ปัญหาเชิงนิเวศ (Ecological Problems) กับการแก้ไขเชิงพัฒนา


ปัญหาเชิงนิเวศ (Ecological Problems)

ปัญหาเชิงนิเวศ (Ecological Problems) กับการแก้ไขเชิงพัฒนา

เย็นจิตร ถิ่นขาม[1]

 

การพัฒนาทางสังคมของมนุษย์ในหลายระดับนั้น  ขึ้นอยู่กับจำนวนของทรัพยากรส่วนเกินที่จะสร้างขึ้นมาเพื่อมนุษย์  จำนวนประชารมนุษย์จะเพิ่มขึ้นได้เพียงเมื่อมีทรัพยากรส่วนเกินอยู่เท่านั้น  ตลาด  อันหมายถึงโครงสร้างการวางระเบียบทรัพยารและการบริโภคของมนุษย์นั้น  เป็นที่ทราบกันในเกือบทุกวัฒนธรรมมนุษย์ว่า  ตลาดเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์และการเจริญเติบโตทางสังคม  แต่อย่างไรก็ตาม  ส่วนเกินที่มาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจและโครงสร้างทางตลาด  ไม่จำเป็นต้องมีปริมาณมากมายที่สุดเท่าที่จะเป็นได้  แต่ให้มีปริมาณเพียงพอที่จะรองรับความต้องการของคนรุ่นปัจจุบันเพื่อเป็นการสำรองทรัพยากรส่วนหนึ่งสำหรับรุ่นต่อไปในอนาคต

ระบบที่นำมาใช้สะสมทรัพยากรส่วนเกินในยุคปัจจุบันได้รับการอธิบายโดย  Adam Smith  ในกระบวนทัศน์ของ “เศรษฐกิจตลาดเสรี”  หรือได้รับการกล่าวว่า “เศรษฐกิจแบบสะสมทุน” ในปี  พ.ศ.  2319  ในงานเขียนชื่อ “The Wealth of Nations”  ว่าได้แก่

“..ความคิดที่บุคคลมีจุดมุ่งหมายเพียงแค่กอบโกยเพื่อตนเอง  จะถูกชักจูงโดยมือที่มองไม่เห็นให้ส่งเสริมผลประโยชน์ส่วนร่วม”

ซึ่งนั้นก็คือ  การสะสมทุนของปัจเจกชนนำไปสู่การเพิ่มผลประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของปัจเจกชนนั้นยังคงใช้ได้ดีในสบายตาของกลุ่มผู้สนับสนุนเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมแนวใหม่  อย่างไรก็ตามขีดจำกัดของทรัพยากรในโลกไร้พรมแดนได้เปลี่ยนแปลงแนวความคิดที่ว่า เศรษฐกิจแบบสะสมทุนจะทำให้ผลปรโยชน์สาธารณะกลายเป็นสิ่งที่

-   คุกคามความอยู่รอดของมนุษย์ชาติส่วนใหญ่  เนื่องจากการสะสมทุนเป็นการป้องกันการกระจายทรัพยากรอย่างเสมอภาคตามความต้องการของเศรษฐกิจ  สังคมและสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่น

-   หากปราศจากการเปลี่ยนแปลงจากแนวคิดเดิมที่รวมเอาความจำกัดของทรัพยากรเข้ามาในกระบวนทัศน์ของเศรษฐกิจแบบทุนนิยมแล้ว  ตลาดเสรีและกระบวนทัศน์ตลาดเสรี  จะเป็นปัจจัยข้อจำกัดที่มีผลต่อการนำไปสู่ความยั่งยืน

จากที่กล่าวมาจะเห็นว่าสาเหตุหลักของปัญหาสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศเสื่อมโทรมนั้นมาจาก  “โครงสร้างสังคม”  ที่การพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจที่เน้นการผลิตเพื่อการบริโภค  ทำให้เกิดวัฒนธรรม  “บริโภคนิยม”  การบริโภคเกินความจำเป็นทำให้ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายไป  ในขณะที่ไม่มีการสร้างขึ้นมาทดแทน  หรือบางส่วนไม่สามารถจะสร้างขึ้นมาทดแทนได้  เช่น  แร่ธาตุ  น้ำมัน  เป็นต้น   นอกจากนั้นคนในสังคมก็ไม่ได้อยู่อย่างเอื้ออาทรต่อชีวิตและธรรมชาติเหมือนเดิม  เพราะวัฒนธรรมบริโภคนิยม  ที่ทำให้ปัจเจกชนต้องเห็นความสำคัญของประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนร่วม  และเมื่อเศรษฐกิจและวัฒนธรรมโลกที่เป็นระบบที่มีความเชื่อมโยงกันอย่างเช่นในปัจจุบัน  ดังนั้นปัญหาระบบนิเวศที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งจึงเป็นเรื่องต่อเนื่องมาจากความเชื่อมโยงกันดังกล่าว  ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เราพบเห็นในประเทศกำลังพัฒนาก็เป็นผลผลิตที่มาจากความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับโลกอุตสาหกรรมที่ร่ำรวย  เนื่องจากลักษณะของสังคมอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ระบบนิเวศเกิดการเปลี่ยนแปลง  คือ

1.     โลกอุตสาหกรรมที่ร่ำรวยถูกครอบงำโดยอุดมการณ์ที่เรียกว่า  อุดมการณ์ของความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (Ideology of economic growth)  ซึ่งเน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการบริโภค  ยิ่งบริโภคเศรษฐกิจยิ่งเจริญ  แต่อุดมการณ์นี้กระตุ้นให้มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและการบริโภคอย่างฟุ่มเฟือย  เพื่อสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง  เมื่อเป็นเช่นนี้  แต่ละคนในสังคมอุตสาหกรรมจะมีปริมาณการใช้ทรัพยากรของโลกมากกว่าแต่ละคนในประเทศกำลังพัฒนา

2.   ในการสนองความต้องการทางเศรษฐกิจของโลกอุตสาหกรรม  ส่วนหนึ่งจะมีการใช้ทรัพยากรของตนเอง  ซึ่งก็ไม่เพียงพอ  จำเป็นที่จะต้องดึงเอาทรัพยากรของโลกที่ยากจนมาใช้ด้วยเป็นเพราะโลกตะวันตกนำไปใช้เพื่อรักษาสถานภาพการบริโภคที่สูงของตน  และยังมีการใช้อย่างเผาผลาญอีกด้วย  เราเรียกว่า  การบริโภคแบบยั่งยืนของโลกตะวันตก  บนพื้นฐานความไม่ยั่งยืนทางธรรมชาติของโลกกำลังพัฒนา  ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดจึงมีส่วนสร้างความยากจนให้แก่โลก  ขณะเดียวกันก็ไม่มีการสนใจในปัญหาความเสื่อมโทรมทางทรัพยากรธรรมชาติของโลกที่ยากจน  ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าโลกอุตสาหกรรมยังคงยึดมั่นอุดมการณ์ “ความเจริญเติบโต”  และ “บริโภคนิยม”  อย่างเหนียวแน่น

3.  สังคมอุตสาหกรรมในอดีตที่ผ่านมาไม่นิยมการ recycle  ของเสียหรือของใช้แล้ว  ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน  การจำกัดของเสียยังเป็นการลงทุนที่ใช้เงินมากด้วย  ในระยะหลัง  รัฐบาลเริ่มใช้กระบวนการควบคุมเข้มงวดขึ้นจึงได้มีการตั้งโรงงานของบริษัทจากโลกตะวันตกในประเทศที่กำลังพัฒนามากขึ้น  ประเทศเหล่านี้ก็เลยกลายเป็นสวรรค์ของการสร้างมลภาวะ  เราเรียกว่า  มีการส่งมลภาวะเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญชนิดหนึ่ง  ด้วยเหตุนี้จึงเป็นการช่วยให้มลภาวะในโลกที่ยากจนมีแนวโน้มสูงขึ้น

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการเอาเปรียบทางสังคม  การเมืองและเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องที่เกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา  มีส่วนทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนกว้างขึ้น  รวมทั้งขยายวงจรอุบาทว์อันเริ่มจากความยากจน  การศึกษาคุณภาพต่ำ  การพัฒนาบุคลากรที่ด้อยประสิทธิภาพ  สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรสาธารณะของคนจนเสื่อมสภาพลงไปเรื่อยๆ  มีการแย่งชิงทรัพยากรจากแต่ละกลุ่มซึ่งเป็นผลจากทัศนคติต่อการบริโภคเลียนแบบตะวันตกที่มาพร้อมกับการพัฒนาที่ยั่งยืน  คนจนถูกผลักดันให้อยู่ชายขอบ  ด้วยเหตุนี้จึงมีมิติทางมานุษยวิทยาและทางวัฒนธรรมที่ตกอยู่ภายใต้การคืบคลานเข้ามาแบบเชิงรุกของวิธีคิดและทัศนคติของระบบตลาดเสรีในวัฒนธรรมบริโภคนิยมเพื่อทำความเข้าใจปัญหาทางนิเวศที่เกิดขึ้นจากโครงสร้างสังคมที่เปลี่ยนแปลง  นำมาซึ่งระบบวัฒนธรรมและระบบบุคลิคภาพของคนในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป  ซึ่งระบบตลาดเสรีนั้นส่งผลในการเปลี่ยนแปลงบทบาทในสังคมและความรับผิดชอบของมนุษยต่อสังคมลดลง  ข้อขัดแย้งต่างๆ  ในสังคมเกิดขึ้นชัดเจนทุกขณะหากความต้องการของปัจเจกไม่ได้รับการตอบสนองอย่างพอเพียง

ระบบความสัมพันธ์ระหว่างสังคม  วัฒนธรรม  และบุคคลิกภาพต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม  สามารถที่จะอธิบายเชื่อมโยงความสัมพันธ์ได้ด้วยการวิเคราะห์ทางนิเวศวิทยาวัฒนธรรม  (cultural ecology)  ชี้ให้เห็นว่า   ในชุมชนดั้งเดิมนั้นมนุษย์และธรรมชาติมีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้นลึกซึ้ง  และผูกพันกันมาช้านาน  คน  พืชพรรณ  สัตว์ป่า  สิ่งแวดล้อมในชนบท  ล้วนดำรงอยู่อย่างสันติ  เป็นส่วนหนึ่งของระบบเดียวัน  อยู่ภายใต้กฎธรรมชาติเดียวกัน  และขึ้นอยู่กับวัฎจักรชีวิตเดียวกัน  ซึ่งเริ่มจากเกิดแก่เจ็บตายแล้วเกิดใหม่  แต่เมื่อยุคสมัยใหม่เข้ามาเยือนพร้อมๆ  กับการขยายตัวของระบบการเงินและการค้า  ความสัมพันธ์อย่างเป็นเอกภาพของชีวิต  ทุกสิ่งที่กล่าวมานั้นถูกสั่นคลอนลงอย่างน่าวิตก  กฎเกณฑ์ทางวัฒนธรรมที่ควบคุมการอนุรักษ์ธรรมชาติใช้การไม่ได้  ความต้องการเงินตราและการแสวงหากำไร  กระตุ้นให้มีการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้นทุกทีๆ  การล่มสลายของวัฒนธรรมนำไปสู่การล่มสลายของธรรมชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ซึ่งหากจะสรุปความเชื่อมโยงสัมพันธ์ระหว่างสังคม  วัฒนธรรม  และบุคคลิกภาพกับปัญหาเชิงนิเวศและสิ่งแวดล้อม  สามารถที่จะสรุปได้ดังแผนภาพ

 ความเชื่อมโยงสัมพันธ์ระหว่างสังคม  วัฒนธรรม  และบุคคลิกภาพกับปัญหาเชิงนิเวศและสิ่งแวดล้อม

                จากภาพอธิบายได้ว่าปัญหาระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นภายใต้ความเชื่อมโยงของระบบการผลิตแบบทุนนิยมที่เน้นความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ  และเทคโนโลยีขึ้นสูง  ซึ่งโครงสร้างสังคมแบบนี้ทำให้เกิดวัฒนธรรมบริโภคนิยมที่เป็นอันตรายต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยิ่ง  เพราะมีการบริโภคที่เกินความจำเป็นจนต้องเบียดบังทรัพยกรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดังกล่าว  ทั้งนี้มนุษย์ภายใต้สังคมและวัฒนธรรมดังกล่าวก็จะกลายเป็นผู้มีบุคคลิกภาพของการแข่งขันการเอารัดเอาเปรียบ  และการแย่งชิงทรัพยากร  ขาดการตระหนักถึงความมีคุณค่าของสิ่งแวดล้อมทั้งต่อรุ่นตนเองและคนรุ่นอนาคต

 

แนวคิดด้านสังคม  วัฒนธรรมและบุคลิกภาพในการแก้ไขระบบนิเวศ 

                เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริงของสังคมวัฒนธรรมที่หลากหลาย  วัฒนธรรมควรเป็นเป้าหมายของการพัฒนามากกว่าคนเฉยๆ  เพราะกลุ่มคนต่างๆ  ในสังคมปัจจุบันต่างกันมากมายในหลายด้าน  ด้วยการส่งเสริมให้เกิดการเคารพสิทธิของส่วนต่างๆ  ในสังคม  และธรรมชาติแวดล้อมมากขึ้น  ซึ่งหมายถึงการพัฒนาไปสู่ความเป็นธรรมและความยั่งยืนของทั้งสังคมและธรรมชาตินั่นเอง 

ในเชิงรูปธรรมของการพัฒนาในมิติวัฒนธรรมก็คือ  รัฐควรมีบทบาทในการสร้างหลักประกันให้ผู้คนต่างฐานะทางเศรษฐกิจ  ต่างวิถีชีวิต  ต่างระบบการผลิต  และแม้ต่างชาติพันธุ์ณและเพศ  สามารถอยู่ร่วมกันและมีความสัมพันธ์ในพหุสังคมได้อย่างเสมอภาค  ไม่ใช่  การพัฒนาแต่เศรษฐกิจในภาคธุรกิจแล้วลืมภาคประชาชนและระบบเศรษฐกิจย่อยๆ  ในชุมชน  แต่ควรเคารพสิทธิของระบบเศรษฐกิจ  การเมือง  และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของทุกส่วนในสังคม  เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและยั่งยืน  ซึ่งหมายถึงการยอมรับให้มีทางเลือกในการผลิตทางเศรษฐกิจ  ระบบการเมือง  และระบบธรรมชาติที่แตกต่างหลากหลายด้วย  นั่นคือ  กฎหมายนโยบายต่างๆ  ของรัฐในการพัฒนาที่จะต้องเคารพทั้งวัฒนธรรมและธรรมชาติแวดล้อมไปพร้อมๆ  กัน  เพื่อให้กลุ่มคนต่างๆ  มีทางเลือกอย่างแท้จริง

ทั้งนี้มิติสิ่งแวดล้อม (หรือระบบนิเวศน์)  ที่ตั้งอยู่บนมุมมองทางวัฒนธรรม  จะต้องมีแนวคิดที่เอื้อและสนับสนุนความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมโดยตรง  ความเชื่อโดยทั่วไปว่าพฤติกรรมของคนๆ  หนึ่ง  จะต้องมีความเคารพและไม่ได้ถือแค่ความต้องการปัจจุบันของตนเป็นหลักเท่านั้นแต่ต้องคิดไปถึงคนรุ่นต่อไปด้วย  ทั้งนี้รวมถึงความเคารพและความพยายามที่จะปกป้องค้ำจุนชีวิตต่างๆ  รวมทั้งระบบชีวภาพต่างๆ  เช่น  การกำหนดให้มีการรักษาสิ่งแวดล้อมในชุมชน  เป็นต้น  ดังนั้นการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติและระบบนิเวศอย่างยั่งยืน  รวมทั้งการสร้างรูปแบบของการปฏิบัติมาตรการและกฎหมาย  รวมถึงเครื่องมือที่จำเป็นต่อชุมชนเพื่อนำไปสู่ความมั่นใจในความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม  กลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบวัฒนธรรมและบุคคลิกภาพ  เป็นการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน  ยกตัวอย่าง  เช่น  ในชุมชนไต[2]  บางกลุ่มในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ได้ตั้งระเบียบในการแบ่งปันฟืนในแต่ละวันไว้  โดยให้เอาฟืน  ที่เก็บมาได้มากองรวมกันไว้ตรงทางเข้าหมู่บ้านแล้วจึงแบ่งออกเป็นกองๆ  ให้แต่ละครอบครัวตามจำนวนของคนที่ต้องการจะใช้ประโยชน์ในครั้งนั้นๆ

ดังนั้นเพื่อที่จะให้หลุดพ้นจากวิกฤตการณ์ของการพัฒนาและสิ่งแวดล้อมจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้มีการเปลี่ยนระบบคิดและวิธีคิดอย่างถอนรากถอนโคน  นั่นคือ  เดินออกจาก “ความล้มเหลว”  เพื่อที่จะหลุดพ้นจากวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อมจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้มีการเปลี่ยนระบบคิดแบบถอนรากถอนโคน  นั่นคือ  เดินออกจาก “  ความล้มเหลวทางพาราไดม์” (Paragigm failure)  ไปสู่ “  การปฏิวัติทางพาราไดม์”  ที่ให้ความหมายกับความสัมพันธ์ระหว่างระบบนิเวศกับระบบเศรษฐกิจ  สังคม  และวัฒนธรรมรวมทั้งวิธีการมองโลกและธรรมชาติ  เราเรียกกระบวนการนี้ว่า “การพัฒนาจริยธรรมทางสิ่งแวดล้อม” (environmental ethics)  ถ้าไม่มีความเข้าใจในสิ่งเหล่านี้  นอกจากจะไม่ถึง “ความยั่งยืน”  แล้วยังต้องพบกับความหายนะทางสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศอย่างไม่มีวันกลับคืนสู่สภาพปกติได้อีกเลย  ตามหลักเศรษฐศาสตร์ผู้สร้างมลภาวะต้องเป็นผู้จ่าย  เพราะมีการทำลายสิ่งแวดล้อม  แต่นอกจากนี้แล้วเขาควรจะต้องจ่ายเพิ่มอีกเพราะความไม่เข้าใจในเรื่องสิ่งแวดล้อม

ประเด็นของการพัฒนาบุคคลิกภาพนั้นได้เสนอ  “ขบวนการประชาสังคม”  ซึ่งการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นจะเรียกได้ว่ามีความยั่งยืนเมื่อพยายามให้เกิด 2  สิ่งเข้าด้วยกัน  คือ  ความยุติธรรมและความถูกต้องทางสังคม  อันเป็นพื้นฐานการพัฒนาปัจเจกบุคคล  ซึ่งกำหนดให้สิทธิทางการเมืองเป็นตัวชี้วัดคุณภาพชีวิต  สิ่งที่สองได้แก่  ความยุติธรรมและความถูกต้องทางเศรษฐกิจ  ซึ่งเสมือนพื้นฐานที่จะรับรองการอยู่ดีกินดีของปัจเจกบุคคลและมีสิทธิทางเศรษฐกิจเป็นตัวชี้วัดคุณภาพชีวิตด้วยเช่นกัน  เมื่อใดก็ตามที่สิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ  ทางการเมืองและเศรษฐกิจของปัจเจกบุคคลได้มีการสร้างขึ้นและเกิดการยอมรับ  รวมทั้งมีกลไกของระบวนการตรวจสอบผ่านทางตัวชี้วัดเชิงคุณภาพในระดับท้องถิ่นแล้ว  ไม่ช้าก็เร็ว  ประเด็นการรักษาสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศก็จะกลายเป็นความจำเป็นพื้นฐานในการขยายการพัฒนา  และจากการที่ปัจเจกบุคคลมีความสนใจที่จะรักษาไว้ซึ่งพื้นฐานของสิทธิทางเศรษฐกิจและทางการเมือง  อันได้แก่สิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นของเขาอยู่แล้วอย่างน้อยก็จะเกิดการพัฒนานิวเศที่ยั่งยืน  และเมื่อนั้นสิทธิ  ความชอบธรรมต่างๆ  ทั้งด้านการเมือง  เศรษฐกิจ  และนิเวศวิทยาสิ่งแวดล้อมก็จะกลายเป็นสิ่งเดียวกัน

 สรุป 

ปัญหาเชิงนิเวศมีความเกี่ยวข้องกับทั้งวัฒนธรรม  ระบบสังคมและระบบบุคคลิกภาพของคนในสังคม  เนื่องจากระบบสังคมที่ได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นระบบการผลิตแบบทุนนิยม  ลัทธิการบริโภคที่เน้นความสำคัญของเศรษฐกิจ  และความเจริญเติบโตของเทคโนโลยี  ขูดรีดและใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเต็มที่  ทำให้ระบบวัฒนธรรมเดิมที่เน้นความเป็นชุมชนและการเอื้ออาทรต่อเพื่อนมนุษย์และธรรมชาติแวดล้อมนั้นเริ่มเลือนหาย  ความเอื้ออาทรของผู้คนในสังคมลดลง  เนื่องจากแนวคิดของการแข่งขันทางเศรษฐกิจและการเป็นที่หนึ่ง  บุคลิคภาพความเป็นนักธุรกิจครอบงำแนวความคิดที่เน้นการอยู่ร่วมกันแบบพี่น้องและสังคมเห่งการช่วยเหลือได้สิ้นสุดลง  ผู้คนต่างเร่งรีบและขวนขวายผลประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่ให้ได้มากที่สุด  นำมาซึ่งปัญหาความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ  และในที่สุดปัญหาเหล่านั้นก็ส่งผลกระทบกับสังคมมนุษย์โดยตรง  เพราะมนุษย์นั้นเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  แม้ว่ามนุษย์จะพยายามหาเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศก็ไม่อาจบรรลุผล  ตราบเท่าที่มนุษย์จะต้องเปลี่ยนระบบคิด  วัฒนธรรมการเอารัดเอาเปรียบธรรมชาติแวดล้อม  ให้เป็นทางสายกลางระหว่าง “เทคโนโลยี”  และ “สิ่งแวดล้อม”



[1] สาขาสังคมวิทยาการพัฒนา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

[2] เผ่าไต  เป็นชาติพันธุ์ที่พบได้ทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออเฉียงใต้ในส่วนที่อยู่บนแผ่นดินใหญ่  ซึ่งมีวัฒนธรรมบางส่วนร่วมคล้ายกับของประเทศไทย

หมายเลขบันทึก: 358059เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2010 18:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท