พลวัตของชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


พลวัตของชุมชน การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

พลวัตของชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

By เย็นจิตร ถิ่นขาม (Yenjit Thinkham)

Book Review from--

อานันท์ กาญจนพันธุ์ (บรรณาธิการ). 2543.พลวัตของชุมชนในการจัดการทรัพยากร : กระบวนทัศน์และนโยบาย. กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

อานันท์ กาญจนพันธุ์ (บรรณาธิการ). 2543.พลวัตของชุมชนในการจัดการทรัพยากร : สถานการณ์ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

 

                การจัดการทรัพยากรโดยชุมชนเป็นแนวทางหนึ่งที่จะทำให้การแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้นได้ลดความขัดแย้งลง  เปิดโอกาสให้ชุมชนได้เข้ามีส่วนร่วมและใช้สิทธิในการจัดการทรัพยากรในท้องถิ่นของตนเอง  งานเขียน  2  ชิ้นที่แสดงได้เสนอเรื่องราวของพลวัตของชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  คือ 1. พลวัตของชุมชนในการจัดการทรัพยากร : กระบวนทัศน์และนโยบาย และ 2.พลวัตของชุมชนในการจัดการทรัพยากร : สถานการณ์ในประเทศไทย โดย อานันท์   กาญจนพันธุ์ (บรรณาธิการ)  ซึ่งทั้งสองเล่มได้แสดงให้เห็นถึงสถานการณ์ที่สังคมไทยที่ผ่านการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในทศวรรษที่ผ่านมา  แต่แล้วก็ต้องเผชิญกับสภาวะวิกฤติการณ์การเงินอย่างรุนแรงในปัจจุบัน  ส่วนหนึ่งนั้นมาจากการผลาญทรัพยากรธรรมชาติซึ่งถือเป็นการทำลายทุนทางสังคมไปอย่างมากมาย  จนสร้างมลภาวะร้ายแรงในสภาพแวดล้อม  ให้เป็นต้นตอของปัญหาต่างๆ  อย่างต่อเนื่อง  ทั้งทางเศรษฐกิจ  สังคม  โดยเฉพาะปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรตลอดมา

                ด้วยเหตุนี้  จึงเกิดคำถามว่าเราพัฒนามาถูกทางแล้วหรือ  เพราะทิศทางการพัฒนาที่ผ่านมานั้น  นอกจากจะไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนแล้ว  ยังไม่ใยดีต่อความเป็นธรรมในสังคมเท่าที่ควร  ซ้ำร้ายยิ่งกว่านั้นคือ  ชาวบ้านยากจนผู้เสียเปรียบตลอดมาในกระบวนการพัฒนาดังกล่าว  มักกลับถูกมองว่าเป็นผู้ทำลายทรัพยากรเสียอีก  ขณะที่ผู้ได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและการพัฒนาทั้งหลาย  ยิ่งผลักดันและเรียกร้องชาวบ้านในชนบท  เสียสละทรัพยากรของพวกเขามากขึ้นอีก รวมทั้งทำหน้าที่อนุรักษ์ธรรมชาติด้วย

                ทั้งนี้งานเขียนแต่ละเล่มมีรายละเอียด  ดังนี้

 1. พลวัตของชุมชนในการจัดการทรัพยากร : กระบวนทัศน์และนโยบาย.2543. อานันท์ กาญจนพันธุ์ (บรรณาธิการ). กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

-สถานภาพการวิจัย ชุมชนกับการจัดการ : บทสังเคราะห์ผลการศึกษา

แนวทางในการศึกษาชุมชนกับการจัดการทรัพยากร  4  แนวทาง  คือ  1. แนวทางการศึกษาการจัดการทรัพยากรในเชิงอรรถประโยชน์  ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความคิดเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมธรรมชาติ  เน้นความเข้าใจระบบนิเวศแบบวิทยาศาสตร์  มองข้ามความหมายของธรรมชาติและจิตใจ  ด้านวัฒนธรรมและด้านสังคม  และความเป็นทรัพยากรเกิดจากพื้นฐานของความต้องการของมนุษย์  ที่มีความสามารถแสวงหาผลประโยชน์และควบคุมธรรมชาติทางเทคโนโลยี  เชื่อมั่นในกลไกตลาดและระบบกรรมสิทธิ์เอกชนอย่างมาก  2. แนวทางการศึกษาการจัดการทรัพยากรในเชิงนิเวศวัฒนธรรม  มีพื้นฐานวิธีคิดแบบบูรณาการอย่างเป็นองค์รวม  พยายามทำความเข้าใจสภาพความเป็นจริง  ในการอยู่ร่วมกันของระบบสังคมและธรรมชาติ  ซึ่งถือว่ามีปฏิสัมพันธ์กันอย่างสลับซับซ้อนภายใต้เงื่อนไขของพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งในระบบนิเวศที่แตกต่างหลากหลาย  3. แนวทางการศึกษาการจัดการทรัพยากรในเชิงสถาบัน  แนวทางการศึกษานี้ให้ความสำคัญกับเงื่อนไขด้านความสัมพันธ์เชิงสถาบัน  ที่ไม่ได้ผูกติดกับชุมชน  และ 4. แนวทางการศึกษาการจัดการทรัพยากรในเชิงความสัมพันธ์ของอำนาจ  แนวทางการศึกษานี้มีสมมติฐานว่า  สาเหตุเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคม  ที่มีความขัดแย้งและความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงทรัพยากร  ทำให้ด้านหนึ่งเกิดการกีดกันกลุ่มชนบางกลุ่ม  ขณะที่อีกด้านหนค่งกลับเปิดโอกาสให้กลุ่มชนอีกบางกลุ่มที่มีอำนาจแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากร

ประเด็นปัญหาสำคัญในการจัดการทรัพยากรของชุมชน  ได้แก่  สิทธิในการเข้าถึงทรัพยากร  ความขัดแย้งเชิงสถาบัน ความขัดแย้งในการใช้ทรัพยากร และปัญหาของการมีส่วนร่วมในการจัดการ

-สิทธิในการเข้าถึงทรัพยากร : สถานภาพการศึกษาเกี่ยวกับชีวิต

ความขัดแย้งในการจัดการทรัพยากรส่วนใหญ่จะเกิดจากการเข้าใจความหมายของสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรต่างกัน  ด้านหนึ่งจะมีวิธีคิดเกี่ยวกับสิทธิ  ที่ผูกติดกับตัวทรัพยากรและพื้นที่  บนพื้นฐานของความเป็นเจ้าของ  คือที่รัฐหรือปัจเจกชนให้ความสำคัญกับการจัดการเชิงเดี่ยว  และใช้วิธีการเดียวกันกับทรัพยากรทุกชนิด  ขณะที่อีกด้านหนึ่งนั้นจะมีวิธีคิดเกี่ยวกับสิทธิในแง่การเข้าถึงทรัพยากร  ซึ่งอาจะเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอตามบริบทระบบนิเวศ  วัฒนธรรม  สังคม  การเมือง  เศรษฐกิจที่มีความหลากหลายซับซ้อน  ดังนั้นจึงเน้นการจัดการเชิงซ้อนและการมีส่วนร่วมในการจัดการ เพื่อเป้าหมายความเป็นธรรมในสังคม  และการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน

-รัฐ ชุมชน และนโยบายการจัดการทรัพยากร : บทสำรวจองค์ความรู้

ประเด็นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างนโยบายรัฐกับปัญหาการจัดการทรัพยากรชุมชน  คือ  ระบบกรรสิทธิ์ที่ลิดรอนสิทธิชุมชนในการจัดการและดูแลรักษาทรัพยารส่วนรวมของชุมชน  ความขัดแย้งระหว่างกฎหมายและประเพณีที่ไม่สอดคล้องกัน   ระบบการจัดการแบบรวมศูนย์   ที่อำนาจใจการบริหารการตัดสินใจอยู่ที่คนเพียงคนหรือกลุ่มเดียว   ความลักลั่นขัดแย้งของนโยบายรัฐ  ซึ่งรัฐเองจำเป็นต้องทบทวนนโยบายการัดการทรัพยากรทั้งป่าไม้  ดิน  น้ำ  การเกษตร เป็นต้น

-โครงสร้างระบบเศรษฐกิจและการจัดการทรัพยากร : บทสำรวจสถานภาพความรู้

กลุ่มงานศึกษาการจัดการทรัพยากรหรือกระบวนทัศน์ที่เกี่ยวเนื่องกับระบบเศรษฐกิจ  ซึ่งแบ่งออกเป็น  3  กลุ่ม  คือ 

1.กลุ่มที่ใช้แนวการศึกษาอิงโครงสร้างเศรษฐกิจระบบตลาด สิ่งที่เหมือนกันของงานศึกษากลุ่มนื้อ การมองความจำเริญเติบโตและความทันสมัย (Growth and Modernization)  ด้วยท่าทีที่เป็นบวก ทั้งนี้อาจแบ่งนักวิชาการในกลุ่มศกษาอ้างอิงระบบนี้ได้เป็น  3  กลุ่มย่อย  คือ  กลุ่มเศรษฐศาสตร์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม  ซึ่งศึกษาใน 2 ยุค  คือยุคที่สนใจทรัพยากรด้านเป็นปัจจัยการผลิต และยุคสนใจสิ่งแวดล้อมในเชิงของการอนุรักษ์และการใช้  กลุ่มเศรษฐศาสตร์สถาบัน/เศรษฐศาสตร์นิเวศ   กลุ่มนี้จะพิจารณารายระเอียดโครงสร้างสถาบัน  ซึ่งสถาบันหมายถึงวัฒนธรรม  ศาสนา  ความเชื่อของผู้คน  พร้อมทั้งองค์กรที่เป็นทางการต่างๆ  ด้วย  มีการพิจารณาประเด็นการจัดการที่สูงกว่าระดับปัจเจกชน  และกลุ่มสาขาวิชาอื่น  มีการศึกษาการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการ  กลยุทธ์การปรับตัวของชาวบ้าน  และผลกระทบของการจัดการทรัพยากร 

2. กลุ่มที่ใช้แนวการศึกษาวิพากษ์แต่ไม่ปฏิเสธโครงสร้างเศรษฐกิจระบบตลาด  ซึ่งอาจเรียกว่ากลุ่มแนวเศรษฐศาสตร์การเมือง (Political Ecology) ซึ่งกลุ่มนี้จะวิพากษ์การทำงานภายใต้กลไกตลาด  ซึ่งแบ่งเป็น  กลุ่มวัฒนธรรมชุมชน ที่เสนอว่าวัฒนธรรมเป็นพื้นฐานของการพัฒนา ดังนั้นการพัฒนาต้องเป็นไปบนฐานวัฒนธรรม  และกลุ่มนิเวศวิทยาการเมือง มีลักษณะของการทำงานมีมิติการเมือง ประวัติศาสตร์  เศรษฐกิจและสังคมพร้อมๆ  กับการวิพากษ์รัฐ

3. กลุ่มที่ใช้แนวการศึกษา ปฏิเสธโครงสร้างระบบเศรษฐกิจตลาด  ในกลุ่มนี้วิพากษ์โครงสร้างอย่างรุนแรง  และปฏิเสธแนวคิด “กระแสหลัก” ที่เป็นพื้นฐานของระบบทุนนิยม

-สถานภาพความรู้เกี่ยวกับชุมชนและแบบแผนการจัดการทรัพยากร

แบบแผนการจัดการทรัพยากร  ไม่ว่าจะเป็นการริเริ่มโดยชุมชน  เอกชนหรือรัฐก็ตาม  เกิดจากการกระทำที่ยึดวิธีคิด  ในการวิเคราะห์และการจัดการทรัพยากรที่แตกต่างกัน  แบบแผนการจัดการจึงเป็นรากเหง้าของความขัดแย้งต่างๆ

-ชุมชนกับการจัดการทรัพยากรป่าไม้ : กฎหมายและประเพณีท้องถิ่น

รากฐานความคิดของการจัดการทรัพยากรในปัจจุบันมีรากฐานความคิดทางกฎหมายในเรื่องของความเป็นปัจเจกและของรัฐ  ตามแบบระบบกฎหมายของตะวันกเป็นหลัก  องค์ความรู้ที่ผ่านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยชุมชนนั้นมีน้อยมาก  ทั้งนี้ระยะหลังเริ่มมีการเคลื่อนไหวมากข้นของกลุ่มที่มีแนวความคิดทางกฎหมายในการจัดการทรัพยากร  ได้แก่  แนวคิดเดิมายใต้อิทธิพลของระบบกฎหมายเอกชน  แนวคิดทางประวัติศาสตร์ในทางกฎหมาย  แนวคิดทางกฎหมายสิ่งแวดล้อม  แนวคิดในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายปกครอง  แนวความคิดในการพัฒนาหลักกฎหมายเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภ  และแนวความคิดเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน  โดยเฉพาะสิทธิชนพื้นเมือง

-กฎหมายกับการจัดการทรัพยากรน้ำและชายฝั่งทะเล

ยังมีปัญหาในการจัดการทรัพยากรน้ำและชายฝั่งทะเล ทั้งในแง่กฎหมาย  การบังคับใช้กฎหมายและการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่รับผิดชอบของรัฐ   ซึ่งกรณีการเกิดความขัดแย้งในการแย่งชิงทรัพยากรทำให้เกิดแนวคิดในการออกกฎหมายเพื่อให้สิทธิแก่ชุมชนในการจัดการและใช้ทรัพยากรชายฝั่งทะเล ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการทรัพยากร

  1. พลวัตของชุมชนในการจัดการทรัพยากร : สถานการณ์ในประเทศไทย2543. อานันท์ กาญจนพันธุ์ (บรรณาธิการ). กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

-ชุมชนกับการจัดการทรัพยากร : ศักยภาพและการต่อสู้ของท้องถิ่น

ศักยภาพชุมชน  ได้พัฒนามาสู่จุดที่ไม่ใช่เป็นการศึกษาภาพนิ่ง  หรือไม่ใช่เป็นการศึกษาชุมชนในตัวของมันเอง  แต่เป็นการศึกษา  “อำนาจ”  หรือ “ความสามารถ”  ของชุมชนภายใต้และตอบโต้กับอำนาจที่อยู่ภายนอกชุมชน  ทั้งนี้ทั้งนั้นวางอยู่บนรากฐานของความเชื่อที่ว่ากระบวนการการร่วมตัดสินใจโดยคนจำนวนมาก  และอยู่บนพื้นที่หรือใกล้ชิดกับพื้นที่ย่อมจะช่วยให้การตัดสินใจมีความสอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของของคนในพื้นที่   อย่างไรก็ตามความเป็นชุมชนนั้น  ไม่ได้เป็นเรื่องของความ “กลมกลืน”  แต่เพียงอย่างเดียว  แต่ยังรวมไปถึงการสร้างกลไกในการจัดการกับความ “ขัดแย้ง”   ด้วย  ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งกับรัฐหรือชุมชนอื่น หรือแม้แต่การจัดการภายในตัวเอง

-ชุมชนกับการจัดการทรัพยากรที่ดินในภาคเหนือ

ปัญหาการจัดการทรัพยากรในภาคเหนือ  มีความแตกต่างกันตามบริบทของพื้นที่  นั่นคือ  ที่สูงกับพื้นที่ราบ  ในพื้นที่สูงปัญหาการจัดการที่ดินเด่นชัด  มักเป็นความขัดแย้งระหว่างแบบแผนการใช้ที่ดินของชุมชนดั้งเดิมับนโยบายการใช้ที่ดินบนที่สูงของรัฐ  โดยที่แบบแผนการใช้ที่ดินของคนบนพื้นที่สูงมักจะถูกมองจากรัฐและคนพื้นราบว่า  เป็นการทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ  สำหรับบริเวณที่ราบลุ่มของภาคเหนือนั้น  ปัญหาความขัดแย้งในการจัดการทรัพยากรที่ดินส่วนหนึ่งมาจากข้อจำกัดทางภูมิกายภาพ  ที่มีที่ดินทำกินอยู่น้อยในบริเวณที่ราบแคบๆ  ระหว่างภูเขา  ทำให้ชาวนาส่วนหนึ่งไม่มีที่ดิน  บางกลุ่มก็มีน้อยจนไม่เพียงพอต่อการยังชีพ  ปัญหานี้เข้มข้นมากขึ้นเมื่อระบบทุนนิยมเข้ามาขูดรีดส่วนเกินจากชาวนา  การต่อสู้ของชาวนาในเรื่องที่ดินช่วงทศวรรษที่ 1970  จบลงด้วยการสูญเสียอย่างหนัก

-ชุมชนกับการจัดการทรัพยากรป่าไม้ในภาคเหนือ

ชุมชนมีความสัมพันธ์กับทรัพยากรอย่างมีพลวัต  รูปแบบของการจัดการทรัพยากรป่าไม้ในภาคเหนือเริ่มที่รัฐประกาศเขตป่าสงวน  เขตป่าอนุรักษ์  ทำให้ชุมชนชายขอบถูกมองว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาสิ่งแวดล้อม  รัฐจึงมีนโยบายเพื่อควบคุมพฤติกรรมของผู้คนในบริเวณรอบๆ  เพื่อสร้างความรู้และจิตสำนึกรักษ์ทรัพยากร  แต่ปัญหากลับไม่ได้บรรเทาลง  สถานการณ์นี้ทำให้รัฐถูกตั้งคำถาม  พร้อมกันนี้วาทกรรมการจัดการทรัพยากรโดยชุมชนเริ่มขึ้น  พร้อมทั้งภาคปฏิบัติการของป่าชุมชน  ที่มุ่งกลับไปหาความเข้มแข็งของระบบการจัดการป่าไม้แบบพื้นบ้าน  ความรู้ทางนิเวศพื้นบ้าน  และขบวนการรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น

-ชุมชนกับการจัดการทรัพยากรน้ำในภาคเหนือ

งานศึกษาเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรน้ำในภาคเหนือแทบทุกเรื่องมักจะเกี่ยวข้องกับเรื่องระบบเหมืองฝาย  ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นลักษณะพิเศษของสังคมภาคเหนือ  และการเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างทางสังคมทำให้ระบบการจัดการน้ำแบบเหมืองฝาย  ต้องมีการตอบรับการปรับเปลี่ยนและปรับตัวตามความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ  ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ  สังคมและการเมือง  ยิ่งไปกว่านั้นการมองในเชิงนิเวศวิทยาวัฒนธรรม  ระบบเหมืองฝายเองก็คือ  ผลผลิตของการรับตัวของสังคมมนุษย์ในการปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมและกับผู้คนในชุมชนเอง  และแท้จริงแล้วก็คือ  กลไกทางสังคมในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในการใช้ทรัพยากรน้ำ  ที่เป็นปัจจัยสำคัญของวิถีการผลิตของสังคมภาคเหนือ  อย่างไรก็ตามบทสรุปของการจัดการทรัพยากรน้ำในภาคเหนือ  น่าจะเป็นเรื่องของ “สิทธิในการจัดการโดยชุมชน”

-ชุมชนกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติในภาคอีสาน

แนวทางการศึกษาการจัดการทรัพยากรในภาคอีสานประกอบด้วย  2  แนวทาง  คือ  การศึกษาในแนวประวัติศาสตร์หมู่บ้าน  ซึ่งเน้นการศคกษาการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ  สังคมวัฒนธรรม  และการเมืองชุมชน  ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับการจัดการทรัพยากรของชุมชนในลักษณะเป็นกระบวนการและเชื่อมโยงกับมิติอื่นๆ ของการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับชุมชนและระดับมหภาค  และการศึกษาที่เน้นระเบียบวิธีตามวิธีการทางวิทยาศาสตร์  ซึ่งสามารถให้ภาพปรากฏการณ์และปัจจัยที่เกี่ยวข้องในภาพรวมได้  หากแต่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับวิธีคิดและกระบวนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ

ความขัดแย้งในทรัพยากรที่มากที่สุดคือทรัพยากรดิน  ทรัพยากรป่าไม้  น้ำและแรน่ธาตุ ตามลำดับ  ซึ่งความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่เฉพาะประเด็นการใช้ทรัพยากร  แต่รวมถึงผลผลิตที่ได้และราคาตลาดของผลผลิตด้วย  ซึ่งยังต้องศึกษาแนวทางการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ปราศจากความขัดแย้งต่อไป   แต่ในความเป็นจริงแล้วชุมชนเองมีความสามารถระดับหนึ่งในการจัดการทรัพยากรของชุมชนตนเอง  โดยมีหน่วยในการจัดการที่เป็นแกนหลัก  มีระเบียบ  กฎเกณฑ์ที่ใช้เป็นแนวปฏิบัติในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ  และการใช้ประโยชน์บนฐานคิดร่วมกันของคนกับธรรมชาติ  ซึ่งอาจแตกต่างจากฐานคิดของรัฐที่เน้นการควบคุมทรัพยากร

-ชุมชนกับการจัดการทรัพยากร : ภาคตะวันตก

องค์ความรู้ในเรื่องการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของภูมิภาคตะวันตก  สลัดหลุดออกไปจากบริบทของ “สิทธิในทรัพยากร”  ด้วยเหตุที่ภูมิภาคตะวันตกมีลักษณะพิเศษคือ  ความหลากหลายทางชาติพันธุ์  ต้นกำเนิดของวัฒนธรรมด้านทรัพยากรท้องถิ่น  และความไม่มีเอกภาพทางการเมืองและวัฒนธรรมหลักในอดีต  ซึ่งในความเป็นภูมิภาคที่อุดมไปด้วยทรัพยากรทำให้ชุมชนแต่ละที่มีวิถีชีวิตไปตามแบบแผนนิเวศที่ตนเองดัดแปลงไป  ซึ่งให้ชื่อว่า “นิเวศชุมชน” (Community Ecosystem)

ความขัดแย้งในภูมิภาคเกิดจากความบกพร่องทางเทคนิคและการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมมากกว่าเรื่องของสิทธิ  และประเด็นความเป็น “ท้องถิ่นนิยม” ของชุมชนในภูมิภาคนี้มี  แต่ไม่ได้เป็นเอกภาพทางวัฒนธรรมหลักในระดับภูมิภาค  ชุมชนเหล่านี้คือชุมชนชายขอบซึ่งง่ายต่อการเกิดระบบอิทธิพลท้องถิ่น  การจัดการทรัพยากรจึงไม่ใช่เรื่องของการตั้งคถามเรื่อง “สิทธิ”  แต่น่าจะเป็นคำถามที่ว่า  “ทำอย่างไรจึงจะสร้าง “วัฒนธรรมความเป็นประชาคม (Enhancing Civil Culture)”  ให้เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ได้

-ชุมชนกับการจัดการทรัพยากรในภาคตะวันออก : การสำรวจองค์ความรู้

การศึกษาเรื่องการจัดการทรัพยากรในภาคตะวันออก  ยังไม่มีความก้าวหน้ามากเท่ากับ  การศึกษาเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ    ที่เน้นการค้นหาศักยภาพของทรัพยากรที่จะเอื้อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรม  การศึกษาเรื่องทรัพยากรในภาคตะวันออกจึงเป็นเพียงเรื่องของการจัดหาทรัพยากร  โดยอาศัยการวิเคราะห์ระดับมหภาคในประเด็นของความต้องการและการตอบสนองเป็นหลัก  ทั้งนี้ประเด็นความเป็นธรรมในการจัดสรรทรัพยากร  ยังไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร  จุดอ่อนของการขาดความสนใจต่อประเด็น  เรื่องการกระจายการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากร  ทำให้ประเด็นสำคัญอื่นๆ  ขาดหายตามไปด้วย  อันได้แก่  บทบาทของชุมชนและท้องถิ่น  องค์กรจัดการและกระบวนการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบาย   และการปฏิบัติในเรื่องการจัดการทรัพยากร

-ชุมชนกับการจัดการทรัพยากรป่าไม้ในภาคใต้ : สถานภาพการศึกษา

งานศึกษาวิจัยเรื่องป่าไม้ในภาคใต้ส่วนมากนำเสนอในมิติวิทยาศาสตร์  เศรษฐศาสตร์และการจัดการ  ส่วนมิติด้านสังคมและวัฒนธรรมมักจะถูกละลเย  ซึ่งแนวทางในการศึกษาเรื่องป่าไม้ในอนาคตก็น่าจะเป็นเรื่องของวัฒนธรรม และ “ทางเลือก”  ในการจัดการทรัพยากรดังกล่าว

-ชุมชนกับการจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำชายฝั่งทะเลในภาคใต้

ปัญหาความขัดแย้งในประเด็นการจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำชายฝั่งทะเลในภาคใต้ที่สำคัญ  คือ  ความขัดแย้งเรื่องขนาดการทำประมงและเครื่องมือที่แตกต่างกันของการทำประมง  ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาวประมงจับและกลุ่มชาวประมงเพาะเลี้ยงและความขัดแย้งของชาวประมงกับกลุ่มคนอื่นๆ  ความขัดแย้งที่ปรากฎชี้ให้เห็นถึงบริบทและเงื่อนไขที่สำคัญของปัญหา  เช่น  สิทธิ  กรอบกฎหมายและผลกระทบจากกรอบนโยบายรัฐและการพัฒนาประเทศ

ทั้งนี้มีลักษณะงานของการศึกษาจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำชายฝั่งเป็น  4  แนวทาง  คือ  กลุ่มงานการศึกษาชุมชนประมง  กลุ่มงานด้านการพัฒนาและการจัดการการประมง  กลุ่มงานการพัฒนาชุมชนประมง  และกลุ่มงานศึกษาชุมชนกับการจัดารทรัพยากรชายฝั่ง

 

 

จากการทบทวนการศึกษางานเขียนทั้งสองเรื่องทำให้ได้เข้าใจเกี่ยวกับ “สิทธิ”  สิทธิชุมชน”  และ “สิทธิมนุษยชน”  ในการจัดการทรัพยากรต่างๆ  ทั่วทุกภูมิภาคที่มีความแตกต่างกันในแนวทางการวิเคราะห์  การตีความและเครื่องมือในการทำความเข้าใจชุมชนต่างๆ  ซึ่งงานเขียน  พลวัตของชุมชนในการจัดการทรัพยากร : กระบวนทัศน์และนโยบาย  จะเน้นกระบวนทัศน์การมองเรื่อง  สิทธิ  การใช้สิทธิ   การสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างรัฐและชุมชนเกี่ยวกับสิทธิ  และนอกจากนั้นยังให้ภาพของนโยบายรัฐที่มีผลต่อการจัดการทรัพยากรของชุมชน  ส่วน พลวัตของชุมชนในการจัดการทรัพยากร : สถานการณ์ในประเทศไทย  นำเสนอกรณีศึกษาและการสำรวจสถานภาพองค์ความรู้ในการจัดการทรัพยากรทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทย  ซึ่งกรณีการศึกษาจะเห็นความแตกต่างและความเหมือนกันของการจัดการสองแนวทาง  คือ  แนวทางการจัดการสายเดี่ยวโดยรัฐและหน่วยงานรัฐเข้าไปมีอำนาจในการจัดการ  ซึ่งเป็นการจัดการกระแสหลักที่ปัจจุบันก่อให้เกิดปัญหาความไม่สอดคล้องกับชุมชน  และทำให้ตั้งคำถามว่า  “การจัดการทางเลือก”  น่าจะเป็นหนทางที่ดีกว่า  “การจัดการทางเลือก”  ที่ว่านั้นก็คือ  การจัดการที่รัฐเป็นเพียงผู้แนะนำหรือคอยให้การสนับสนุนเท่านั้น  ชุมชนท้องถิ่น  หรือองค์กรชุมชนมีบทบาทหลักในการกำหนดการจัดการ  ทรัพยากรชุมชน

แม้ว่างานการศึกษาด้านการจัดการโดยชุมชนมีส่วนร่วม การใช้ “สิทธิชุมชน”  เริ่มมีมากขึ้นในสังคมไทย  แต่ในความเป็นจริงแล้วนั้นภาคปฏิบัติการของการใช้  “สิทธิชุมชน”  ยังไม่ปรากฎเท่าที่ควร  ภาครัฐยังคงให้สิทธิในรัฐธรรมนูญโดยที่ภาคปิบัติการของวาทกรรมดังกล่าวยังต้องมีการทำความเข้าใจและผลักดันให้เกิดขึ้นในทุกภาคส่วนของสังคม  ไม่ว่าจะเป็นการจัดการทรัพยากรชุมชนประเภทใดก็ตาม

อ้างอิง

 อานันท์ กาญจนพันธุ์ (บรรณาธิการ). 2543.พลวัตของชุมชนในการจัดการทรัพยากร : กระบวนทัศน์และนโยบาย. กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

อานันท์ กาญจนพันธุ์ (บรรณาธิการ). 2543.พลวัตของชุมชนในการจัดการทรัพยากร : สถานการณ์ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

หมายเลขบันทึก: 358053เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2010 18:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 12:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

หนูรักอาจารย์ตลอดไปค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท