นได้

...

ทุกวันนี้เราพบปัญหาเลือดไม่พอใช้บ่อยขึ้น และเลือดที่บริจาคก็ต้องรอการตรวจหลายอย่าง โดยเฉพาะไวรัสเอดส์ (HIV)

วิธีที่ดี คือ อย่าปล่อยให้เป็นโรคเลือดจาง ซึ่งจะทำให้ความฟิตลดลง วิ่งหนีหรือเอาตัวให้รอดได้น้อยลง, และถ้าเสียเลือด... จะมีเลือดสำรองในตัวน้อยลง ทำให้โอกาสต้องเติมเลือดเพิ่มขึ้น ซึ่งถ้าไม่มีเลือด... โอกาสเสียชีิวิตจะเพิ่มขึ้นมาก

... 

(4). หลีกเลี่ยง การทำตัวให้เด่น

ถ้ามีการจับตัวประกัน... ส่วนใหญ่คนเด่นคนดัง เช่น สส., ผู้ว่าฯ ฯลฯ มักจะโดนจับไว้ก่อน เพราะฉะนั้นเวลาไปไหน... ควรทำตัวเรียบๆ ไม่ต้องประกาศให้โลกรู้ว่า "ข้าฯ ใหญ่, ข้าฯ รู้, ข้าฯ เห็น" อะไรทำนองนี้

...

ไม่ว่าที่ไหนในโลก... คนที่พร้อมจะฉกชิงวิ่งราวหรือข่มขืนก็สอดส่องสายตาไปทั่วเสมอ การแต่งกายให้เรียบ-ง่าย-ประหยัดน่าจะปลอดภัยกว่าการทำตัวเป็นตู้ทองเคลื่อน ที่ แต่งกายหรูเลิศ หรือโป๊

กล่าวกันว่า ความสงบสุขอย่างหนึ่งในสังคมญี่ปุ่นเกิดจากการที่คนส่วนใหญ่แต่งกายแบบ เรียบ-ง่าย-ประหยัด ทำให้ดูคล้ายกับมีฐานะใกล้เคียงกัน ต่อมหมั่นไส้ทำงานน้อยหน่อย

...

ผู้เขียนมีประสบการณ์ไปอบรมในสถาบันแห่งหนึ่ง ผู้เข้าร่วมการอบรมบางท่านชอบแต่งกายด้วยแหวนเพชรแท้ ทำให้ผู้เข้าร่วมอบรมแสบตา (เพชรแท้จะสะท้อนแสงออกมาแรง)

แถมเวลาไปดูงาน... เจ้าเพชรที่ว่าดันหลุดจากหัวแหวน ทำใ้ห้สมาชิกต้องช่วยกันหาเพชร ซึ่งถึงจะหาพบ ทว่า... การแต่งกายแบบนี้อาจเพิ่มความเสี่ยงได้ในอีกหลายๆ สถานการณ์

...

(5). ฝึกหูไวตา ไว

การฝึกสังเกตเพื่อนบ้าน รวมทั้งของใช้ เช่น รถ ฯลฯ ช่วยให้สังเกตคนแปลกหน้าได้เร็ว ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า รถที่ควรระวังมากหน่อย คือ รถที่ใช้กระจกเงาบานใหญ่ รถที่ขับตามเรา รถที่จอดนานผิดสังเกต รถที่ไม่มีป้ายทะเบียน คนที่คนหาของหรือทำท่าหาใครสักคน

...

การลงทุนติด TV วงจรปิดเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ได้ ทั้งในและนอกบ้าน

...

(6). ไม่ทำตัว เดิมๆ

อย่าทำอะไรแบบเดิมๆ ทุกวัน เช่น วิ่งจ๊อกกิ้งที่สวนลุมพินีทุกวันจันทร์-พุธ-ศุกร์ตอนเช้ามืด, ถ้าใช้ลิฟต์ขึ้นแฟล็ตหรือคอนโดมิเนียมอาจใช้วิธีขึ้นชั้นเดิมบ้าง ขึ้นชั้นบนหรือล่างแล้วเดินต่อบ้าง ไม่ให้เหมือนเดิมทุกวัน ฯลฯ เพราะจะถูกสะกดรอย หรือทำร้ายได้ง่าย

...

ทางที่ดี คือ หัดทำตัวเป็นคนที่ "ใหม่ สด เสมอ" เช่น ไม่กินอาหารหรือเดินทางเวลาเดิม เปลี่ยนเส้นทางเดินรถเป็นครั้งคราว หลีกเลี่ยงการเดินทางผ่านหรือจอดรถในที่แคบ-จุดอับสายตา-ที่มืด ฯลฯ

และจำ "ที่หลบภัย" ข้างทางไว้เสมอ เช่น ปั๊มพ์น้ำมันที่มีร้านสะดวกซื้อ หรือไฟสว่าง ฯลฯ

...

(7). ปิด กระจก-ล็อคประตู

ฝึกนิสัยมองรอบคันรถ (เพื่อป้องกันคนฉวยโอกาสขึ้นรถ โดยเฉพาะรถที่ใช้ระบบเซ็นทรัลล็อค) ปิดกระจก-ล็อคประตูรถทันทีที่ขึ้นรถ 

...

การเปิดกระจกรถเกิน 2 นิ้วจากขอบบนเพิ่มโอกาสถูกจี้หรือทำร้ายขณะอยู่บนรถ เพิ่มแรงต้านอากาศ ทำให้เปลืองน้ำมันถ้าวิ่งเร็ว และเพิ่มโอกาสกระจกแตก ซึ่งอาจกระเด็นใส่ตัวเรา เช่น บาดหลอดเืลือดที่คอ ฯลฯ ได้

...

(8). ระวัง โทรศัพท์จากคนแปลกหน้า

ถ้าอยู่บ้านหรือเดินทางคนเดียว... ควรระวังโทรศัพท์จากคนแปลกหน้า, ซึ่งถ้าเผลอรับสายควรนิ่ง ฟังโดยไม่พูดไว้ก่อน หรือถ้าจะให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น ควรปิดโทรศัพท์ทันที

...

(9). ระวัง แท็กซี่

ถ้าเดินทางคนเดียว... การขึ้นแท็กซี่เบาะหลังมีแนวโน้มจะปลอดภัยกว่านั่งเบาะหน้า ควรบันทึกหมายเลขทะเบียน โทรศัพท์บอกคนที่รู้จักไว้ หรือไม่ก็ถ่ายภาพหมายเลขทะเบียน ส่งผ่านโทรศัพท์มือถือให้ญาติสนิทมิตรสหายทันทีที่ขึ้นรถ

ถ้าเป็นไปได้... ควรหลีกเลี่ยงการขึ้นแท็กซี่คนเดียวเวลากลางคืน ระวังแท็กซี่ที่ขับออกนอกเส้นทาง และที่ลืมไม่ได้ คือ ถ้าเดินทางคนเดียว... อย่าหลับบนรถแท็กซี่

...

(10). อย่าไว้ใจ นักข่าว

หน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐฯ เตือนว่า ผู้ก่อการร้ายมักจะแฝงตัวมาในรูปนักข่าวบ่อย จึงต้องตรวจสอบนับข่าวให้ดี และอย่ายอมให้ "ว่าที่นักข่าว" เข้าไปถ่ายภาพ หรือสัมภาษณ์ในบ้าน

...

(11). โลกนี้ไม่ มีความลับ

อย่าพูดเรื่องแผนการเดินทางหรือแผนธุรกิจให้คนอื่นฟัง โดยเฉพาะคนรับใช้ และเด็กๆ ในบ้าน เนื่องจากคนเหล่านี้มักจะเก็บความลับไว้ไม่อยู่ และพูดไปเรื่อย

ถ้าอยู่เมืองไทย... ควรระัวังการแสดงความเห็นทางการเมือง เพราะเราไม่รู้จริงว่า คนรอบๆ ตัวเราจะอยู่ฝ่ายไหน สีใด (แดง เหลือง หลากสี หรือไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด)

...

(12). อย่าไว้ใจ โทรศัพท์และอินเตอร์เน็ต

ขอให้คิดว่า เราอาจจะถูกดักฟังโทรศัพท์ หรือถูกดักจับข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตได้... อะไรที่เป็นความลับหรือเป็นเรื่องส่วนตัวจริงๆ จะต้องระวังถูกดักฟัง หรือดักจับข้อมูลไว้เสมอ 

...

(13). เตรียม อาหารและน้ำไว้เสมอ

สงคราม การประท้วง หรือการก่อการร้ายอาจทำให้เราขาดโอกาสในการซื้อหาอาหาร น้ำไม่ไหล หรือไฟดับได้...

ทางที่ดี คือ ควรเตรียมอาหารไว้ขนาดที่พอทำให้รอดตายได้สัก 7 วัน, เตรียมน้ำ 200 ลิตร/คนไว้อย่างน้อย 3 วัน, เตรียมไฟฉายไว้ (ชนิดหลอด LED จะประหยัดไฟ และใช้ได้นานกว่าหลอดทั่วไป

...

(14). กล้าเกิน ไปอาจไม่รอด

สถานการณ์บางอย่างนั้น... คนกล้าอาจมีโอกาสรอดน้อยกว่าคนขี้ขลาด เช่น โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง (ขอสงวนนาม) มีชื่อเสียงในเรื่องคนไข้โดดตึก

ครั้งหนึ่งคนไข้เอดส์จะโดดตึก... รปภ.ใจกล้าเข้าไปช่วย โดนคนไข้กัด ทำให้เสี่ยงเอดส์ แถมยังเสี่ยงตกตึกตามไปด้วย

...

อาจารย์จิตแพทย์ท่านหนึ่งสอนไว้ดี คือ ถ้าคนบ้าคลั่ง... อย่าทำตัวเป็นฮีโร่ เพราะอาจจะตายฟรี และไม่มีอนุสาวรีย์รองรับ

...

(15). อย่าอยู่ กลางแจ้ง

อิรักเป็นประเทศที่ผู้คนชอบเฉลิมฉลองด้วยการยิงปืนขึ้นฟ้า ซึ่งลูกปืนนั้นหาได้พุ่งไปยังดวงจันทร์ ดวงดาว หรือจักรวาลอื่น ทว่า... จะตกลงมาสู่โลกเสมอ ทำให้อิรักมีคนตายจากการยิงปืนขึ้นฟ้าเป็นประจำ

...

ถ้าผู้เขียนจำไม่ผิด (ดูจะเป็นข่าวจาก al Jazeera), งานใหญ่ๆ งานหนึ่งในอิรักจะมีคนตายจากการยิงปืนขึ้นฟ้าประมาณ 50 คนขึ้นไป

ที่เป็นอย่างนี้เพราะพี่ท่านเล่นยิงขึ้นฟ้า เฉลิมฉลองแทบทุกบ้านนั่นเอง

...

คนกรุงเทพฯ ไม่ควรอยู่กลางแจ้งในเวลาที่มีการประท้วง หรือสงครามกลางเมือง เพราะอาจได้รับพิษจาสารตะกั่ว (ในลูกปืน) แบบเฉียบพลันได้

ทางที่ดี คือ หาอะไรคุ้มหัวเข้าไว้... เลือกอยู่ในอาคารที่หลังคาทนกระสุน, หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้ง และถ้าจำเป็นต้องรีบเข้าหาที่กำบังโดยเร็ว หรือไม่ก็ใส่หมวกกันกระุสุนพร้อมเสื้อเกราะไว้เสมอ

...

(16). ปิด TV, อินเตอร์เน็ต

คนส่วนใหญ่ต้องการนอน 7 ชั่วโมง/คืน, ส่วนน้อยต้องการนอนมากหรือน้อยกว่านี้

...

ความเครียดที่มากหรือนานเกินไปเป็นเครื่องบั่นทอน ทำลายสุขภาพ, การติดตามข่าวการเมืองไทยมากเกินไปมีอันตรายต่อสุขภาพ และไม่ช่วยให้อะไรๆ ดีขึ้น

ถึงเวลานอนก็ควรนอน ไม่ต้องลุ้นกันทั้งวันทั้งคืน... อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ขอเพียงให้เราทำในส่วนของเราให้ดีเป็นใช้ได้แล้ว อะไรที่ทำไม่ได้ก็ต้องเลือกว่า จะปล่อยวางหรือจะป่วยด้วยโรค "เครียด-เศร้า-เหงา-เซง" 

...

ชีวิตคนเรา นั้น... แท้จริงแล้วก็ไม่ได้จีรังยั่งยืนอะไร ล้วนบ่ายหน้าไปหาความตายทั้งนั้น, ท่านพระอาจารย์สมบัติ นันทิโกสอนไว้ว่า "คนเราจะว่าไปก็คล้่ายไก่บนรางเลื่อนไปสู่โรงเชือด มีความตายรอข้างหน้าเหมือนๆ กัน ไม่ช้าก็เร็ว"

...

ท่านกล่าวว่า ตอนอยู่บนราง (ไปสู่โรงเชือด คือ ความตาย)... อย่าเพิ่งจิกกัน ตีกัน เพราะจะฆ่ากันหรือไม่ฆ่ากันก็ล้วนมีความตายเป็นที่สุดทั้งนั้น

ทางที่ดีกว่า คือ ใช้เวลาบนราง (ชีวิตที่เหลืออยู่) ให้ดีที่สุด... คิดดี-พูดดี-ทำดีเท่าที่จะทำได้ 

...

ถึงตรงนี้... ขอให้ท่านผู้อ่านมีสุขภาพดีไปนานๆ, ขอให้ชาวกรุงเทพฯ อยู่รอด ปลอดภัย, และขอให้เหตุการณ์ (สนามรบในกรุงเทพฯ) ผ่านพ้นไป โดยทุกคนทุกฝ่ายเดือดร้อนน้อยที่สุดครับ

...

 ติดตามบล็อกของเราได้ทางทวิตเตอร์ > [ Twitter ]

ที่ มา                                                         

  • Thank [ mongabay ] //
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ รพ.ห้างฉัตร ลำปาง > CC:BY-NC-ND; 17 พฤษภาคม 2553.
  • ข้อมูลทั้งหมดเป็นไปเพื่อ การส่งเสริมสุขภาพ ไม่ใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรค ท่านที่มีโรคประจำตัวหรือความเสี่ยงต่อโรคสูงจำเป็นต้องปรึกษาหมอที่ดูแล ท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้.
หมายเลขบันทึก: 359323เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2010 13:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2012 18:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณท่านผู้อ่านเช่นกันครับ..............

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท