ฮีตที่หก "บุญบั้งไฟ" ตอนที่ 1


ฮอดเดือนหกเสียงฟ้าไขประตูฮ้อง
ขอกข่าวเมืองคนมีแต่ฝนกับลมส่งเสียงกึกก้อง
สายตามองเห็นแล้วในใจก็หากม่วน
เขียดอีโม้ออกเต้นฟ้อนเกี้ยวใส่ผู้สาว

ครืน.....เสียงดั่งสนั่นและกลุ่มควันสีขาวที่เป็นทางยาวฟุ่งสู่ท้องฟ้าสูงลิบลับสุดลูกหูลูกตา     สำหรับคนไทยโดยมากแล้วเมื่อเห็นปุ๊บก็รู้ทันที ว่าเป็นร่องรอยของบั้งไฟที่พึ่งทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้านั่นเอง ซึ่งโดยทั่วไปแล้วในการจุดบั้งไฟ ทางภาคอีสานนั้นก็เพื่อขอฝนจากพญาแถน* ซึ่งก็คลาย ๆ กับประเพณีแห่นางแมวในภาคกลาง

ประเพณีบุญบั้งไฟนั้นเป็นประเพณีที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องและสืบทอดมายาวนานหลายชั่วอายุคน ตามความเชื่อว่าเป็นการขอฝนกับพญาแถนและเป็นงานบุญที่จัดขึ้นในเดือนหก (พฤษภาคม) ของทุก ๆ ปี ประเพณีบุญบั้งไฟนั้นเต็มไปด้วยความสวยงามมากมายหลายแง่มุมไม่ว่าจะเป็นเรื่องการอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น, การส่งต่อภูมิปัญญาชาวบ้านการสานสัมพันธ์ของคนในหมู่บ้านทุกช่วงอายุ และการส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่  ทุก ๆ ช่วงวัย สำหรับบทความเรื่องบุญบั้งไฟนี้กระผมก็จะมาเล่าให้ฟังไปเรื่อย ๆ และกันครับ ว่าที่บ้านธาตุเค้าจัดบุญบั้งไฟอย่างไรกัน...

ผมได้มีโอกาสเดินทางเพื่อไปบันทึกภาพเทศกาลบั้งไฟโลกบั้งไฟล้าน ตำนานม้าคำไหลที่ ต.บ้านธาตุ อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี ในช่วงวันที่ 24 เมษายน ถึง 29 เมษายน พ.ศ. 2553 โดยปีนี้ได้มีการนำงานอุดรโลกมารวมอยู่ด้วยกันทำให้งานครั้งนี้มีความหลากหลายเป็นพิเศษ การฉลองบุญบั้งไฟที่บ้านธาตุมีใจความสำคัญเพื่อบูชาพระบรมสาริริกธาตุ “นิ้วก้อยพระพุทธเจ้า” ,แห่แหนม้าคำไหล* ผู้ซื่อสัตย์  และเพื่อแก้บนในสิ่งที่ได้บาไว้ในปีที่แล้ว  

จากคำบอกเล่าของผู้หลักผู้ใหญ่ในพื้นที่ทำให้ทราบประวัติความเป็นมาของม้าคำไหลดังนี้      

      เมื่อครั้งนานมาแล้ว “พระศรี” และราษฎรได้ร่วมกันบูรณะซ่อมแซมองค์พระเจดีย์พระศรีพระมหาธาตุ (ปัจจุบันองค์พระเจดีย์นี้อยู่ภายในเขตวัดศรีเจริญโพนบก ต.บ้านธาตุ) ซึ่งองค์พระเจดีย์แห่งนี้สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยขอมปกครอง บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ (กระดูกนิ้วก้อยของพระพุทธเจ้า) หลังจากบูรณะซ่อมแซมเสร็จ ได้ฉลองสมโภชซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือนหก ด้วยการทำบั้งไฟมาจุดถวาย ขณะนั้นมีการระบาดของอหิวาตกโรค จึงได้มีการบนบานให้บ้านเมืองพ้นจากวิบัติภัยต่างๆ ซึ่งช่วงเวลาเลวร้ายดังกล่าวก็ผ่านพ้นไปด้วยดี

เมื่อ “พระศรี” เสียชีวิตไม่นาน ม้าที่ท่านเคยขี่ประจำได้ตรอมใจตายตาม เพราะอาลัยต่อพระศรี ครั้นถึงวันเพ็ญเดือนหก จึงจัดงานฉลองสมโภชดังที่เคยปฏิบัติมา ทุกปีเพื่อระลึกถึงพระศรี

 

      ต่อมามีการสร้างม้าคู่ชีพของ “พระศรี” ขึ้น แทนม้าที่ท่านเคยขี่ ลักษณะทำจากโคนไม้ไผ่บงเนื้อแข็ง ยาว 72 เซนติเมตร ประกอบด้วย ส่วนหัวมีหู 2 ข้าง ตา 2 ข้าง ทำด้วยเม็ดหมากลิหล่ำ ยาว 18 เซนติเมตร , ส่วนลำตัวยาว 47 เซนติเมตร และส่วนหาง ลักษณะคล้ายกับหางพระยาครุฑ เมื่อสร้างเสร็จก็ทำพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์อัญเชิญดวงวิญญาณม้าพาหนะให้เข้าสิงสถิตย์อยู่ในม้าตัวที่สร้างจำลองขึ้นมานี้ และให้ชื่อว่า “ม้าคำไหล” (คำไหล มาจากคำว่า ไปได้ทุกที่ไม่ว่าจะเป็นทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ จากตามคำบอกเล่าของบรรพบุรุษ) จึงเกิดเป็นตำนานม้าคำไหล

 

      เมื่อถึงวันเพ็ญเดือนหกของทุกปี ชาวบ้านจะนำบั้งไฟมาจุดถวาย “องค์พระศรีมหาธาตุ” พร้อมกับการทรงขี่ม้าคำไหล ผู้ทรงประกอบไปด้วยผู้สูงอายุ ลูกหลานในหมู่บ้านที่เป็นบริวาร เพื่อเป็นร่างทรงของพระศรี เสด็จเยี่ยมชาวบ้านไปทุกหลังคาเรือน เพื่อที่จะไล่เสนียดจัญไร สิ่งที่ไม่ดีออกจากบ้าน ให้ประสบแต่ความสุขความเจริญ การปฏิบัติและสืบทอดกันมา จะขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้ จึงถือเป็นของคู่บ้านคู่เมืองซึ่งถ้าหากขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ว่าจะเป็นม้าคำไหลหรือบั้งไฟ บ้านเมืองจะเกิดความไม่สงบสุข จึงเกิดเป็นตำนานบั้งไฟและม้าคำไหลสืบทอดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

ร่างทรงพระศรีและบริวาร

**ที่มาตำนานม้าคำไหล**

หมายเลขบันทึก: 356062เขียนเมื่อ 4 พฤษภาคม 2010 18:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ยังไม่เคยชมการแห่ การจุดบั้งไฟด้วยตาตนเองเลยสักครั้งค่ะ คนได้ชมของจริงคงรู้สึกตื่นเต้น ตระการตามากกับภาพแรกนะคะ และการได้เห็นผู้คนที่มารวมกัน มีความเชื่อ ความเคารพในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในสิ่งเหนือธรรมชาติก็เป็นสิ่งที่ไม่ได้พบง่ายนักในโลกยุคนี้ อันเป็นยุคที่คนส่วนใหญ่เชื่อแต่อำนาจของเงินและทำอะไรตามความต้องการของตนเองเป็นหลัก

ขอบคุณที่เก็บภาพชีวิตและเล่าเรื่องได้งดงามมาฝากกันค่ะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท