ครูหยุยเสนอการศึกษาโมเดลใหม่


โมเดลใหม่ทางการศึกษา

 

 

 

ครูหยุยเสนอการศึกษาโมเดลใหม่

                เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2553 ที่ผ่านมา คณะครุศาสตร์ จุฬาฯได้ร่วมมือกับหนังสือพิมพ์มติชน จัดเสวนาใหญ่ในหัวข้อ “ปฏิรูปการศึกษาทศวรรษที่ 2 ”ขึ้น ซึ่งผมเป็นผู้หนึ่งที่ถูกเชิญให้เข้าร่วมเสนอความคิดเห็นด้วย  ผมไม่ได้พูดอะไรมากนัก เสนอเพียงประเด็นเดียวสั้นๆ  ซึ่ง “คุณสมหมาย ปาริจฉัตต์”บรรณาธิการอาวุโสเครือมติชน  ให้ความสนใจนำไปเผยแพร่ในนิตยสารมติชนรายสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16-22 เมษายน 2553  ดังผมได้ขอคัดลอกมานำเสนอไว้  ดังนี้

...............อีกท่านหนึ่งคือคุณวัลลภ ตังคณานุรักษ์หรือครูหยุย อดีตสมาชิกวุฒิสภาหลายสมัย เสนอโมเดลใหม่ในการผลักดันปฏิรูปการศึกษา โดยใช้จังหวัดเป็นฐานการขับเคลื่อน เพราะเห็นตัวอย่างมาแล้วในบางจังหวัด สามารถพัฒนาในทุกด้านไปพร้อมๆ กันได้ จนเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน เพราะจังหวัดเป็นที่รวมของกิจกรรม ไม่ว่าการศึกษา เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและการเมือง  การศึกษาไม่สามารถแยกตัวออกโดดๆ โดยละเลยปัญหาสังคม สิ่งแวดล้อมไปได้ เช่นเด็กเร่ร่อน เด็กถูกทอดทิ้ง เด็กทุพโภชนาการ เด็กออกจากโรงเรียนกลางครัน เด็กมีเพศสัมพันธุ์ก่อนวัยอันควร  และปัญหาครอบครัวต่างๆ  หากทุกฝ่าย ทุกองค์กร ภาคการเมือง ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมร่วมมือกัน  มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นตัวช่วย จะทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลง

เพราะการศึกษาเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจสังคม ช่วยแก้ปัญหาชาวบ้านได้...........

              .จากนั้นคุณสมหมาย ได้สรุปเชื่อมโยงต่อไปว่า ข้อคิดของครูหยุยสอดคล้องกับสิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการสมัยคุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นรัฐมนตรี เริ่มขยับเรื่องนี้ไว้บ้างแล้ว มีการเขียนแผนการศึกษาจังหวัด แผนการศึกษากลุ่มจังหวัด 19 กลุ่ม สนองรับกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและแผนการศึกษาแห่งชาติ   น่าจะเป็นจังหวะที่สอดรับกันพอดี ที่กฎหมายแบ่งเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศีกษา ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา  แนวคิดเรื่อง ใช้จังหวัดเป็นฐานผลักดันปฏิรูปการศึกษาจึงน่าคิด พิจารณาคู่ขนานไปกับการกำหนดเขตพื้นที่มัธยมศึกษาที่กำลังดำเนินอยู่ จะเชื่อมโยงการศึกษากับภาคส่วนอื่นๆ อย่างไร  จะดึงภาคส่วนอื่นๆ มาร่วมขบวนปฏิรูปให้เกิดผลถึงเด็กจริงๆ เสียทีได้อย่างไร................

                 อ่านแล้ว ได้ความเช่นไร เห็นอย่างไร  วิพากษ์วิจารณ์เสนอแนะเพิ่มเติมได้นะครับ

..........................................

 

หมายเลขบันทึก: 356994เขียนเมื่อ 8 พฤษภาคม 2010 15:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

สวัสดีครับ  ขออนุญาตแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยครับ

    ตามความคิดเห็นส่วนตัวของผมนะครับ(อาจจะผิดก็ได้)

   จังหวัดขับเคลื่อนการศึกษา   ผมว่ามีทั้งข้อดีและข้อจำกัดนะครับ

   ข้อดี คือ  สามารถจัดการศึกษาได้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละจังหวัด  เพื่อสะท้อนความเป็นท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง  การศึกษา กับ  ท้องถิ่น  ต้องไปด้วยกันครับ  ประเด็นนี้  ผมเห็นด้วยเต็มที่ครับ

   แต่ก็มีข้อจำกัดครับ   ผมมองไปที่  2  M

   Man  บุคลากร   ใครจะขับเคลื่อนครับ   ผู้ขับเคลื่อนต้องเป็น  "มืออาชีพทางการศึกษา"  และมีความเป็น  "ผู้นำทางการศึกษา"  ซึ่งคนที่ทำตรงนี้  ต้องเป็นคนที่นอกจากมีความรู้ความสามารถในด้านการศึกษาแล้ว  จะต้องเป็นคนที่มองภาพเชิงระบบ Systems  thinking นั่นคือ สามารถหลอมรวมทุกๆเรื่องเข้าสู่การศึกษาได้  ทั้ง เศรษฐกิจ  สังคม และ การเมือง ซึ่งตรงนี้  ผมว่าบางที จังหวัดก็ไม่พร้อมนะครับ

   Management   การบริหารจัดการ  ต้องยอมรับว่าสังคมไทยเราเป็นสังคมเชิงอุปถัมภ์  ทีนี้  การบริหารจัดการ จะมั่นใจได้อย่างไรครับ  ว่าจะปลอดจากการเมือง  จากระบบพวกพ้อง  บางที  จะหนักว่าที่การศึกษาขึ้นกับส่วนกลางนะครับ

   ผมว่าถ้าขจัดเงื่อนไขข้อจำกัด  2 M  นี้ไปได้   ผมว่าการให้จังหวัดจัดการศึกษา  เป็นภาพที่สวยงามครับ

จากความคิดเห็นเรื่องการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาที่คุณครูหยุยแสดงมานั้น คิดว่าปกติแผนผลักดันแต่ละจังหวัดก็ทำอยู่แล้ว แต่ไม่เป็นเอกภาพและไม่จริงจัง เพราะงานด้านอื่นก็ล้นมือ

ปัญหาแต่ละจังหวัดเกิดขึ้นมาจากคนสองกลุ่ม คือกลุ่มนักการเมืองกับกลุ่มข้าราชการ


กลุ่มนักการเมืองมุ่งหาผลประโยชน์ใส่ตนและพวกพ้อง ไม่ได้มีอุดมการณ์เพื่อแก้ไขปัญหาสังคม
เขาสามารถใช้เงินซื้อเสียงมากกว่าการสร้างคุณงามความดี

กลุ่มข้าราชการก็กลัวฝ่ายการเมือง จึงมีแต่เกียร์และเกียร์ถอย

ขอบคุณคุณ Smallman มากครับสำหรับความคิดเห็น น่าไตร่ตรองมากครับ

ความเห็นของคุณ Premium ก็จริงดั่งว่า ปัญหาจึงอยู่ที่การทำให้การเมืองสะอาด ซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกนานหลายปี แต่ผมก็เชื่อมั่นนะครับอนาคตจะต้องดีขึ้นเรื่อยๆ

ความรู้ที่ได้ดีมากจะนำมาปรับใช้กับอาชีพให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับนักเรียนคะ

ขอบคุณครูเสือที่แวะมาเยี่ยมเยียน ดีใจที่ข้อเขียนมีประโยชน์ครับ

...เห็นด้วยกับการปฏิรูปการศึกษาโดยใช้จังหวัดขับเคลื่อน...

จริงๆแล้ว ตามความเห็นของข้าพเจ้า รู้สึกว่าระบบการศึกษาที่เรียนมานั้นไม่สามารถใช้ได้

เต็มที่ในชีวิตประจำวันทั้งๆที่ตัวเองเป็นเด็กเรียน และตั้งใจเรียนมาก (ได้ที่ 1 มาตลอดและจบม.สงขลานครินทร์ 3 ปีครึ่งคนแรก)

ข้าพเจ้าจบเทคโนโลยีชีวภาพ แต่ตอนที่ไปสมัครงานที่โรงงานผลิตถุงมือยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง ข้าพเจ้าได้ใช้ความรู้ที่ไปอบรมเรื่องยางและถุงมือยางแค่ 2-3 วันแล้วนำมาบูรณาการกับความรู้ที่มี ทำให้ได้เงินเดือนเริ่มต้นที่มากพอสมควร หลังจากนั้นข้าพเจ้าก็พยายามเรียนรู้หน้าที่งานใหม่ๆ รวมทั้งมีเจ้านายต่างประเทศทุกคน ทำให้เรามีอิสระที่จะคิด ข้าพเจ้าได้ทำงานทุกตำแหน่งในบริษัทต่างชาติแห่งนี้ ผลสุดท้ายข้าพเจ้าก็สามารถตกผลึกความคิดรวบยอด และนำมาเปิดบริษัทเอง แต่เมื่อถึงจุดอิ่มตัว และข้าพเจ้าตั้งใจที่จะสร้างคน....ข้าพเจ้าเลยละทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อจะมาศึกษาวิจัยด้วยตัวเอง ว่าทำอย่างไรถึงจะสร้างคนให้ได้เป็นคนที่สมบูรณ์จริง

....

เมื่อตั้งใจจะมีลูก ก็พร้อมที่จะเป็นแม่ที่ดีของลูก

เนื่องจากเมื่อก่อนข้าพเจ้าตั้ง

สวัสดีครับ..คุณครูหยุย ด้วยความเคารพ

.....

กระผมเฝ้าอ่านเรื่องราวความตั้งใจดีของคุณครูในบทความที่ได้นำเสนอ และคิดว่าเป็นจริง เป็นดีได้ เพราะคุณครูเป็นบุคคลใจดี มีความตั้งใจจริง แต่สิ่งหนึ่งที่กระผมมีความประสงค์ที่จะอยากนำเสนอถึงเรื่องปัญหาเด็กที่ว่าด้วย ออกจากโรงเรียนกลางคัน ซึ่งตรงเรื่องนี้ กระผมก็ได้มีปัญหาและประสพตรงกับเด็กนักกีฬาที่เล่นกีฬาอยู่ กระผมอยากจะสื่อตรงนี้ว่า ...ควรจะมองพื้นฐานของเด็กคนคนนี้ (ที่ออกจากโรงเรียนกลางคัน) เพราะปัญหาจริงแล้ว เราไม่ได้มองที่เด็กเป็นสำคัญ เรากลับมองที่นโยบายทางด้านการวางแผนการศึกษา เรามองว่า เด็กน่าจะเรียนได้ เด็กน่าจะศึกษาได้ เด็กบางคน พื้นฐานทางด้านการศึกษาไม่มีเลย แต่มีความจำเป็นที่จะต้องไปเรียน เพื่อให้เข้าหรือจบชั้นบังคับ เมื่อพบว่าอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ไม่รักเรียน กลับเหมือนไปสร้างภาระให้สถานศึกษาเพิ่มขึ้นไปอีก

กระผมขอเสนอแนะว่าเราน่าจะพิจารณาความสามารถทางด้านอื่นเป็นเชิงบวก ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของเด็กที่อยู่บ้านกระผมสองคน และเด็กที่หนีเรียนด้วยทุกคน คนหนึ่ง คุณครูบอกว่า ถ้าเธอเรียนไปก็ไม่จบ เพราะอะไร เพราะเขาไม่เข้าไปเรียน เขาใช้เวลาส่วนใหญ่ไปอยู่ที่ใต้สะพาน กระผมชวนให้เขามาแข่งจักรยาน ชวนให้เขามาทำความดี และความสามารถที่เขาทำ คือการได้ผลในเชิงบวก แต่เมื่อกลับไปโรงเรียน เมื่อไปอยู่ในสถานศึกษา เขาพบว่า เขาไม่สามารถอยู่ ณ ที่นั้นได้ เพราะเขาไม่สามารถตามเรื่องเรียนได้ เขาไม่รู้เรื่องเลย และสิ่งสำคัญ เหมือนเขาเป็นอะไรที่เมื่ออยู่ไป จะทำให้โรงเรียนเดือดร้อน จะทำให้เสียชื่อเสียงในสายตาคนอื่น เมื่อเขาไม่รักเรียน ผนวกกับโรงเรียนกลัวเสียชื่อเสียงว่ามีเด็กเรียนไม่ดีอยู่ มีเด็กไม่รักดีอยู่ มีเด็กเกเร นี้จึงเป็นปัญหาอย่างใหญ่ยิ่ง สำหรับเด็กที่ออกจากโรงเรียนกลางคัน

......

เด็กคนนี้อยู่กับกระผมที่บ้านจักรยานหลังนี้ กินนอนซ้อมจักรยานอยู่ที่นี้ ทุก ๆ วัน เขาออกไปซ้อมจักรยาน เสี่ยงภัยเสี่ยงชีวิตบนท้องถนน กระผมได้พยายามสื่อสารในเรื่องการดำรงชีวิต ต่อไปจะเป็นการหาอาชีพรองรับให้กับเด็กโดยตรง ด้วยการให้เรียนเรื่องงานช่าง เมื่อเลิกเล่นจักรยาน จะได้สร้างงานให้ตนเองได้ และให้เขาเลือกไปเรียน กศน. แทน ซึ่งต้องขอขอบพระคุณมากครับ ที่มี กศน. มารองรับทางด้านการศึกษา

....

ปัญหาที่สำคัญที่กระผมกำลังจะเรียนบอกกล่าวนี้ มิใช่อยู่ที่เด็กด้วยประการหนึ่งว่า เป็นเพราะเขาไม่ดีถึงออกจากโรงเรียนกลางคัน ถ้ากระผมเป็นคุรุ เป็นครู กระผมจะไม่ปล่อยให้เขาออกไปกลางคัน จะพยายามนำเขาไปเรียนให้ได้ เขาอาจจะอ่านภาษาอังกฤษไม่ออกเลย แน่นอนเขาไม่สามารถที่จะคิดเลขได้อย่างเด็กอื่นโดยทั่วไป แต่เราก็น่าจะช่วยเขาให้ได้รับการศึกษา ด้วยการศึกษาที่เหมาะสม การศึกษาที่เหมาะสม ไม่จำเป็นจะต้องว่าไปตามเกณท์ในระดับชั้น การศึกษาที่เหมาะสมคือมีความเหมาะสมกับเด็กคนนี้ กลุ่มนี้ เป็นต้นว่า เมื่อเราดึงเด็กที่อยู่ใต้สะพานลอยมาให้เขาทำกิจกรรม กวาดพื้นโรงเรียน กวาดถนน เก็บไบไม้ใบหญ้า ตกแต่งทาสีโรเงรียน เป็น รปภ. ให้นักเรียน ตรงนี้ก็เป็นการศึกษา เพราะเมื่อมีการวางรากฐานทางด้านการคิดที่ดี ปลูกฝังเรื่องที่เป็นการดำรงชีวิต ชีวิตเขาจะไม่ขาดการศึกษา เพราะการศึกษาเดินทางคู่ไปกับชีวิต........

.......

กระผมอ่านภาษาอังกฤษไม่ออกเลย แต่กระผมก็สามารถอ่านได้ เพราะมีความตั้งใจที่จะศึกษา ในช่วงเรียน กระผมสอบเลขไม่ผ่าน แต่วันนี้ ก็สามารถทำได้ เพราะกระผมมีครูใจดี ได้คอยมาตามที่บ้าน บอกว่าให้ไปโรงเรียน มาตามทุกวัน จนกระผมเกิดความเกรงใจคุณครูมาก อ่านไม่ออกก็อยากไปโรงเรียน ที่ไปโรงเรียนเพราะมีครูคอยให้กระผมทาสีขอบรั้ว มีครูคอยบอกว่า เธอทำสิ่งนั้นได้นะ ทำสิ่งนี้ได้นะ....มันทำให้กระผมอยากไปโรงเรียน และการที่ครูคอยสร้างพลังใจให้ กระผมสำนึกได้ว่า เป็นการสร้างความพยายามให้เกิดขึ้นกับจิตใจของเด็กอย่างแท้จริง นี้คือสิ่งที่กระผมประสพพบความจริง......

.

.การศึกษาเป็นเรื่องที่ดีอย่างมาก สามารถทำให้ชีวิตเรามีสติปัญญาได้ด้วยการศึกษา มีความรู้ได้ด้วยการศึกษา กระผมพบว่า การศึกษาที่เหมาะสมกับตัวกระผม คือการที่กระผมรู้ได้ในความพอดีกับสิ่งที่ตนเองมีความสามารถที่จะรู้ กระผมไม่สามารถที่จะเดินทางไปดวงดาวได้ดั่งนักวิทยาศาสตร์ แต่กระผมก็ไม่จำเป็นจะต้องไปเรียนรู้อย่างนักวิทยาศาสตร์ สิ่งที่กระผมช่วยได้คือเสียภาษีให้ประเทศชาติ พัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ เช่นเดียวกัน เด็กที่ทาสีโรงเรียนอยู่นั้น ก็สามารถช่วยโรงเรียนได้ ช่วยเพื่อนได้ เพราะเพื่อนที่กำลังเรียนอยู่ในชั้น จะไปเป็นนักวิทยาศาสตร์แทนเขา เด็กที่กำลังกวาดถนนในโรงเรียนอยู่ เขาก็สามารถช่วยเพื่อนที่เรียนอยู่ได้ เพราะเพื่อนกำลังไปเรียนเป็นครู เป็นตำรวจ เป็นทหาร เป็นหมอ แต่เขาช่วยได้ แม้เขาไม่เป็นอะไรเลย เพราะเขาได้ช่วยเป็นประชาชนที่ดีงามของประเทศชาติ

......

กระผมมีความคิดเห็นเช่นนี้ ว่า ชีวิตเราต่างมีความสัมพันธ์กัน การศึกษามิใช่การแบ่งแยกชีวิต เมื่อการศึกษาไม่แบ่งแยกชีวิต ทุกชีวิตจะสัมพันธ์กันด้วยความดี ด้วยหน้าที่พลเมืองที่ดีงามขอรับ...

......

กระผมขอเสนอแนวความคิดไว้ในมุมมองที่ได้ไปตามเด็กใต้สะพานลอย...... และวันนี้ เวลานี้ เด็กชายสองคนนี้ กำลังออกซ้อมจักรยานทางไกลเป็นระยะทางร่วม 200 กิโลเมตร เส้นทางสายเขื่อนแควน้อย พิษณุโลก เพื่อเตรียมตัวไปแข่งจักรยานชิงแชมป์ประเทศไทย ในเดือนหน้า และกระผมจะขอทำรายงานสรุปให้ท่านชมเรื่องราวของเด็กคนนี้ ในการแข่งขันจักรยาน.....

.......

เพราะอะไรนะหรือ เพราะเด็กคนนี้ ออกจากโรงเรียนกลางคัน ตอน ม.2 ครับ

ด้วยความเคารพขอรับคุณครู กระผมขอนำเสนอเรื่องแนวความคิดตรงนี้ ไว้ให้พิจารณาอีกหนึ่งแนวความคิดครับ และความคิดตรงนี้ คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงครับ ขอบพระคุณมากครับ

....

ด้วยความเคารพ

เนิ่ม ชมภูศรี

คุณอรอนงค์ครับ พื้นฐานที่เรียนมานั้น แม้อาจจะรู้สึกว่าได้ผลไม่ดีนัก แต่ผมก็เชื่อว่าการเล่าเรียนมานั้น ก็ยังพอจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เราเชื่อมั่นในตนเอง พัฒนาตนเองและสร้างสรรค์ด้วยตนเองชนิดต่อยอดขึ้นได้ ดีใจด้วยครับกับพัฒนาการที่ไปได้อย่างน่าภาคภูมิใจ

คุณเนิ่มครับ ขอบคุณสำหรับสาระสำคัญที่ถ่ายทอดมาให้ผมได้ทราบ แท้จริงแล้ว การศึกษาไม่ได้อยู่เฉพาะในห้องเรียนครับ และมนุษย์ทุกคนไม่พร้อมเหมือนกัน บางคนเก่งนั่น บางคนเก่งนี่ ดังนั้นเด็กบางคนอาจเรียนช้าในระบบ แต่เขาจะเติบใหญ่มากนอกระบบ เมื่อพร้อมหรืออยากเรียนค่อยมาเรียนในระบบหรือ กศน.

นี่คือหลักเรียนเมื่อพร้อมครับ เมื่อพร้อมที่จะเรียนแล้ว จะเรียนได้เร็วและมีความสุขสนุกกับการเรียน

สิ่งที่คุณเนิ่มทำ คือหลักการสำคัญข้างต้นนี่ครับ ตรงใจผมจังเลยครับ

สวัสดีครับ คุณครูวัลลภ...

.

กระผมเข้ามาอ่านข้อความคิดของคุณครู ทำให้มีกำลังใจ มีกำลังใจมาก พบพลังใจ ในการเดินทางบนเส้นทางสายแห่งความรัก ขอขอบพระคุณมากครับ ด้วยความเอื้ออารีย์ที่ถ่ายทอดเป็นตัวอักษร ดำดิ่งสู่ใจกระผมขอรับ...

...

ด้วยความเคารพ

เนิ่ม ชมภูศรี

คุณเนิ่มครับ ขอบคุณเช่นกันครับ ที่ทำให้ผมรู้ว่า มีคนอีกคนที่กำลังช่วยด็กๆ ที่ประสบปัญหาอยู่ หากมีอะไรที่ผมพอจะเสริมเติมช่วยได้ ประสานมานะครับ จะพยายาม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท