ธรรมาภิบาลในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


ธรรมาภิบาล การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ธรรมาภิบาลในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

เย็นจิตร  ถิ่นขาม[1]

 

ธรรมาภิบาล (อังกฤษ: good governance) คือ การปกครอง การบริหาร การจัดการ การควบคุมดูแล กิจการต่าง ๆ ให้เป็นไปในครรลองธรรม นอกจากนี้ยังหมายถึงการบริหารจัดการที่ดี ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้ทั้งภาครัฐและเอกชน ธรรมที่ใช้ในการบริหารงานนี้ มีความหมายอย่างกว้าง กล่าวคือ หาได้มีความหมายเพียงหลักธรรมทางศาสนาเท่านั้น แต่รวมถึง ศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม และความถูกต้องชอบธรรมทั้งปวง ซึ่งวิญญูชนพึงมีและพึงประพฤติปฏิบัติ อาทิ ความโปร่งใสตรวจสอบได้ การปราศจากการแทรกแซงจากองค์กรภายนอก เป็นต้น[2]

 

ธรรมมาภิบาลกับปัญหาของสังคมไทย 

ความล้มเหลวของระบบการบริหารภาครัฐ

-         การคอรัปชั่นและการประพฤติมิชอบ

-         การทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

-         การกระจายทรัพยากรอย่างไม่เป็นธรรม

-         การกำหนดนโยบายอย่างไร้ทิศทาง

-         การบังคับใช้กฎหมาย/กติกาที่ขาดประสิทธิภาพและยุติธรรม

 

หลักการของธรรมาภิบาล (Good governance)[3]

หลักการของธรรมาภิบาล หรือgood governance ตามที่ UN ESCAP (United Nation Economic and Socail Commission for Asia and the Pacific.) กำหนดมี 8 หลักการคือ การมีส่วนร่วม (participatory) การปฏิบัติตามกฎหมาย (rule of law) ความโปร่งใส(transparency) ความรับผิดชอบ (responsiveness) ความสอดคล้อง (consensus oriented) ความเสมอภาค (equity and inclusiveness) การมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล (effectiveness and efficiency) และการมีเหตุผล (accountability)

1. การมีส่วนร่วม   การมีส่วนร่วมของสมาชิกทั้งชายหญิงคือการตัดสินใจที่สำคัญในสังคมและสร้างความสามัคคีให้เกิดกับประชาชน การมีส่วนร่วมสามารถทำได้โดยอิสระไม่มีการบังคับ สมาชิกเต็มใจให้ความร่วมมือด้วยตนเอง หรือมีส่วนร่วมผ่านหน่วยงาน สถาบันหรือผู้แทนตามระบอบประชาธิปไตย

2. การปฏิบัติตามกฎ   ธรรมาภิบาลต้องการความถูกต้องตามกรอบของกฎหมาย ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ลำเอียง มีการปฏิบัติอย่างเสมอภาคและเป็นธรรมกับประชาชนโดยเท่าเทียมกัน ทุกคนในสังคมอยู่ภายใต้ข้อกำหนดของกฎหมายเดียวกัน

3. ความโปร่งใส   ความโปร่งใสเป็นการตรวจสอบความถูกต้อง มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาสิ่งนี้ช่วยแก้ปัญหาการทุจริตและคอรัปชั่นได้ทั้งในภาครัฐและเอกชน สื่อจะเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการตรวจสอบและรายงานผลงานดำเนินงานโดยการนำเสนอข่าวสารให้แก่สังคมได้รับทราบ

4. ความรับผิดชอบ  ความรับผิดชอบเป็นการพยายามให้คนทุกฝ่ายทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุดในการทำงาน กล้าที่จะตัดสินใจและรับผิดชอบต่อผลการตัดสินใจนั้น ๆ

5. ความสอดคล้อง  ความสอดคล้องต้องกันเป็นการกำหนดและสรุปความต้องการของคนในสังคม ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างมาก โดยพยายามหาจุดสนใจร่วมกันและความต้องการที่สอดคล้องต้องกันของสังคมมาเป็นข้อปฏิบัติเพื่อลดปัญหาความขัดแย้งในสังคม การจะพัฒนาสังคมได้ ต้องทราบความต้องการที่สอดคล้องต้องกันของสังคมนั้น ๆ  ด้วยวิธีการเรียนรู้ วัฒนธรรมของสังคมนั้นๆ ก่อน

6. ความเสมอภาค   ความเสมอภาคเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนพึงได้รับจากรัฐบาล ทั้งการบริการด้านสวัสดิการตลอดจนสาธารณูปโภคด้านอื่น ๆ

7. หลักประสิทธิภาพและประสิทธิผล  เป็นวิธีการจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ โดยการผลิตและจำหน่ายเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับเงินที่ลงทุนหรือการใช้ทรัพยากรให้ได้ประโยชน์สูงที่สุดต่อมวลมนุษยชาติ โดยมีการพัฒนากระบวนการเพิ่มผลผลิตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

8. การมีเหตุผล   การมีเหตุผลเป็นความต้องการในทุกสังคม ประชาชนทุกคน ต้องตัดสินใจและรับผิดชอบต่อการกระทำของตนด้วยเหตุด้วยผลที่สมเหตุสมผล การมีเหตุผลไม่สามารถกระทำได้ถ้าปราศจากการปฏิบัติตามกฎหมายและความโปร่งใส

 

สำหรับประเทศไทย นักคิด นักวิชาการ ได้ร่วมกันเปิดเวทีความคิด แถลง และตีความแนวคิดเรื่องธรรมรัฐ จนกระทั่งถูกนำไปกำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2540 - 2544) ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประชารัฐ ได้อาศัยหลักคิดดังกล่าวเป็นแนวทางสำคัญในการประยุกต์ใช้ยุทธศาสตร์สำคัญ ในการพัฒนาสังคมไทยให้มีความเข้มแข็งมากกว่าที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะการเน้นสิทธิเสรีภาพ การมีส่วนร่วมของประชาชน การพัฒนาประสิทธิภาพของรัฐ และระบบราชการ ให้เกิดความโปร่งใสและตรวจสอบได้   และหากพิจารณาประกอบกับโครงสร้างของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปี 2540 แล้ว จะพบว่า “หลักธรรมรัฐ” ได้ถูกบรรจุไว้อย่างชัดเจนในเรื่องต่างๆ เช่น การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน การให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองและตรวจสอบการให้อำนาจรัฐเพิ่มขึ้น ตลอดทั้งปรับปรุงโครงสร้างทางการเมืองให้มี เสถียรภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

นอกจากนี้รัฐบาลยังได้มอบให้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาในการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดีตามแนวทางธรรมรัฐ (Good Governance)

จนกระทั่งสำนักงาน ก.พ. ได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ประชุม เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2542 ลงมติเห็นชอบวาระแห่งชาติ สำหรับการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ และออกเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี พ.ศ. 2542 โดยกำหนดให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่ง จัดทำแผน และโครงการในการปรับปรุงงานที่รับผิดชอบให้สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล

ซึ่ง หลักธรรมาภิบาล 6 ประการ ตามแนวทางของสำนักงาน ก.พ. ได้แก่

- หลักนิติธรรม

- หลักคุณธรรม

- หลักความโปร่งใส

- หลักการมีส่วนร่วม

- หลักความรับผิดชอบ]

 

ในการนำหลักธรรมภิบาลมาปรับใช้ในการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้น ทำให้เกิดยุทธศาสตร์การพัฒนาบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพและการสร้างความมั่นคงของฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม   ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ให้ความสำคัญกับ[4]

1.  การรักษาฐานทรัพยากรและความสมดุลของระบบนิเวศน์ เพื่อรักษาสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ โดยพัฒนาระบบฐานข้อมูลและสร้างองค์ความรู้ ส่งเสริมสิทธิชุมชนและการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร ตลอดจนพัฒนาระบบการจัดการร่วมเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะการดูแลทรัพยากรธรรมชาติหลัก ได้แก่ ดิน น้ำ ป่าไม้ ทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง ทรัพยากรแร่ การแก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างสันติวิธี รวมทั้งการป้องกันภัยพิบัติ

2. การสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยการปรับแผนการผลิตและพฤติกรรมการบริโภคไปสู่การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน เพื่อลดผลกระทบต่อฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยใช้กลไกทางเศรษฐศาสตร์ทั้งด้านการเงินและการคลังและการสร้างตลาดสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการเพื่อลดมลพิษและควบคุมกิจกรรมที่จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการกำจัดมลพิษขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และมีกลไกกำหนดจุดยืนต่อพันธกรณีและข้อตกลงระหว่างประเทศ

3. การพัฒนาคุณค่าความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นการวางพื้นฐานเพื่อนำไปสู่การพัฒนาบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพในระยะยาว โดยใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางสำคัญ เริ่มจากการจัดการองค์ความรู้และสร้างภูมิคุ้มกัน ส่งเสริมการใช้ความหลากหลายทางชีวภาพในการสร้างความมั่นคงของภาคเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน รวมทั้งพัฒนาขีดความสามารถและสร้างนวัตกรรมจากทรัพยากรชีวภาพที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศ

ทั้งนี้การที่จะสร้างหลักธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริงในกนะบวนการจัดการทรัพยากรอย่างเป็นธรรมและอย่างยั่งยืน มีหลักการปฏิบัติ  ดังนี้

1. การเสริมสร้างและพัฒนาวัฒนธรรมประชาธิปไตยและธรรมาภิบาล ให้เป็นส่วนหนึ่งของวิถีการดำเนินชีวิตในสังคมไทย โดยสร้างกระบวนการเรียนรู้ ปลูกฝังจิตสำนึก ค่านิยมวัฒนธรรมประชาธิปไตยและธรรมาภิบาลแก่เยาวชนและประชาชนทุกระดับอย่างต่อเนื่องจริงจัง พร้อมทั้งพัฒนาภาวะความเป็นผู้นำประชาธิปไตยที่มีคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลในสังคมทุกระดับเพื่อให้เป็นแบบอย่างที่ดีในสังคม ตลอดจนวางรากฐานกระบวนการประชาธิปไตยโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และเพิ่มประสิทธิภาพกลไกและกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐและการเมืองให้เข้มแข็งและเป็นอิสระมากขึ้น  และนอกจากนั้นยังเป็นการสร้างจิตสำนึกของการรักษาความสมดุลย์และการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

2. เสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคประชาชน ให้สามารถเข้าร่วมในการบริหารจัดการประเทศ  ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ  การเมือง  และโดยเฉพาะการจัดการทรัพยากรในพื้นที่ของตนเอง  โดยส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียม เพื่อสร้างความเป็นธรรมสร้างความสมดุล และร่วมในการบริหารจัดการประเทศให้เกิดความเป็นธรรมและความโปร่งใสในการพัฒนาประเทศ เสริมสร้างความเข้มแข็งและสร้างเครือข่ายการทำงานของกลไกตรวจสอบภาคประชาชน เพื่อติดตามตรวจสอบการใช้อำนาจของภาครัฐได้อย่างเข้มแข็งมีประสิทธิภาพ

3. สร้างภาคราชการที่มีประสิทธิภาพและมีธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม   เน้นการบริการแทนการกำกับควบคุม และทำงานร่วมกับผู้มีส่วนร่วม  ส่วนได้  ส่วนเสียในการพัฒนา เน้นการพัฒนาประสิทธิภาพและความคุ้มค่าในการปฏิบัติภารกิจด้วยการปรับบทบาทโครงสร้างและกลไกการบริหารจัดการภาครัฐและรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับองค์กรทางสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพ ทันสมัย ลดการบังคับควบคุม คำนึงถึงความต้องการของประชาชนและทำงานร่วมกับหุ้นส่วนการพัฒนา เพิ่มบทบาทภาคเอกชนในกิจการของรัฐและรัฐวิสาหกิจ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพการให้บริการสาธารณะและลดภาระการลงทุนของภาครัฐ ตลอดจนพัฒนากลไกการกำกับดูแลที่เข้มแข็ง เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม โปร่งใส โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศและคุ้มครองผู้ใช้บริการ  ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเป็นหลัก โดยดำเนินการควบคู่ไปกับการปลูกฝังจิตสำนึกข้าราชการให้ยึดหลักคุณธรรม   จริยธรรม การรับผิดชอบต่อส่วนรวม การพร้อมรับการตรวจสอบจากภาคประชาชนและยึดปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารอย่างเคร่งครัด

4. การกระจายอำนาจการบริหารจัดการประเทศสู่ภูมิภาค ท้องถิ่นและชุมชนเพิ่มขึ้น  ต่อเนื่อง โดยพัฒนาศักยภาพและกระจายอำนาจการตัดสินใจให้ท้องถิ่นมีบทบาท สามารถรับผิดชอบในการบริหารจัดการทรัพยากรสาธารณะ ตลอดจนแก้ไขปัญหาที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่   และสามารถสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมให้แก่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง

5. ส่งเสริมภาคธุรกิจเอกชนให้เกิดความเข้มแข็ง สุจริตและมีธรรมาภิบาล โดยมีมาตรการสร้างจิตสำนึกในการประกอบธุรกิจอย่างซื่อสัตย์ยุติธรรมต่อผู้บริโภค  รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นธรรมกับธุรกิจคู่แข่ง พร้อมทั้งยึดมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคม แบ่งปันผลประโยชน์คืนสู่สาธารณะ ตลอดจนสนับสนุนสถาบันวิชาชีพธุรกิจประเภทต่าง ๆ ให้มีบทบาทในการสร้างธรรมาภิบาลแก่ภาคธุรกิจมากขึ้น

6. การปฏิรูปกฎหมาย กฎระเบียบและขั้นตอน กระบวนการเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  เพื่อสร้างความสมดุลในการจัดสรรประโยชน์จากการพัฒนา ด้วยการเปิดโอกาสให้ภาคีและกลุ่มต่าง ๆ มีส่วนร่วมในการเสนอแนะและตรากฎหมายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  เพื่อประสานประโยชน์ของภาคส่วนต่าง ๆ  ให้เสมอภาคและมีความสมดุล โดยการปฏิรูปกฎหมายเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางการใช้ทรัพยากรร่วมกัน  ลดการใช้ดุลพินิจของราชการและเจ้าหน้าที่ รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งของกลไกการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  เพื่อสร้างความเป็นธรรมต่อประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก

7. การรักษาและเสริมสร้างความมั่นคง เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการประเทศสู่ดุลยภาพและความยั่งยืน โดยการพัฒนาศักยภาพ บทบาทและภารกิจของหน่วยงานด้านการป้องกันประเทศความมั่นคงและรักษาความสงบเรียบร้อยให้มีประสิทธิภาพ มีความพร้อมในการป้องกันประเทศ และตอบสนองต่อภัยคุกคามในทุกรูปแบบสถานการณ์ได้ฉับไว พร้อมทั้งผนึกพลังร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ  ดำเนินการป้องกันและพัฒนาประเทศให้สามารถพิทักษ์รักษาเอกราช สถาบันพระมหากษัตริย์  ผลประโยชน์ของชาติ และการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข  รวมทั้งสามารถสร้างความมั่นคงของประชาชนและสังคม ให้มีความอยู่รอดปลอดภัยโดยยึดหลักธรรมาภิบาลในทุกระดับ  เพราะการที่จะสร้างให้ธรรมาภิบาลเกิดขึ้นในการจัดการสิ่งแวดล้อมนั้น  จำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงความมั่นคงปลอดภัยของประเทศมาก่อนเป็นอันดับแรก  ซึ่งธรรมาภิบาลในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่มีทางจะเกิดขึ้นได้ภายใต้สถานการณ์ที่ประเทศประสบปัญหาความไม่มั่นคงปลอดภัย  นอกจากนั้นธรรมาภิบาลในภาคอื่นๆ  ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจและสิทธิมนุษยชนก็จำเป็นที่จะต้องสร้างให้เกิดขึ้น  เนื่องจากการพัฒนาทุกภาคส่วนนั้นมีความเกี่ยวข้องกัน  หากธรรมาภิบาลเกิดขึ้นในภาคเศรษฐกิจและสิทธิมนุษยชน  ธรรมาภิบาลในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็คงไม่ยากที่จะดำเนินการ

หลักการธรรมาภิบาลนั้นสามารถที่นำมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ยกตัวอย่าง  เช่น

 

'หลักธรรมาภิบาล'กับ 'พลังงานหมุนเวียน' ปัจจัยเกื้อหนุนยั่งยืน[5]

เมื่อโลกเข้าสู่วิกฤติน้ำมันแพง ประเด็นเรื่องการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนเพื่อเป็นทางรอดของประเทศไทย ถูกหยิบยกขึ้นเป็นกระแสพลังงานทางเลือกในอนาคต   ก่อนจะถูกเบียดความสนใจด้วยประเด็นการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์

ณ เวลานี้ จะยังไม่ก้าวล่วงไปถึงเรื่องของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ เพราะในความเป็นจริงแล้วปัญหาเรื่องพลังงานของประเทศไทยมีความซับซ้อนมากกว่าที่มองเห็น ทั้งนี้ อาจจะเนื่องมาจากแหล่งพลังงานผลิตไฟฟ้าที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน อาศัยน้ำมันปิโตรเลียมเป็นหลัก ซึ่งมีผลบดบังความน่าสนใจจากแหล่งพลังงานอื่นๆ ไปแทบทั้งหมด แต่พอโลกเจอกับวิกฤตน้ำมัน พลังงานทางเลือกอื่นๆซึ่งเคยแอบอยู่แถวหลังๆ "ปิโตรเลียม" ก็ถูกปัดฝุ่นหยิบยกขึ้นมาพูดกันยกใหญ่ ในทำนองว่านี่แหละคือพลังงานทางเลือกที่จะเป็นความหวังในอนาคตหลังจากน้ำมันหมดโลกไปแล้ว

ทั้งที่ ในความเป็นจริงในประเทศไทยมีการเคลื่อนไหว ผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือก โดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียนมานานพอสมควร แต่เป็นการพึ่งพาแหล่งพลังงานรูปแบบนี้เพียงจุดเล็กๆ เฉพาะในหมู่บ้านหรือชุมชนเท่านั้น เป็นพลังเล็กๆ ที่ยังไม่แพร่หลาย ทั้งที่โครงการพลังงานหมุนเวียนที่มาจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังน้ำ หรือพลังงานลม ล้วนมีรัฐเป็นผู้ริเริ่มสนับสนุนแทบทั้งนั้น แต่การสนับสนุนดังกล่าวก็ยังเป็นไปในลักษณะครึ่งๆ กลางๆ บางโครงการอาจกล่าวได้ว่าทิ้งๆขว้างๆ ขาดการเอาใจใส่ดูแล ทั้งหมดทั้งปวง ทำให้จุดจบของพลังงานทางเลือกในปัจจุบันจึงยังไม่เกิดสัมฤทธิผลสมดังนโยบายที่วาดไว้สวยหรูในตอนแรก

ในวันนี้ องค์กรภาคเอกชนด้านพลังงานเรียกร้องรัฐบาลให้การสนับสนุนโครงการพลังงานหมุนเวียนอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นพลังแสงอาทิตย์ พลังน้ำและพลังชีวมวล โดยเปิดกว้างให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการวางแผนและจัดการโครงการพลังงานหมุนเวียนเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งและป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นหลักธรรมาภิบาลที่จะทำให้การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนเป็นไปอย่างรวดเร็วและยั่งยืน

พลังงานหมุนเวียนนี้    เช่น โครงการเร่งรัดขยายบริการไฟฟ้าโดยระบบผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ โดยหวังติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์ให้กับหมู่บ้านในพื้นที่ห่างไกล 300,000 หลังคาเรือนใช้งบประมาณรวม 3,500 ล้านบาท โดยมีการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.)เป็นผู้ติดตั้ง

แม้ว่าจะเป็นแนวทางการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน แต่อย่างไรก็ตามโครงการดังกล่าวยังมีอุปสรรคที่ทำให้โครงการนี้ไปไม่ถึงฝั่งฝันนั่นคือ การดำเนินการทั้งหมดทำโดยภาครัฐ โดยที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ระบบโซล่าเซลล์ในหมู่บ้านชนบทจึงถูกละเลยและขาดการดูแลรักษาหลังจากใช้งานไปได้ไม่นานนัก ดังนั้น จึงมีองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมเข้าไปยังหมู่บ้านเพื่อถ่ายทอดความรู้ทั้งวิธีการบำรุงรักษาและซ่อมแซมวัสดุอุปกรณ์อย่างถูกต้อง พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่า เจ้าหน้าที่รัฐมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับนายทุนพวกพ้อง

ผู้ฝึกอบรมเรื่องไฟฟ้าให้แก่หมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงในจังหวัดตาก กล่าวถึงโครงการไฟฟ้าว่า เป็นนโยบายประชานิยมที่จัดหาไฟฟ้าแบบกฐิน ซึ่งก็คือการให้เปล่าโดยที่ประชาชนไม่รู้สึกว่ามีภาระผูกพัน ทำให้ประชาชนไม่หวงแหนในสิ่งที่ตนเองมีอยู่ วัสดุอุปกรณ์ต่างๆเช่น แผงโซล่าเซลล์ และประจุแบตเตอรี่ จึงไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกวิธีและไม่สามารถใช้งานได้เป็นจำนวนมาก ตนคิดว่ารัฐสร้างระบบนี้ขึ้นมาอาจจะเอื้อผลประโยชน์แก่บริษัทผลิตติดตั้งวัสดุอุปกรณ์  และสาเหตุหลักของการที่ระบบโซล่าเซลล์เกือบครึ่งหนึ่งไม่สามารถใช้งานได้ ทั้งที่ระยะเวลาการใช้งานยังไม่ถึงอายุไขของระบบ เนื่องจากภาครัฐและกฟผ.ไม่ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการใช้งาน การติดตั้งระบบทำโดยผู้เชี่ยวชาญหรือเจ้าหน้าที่ส่วนกลาง โดยเมื่อระบบหรืออุปกรณ์มีปัญหา ก็ต้องรอให้ส่วนกลางเป็นผู้ทำการซ่อมแซม ซึ่งในบางกรณีต้องรอเจ้าหน้าที่มาแก้ไขนานมาก จนชาวบ้านต้องลองซ่อมกันเองจนเป็นเหตุให้ระบบชำรุดเสียหายมากขึ้น และการบริหารจัดการยังไม่มีประสิทธิภาพไม่ก่อให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชน

นอกจากนี้ยังมีโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือที่มีภูมิประเทศเป็นป่าเขามีลำธารน้ำตกและการไฟฟ้าเข้าไปไม่ถึง หมู่บ้านแม่กำปอง กิ่งอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอีกชุมชนหนึ่งที่จัดตั้งโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า โดยมีการบริหารจัดการในรูปของสหกรณ์ การมีส่วนร่วมในชุมชนจึงเกิดขึ้น

พรมมินทร์ พวงมาลา ผู้ใหญ่บ้านกำปอง เล่าว่าหมู่บ้านแม่กำปองเริ่มนำระบบพลังงานน้ำมาผลิตไฟฟ้าตั้งแต่ปีพ.ศ.2525 และจดทะเบียนก่อตั้งสหกรณ์ไฟฟ้าโครงการหลวงแม่กำปอง จำกัด ในปีพ.ศ.2529 เพื่อขายไฟฟ้าให้แก่สมาชิกในชุมชน โดยคิดอัตราค่าไฟเท่ากับกฟภ. โดยสมาชิกจะได้รับสิทธิในการกู้ยืมเงินของสหกรณ์ฯ ดังนั้นเงินรายได้ของสหกรณ์ฯจึงมาจากค่าไฟที่ทุกคนใช้ไฟฟ้าของสหกรณ์ฯ     หากปีไหนที่สหกรณ์ฯมีรายได้ดี ทั้งกำไรจากค่าไฟและการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ที่หมู่บ้านเปิดให้บริการ ก็จะมีการปันผลให้กับสมาชิกทุกคน แต่เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา สหกรณ์ฯต้องนำเงินไปซ่อมแซมเครื่องปั่นไฟจึงไม่มีการปันผลให้แก่สมาชิก เครื่องปั่นไฟของหมู่บ้านมี 2 เครื่อง โดยจะปั่นไฟส่งแยกกันไปเป็นสองสาย เมื่อกฟภ.เดินสายไฟเข้ามาถึงหมู่บ้าน บ้านแต่ละหลังจึงติดตั้งไฟฟ้าสองระบบ คือไฟฟ้าของกฟภ.และไฟฟ้าพลังน้ำของสหกรณ์ฯ

ปัญหาที่พบคือความแรงกระแสไฟฟ้าของการไฟฟ้าแรงกว่า ประกอบกับเครื่องปั่นไฟพลังน้ำชำรุดเสียหายบ่อย จึงทำให้คนหันมาใช้ไฟฟ้าของกฟภ.มากขึ้นทำให้สหกรณ์ฯมีรายได้ลดลง ดังนั้นถ้าหากภาครัฐให้ความสำคัญกับพลังงานหมุนเวียน โดยตั้งกฎระเบียบที่เอื้อประโยชน์และไม่เอาเปรียบชุมชน ก็จะทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง สามารถเลี้ยงปากท้องได้ด้วยตัวเอง"ผู้ใหญ่บ้านแม่กำปอง ฝากไปถึงภาครัฐให้เข้ามาช่วยสนับสนุน

ส่วนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการพัฒนาพลังงานทางเลือก วัชรี เผ่าเหลืองทอง กลุ่มศึกษาพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคต หยิบยกกรณีตัวอย่างที่จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งนำแกลบมาใช้เป็นเชื้อเพลิงเผาไหม้เพื่อผลิตไอน้ำสำหรับใช้ในการผลิตไฟฟ้า และจังหวัดตรัง นำเศษไม้ยางพารามาใช้ในกระบวนการเดียวกัน โดยชี้ให้เห็นว่าเป็นโครงการพลังงานชีวมวลหรือ Bio-mass ที่นำของเหลือจากการเกษตรมาผลิตไฟฟ้า แม้ว่ามีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าเชื้อเพลิงจากฟอสซิล แต่กลับถูกชุมชนคัดค้านปฏิเสธ เนื่องจากขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในชุมชนตั้งแต่เริ่มตั้งโครงการ

"ถ้าเป็นโครงการพลังงานไบโอแมสขนาดใหญ่ ก็จำเป็นต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านสังคมด้วย เพราะการนำแกลบหรือวัสดุอื่นๆมาเผาจะทำให้มีฝุ่นละอองฟุ้งกระจาย ชาวบ้านเดือดร้อนจึงต่อต้าน แม้จุดเริ่มต้นของพลังงานหมุนเวียนเป็นแนวคิดที่ดี แต่โครงการถูกตีกรอบจากส่วนกลางจึงทำให้ชุมชนขาดการมีส่วนร่วมในการพัฒนาทั้งๆชุมชนที่มีข้อมูลเกี่ยวข้องกับพื้นที่ดีกว่าคนนอก อีกทั้งภาครัฐไม่สนับสนุนด้านงบประมาณ ชุมชนจึงต้องขวนขวายหาเงินเอง เช่นชุมชนที่ทับสะแก ลงขันตั้งโรงงานหีบน้ำมันมะพร้าว 5 ล้านบาท แต่ไม่มีการบริหารจัดการที่ดีพอ โรงงานจึงถูกตั้งไว้เฉยๆไม่ได้ใช้งาน"

ประเด็นการมีส่วนร่วมของชุมชนต่อการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนว่า ถ้าชาวบ้านไม่ตื่นตัวลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตัวเอง หลักธรรมาภิบาลก็จะไม่เกิด ดังนั้นการเริ่มต้นลงทุนโครงการพลังงานหมุนเวียน อันดับแรกต้องมีข้อมูลพื้นฐานอย่างเพียงพอว่า ทรัพยากรในท้องถิ่นมีศักยภาพเพียงพอหรือไม่ และวางกลไกในการจัดการปัญหาเช่น การชดเชยความเสียหายอย่างยุติธรรม เพื่อให้ชาวบ้านมีหลักประกันบางอย่างเป็นการแลกเปลี่ยนกับการสูญเสีย หรือผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสังคม นอกจากนี้ส่วนกลางต้องให้อำนาจในการตัดสินใจแก่ชุมชนด้วย

 

 

 

หนังสืออ่านเพิ่มเติม

ชัยอนันต์ สมุทวณิช ... และคนอื่น ๆ.2544.ธรรมาภิบาลการมีส่วนร่วมของประชาชนและกระบวนการทางด้านสิ่งแวดล้อม. กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

สุธาวัลย์ เสถียรไทย ; บรรณาธิการ.2546. ธรรมาภิบาลด้านสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม . กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.).

สัมมนาวิชาการ"สิ่งแวดล้อมไทยภายใต้ภาวะวิกฤติ" (2542 : ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์)  .เอกสารสัมมนาวิชาการ"สิ่งแวดล้อมไทยภายใต้ภาวะวิกฤติ" ภาวะโลกร้อน : ภาระใหม่ทางการพัฒนาของประเทศไทย, ชุมชน-แนวกันชนเพื่อป่าไม้ไทยในอนาคต, ธรรมาภิบาลในการจัดการสิ่งแวดล้อม-บทบาทของภาคึท้องถิ่น, การประยุกต์ใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ในการจัดการสิ่งแวดล้อม : ความเป็นไปได้และแผนการดำเนินงาน 25 กุมภาพันธ์ 2542. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร. ม.ป.ท. : สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย



[1] สาขาวิชาสังคมวิทยาการพัฒนา  มหาวิทยาลัยขอนแก่น

[2] http://th.wikipedia.org/wiki/

[3] แปลจาก What is good governance : http://www.unescap.org : http://www.sakonarea1.go.th/rnd/krusakon/article/good.pdf

[4] http://www.sut.ac.th/ird/VIJAI_Content/finished/Form/new_strategy.doc

[5]ไทยโพสต์  วันที่ 22/08/2005 : http://www.biothai.net/news/view.php?id=2035

หมายเลขบันทึก: 358057เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2010 18:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 18:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท