ครูนอกระบบ
นาง ณัฐนิธิ อารีย์ อักษรวิทย์

<เล่าสู่กันฟัง>เขียนกฎหมายง่าย แต่บังคับใช้ (ให้ดี) ยาก


บังคับใช้

ศ. ดร. คณิต ณ นคร เขียนกฎหมายง่าย แต่บังคับใช้ (ให้ดี) ยาก  Date : 3/05/2010

 

ศ. ดร. คณิต ณ นคร คณบดีคณะนิติศาสตร์ ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ได้กล่าวปาฐกถาเกี่ยวกับกฎหมายที่ว่าด้วยเรื่องการชุมนุมสาธารณะ ไว้อย่างน่าสนใจในเวทีนโยบายสาธารณะ เรื่อง “การชุมนุมสาธารณะ : เสรีภาพที่ต้องการกรอบกติกา” เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งทีมงานของเราได้เรียบเรียงมาให้ติดตามกันแบบคำต่อคำ...
 
        เวทีปกครองโดยประชาธิปไตยระบบเสรีนิยมที่เรารู้จักกันดี เช่น ในสหราชอาณาจักร หรือสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี การชุมนุมสาธารณะและการเดินขบวนถือเป็นวิธีการอย่างหนึ่งในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน การชุมนุมสาธารณะถือว่าเป็นพัฒนาการสำคัญยิ่งในการแสดงความคิดเห็นของพลเมือง รัฐบาลของประเทศประชาธิปไตยจึงไม่ได้ลิดรอนสิทธิ หรือจำกัดสิทธิในการชุมนุมประท้วงหรือเดินขบวนของประชาชนอันชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
 
        สำหรับประเทศไทยเรานั้นการชุมนุมสาธารณะโดยปราศจากอาวุธ โดยสงบ ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ และยังเป็นสิทธิที่เป็นไปตามกติกาสากล ว่าด้วยพลเมือง ซึ่งเราเองก็เป็นประเทศหนึ่งที่ยอมรับในภาคีในภาคประชานุวัติ เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2539 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2540 เป็นต้นมา
 
เสรีภาพในการชุมนุมนี้เป็นเครื่องมือที่สำคัญของประชาชนระดับล่างของสังคมไทยเรา ที่สะท้อนให้เห็นปัญหาข้อเรียกร้องของตนที่มีต่อรัฐบาล ในอดีตที่ผ่านมามีลักษณะเป็นการชุมนุมเรียกร้องทางการเมือง เป็นการชุมนุมเพื่อคัดค้านโครงการใหญ่ๆ ที่มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน การชุมนุมที่เกิดขึ้นมาทุกยุคทุกสมัยคือการชุมนุมเรียกร้องให้รัฐช่วยเหลือเกี่ยวกับทางเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้อง
 
ในช่วงเวลา 4 ปีหลัง การชุมนุมสาธารณะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารความคิดทางการเมือง ของกลุ่มการเมืองต่อสังคม และเป็นเครื่องมือในการเรียกร้องรัฐบาล จึงนับว่าเสรีภาพที่สำคัญยิ่งที่แสดงออกทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และจะตกผลึกเป็นวัฒนธรรมที่นำไปสู่รากฐานของประชาชนและการเป็นนิติรัฐในที่สุด
 
        อย่างไรก็ตามเนื่องจากเรายังไม่มีกฎหมายเรื่องนี้ที่ชัดเจน เราก็นำกฎหมายอื่นมาใช้ในการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้ เป็นไปในลักษณะที่เป็นเรื่องเฉพาะเรื่องมากกว่า กระบวนการเกี่ยวกับการตรากฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ รัฐบาลได้รับดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2536 กฎหมายอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา
 
วันนี้ผมคิดว่าเรากำลังร่วมกันพิจารณาร่วมกัน ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่ากฎหมายที่ว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะนี้ เป็นกฎหมายที่วางรากฐานบนความเป็นประชาธิปไตยของสังคม เสรีภาพในการชุมนุมนี้ เป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะที่เราจะมีในอนาคตอาจจำเป็น ก็คิดว่าจะต้องเป็นกฎหมายที่ส่งเสริมประชาธิปไตยในสังคม
 
อยากเรียนว่าคนในสังคมใดก็ตาม ไม่ว่าสังคมเราหรือสังคมไหนก็จะมีคนอยู่ 2 ประเภท ที่เราจะแบ่งหยาบๆ คนที่มีความคิดทางเสรีนิยมกับคนที่มีความคิดในทางอำนาจนิยม อันนี้ก็ไม่เว้นในวงการผู้ถืออำนาจรัฐ และถ้าจะกล่าวถึงกฎหมายในชีวิตประจำวัน ที่เราหรือท่านอาจเข้าไปเกี่ยวข้องจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม จะพบว่า เราเข้าไปเกี่ยวข้องกับกฎหมายหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความคิด 2 ขั้วที่กล่าวมาได้ดี ก็คือกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
 
        รัฐธรรมนูญปี 2540 ผมได้มีส่วนเข้าไปยกร่าง มีบทเฉพาะกาลเกี่ยวกับ “การจับ” ว่า ให้แก้กฎหมายให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญภายในกำหนด 5 ปี เป็นข้อต่อรองของทางตำรวจในขณะนั้น ถ้ารัฐธรรมนูญประกาศใช้เต็มที่ก็อาจทำให้ไม่สะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ แต่การแก้ไขกฎหมายสำเร็จเกิดขึ้นเมื่อปี 2547 ซึ่งควรจะเกิดก่อนปี 2545
 
ก่อนที่จะเกิดการแก้ไขกฎหมายปี 2547 ก็ได้สร้างความสับสนในปัญหากฎหมายเกี่ยวกับ “การจับ” อย่างมาก ฝ่ายนิติบัญญัติก็รู้สึกว่าไม่ค่อยจะให้ความสนใจเรื่องนี้ แสดงให้เห็นว่าฝ่ายนิติบัญญัติของเรา ก็มีความคิดในอำนาจนิยมอยู่ไม่น้อย ก็ไม่ใยดีต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมากนัก การคุ้มครองสิทธิจึงเกิดขึ้นเมื่อปี 2547 ก็สะท้อนให้เห็นว่า มาเป็นรถรางเที่ยวสุดท้าย
 
แต่อย่างไรก็ตาม นับว่าเป็นโชคดีของบ้านเมืองเราอย่างมหาศาลที่กฎหมายบทนี้ออกมาทันกาล ไม่เช่นนั้นแล้วการจับการค้นจะกลับไปสู่ที่เดิม มีการยึดอำนาจกันเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 และก็ยังใช้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อไป จะถูกฉีกทิ้งไปเลยก็จะทำให้เกิดปัญหาขึ้น แม้กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเราในปัจจุบันที่ได้แก้ทัน และก็มีความทันสมัยก็คิดว่าไม่แพ้กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของประเทศใดในโลก แต่ความเข้าใจกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องที่จะคุ้มครองสิทธิของเราดูเหมือนกระท่อนกระแท่นอยู่มาก
 
เห็นได้ชัดจากการออกหมายค้นในกลางคืน ที่เกิดขึ้นในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่ไปยิงตู้เย็นชาวบ้านพัง สะท้อนให้เห็นในเรื่องการคุ้มครองสิทธิของเรายังห่างไกลมาก กระบวนการยุติธรรมยังไม่ค่อยจะทำงานตามหลักที่ถูกต้องชอบด้วยกฎหมาย ศ.นพ.ประเวศ วะสี เคยพูดว่า สุขภาวะของมนุษย์เกี่ยวข้องกับการบริหารความยุติธรรม ผมคิดว่าสุขภาวะของสังคมเราก็น่าห่วงอยู่
 
ในส่วนตัวผมคิดว่าการมีกฎหมายใดกฎหมายหนึ่งที่จะใช้บังคับไม่ใช่เป็นเรื่องยาก นักกฎหมายเราร่างได้รวดเร็วและเป็นไปได้ แต่การที่เราจะมีกฎหมายและการบังคับใช้ที่ดี ให้ถูกหลักการ ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่า
คำสำคัญ (Tags): #กฎหมาย
หมายเลขบันทึก: 359315เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2010 12:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2012 23:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท