ครูนอกระบบ
นาง ณัฐนิธิ อารีย์ อักษรวิทย์

<เล่าสู่กันฟัง>เราต้องว่ายน้ำให้เป็นก่อนเรือล่ม


ว่ายน้ำ

ศ.นพ.ประเวศ วะสี “เราต้องว่ายน้ำให้เป็นก่อนเรือล่ม”  Date : 4/05/2010

 

แม้จะออกตัวว่าเป็นแค่คนเจิมพิธีเปิดงาน แต่ปาฐกถาของ ศ. นพ. ประเวศ วะสี ในเวทีนโยบายสาธารณะ เรื่อง “การชุมนุมสาธารณะ : เสรีภาพที่ต้องการกรอบกติกา” ก็ยังเปี่ยมไปด้วยคมความคิดที่ทรงพลานุภาพเสมอ อีกทั้งยังเข้ากับสถานการณ์ในปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง

 

ทีมงานของเราจึงเรียบเรียงปาฐกถาของท่านมาเผยแพร่ด้วยหวังใจเป็นอย่างยิ่งว่า คำพูดและความคิดของราษฎรอาวุโส จะมีส่วนช่วยให้สถานการณ์บ้านเมืองกลับเข้าสู่สภาวะปกติได้ในเร็ววัน และสังคมจะมีกลไกดูแลบริหารจัดการความขัดแย้งของบ้านเมืองได้อย่างยั่งยืนตลอดไป...

 

            ในสังคมประชาธิปไตยการชุมนุมสาธารณะเป็นเรื่องปกติ และเป็นเรื่องที่ควรมี เพื่อจะแสดงถึงเหตุผล แสดงถึงความเดือดร้อน แสดงถึงหลักการต่างๆ ในประเทศประชาธิปไตยทุกแห่งก็มีการชุมนุม ในวอชิงตันบางครั้งมีคนมาเดินขบวนเป็นล้านคน ในปารีสเป็นล้านคน ที่เยอรมนีย้อนหลังไปสิบกว่าปีมีการทำร้ายคนต่างชาติที่นั่น คนเยอรมันมาเดินขบวนเป็นแสนคนและนายกรัฐมนตรีก็มาร่วมด้วย เพื่อจะแสดงมติว่าเยอรมันไม่ต้องการเห็นอย่างนี้
 
เพราะฉะนั้นเป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องธรรมดาของระบบประชาธิปไตย แต่เราอยากเห็นการชุมนุมนั้นเป็นไปอย่างสันติและสร้างสรรค์ และให้ได้ผลด้วย ผมคิดว่าเวลามีเรื่องขึ้น ไม่ใช่ว่าคนไทยหรือตำรวจเป็นคนไม่ดี เป็นเพราะขาดกรอบกติกาและกลไก ถ้าคนไทยเป็นคนไม่ดี ทำไมถึงไปเล่นฟุตบอลได้ทั่วโลก
 
ถ้าเราไปดูการเล่นฟุตบอลจะมีกรอบก็คือสนาม ไม่สามารถเล่นนอกกรอบ ถ้าไม่มีกรอบต่อให้เอาพระอรหันต์มาเล่นเดี๋ยวก็ย้ายไปในป่า เพราะไม่มีกรอบ และก็มีกติกาว่า คุณจะเตะคนไม่ได้ ด่าเขาไม่ได้ ถ่มน้ำลายรดเขาไม่ได้เรียกว่ามีกติกา เสร็จแล้วมีกลไก มีคนกำกับเส้น มีกรรมการ คอยดูให้เป็นไปตามกติกา แค่นั้นยังไม่พอ คนกำกับเส้นกับกรรมการอาจจะโกงได้ มีคนดูซึ่งเข้าใจกรอบกติกา และกลไกคอยกำกับอีกทีหนึ่ง ตัวกรรมการก็โกงไม่ได้ คนกำกับเส้นก็โกงไม่ได้
 
ถ้าดูตามนี้ลองคิดตามว่าการชุมนุมสาธารณะ หนึ่งมีกรอบอย่างไร กติกา กลไก และมีสังคมเข้ามากำกับอีกที ดูให้ครบ เพื่อการชุมนุมจะได้เป็นไปอย่างสันติและสร้างสรรค์ เรื่องกรอบที่ชัดเจนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ คือ มีสิทธิที่จะชุมนุมโดยสันติ ต้องคิดไปในรายละเอียดให้ลองปรึกษากันดูว่ามีอะไรอย่างอื่นหรือไม่ เกี่ยวกับสถานที่ พื้นที่ พื้นที่ตรงไหนชุมนุมได้ ตรงไหนชุมนุมไม่ได้ กติกาให้ลองคิดไปในรายละเอียดว่ากติกามีอะไรบ้าง
 
จริงๆ แล้วมีข้อหนึ่งแต่ปฏิบัติได้ยาก คือ ต้องใช้ความจริง แต่การชุมนุมใช้ปลุกระดม ใช้อารมณ์ ใช้ความไม่จริงก็มี จริงๆ ควรจะมีกติกาว่าต้องใช้ความจริง เพราะจะปลุกระดมอารมณ์กัน พอถึงอารมณ์ก็ไม่ต้องใช้ความรู้ ไม่ต้องใช้เหตุผล
 
การใช้ความจริงเป็นเรื่องสำคัญถ้าเราใช้ความไม่จริงก็จะเกิดเรื่องต่อไปมากมาย อย่างในปัจจุบันมีการใช้ความไม่จริงเยอะมาก พระพุทธเจ้าจึงสอนตรงนี้ไว้ว่าทำอะไรต้องใช้วจีสุจริต วจีสุจริตหมายถึง
 
1. ต้องเป็นความจริง มีที่มา มีที่อ้างอิง
2. พูดเป็นปิยวาจา ไม่ใช่พูดด่า หรือเสียดสี
3. พูดถูกกาลเทศะ
4. พูดแล้วเกิดประโยชน์
 
ส่วนมากเป็นวจีทุจริต โดยมากคนมักพูดด้วยอารมณ์ พูดแล้วเป็นความจริงหรือเปล่า พูดแล้วมีประโยชน์หรือเปล่า พูดแล้วยุติธรรมหรือเปล่า อยากฝากประเด็นนี้ไว้
 
ที่จริงสังคมไทยและสื่อมวลชนต้องพยายามว่าการพูดจากันต้องใช้ความจริงและจะดีขึ้นเยอะ ความไม่จริงไม่เอามาเผยแพร่ พอใช้ความไม่จริงเกิดการเข้าใจผิด เกิดอารมณ์ เกิดการนำไปสู่ความรุนแรงต่างๆได้
 
กติกาอันหนึ่งน่าจะเข้ามาได้ คือ พูดยุยงให้ไปฆ่ากัน พูดยุยงให้ไปเผาบ้านเผาเมือง อันนี้น่าจะอยู่ในกติกา ไม่น่าทำได้ในการชุมนุม กฎหมายเราก็ต้องทำให้ดีที่สุด แต่คิดว่าไม่พอ เราต้องมาซักซ้อมกันกับคนที่เกี่ยวข้อง ต้องมาทำกรอบ กติกา กลไกร่วมกัน
 
คือ คนที่จะชุมนุมหรือเคยชุมนุมหรืออาจจะมีการชุมนุมอีกมาร่วม เจ้าหน้าที่ตำรวจ รักษาความสงบ นักวิชาการ สื่อมวลชน มาร่วมทำกรอบ กติกา กลไก ก่อนที่จะมีเรื่อง เหมือนการว่ายน้ำเราต้องว่ายให้เป็นก่อนเรือล่ม เรือล่มแล้วเพิ่งหัดว่ายน้ำไม่ทัน อย่างนี้ผมเสนอมาหลายปีแล้วแต่ไม่มีคนทำ เราเพื่อนคนไทยด้วยกันทั้งนั้น จะเป็นสีอะไรก็เป็นเพื่อนมนุษย์กัน อาจจะขัดแย้งคิดต่างกัน แต่เหนือขึ้นไปคือเพื่อนมนุษย์
 
ผมเสนอว่าจากนี้ต่อไปองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเชิญฝ่ายต่างๆ มาซักซ้อมกัน คนที่เคยเดินขบวน คนที่อาจจะเคยเดินขบวน เจ้าหน้าที่ สื่อมวลชน นักวิชาการ NGOs มาร่วมกันทำ กระบวนการร่วมกันทำนั้นทำให้ดีขึ้นด้วย โดยมาดูว่ากรอบว่าอย่างไร กติกามีแค่ไหน มันล้ำเส้นล้ำกรอบ ล้ำกรอบแค่ไหน พอทนได้ แค่ไหนไปถึงการยุติการชุมนุม และในการยุติกระบวนการเป็นอย่างไร จะได้ไม่มาโทษกันทีหลัง เหมือนที่ “จะนะ” โทษกัน ทาง NGOs โทษว่าตำรวจลงมือก่อน ตำรวจก็บอกว่า NGOs ลงมือก่อน
 
จะมีกระบวนการอย่างไร เช่น ประกาศให้ทราบก่อน อยากให้ลงรายละเอียด และมีอะไรใช้ได้ หรือใช้ไม่ได้ในการยุติการชุมนุม แน่นอนใช้ปืนไม่ได้ ใช้น้ำอาจจะใช้ได้ ยิงเข้าคนไม่ได้ แก๊สน้ำตาใช้ได้หรือเปล่าต้องมีรายละเอียด ไม่อย่างนั้นจะลำบาก
 
เจ้าหน้าที่ก็ลำบาก เขาไม่ทำก็มีคนโทษเขา ต้องช่วยกันทำให้ลงรายละเอียดและเห็นด้วยกันหมด ทั้งฝ่ายชุมนุมเองก็เห็นด้วย ถ้าล้ำเส้นถึงขั้นนี้ต้องมีการยุติการชุมนุม ถ้ายุติทางผู้รักษาความสงบเขาต้องทำอะไร ผู้ชุมนุมก็เห็นด้วย คุยกันจนเห็นด้วยว่าต้องทำอย่างนี้เรื่องจะเกิดน้อยลง
 
มาถึงกรรมการเป็นใคร ก็เหมือนเล่นฟุตบอล มีกรรมการ มีคนดูเส้น เมื่อก่อนตอนคุณทักษิณเป็นนายก 3 วัน เราประชุมกันเรื่องสันติวิธี และเชิญคุณทักษิณมาด้วย วันที่ 5 กุมภาพันธ์ เราก็บอกให้ว่าที่นายกให้มาคุยด้วย ใครที่จะมาเป็นรัฐบาลต้องเผชิญความขัดแย้งจะได้รู้เรื่องสันติวิธี ผมยังบอกท่านว่า ที่วิกตอเรีย ประเทศแคนนาดา สภาแห่งรัฐเขาตั้ง Commissioner มีหน้าที่เชิญพวกที่ขัดแย้งที่ State parliament ตั้ง เชิญคนขัดแย้ง ก็มี รัฐ NGOs ธุรกิจ ชาวบ้าน มาคุยกันเพื่อหาทางแก้ความขัดแย้ง
 
มีอันหนึ่งที่นึกถึง คือ มีคณะทำงานยุทธศาสตร์สันติวิธี ที่เขาทำงานต่อเนื่องมาหลายปี มีคุณพิชัย รัตนพล อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อ.มาร์ก ตามไท อ.บันฑร อ่อนดำ อ.โคทม อารียา อยู่ในคณะกรรมการ ทำงานต่อเนื่องมาหลายปีและชำนาญ มีจิตใจดี สันติจริงๆ รู้เรื่องต่างๆ ดี เมื่อก่อนตอนคุณทักษิณเป็นนายกใหม่ๆ ให้ผมเขียนเสนอนายกตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์สันติวิธี ท่านก็ตั้ง แต่ไม่ได้สนใจ ถ้าสนใจจริงๆ จะช่วยได้
 
คณะนี้ยังทำงานอยู่ มีการประชุมทุกเดือนที่ธรรมศาสตร์ คิดว่า 1.ชวนเขามาทำงานเลย ยังมีการทำงานอยู่ เมื่อเร็วๆ นี้ได้เชิญคุณจรัล ดิษฐาอภิชัย มาคุย เชิญคุณพิภพ ธงไชยมาคุย ผมว่าคณะทำงานสันติวิธีก็ดูไปโดยความชำนาญน่าจะเข้ามาเป็นเหมือนกรรมการ หรือเสนอนายกรัฐมนตรีว่า น่าจะตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์สันติวิธีแห่งชาติมาช่วยกันทำงาน เหมือนเป็นกรรมการในสนามฟุตบอล
 
เราบอกว่าเล่นฟุตบอลกรรมการอาจจะโกงได้ ไลน์แมนอาจจะโกงได้ ลูกออกบอกว่าไม่ออก แต่ทำไม่ได้ถ้ามีคนดูกำกับ การชุมนุมสังคมต้องเข้ามาร่วมกำกับให้เป็นไปโดยสันติวิธีหรือสร้างสรรค์ สังคมกำกับโดยการสื่อสาร จึงมีข้อเสนอว่าเรื่องการสื่อสารที่ดี ตามข้อเท็จจริงอย่าใส่อารมณ์ สื่อสารให้รู้ถึงกัน
 
การสื่อสารให้รู้ถึงกันเป็นการลดความรุนแรง ผมเคยเห็นของจริงเกิดขึ้นในประเทศไทย เมื่อครั้งนักศึกษาพม่ายึดสถานทูตและจับตัวประกันมีอาวุธ ผมไปประชุมที่ศูนย์วัฒนธรรมตอนเย็นรถติดมาก ฟังวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน คุณถนอมเขาก็ไปสัมภาษณ์คนยึด คนถูกยึด สัมภาษณ์รัฐมนตรีมหาดไทยตอนนั้นคุณสนั่น (ขจรประศาสน์) เป็น ฟังดูแล้วเข้าที เพราะการสื่อสารสื่อกันหมดเป็นวง
 
คุณสนั่นก็พูดเข้ามาว่า พวกน้องอย่าใช้ความรุนแรงโดยพูดเข้ามาในวง มีอยู่ตอนหนึ่งว่าเฮลิคอปเตอร์จะมารับนักศึกษาไปส่งที่สวนผึ้ง พอถึงเวลาเฮลิคอปเตอร์ไม่ลง นักศึกษานึกว่าถูกต้มก็ถือปืน แต่การสื่อสารบอกว่า มาแล้ว แต่ไม่สามารถลงได้ เพราะตรงนี้มันแฉะจึงไปลงอีกแห่งหนึ่ง ก็ทำให้คลายลง เพราะการสื่อสารความจริงจะช่วยลดความรุนแรง ไม่เช่นนั้นความรู้จะไม่เชื่อมโยงกัน
 
เมื่อตอนเกิดเรื่องพฤษภาคม มีคนที่เรียกว่า ICJ มาจากเจนีวา มาคุยกับผม เขาชื่อ International jurist Commission คนที่มาเป็นคนอังกฤษ บอกเทคนิคว่าเวลามีความขัดแย้งเข้าไปคุยกับคน เขาบอกว่า เขาไปคุยกับคุณสุจินดามาแล้วก่อนมาคุยกับผม โดยการมีคนไปคุยทำให้ข้อมูลมันเดิน และลดความรุนแรงลง เขาทำอย่างนี้มาหลายครั้ง และการทำแบบนี้เขาช่วยการประหารชีวิตคนได้

การสื่อสารเราต้องคิด ท่านนายกสมาคมนักข่าว ก็อยู่ที่นี่เป็นเจ้าภาพด้วยต้องคิด เวลามีการชุมนุมทำอย่างไรจะให้การสื่อสารมีความจริง อย่าใส่อารมณ์และพยายามให้คนสื่อสารโยงให้รู้ถึงกัน การสื่อสารความจริงสู่สังคม วิทยุออก โทรทัศน์ออก สังคมก็จะเข้ามากำกับได้ว่า ใครถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง เหมือนคนดูฟุตบอล สามารถจะกำกับคนเล่น คนดูกำกับพฤติกรรมคนเล่น กำกับพฤติกรรมกรรมการ พฤติกรรมไลน์แมน
 
ตรงนี้ผมอยากบอกว่า เราอย่าไปหยุดว่าเสนอนายกแล้วมีกฎหมาย ถึงมีกฎหมายก็มีเรื่องต้องเอาคนที่เกี่ยวข้องมาซักซ้อม การมาซักซ้อมด้วยกันดีหลายอย่าง การที่ยอมมาซักซ้อมด้วยกันก็ดีแล้ว เป็นการเริ่มต้น เราเป็นเพื่อนคนไทยด้วยกันหมด ทั้งตำรวจ คนเดินขบวน NGOs มาซักซ้อมกัน เอาใจเป็นตัวตั้งอย่าเอาความรู้นำ เอาใจนำ เราทำเพื่อเพื่อนมนุษย์ เราเป็นมนุษย์ด้วยกัน ถ้าเราเอาความรู้นำจะทำให้เห็นไม่ตรงกันและเกิดทิฐิ ทำอะไรเราจะสอนกันมาว่าต้องใช้ความรู้นำ ซึ่งผมไม่เห็นด้วย
 
ในประสบการณ์ที่ผ่านมาใช้ความรู้กลายเป็นทิฐิ ต้องใช้ใจนำ ต้องมีคนช่วยจัดกระบวนการตรงนี้ ว่าฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาคุยกัน เริ่มด้วยใจ เพราะเราเป็นเพื่อนคนไทยเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เราอยากจะทำสิ่งดีๆ ในบ้านเมืองของเรา เรื่องความคิดเห็นไม่ตรงกันไม่ใช่เรื่องใหญ่ เป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นเรื่องธรรมดา ความคิดเห็นไม่ตรงกันก็เป็นเพื่อนกันได้ รักกันได้
 
ไม่มีคนสองคนในโลกที่เหมือนกัน ลูกแฝดก็ไม่เหมือนกัน “อินจัน” ติดกันยังไม่เหมือนกันเลย คนหนึ่งชอบกินเหล้า อีกคนไม่ชอบกิน แต่คนไม่ชอบกินก็เมาด้วยเพราะเลือดติดกัน อย่าไปคิดว่าต้องเหมือนกัน

เราต้องไปให้ถึงความจริงที่สูงขึ้นไปกว่านั้น คือ ศักดิ์ศรีคุณค่าความเป็นมนุษย์ของคนทุกคน ความเป็นเพื่อนมนุษย์ขึ้นไปสู่ความจริงสูงสุด อย่าเอาความจริงลงมาต่ำ ลงรายละเอียดให้มากกว่าที่ผมพูด 1.กรอบเป็นอย่างไร 2.กติกาเป็นอย่างไร รวมทั้งเมื่อไหร่จะยุติกับการชุมนุม วิธีการยุติจะทำอย่างไร ให้เห็นด้วยกันทั้งหมด
 
สุดท้ายเราจะทำอะไรต่อไปจากวันนี้ก็มีหลายฝ่ายเกี่ยวข้อง เรื่องสิทธิมนุษยชนไม่ได้เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนอย่างเดียว เรื่องสันติวิธีก็เกี่ยว หากมีความรุนแรงละเมิดสิทธิกันหมด เพราะฉะนั้นสันติวิธีเอาหลายฝ่ายเข้ามาเป็นภาคี กรรมการสิทธิฯ อย่าทำแค่ฝ่ายเดียว เพราะมันโดดเดี่ยว ผลจะน้อย และทำงานยาก
 
หากท่านเป็นภาคีมาทำงานด้วยกันจะง่ายขึ้น เพราะช่วยกันประคับประคอง เหมือนระบบร่างกายของเราไม่มีระบบใดในร่างกายที่ใช้ One pass way ถ้าเป็นเอกบทและทางนั้นมันตีบตัน “มันตาย” เส้นเลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่มีวันใช้อย่างนั้นเลย ใช้พหุบทเสมอ Multiple pass way ทางหนึ่งตีบตันก็จะมาอีกทางช่วยกัน เราถึงรอดอยู่ได้ ทำอะไรอย่าใช้ One pass way
 
เท่าที่ดูก็มีกรรมการสิทธิมนุษยชน กรรมการยุทธศาสตร์สันติวิธี สถาบันพระปกเกล้า สถาบันพัฒนาการเมือง ตำรวจ กรมประชาสัมพันธ์ แน่นอนสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ควรมีสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยเข้ามาร่วมด้วย หลังจากประชุมวันนี้อย่าไปรอว่ากฎหมายจะออก ต้องเริ่มทำงานเลย
คำสำคัญ (Tags): #เรือล่ม
หมายเลขบันทึก: 359316เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2010 13:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มีนาคม 2012 16:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท