ผชช.ว.ตาก (24): เตรียมการฝึกอบรมหลักสูตร "หมออนามัยติดปีก"


ในแวดวงการบริหาร มีคำกล่าวว่า "ล้มเหลวที่จะวางแผน เท่ากับวางแผนที่จะล้มเหลว" และ "ตั้งความหวังในสิ่งที่ดีที่สุด แต่ต้องเตรียมการรับสิ่งที่เลวที่สุด" การทำงานในรูปแบบทีมงานเฉพาะกิจที่ต่างคนต่างมีภารกิจประจำของตนเองอยู่ ต้องการการวางแผนที่ดีและบริหารจัดการให้เป็นไปตามแผนพร้อมกับตื่นตัวรับกับเหตุการณืที่ไม่คาดฝันเสมอ แต่เมื่อทำอย่างดีที่สุดแล้วได้แค่ไหน ก็ทำใจยอมรับได้

การจัดทำหลักสูตรถือว่ายากแล้ว แต่การเตรียมการและจัดการฝึกอบรมยากยิ่งกว่า เราทำงานภายใต้ความจำกัดของเวลา และถูกควบคุมกำกับโดยบุคคลภายนอก งบประมาณสนับสนุนโดย สปสช. ที่มีกรอบระยะเวลาและการประเมินผลที่ชัดเจน งบสนับสนุนอีกส่วนหนึ่งได้รับความอนุเคราะห์จากองค์การ IRC หรือ International Rescue Committee ส่วนเรื่องการเตรียมความพร้อมและคุณภาพการฝึกอบรมถูกกำกับโดยคณะทำงานจากคณะแพทยสาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และความสำเร้จโดยรวมของโครงการถูกจับตาดูทั้งคนที่อยากเห็นความสำเร็จและคนที่อยากเห็นเราล้มเหลว

ทีมงานจัดการฝึกอบรมจึงมีการระดมคนที่มีใจที่อยากเห็นความสำเร็จ อยากเห็นการพัฒนาจากทั้งใน สสจ.ตาก โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน สาธารณสุขอำเภอและสถานีอนามัย มาร่วมกันทำงานเพิ่มจากงานประจำด้วยใจและสมอง เรามีการประชุมพูดคุยกันหลายครั้ง รายละเอียดกิจกรรม โครงการ วัน เวลา สถานที่ มีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ไม่นิ่ง การสื่อสารทีมงานต้องใช้ทั้งเจอกันจริง (ซึ่งทำได้น้อย) โทรศัพท์และอีเมล์ หลายคนมาช่วยด้วยเพราะเห็นใจผม อยากช่วย แม้งานส่วนตัวจะหนักอึ้งและหลายคนมาเพราะผมขอให้ช่วย

หลักสูตรการฝึกอบรมใช้เวลาศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ 18 สัปดาห์ เรารับผู้อบรมจำนวน 90 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่มๆละ 45 คน แยกเป็นสองห้องเรียน ฝั่งตะวันตก (สายน้ำเมย) กับฝั่งตะวันออก (สายน้ำปิง) ตอนแรกจะเรียกเป็น 2 รุ่น แต่เปิดเรียนพร้อมกัน แต่สุดท้ายก็สรุปว่าเป็นรุ่น 1 แต่ สองห้องแทน และมีผู้สมัครเรียน 87 คน โดยเรียนฟรี ไม่ต้องลงทะเบียน ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นๆเบิกได้ตามระเบียบการเดินทางไปราชการ ฝั่งตะวันตกเรียนที่โรงพยาบาลแม่สอดและ สสอ.แม่สอด ส่วนฝั่งตะวันออกเรียนที่ สสจ.ตากหรือ สสอ.เมืองตาก ในแต่ละวันจะมีวิทยากรพี่เลี้ยง 1 คน คอยดูแลขณะที่วิทยากรมาบรรยาย

การประเมินความพร้อมและพื้นฐานความรู้ความสามารถก่อนรับการฝึกอบรม มีการสอบFoundation test และการทำ Before action review (BAR)  ก่อนฝึกอบรม เพื่อทราบพื้นฐานและความคาดหวังของแต่ละบุคคลและนำมาเป็นแนวทางการจัดกระบวนการและเนื้อหาการฝึกอบรม

การเตรียมความพร้อมผู้เข้ารับการอบรมก่อนฝึกอบรมตามรายวิชาที่กำหนด จัดไว้ 3 วัน ประกอบด้วยพิธีเปิด บรรยายพิเศษจากผู้ทรงคุณวุฒิ ปฐมนิเทศ ทดสอบก่อนฝึกอบรมและกลุ่มสัมพันธ์ การทำงานเป็นทีม/เครือข่ายและการทำงานเป็นทีมสหสาขาวิชาชีพทบทวนความรู้กายวิภาคศาสตร์และสรีรวิทยา 

กำหนดคุณสมบัติของผู้สอนภาคทฤษฎีมีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาโทหรือเทียบเท่า มีประสบการณ์การปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาวิชาที่สอนไม่น้อยกว่า 2 ปีและผ่านความเห็นชอบจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

การเตรียมความพร้อมของแหล่งฝึกปฏิบัติ มีอาจารย์พี่เลี้ยงที่เป็นแพทย์ที่มีประสบการณ์ทำงานไม่น้อยกว่า 1 ปีหรือพยาบาลเวชปฏิบัติที่มีประสบการณ์การทำงานไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือพยาบาลวิชาชีพที่มีประสบการณ์ทำงานไม่น้อยกว่า 5 ปี ในอัตราส่วนอาจารย์แพทย์ต่อนักศึกษาไม่เกิน 1: 8 หรือพยาบาลเวชปฏิบัติต่อนักศึกษาไม่เกิน 1: 3 หรือพยาบาลวิชาชีพต่อนักศึกษาไม่เกิน 1:2 และอาจารย์พี่เลี้ยงทุกคนต้องผ่านการเตรียมความพร้อมก่อนรับนักศึกษาฝึกภาคปฏิบัติ

เกณฑ์การประเมิน มีเวลาเรียนไม่น้อยกว่า ร้อยละ 80 และต้องได้คะแนนภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติรายวิชาไม่น้อยกว่า ร้อยละ 70

การประเมินผลภาคทฤษฎี มีการสอบข้อเขียน (Exit comprehensive examination) ร้อยละ 80 ร่วมกับประเมินพฤติกรรม ความสนใจ กิจกรรมในชั้นเรียน เวลาเรียนและงานที่มอบหมาย ร้อยละ 20

การประเมินผลภาคปฏิบัติ แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ

1. ทักษะปฏิบัติการบริการปฐมภูมิในแผนกผู้ป่วยนอก แผนกผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉิน การปฏิบัติการดูแลผู้ป่วยและครอบครัวในศูนย์สุขภาพชุมชนหรือสถานีอนามัย ร้อยละ 50 (สัดส่วนคะแนนฝึกที่ รพท: รพช: สอ เป็น 2:2:1) โดยการบันทึกประสบการณ์ลงใน Work book (Log book)

2. รายงานส่วนบุคคลกรณีศึกษา 3 เรื่องในแหล่งฝึกระดับละ 1 เรื่อง ร้อยละ 30

3. การสัมมนา การนำเสนอและการอภิปรายรายงานกลุ่ม (กลุ่มละไม่เกิน 3 คน) ร้อยละ 20

การประเมินผลการฝึกอบรมโดยรวม ประกอบด้วย

1. หลังสิ้นสุดการฝึกอบรมทันที ให้ตอบแบบสอบถาม

2. ติดตามหลังสิ้นสุดการฝึกอบรมไปแล้ว 3 เดือนโดยการประเมินผลการปฏิบัติงาน การทำ OPD Card Audit/ Family folder Audit

3. การจัดทำเครือข่ายและประเมินการมีส่วนร่วมกับเครือข่ายและมีการประชุมเพื่อจัดทำ Selected case conference

4. การประเมินโดยทีมประเมินภายใน ที่ประกอบด้วยกรรมการหลากหลายวิชาชีพโดยประเมินอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เห็นความเป็นไปของโครงการทั้งกระบวนการทางปริมาณและคุณภาพ (Qualitative and quantitative methods)

สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่ทางคณะแพทย์ มน.โดย อ.ทวีศักดิ์ ได้แนะนำให้ปฏิบัติเนื่องจากหมออนามัยไม่มีสภาวิชาชีพของตนเอง แต่ต้องทำการรักษาพยาบาล ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันและควบคุมโรค รวมทั้งการฟื้นฟูสุขภาพภายใต้การดูแลและอำนาจของนายแพทยืสาธารณสุขจังหวัด เพื่อให้สังคมเชื่อมั่นว่าหมออนามัยติดปีกที่จบการฝึกอบรมไปแล้วจะทำในสิ่งที่เหมาะสม มีคุณธรรมจริยธรรมจึงควรมีคณะกรรมการควบคุมกำกับจริยธรรมหมออนามัยติดปีกขึ้นด้วย

เรื่องจริยธรรมและการจัดการจริยธรรม ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตากแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุดชื่อคณะกรรมการควบคุมจริยธรรมหมออนามัยติดปีก โดยมีกรรมการ 15 คน มาจากการแต่งตั้งตามตำแหน่ง 7 คน คือนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตาก เป็นประธาน ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมป้องกัน ตัวแทนจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นรองประธาน และตัวแทนสาธารณสุขอำเภอ (เลือกกันเอง) 4 คน และกรรมการจากการเลือกตั้งในกลุ่มหมออนามัยติดปีกจำนวน 8 คน

มีบทบาทหน้าที่ในการกำหนดมาตรฐานจริยธรรมวิชาชีพและควบคุมกำกับให้เป็นไปตามที่กำหนด การจัดระบบสนับสนุนให้สมาชิกมีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง มีแรงจูงใจที่เป็นธรรมในการปฏิบัติงานในพื้นที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ หากมีการประพฤติปฏิบัติไม่เหมาะสมคณะกรรมการสามารถยึดคืนประกาศนียบัตรหรือถอนชื่อออกจากบัญชีรายชื่อหมออนามัยเฉพาะทางด้านบริการปฐมภูมิได้ รวมทั้งการคัดเลือกหมออนามัยติดปีกตัวอย่างที่มีผลการปฏิบัติงานเพื่อให้การยกย่องเชิดชูให้เป็นตัวอย่างแก่สังคมรวมทั้งกำหนดกฎ กติกาอื่นๆตามความเหมาะสม

หมออนามัย ที่ปฏิบัติหน้าที่ในสถานีอนามัยต้องทำการรักษาพยาบาลและด้านสาธารณสุขอื่นๆโดยไม่มีสภาวิชาชีพของตนเองรองรับ ทำให้กระบวนการพัฒนาทางด้านวิชาชีพไม่ค่อยมี การเรียนต่อก้ต้องไปเรียนสาธารณสุขศาสตร์ ที่ไม่มีวิชาหรือมีน้อยด้านการรักษาพยาบาล แต่พอออกไปทำงานกลับต้องทำงานรักษาพยาบาลเพราะชาวบ้านไม่รู้จะไปพึ่งใคร ไปโรงพยาบาลก็ยาก

จะให้พยาบาลวิชาชีพไปอยู่สถานีอนามัยก็ทำไม่ได้ทุกสถานีอนามัย และต้องใช้เวลาอีก 4-5 เดือนไปเรียนพยาบาลเวชปฏิบัติก่อน เมื่ออยู่ที่สถานีอนามัยคนเดียว ก็ทำงานรักษาคนเดียวลำบากเพราะวันไหนที่ต้องลา ต้องไปประชุม หมออนามัยที่มีอยู่เดิมก็ต้องทำการรักษาแทนอยู่ดี ดังนั้นการอบรมหมออนามัยติดปีก จึงไม่ใช่การทำให้หมออนามัยไปทำงานรักษาแทนพยาบาลทั้งๆที่ไม่มีสภาวิชาชีพ แต่เป็นการเสริมศักยภาพให้เขาเมื่อเขาต้องทำโดยไม่มีทางเลือก จะได้ทำอย่างมั่นใจ ถูกต้อง ชาวบ้านได้ประโยชน์

ในมุมมองผม สภาวิชาชีพจึงควรมองเรื่องวิชาชีพและเปิดกว้างโดยมองประโยชน์ประชาชน ภายใต้บริบทของประเทศ เปิดใจกว้าง ในส่วนเรื่องสภาวิชาชีพของหมออนามัยนั้น ผมมีความเห็นว่า การปฏิบัติหน้าที่ในสถานีอนามัยนั้น ถือเป็นการบริการปฐมภูมิซึ่งเป็นหัวใจหลักของการบริการพื้นฐานของประชาชน หากเราสามารถพัฒนาต่อยอดให้หมออนามัยเป็นนักบริการปฐมภูมิ กำหนดขึ้นมาอีกวิชาชีพหนึ่ง ให้เป็นคณะกรรมการวิชาชีพแบบแพทย์แผนไทย โดยกระทรวงออกพระราชกฤษฎีกากำหนดขึ้นตามพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542 ก็จะทำให้กระบวนการพัมนา ควบคุมกำกับจริยธรรมของหมออนามัยเกิดขึ้นได้จริง โดยไม่ต้องรอ พ.รบ. วิชาชีพสาธารณสุขสาสตร์ซึ่งมีกระบวนการที่ยุ่งยากและมีความหมายที่กว้างมากเกินไป

หมายเลขบันทึก: 355975เขียนเมื่อ 4 พฤษภาคม 2010 11:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2019 20:11 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

น่าเห็นใจคณะทำงาน ไม่ได้ถูกเชิดชู และให้เกียจและได้รับกำลังใจจากเจ้านาย

น่าเห็นใจ คนทำงาน น่าจะถูกเอ่ยชือสักหน่อย

คนทำงาน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท