โลกทรรศน์ (worldview) ทางสังคมศาสตร์กับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


โลกทรรศน์ (worldview) ทางสังคมศาสตร์กับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

โลกทรรศน์ (worldview)  ทางสังคมศาสตร์กับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เย็นจิตร ถิ่นขาม[1]

 

ขบวนการสิ่งแวดล้อม  มีรากฐานทางประวัติศาสตร์อยู่ที่การเคลื่อนไหวอนุรักษ์ธรรมชาติ  ซึ่งเริ่มต้นในสหรัฐอเมริกาเมื่อกลางศตวรรษที่ 19  นักคิดชื่อ Henry  David  THOREAU  ได้ย้ำให้ประชากรโลกมองเห็นความสำคัญของธรรมชาติ  ให้มนุษย์มีความรักธรรมชาติและปกป้องรักษาธรรมชาติ  โดยในยุคแรกๆ  นั้นมีนักคิดแนวธรรมชาติหลายคนที่กล่าวถึงจริยธรรมแนวชีวภาพ  (Bioethic)  ความรู้สึกรับผิดชอบต่อโลกธรรมชาติ  และความเข้าใจในกฎนิเวศวิทยาพื้นฐาน  ซึ่งจำเป็นต่อการใช้ทรัพยากรอย่างมีเหตุผล  ในขณะเดียวกันก็มีนักคิดบางคน  (เช่น  MARSH, MUIR, LEOPOLD)  ที่มองว่าธรรมชาติไม่ได้มีไว้เพื่อให้มนุษย์ได้ใช้ประโยชน์  ธรรมชาติมีไว้เพื่อรับความเคารพรักและห่วงใยจากมนุษย์ ภาระหน้าที่ของมนุษย์คือ  จำต้องปกป้องรักษาธรรมชาติ  ไม่ให้ธรรมชาติถูกทำลายเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ  นักคิดกลุ่มนี้จึงเป็นผู้บุกเบิกของกระบวนการสิ่งแวดล้อมสมัยใหม่แนวหนึ่ง  ซึ่งเสนอว่าเราต้องรักษาธรรมชาติ  เพื่อธรรมชาติเอง (ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ของมนุษย์)  การผสมผสาน “นิเวศวิทยา” กับ  “จริยธรรม  ซึ่งกล่าวถึงกันมากในยุคปัจจุบันมีรากฐานประวัติศาสตร์มาจากนักคิดกลุ่มนี้เอง

โลกทรรศน์ที่แตกต่างกันระหว่างการมองสิ่งแวดล้อมของสังคมกระแสหลักและการมองสังคมแนวใหม่  อาจแบ่งได้เป็น 2  ประเภทใหญ่ๆ  คือ  โลกทรรศน์กระแสหลัก (หรือ dominant social paradigm)  และโลกทรรศน์สิ่งแวดล้อมใหม่  (new environmental paradigm)   ซึ่งโลกทรรศน์ที่แตกต่างกันระหว่างกระแสหลักและสิ่งแวดล้อมใหม่   สรุปได้ดังตาราง

 

โลกทรรศน์สิ่งแวดล้อมใหม่

โลกทรรศน์สิ่งแวดล้อมกระแสหลัก 

1. ประเมินค่าสูงต่อธรรมชาติ

-รักธรรมชาติ

-มีความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ

-การคุ้มครองสิ่งแวดล้อมสำคัญกว่าเศรษฐกิจ

  1. ประเมินค่าสูงต่อธรรมชาติ

    -ธรรมชาติคือทรัพยากรสำหรับผลิตสินค้า

    -มนุษย์ครอบงำธรรมชาติ

    -ความเจริญทางเศรษฐกิจสำคัญกว่าสิ่งแวดล้อม

2. ความรักและห่วงใยต่อจักรวาล

-ต่อสรรพสัตว์ทั่วโลก

-ต่อเพื่อนมนุษย์

-ต่อคนรุ่นหลัง  ต่ออนาคต

  1. ความรักแบบคับแคบ

-สิ่งมีชีวิตมีไว้เพื่อสนองความต้องการของมนุษย์

-ไม่สนใจเพื่อนมนุษย์

-ห่วงใยเฉพาะคนรุ่นปัจจุบัน

3. วางแผนอย่างระมัดระวังและหลีกเลี่ยงความเสี่ยง

-วิทยาการและเทคโนโลยีมีปัญหา

-หยุดยั้งการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์

-พัฒนาและใช้เทคโนโลยีแบบ “อ่อนโยน” (soft technology)

-รัฐควบคุมและคุ้มครองเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม

  1. พร้อมรับความเสี่ยงเพื่อความเจริญสูงสุด

-วิทยาการและเทคโนโลยีมีระโยชน์สำหรับมนุษย์

-พัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ต่อไป

-ใช้เทคโนโลยีแบบแข็ง (hard technology)

-ยกเลิกการควบคุม  ใช้กลไกตลาด

4. ขีดจำกัดความเจริญ

-ทรัพยากรขาดแคลน

-ประชากรขยายตัวสร้างขีดจำกัด

-เน้นการอนุรักษ์

  1. ความเจริญไร้ขีดจำกัด

-ไม่มีความขาดแคลนทางทรัพยากร

-ประชากรไม่ใช่ปัญหา

-เน้นการผลิตและการบริโภค

5. สร้างสังคมใหม่

-มนุษย์ต้องเลิกทำลายล้างธรรมชาติ

-เปิดกว้างและมีส่วนร่วม

-เน้นการบรารสาธารณะโดยรัฐ

-ความร่วมมือ

-อยู่เหนือวัตถุนิยม

-วิถีชีวิตเรียบง่าย

-ความพึงพอใจต่องานและผลงาน

  1. สังคมปัจจุบันดีอยู่แล้ว

-มนุษย์ไม่เคยทำลายธรรมชาติ

-ระบบชนชั้นและประสิทธิภาพ

-เน้นกลไกตลาด

-การแข่งขัน

-วัตถุนิยม

-วิถีชีวิตสลับซับซ้อนและฟุ่มเฟือย

-ทำงานเพื่อสนองความต้องการทางเศรษฐกิจ

6. การเมืองใหม่

-คิดร่วมกันและมีส่วนร่วม

-การเมืองเรื่องสิ่งแวดล้อม

-ใช้การปิบัติการโดยตรง

-วางแผนล่วงหน้า  ยาวไกล

6. การเมืองเก่า

-ระบบผู้เชี่ยวชาญ

-การเมืองเรื่องธุรกิจ

-ใช้ช่องทางแบบเก่า

-ใช้กลไกตลาด

 

จะเห็นได้ว่าโลกทรรศน์สิ่งแวดล้อมใหม่นั้นให้ความสำคัญและมองความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากกว่าโลกทรรศน์สิ่งแวดล้อมกระแสหลัก  ที่เน้นการผลิตและการขูดรีดจากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

การเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมยุคใหม่เริ่มต้นเมื่อปี  1960  พร้อมๆ  กับการเผยแพร่หนังสือเล่มสำคัญชื่อ Silent  Spring  ของ  Rachel  CARSON  นับตั้งแต่นั้นมาก็มีการต่อต้านและประท้วงเกี่ยวกับมลภาวะอันเกิดจากสารเคมี  เป้าหมายหลักไม่ใช่เป็นการอนุรักษ์ธรรมชาติแล้ว  หากแต่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์การทำลายล้างสิ่งแวดล้อมและชีวิตมนุษย์  ทั้งในชนบทและเมือง  เรื่องกิน  ดื่ม  หายใจ  เป็นกระบวนการที่มนุษย์ทุกคนต้องทำทุกวัน  และกระบวนการนี้กำลังถูกสั่นคลอนอย่างหนักจากกิจกรรมของการผลิตที่ใช้สารเคมีมากขึ้น  การเคลื่อนไหวแนวนี้จึงได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากผู้คนเกือบทุกวงการ (ยกเว้นกลุ่มธุรกิจ  อุตสาหกรรมนิยมแบบสุดขั้ว)   ทั้งนี้ขบวนการสิ่งแวดล้อมสมัยใหม่หลัง  1960  แตกต่างจากขบวนการอนุรักษ์ธรรมชาติสมัยก่อน (ในศตวรรษที่  19)  4  ประเด็นด้วยกัน  คือ

  1. ขบวนการสมัยใหม่  ซึ่งเริ่มจากการต่อต้านมลภาวะและขยายขอบเขตไปจนถึงการต่อต้านพลังงานนิวเคลียร์  ส่วนใหญ่มีแนวคิดที่เน้นเรื่องการเมืองและอุดมการณ์ที่ปฏิเสธเทคโนโลยีนิยม
  2. ขบวนการสิ่งแวดล้อมสมัยใหม่มีความห่วงใยในธรรมชาติและป่าไม้  ไม่ใช่เฉพาะท้องถิ่นเท่านั้น  หากแต่ครอบคลุมไปถึงระดับโลก  โดยมองว่า  ป่าไม้เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศโลก
  3. ขบวนการสมัยใหม่ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับตรรกวิทยาของเศรษฐศาสตร์ทุนนิยมสมัยใหม่ทำให้เสรีภาพอย่างเต็มที่ธุรกิจเอกชน  และทำให้ผู้คนลุ่มหลงในแบบจำลองเศรษฐกิจที่เน้นความเจริญเติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง
  4. ขบวนการสมัยใหม่ให้ค่านิยมสูงแก่การดำรงชีวิตแบบเรียบง่าย  ซึ่งนับว่าเป็นการท้ายทายค่านิยมแบบบริโภคนิยม  และวิถีชีวิตแบบฟุ่มเฟือย  ซึ่งเป็นกระแสหลักของอุตสาหกรรมนิยม

ซึ่งสรุปได้ว่าขบวนการอนุรักษ์ธรรมชาติสมัยก่อนเรียกร้องให้ผู้คนมีจิตใจรักธรรมชาติ  ส่วนขบวนการสมัยใหม่ได้ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความเจริญแบบอุตสาหกรรมนิยม  และปฏิเสธตรรกวิทยาของระบบที่ดำรงอยู่อย่างท้าทายโดยตรง

แม้ว่าขบวนการเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมในช่วง  1960  จะต่างกับขบวนการสิ่งแวดล้อมสมัยก่อนหน้านั้น  แต่ขบวนการเคลื่อนไหวดังกล่าวก็ม่ใช่ขบวนการที่มีเอกภาพ  นักวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมคนสำคัญ  คือ O’RIORDAN  เสนอว่า  ในขบวนการเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมของโลกตะวันตกซึ่งมีความหลากหลายอย่างมาก  จะพบโลกทรรศน์  2  กลุ่มใหญ่ๆ  อยู่ตรงข้ามกัน  คือ  Technocentrism  และ  Ecocentrism  ซึ่งเราอาจแย่งแยกออกไปอีกเป็นกลุ่มละ  2  แนว  คือ

-          cornucopian technocentrism

-          accommodating technocentrism

-          communalist ecocentrism

-          deep ecology ecocentrism

ลักษณะสำคัญของโลกทรรศน์ทั้ง  4  แนว  มีเนื้อหาดังนี้

  1. cornucopian technocentrism   หมายถึงโลกทรรศน์ที่มุ่งเน้นการขูดรีดประโยชน์จากธรรมชาติ  เพื่อสนับสนุนจริยธรรมเศรษฐกิจที่เน้นความเจริญเติบโตทางรายได้ประชาชาติ  โลกทรรศน์นี้มีคติธรรมว่า  กลไกตลาดและนวกรรมทางเทคโนโลยีจะช่วยให้มนุษย์เราสามารถหาสิ่งใหม่ๆ  มาทดแทนทรัพยากรธรรมชาติที่ขาดแคลนโดยไม่มีปัญหา
  2. accommodating technocentrism  หมายถึงโลกทรรศน์ที่มีมิติการอนุรักษ์ธรรมชาติ  ปฏิเสธคติธรรมที่บอกว่า  เราสามารถหาสิ่งทดแทนธรรมชาติได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด  มีความเชื่อว่า  เราจะต้องใช้แนวทาง  “การขยายตัวแบบยั่งยืน” (sustainable growth)  โดยใช้หลักเกณฑ์บางอย่างเพื่อจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ
  3. communalist ecocentrism  หมายถึงโลกทรรศน์ที่มุ่งรักษาปกป้องธรรมชติ  โดยมีจุดเน้นว่ามีความจำเป็นที่ต้องวางขีดจำกัดทางนิเวศทั้งระบบเพื่อควบคุมการขยายตัวทางเศรษฐกิจในลักษณะเดียวกันก็ต้องมีการสร้างระบบเศรษฐกิจสังคมที่มีการกระจายอำนาจด้วย
  4. deep ecology ecocentrism  หมายถึงโลกทรรศน์ที่เน้นการปกป้องรักษาธรรมชาติอย่างสุดขั้ว  โดยมีแนวคิดว่าธรรมชาติไม่ได้มีคุณค่าทางธุรกิจ (instrumental value)  เรารักษาธรรมชาติเพื่อธรรมชาติเอง  และเราไม่ทำลายสรรพสิ่งทั้งหลาย  เพราะสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ต่างก็มีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่เหมือนกับมนุษย์เรา

 

-ความสัมพันธ์ของแนวคิดเหล่านั้นต่อวิธีการหรือมาตราการที่สังคมต่างๆ  ใช้ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

จะเห็นได้ว่าโลกทรรศน์ทั้งสี่  มีความแตกต่างกันซึ่งทำให้มีวิธีการต่างๆ   ในการดำเนินการทางสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน  และแปลว่ากลุ่มเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ต่างก็มีวิธีคิด  แนวคิด  และแนวนโยบายที่มีเหตุผลเฉพาะของตนเองซึ่งแตกต่างกันไปอย่างมาก  การใช้ทรัพยากรธรรมชาติและวิถีทางเกี่ยวกับเรื่องนี้จึงเต็มไปด้วยความขัดแย้ง  ซึ่งเมื่อมองดูขบวนการเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมในยุคใหม่จนถึงวันนี้  จะพบว่ามีโลกทรรศน์ที่ค่อนข้างหลากหลายมาก  กลุ่มที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมมากที่สุดเห็นจะเป็นกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนจากภาคธุรกิจเอกชน  เช่น  กลุ่ม Club of Rome  และ  Conservation Foundation  กลุ่มเหล่านี้ยึดมั่นในสังคมอุตสาหกรรม  และต้องการให้ผู้นำทางอุตสาหกรรมมีจิตสำนึกทางสิ่งแวดล้อมมากขึ้น  กลุ่มที่มีแนวคิดกลางๆ  เช่น  Sierra Club และ Natural Resource Defense Council กลุ่มเหล่านี้ใช้ช่องทางแบบเดิมเพื่อกระตุ้นให้นักการเมืองสนใจปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น  โดยเน้นการลอบบี้  การรณรงค์  การดำเนินคดีทางศาล ฯลฯ 

กลุ่มที่มีความคิดรุนแรง  เช่น  Committee of Correspondence  ซึ่งเคลื่อนไหวคล้ายๆ  กับขบวนการสีเขียว  (Green movement)  ในเยอรมนี  กลุ่มเหล่านี้ปฏิเสธแนวทางเศรษฐกิจที่ดำรงอยู่  กลุ่ม  Earth  First และ Greenpeace  เป็นตัวอย่างของการเคลื่อนไหวที่ปฏิเสธ  “การเมืองในระบบ”  พวกเขาเน้น “การปฏิบัติการโดยตรง”  (direct action)  โดยการเข้าก่อกวนผู้ที่ทำลายสิ่งแวดล้อม

ซึ่งโลกทรรศน์ที่แตกต่างกันนั้นทำให้มีวิธีการต่างๆ   ในการดำเนินการทางสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน  สามารถที่จะสรุปได้ดังตาราง

 

โลกทรรศน์สิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน

accommodating technocentrism

cornucopian technocentrism

deep ecology ecocentrism 

communalist ecocentrism 

-มีการใช้มาตรการทางเศรษฐกิจที่เหมาะสม เช่น ภาษีสิ่งแวดล้อม

-มีการปรับปรุงทางกฎหมายเกี่ยวกับการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม

-มีการชดเชยสำหรับผู้ได้รับความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมและสังคม

-ยอมรับการตัดสินใจและเทคนิคใหม่ๆ  สำหรับทำโครงการที่มีความต้องการหลากหลายเข้ามาร่วมอภิปรายเพื่อแสวงหาข้อสรุปร่วมกัน

-ส่งเสริมให้มีการจัดการทางสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพ ทั้งระดับภาค  ท้องถิ่น และระดับชาติ

**โลกทรรศน์แนวนี้  เน้นการพัฒนาผสมผสานกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ  เสนอให้มีการใช้ธรรมชาติอย่างเหมาะสม  ธรรมชาติจะได้อยู่อย่างยั่งยืนเพื่อผลประโยชน์ของมนุษย์อย่างยาวนาน

-เชื่อว่ามนุษย์ย่อมสามารถที่จะแก้ปัญหาที่ยุ่งยากได้  ดังนั้นจึงมีการใช้ทรัพยากรอย่างเต็มที่โดยคิดว่าจะสามารถหาสิ่งอื่นมาทดแทนทรัพยากรเหล่านั้นได้  และเทคโนโลยีที่มนุษย์สร้างขึ้นย่อมสามารถแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้

-ยอมรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นเป้าหมายสูงสุด  จึงต้องวางนโยบายที่สนองตอบเต็มที่และใช้ทรัพยากรอย่างไม่จำกัดเพื่อสร้างความเจริญเติบโต

-เชื่อมั่นในวิชาการที่มนุษย์สร้างขึ้นว่าจะจัดการต่อปัญหาทางสิ่งแวดล้อมต่างๆ

-ไม่ยินยอมให้กลุ่มพลังสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการวางนโยบายและทำโครงการหรือประเมินผล

-เชื่อว่าหากมีความตั้งใจ  มีความเฉลียวฉลาด  มีทรัพยากรเพียงพอก็จะเอาชนะอุปสรรคทุกอย่างได้

*โลกทรรศน์แนวนี้เน้นการขูดรีดธรรมชาติแบบสุดขั้ว  ธรรมชาติดำรงอยู่เพื่อผลประโยชน์ของมนุษย์

-ไม่เชื่อในเรื่องเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ปฏิเสธบทบาทผู้เชี่ยวชาญ  ไม่ยอมรับอำนาจแบบรวมศูนย์ของรัฐ  รวมทั้งสถาบันที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

-การแสวงหาไขว่คว้าวัตถุแบบลุ่มหลงเป็นสิ่งที่ผิด  และมีความเชื่อว่าความเจริญทางเศรษฐกิจจะต้องให้ผลประโยชน์ทางด้านการสนองความต้องการพื้นฐานของผู้ยากไร้

-เน้นการอนุรักษ์ธรรมชาติไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของมนุษย์  แต่เป็นไปเพื่อธรรมชาติเอง

-กฎนิเวศวิทยาและกฎธรรมชาติ  กำหนดศีลธรรมของมนุษย์

-ให้ความสำคัญสูงแก่สิทธิทางชีวภาพ (Biorights)  พืชพรรณ  สัตว์ป่า  ธรรมชาติต่างก็มีสิทธิที่จะไม่ถูกรบกวนโดยมนุษย์

*โลกทรรศน์แนวนี้  เน้นการปกป้องรักษาธรรมชาติ  อนุรักษ์แบบไม่ต้องมีการพัฒนา  ธรรมชาติมีสิทธิที่จะดำรงอยู่เพื่อธรรมชาติเอง  ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของมนุษย์

-ไม่เชื่อในเรื่องเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ปฏิเสธบทบาทผู้เชี่ยวชาญ  ไม่ยอมรับอำนาจแบบรวมศูนย์ของรัฐ  รวมทั้งสถาบันที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

-การแสวงหาไขว่คว้าวัตถุแบบลุ่มหลงเป็นสิ่งที่ผิด  และมีความเชื่อว่าความเจริญทางเศรษฐกิจจะต้องให้ผลประโยชน์ทางด้านการสนองความต้องการพื้นฐานของผู้ยากไร้

-เน้นความมีขนาดเล็ก  (องค์กร  เทคโนโลยี)  และการสร้างถิ่นฐาน  ระบบการทำงานและการใช้เวลาว่าง  บนพื้นฐานของชุมชนท้องถิ่น

-ผสมผสานแนวความคิดเกี่ยวกับการทำงาน  และเวลาว่างอย่างเป็นระบบ  โดยผ่านกระบวนการปรับปรุงชุมชนและตัวบุคคล

-ให้ความสำคัญกับเรื่องการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาชุมชน  สิทธิชนพื้นเมือง การพัฒนาประชาธิปไตย

*โลกทรรศน์แนวนี้เน้นการปกป้องรักษาธรรมชาติ  มีการใช้ทรัพยากรน้อยที่สุด  เพื่อสนองความต้องการที่แท้จริงเท่านั้น  การดำรงชีวิตเรียบง่ายบนพื้นฐานของชุมชนท้องถิ่นเป็นสิ่งพึงปรารถนา

 

 

 

ซึ่งในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มาจากสำนักคิดของนักสิ่งแวดล้อมที่มีโลกทรรศน์การมองสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกันนั้นอาจจะแยกได้เป็น  2  กลุ่ม  คือ  เน้นการแก้ไขแบบรวมศูนย์  (centralized solution)  คือ  การให้อำนาจแก่รัฐอย่างมากในการจัดการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม  และแบบกระจายอำนาจ (decentralized solution)  คือการปฏิเสธและการต่อต้านอำนาจรัฐ  โดยให้องค์กรต่างๆ  ของสังคมมีบทบาทมากกว่า  เช่น  ธุรกิจเอกชน  หรือชุมชนท้องถิ่น  ซึ่งแสดงความสัมพันธ์ระหว่างวิธีการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีฐานคิดที่แตกต่างกัน  ได้ดังภาพ

 

ค่านิยม

 

 

แนวชุมชน

 

แนวปัจเจกบุคคล

เน้นมนุษย์

เน้นธรรมชาติ

รวมศูนย์

-นักสิ่งแวดล้อมแนวอำนาจนิยม

-นักปฏิรูปโครงสร้าง

-นักสิ่งแวดล้อมชุมชน

-นักนิเวศวิทยาแนวปฏิรูป

กระจายอำนาจ

-นักอนุรักษ์นิยมแนวตลาดเสรี

-นักนิเวศวิทยาแนวสังคม

-นักนิเวศวิทยาแนวลึก

 

จากภาพอธิบายได้ว่าโลกทรรศน์การมองสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกันของนักสิ่งแวดล้อมในแต่ละกลุ่มทำให้มีวิธีการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกันทั้งแบบการกระจายอำนาจและการรวมศูนย์ โดยมีค่านิยมที่เน้นปัจเจกบุคคลและเน้นความเป็นชุมชน  ทั้งนี้กลุ่มที่เน้นความเป็นชุมชนก็จะแยกเป็นชุมชนที่เน้นมนุษย์และชุมชนที่เน้นธรรมชาติ  โดยนักสิ่งแวดล้อมแต่ละกลุ่มก็มีวิธีการในการจัดการกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน  เช่น  นักสิ่งแวดล้อมแนวอำนาจนิยมและนักปฏิรูปโครงสร้าง  เห็นว่าปัจเจกบุคคลมีสิทธิ์ที่จะแสวงหาประโยชน์สูงสุดทางธุรกิจ  แต่อาจเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม  จึงต้องใช้อำนาจรัฐในการควบคุม  ทั้งนี้นักปฏิรูปโครงสร้างเน้นว่าต้องมีการปรับปรุงระบบเศรษฐกิจบางส่วน  นักสิ่งแวดล้อมชุมชน  เชื่อว่านักนิเวศวิทยาควรจะมีอำนาจทางการเมืองเพื่อใช้อำนาจปกป้องสิ่งแวดล้อมชุมชน   นักนิเวศวิทยาแนวปฏิรูป  มองปัญหาแบบรอบด้านทั้งระบบ  เน้นการพิทักษ์ธรรมชาติเพื่อธรรมชาติ  และให้ค่านิยมสูงแก่การดำรงชีวิตแบบชุมชนท้องถิ่น  นักอนุรักษ์นิยมแนวตลาดเสรี  เชื่อว่ากลไกตลาดเสรีจะสามารถแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ดีที่สุด  แต่ต้องมีการจัดการทางสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพ  นักนิเวศวิทยาแนวสังคม  กลุ่มนี้เชื่อว่าระบบทุนนิยมและกลไกการตลาดเป็นตัวการที่ก่อให้เกิดวิกฤติการณ์ทางสิ่งแวดล้อม  ในการแก้ปัญหาต้องมีการสร้างระบบสังคมใหม่หมด  ไม่มีรัฐ ไม่มีชนชั้น  และนักนิเวศวิทยาแนวลึก   เน้นการสร้างสังคมชีวภาพ  โดยไม่ให้ความสำคัญแก่การแสวงหาผลประโยชน์เพื่อมนุษย์  ธรรมชาติมีคุณค่าในตัวเองและมีสิทธิมีชีวิตอยู่ (biocentric ethic) ในชุมชนท้องถิ่นสีเขียว  มนุษย์จะมีความสัมพันธ์ทางจิตวิญญาณกับธรรมชาติอย่างล้ำลึก  มนุษย์  ธรรมชาติ  ฟ้า  ดิน  เป็นหนึ่งเดียวกัน  แนวคิดนี้มีความสอดคล้องกับนิเวศวิทยาของชาวพุทธมาก

อย่างไรก็ตามแม้ว่าโลกทรรศน์จะมีหลากหลายแต่สิ่งที่น่าจะเป็นกระแสหลักในปัจจุบันนี้คือความเชื่อที่บอกว่า  ระบบอุตสาหกรรมนิยมสามารถดำรงอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้  การขยายเศรษฐกิจย่อมมีได้  แต่ต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ  โลกทรรศน์กระแสหลักนี้ต้องการให้เห็นหนทางสำหรับการปฏิบัติเพื่อก่อให้เกิด  “ความยั่งยืนยาวนาน” (sustainability)  เพราะคงเป็นไม่ได้ที่โลกที่กลายเป็นทุนนิยมอย่างเต็มขั้นนั้นจะกลับไปดำเนินวิถีทางแบบนิเวศวิทยาแนวลึกที่มองชุมชน  เน้นความเป็นท้องถิ่น  โดยไม่ได้มองว่าในความเป็นจริงที่โลกาภิวัตน์เข้าครอบงำโลกนั้น  การจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดีคือความลงตัวระหว่างการใช้ประโยชน์และการดูแลรักษา  ฟื้นฟู  ทรัพยากร  น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่าการอนุรักษ์โดยไม่ใช้เลย

 

สรุป

                กระบวนการเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นเมื่อมนุษย์ในสังคมเริ่มตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมโลก ทั้งนี้โลกทรรศน์การมองสิ่งแวดล้อมยุคใหม่มีความแตกต่างจากแนวการมองแบบกระแสหลัก  ที่ให้ความสำคัญของอุตสาหกรรมมากกว่าการอนุรักษ์  ฟื้นฟูธรรมชาติ  แต่แม้ว่าโลกทรรศน์สมัยใหม่จะให้ความสำคัญกับธรรมชาติมากขึ้น  ก็ยังมีความแตกต่างหลากหลายกัน  ซึ่งแยกเป็นหลักๆ  2  แนวทาง  คือ Technocentrism  และ  Ecocentrism  ซึ่งมีการมองสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน  ทำให้มีแนวทางในการแก้ปัญหาและการจัดการกับทรัพยกรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน  อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะมีแนวทางการจัดการที่แตกต่างกันอย่างไร  โลกทรรศน์กระแสหลักยุคใหม่ที่ต้องผลักดันให้เกิดขึ้นก็น่าจะเป็นหนทางที่จะปฏิบัติการเพื่อก่อให้เกิดความยั่งยืนและเป็นธรรมทั้งต่อระบบอุตสาหกรรมเองและต่อความเป็นชุมชนท้องถิ่น  และทั้งต่อคนรุ่นปัจจุบันและคนรุ่นอนาคต

 

 


[1] สาขาสังคมวิทยาการพัฒนา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

หมายเลขบันทึก: 358064เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2010 19:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 21:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท