๒๐ ปีกำแพงเบอร์ลินล่มสลาย(ต่อ)


...

     ในโอกาส ครบรอบ ๒๐ ปี แห่งการทลายกำแพงนี้ ทีมงานของหนังสือพิมพ์ .... ได้ไปสัมภาษณ์ผู้ที่หนีออกมาจากทางตะวันออกได้สำเร็จ และกลับไปถ่ายทำการหนี ซ้ำอีกครั้งเพื่อเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์ และนำออกเผยแพร่รายการโทรทัศน์ และข่าวหนังสือพิมพ์

หนีด้วยเรือยาง: นายอัลเฟรด โคสบาเด เป็นช่างทำเสาโทรทัศน์ให้กับโรงงานของรัฐบาล แต่ต้องการออกจากงาน มาทำกิจการของตนเอง เมื่อรัฐบาลไม่อนุญาต เขาจึงเขียนคำร้อง ถึงทางราชการตรงๆ ว่าขอออกจากตะวันออกมาอยู่เขตตะวันตก แต่ได้รับการปฏิเสธ ทำให้เขารู้สึกไม่พอใจ อึดอัดคับแค้น และอดไม่ได้ที่จะวิจารณ์ต่อว่ารัฐบาล จนเจ้าหน้าที่สตาซี่ เริ่มจับตามองเขาเป็นพิเศษ ยิ่งทำให้เขามีแรงกดดันที่จะออกไปจากประเทศที่จำกัดเสรีภาพของประชาชนนี้ให้ได้ ในปี ค.ศ.๑๙๘๘ ตอนนั้นเขาอายุ ๔๑ ปี ได้ลงทุนซื้อเรีอยาง ในราคา ๑,๘๐๐ มาร์กตะวันออก ซึ่งตามขนาดแล้ว บรรจุคนได้สามคน แต่มีสมาชิกครอบครัวทั้งหมดสี่คน คือภรรยา อายุ๔๐ปี ลูกชาย อายุ๑๘ปี ลูกสาวอายุ๑๗ปี ทุกคนฝึกพายเรือนี้ที่ทะเลชเวริน เขาใช้กล้องส่องทางไกล แอบดูการทำงานของยามรักษาชายฝั่งเขตเยอรมันตะวันออกทุกวัน วันที่ ๑๓ ตุลาคม ๑๙๘๘ เขาบอกสมาชิกครอบครัวว่าวันนี้ หมอกลงจัดและไม่มีลมพัดถ้าจะไปก็ต้องตัดสินใจ ไปกันคืนนี้เลย เขาขับรถลาดา ออกไปยังชายฝั่ง ขณะที่เขากับลูกชายกำลังขนเรือยางและเครื่องยนต์ ขนาดเล็กลงจากรถ สุนัขของยามก็วิ่งตรงมาหา พร้อมกับเห่า โชคดีที่ภรรยาและลูกสาว ตั้งสติได้ดี ไม่ตื่นกลัว ทักทายและลูบมันนิดหน่อย มันก็เงียบและเดินกลับ ไปหาเจ้านายของมันเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เขาเดาว่ายามคงจะนึกว่ามันเห่าทักทายคนที่มาเดินเล่นชายฝั่งยามเย็ม  เวลา ๑๘ น.ครอบครัวของเขาก็ช่วยกันเข็นเรือลงทะเล ทุกคนมีเอกสารสำคัญติดตัวพร้อมกับเงินทั้งหมดที่มีอยู่จำนวน ๗,๐๐๐ มาร์กตะวันออก เขาและลูกชายช่วยกันพายเรืออย่างเร่งรีบ แต่เงียบสงบด้วยความหวังว่าเป็นการเดินทางไปสู่อิสรภาพ เขาพายเรือตรงดิ่งไปยังฝั่งตะวันตกไม่ได้ เพราะมีเรือรักษาการริมฝั่งของเยอรมันตะวันออกจอดอยู่ จึงต้องพายอ้อมไป ต่อมาภรรยาของเขาก็เปลี่ยนเป็นคนพายเพื่อ ให้ลูกชายพัก ด้วยความเหนื่อยอ่อน ที่เดินทางมาถึงเก้าชั่วโมงแล้ว เธอทำพายหลุดจากมือ จมหายไปในทะเล พร้อมกับความหวังของทุกคนที่ดูเหมือนจะจมลงไปด้วย อัลเฟรด พายคนเดียวต่อไป ในความมืด และความหนาวเหน็บของอากาศ ครึ่งชั่วโมงต่อมา ทันใดนั้น เขาก็เห็นแสงไฟจากชายฝั่ง จึงตัดสินใจติดเครื่องยนต์ จุดมุ่งหมายคือแสงไฟเบื้องหน้า

     หกโมงเช้า ก่อนที่พระอาทิตย์จะขึ้น รวมระยะทาง ๑๑๑ กิโลเมตรใช้เวลาเดินทาง๑๒ชั่วโมง ทั้งครอบครัวก็มาขึ้นฝั่งที่ แคมป์ วูลเฟเนอร์ บนเกาะเฟห์มาร์น เขาคิดว่ารถคาราวานที่สวยงามเหล่านี้ ไม่มีในเขตตะวันออกแน่ จึงขึ้นไปเคาะประตูรถคันหนึ่ง เมื่อเจ้าของรถเปิดประตูออกมา สำหรับเขามันเป็นประตูที่เปิดสู่อิสรภาพเพราะ ชายเจ้าของรถยืนยันว่า ที่นี่คือเยอรมันตะวันตก และให้เงินเขาอีก ๕๐ มาร์กตะวันตก

     เรือยางสีส้มนั้น พวกเขายังรักษามันไว้ ราวกับเป็นสมบัติอันล้ำค่าของครอบครัว ในโอกาส ครอบรอบ ๒๐ ปีแห่งการทลายกำแพงนี้ ทางหนังสือพิมพ์ ได้เชิญเขาและภรรยากลับไปยังจุดเดิม และพายเรือยางลำเดิม แต่คงไม่เป็นระยะทาง ๑๐๐ กิโลเมตรแน่ เพราะบัดนี้ เขาและภรรยา ได้ใช้ชีวิตที่เยอรมันตะวันตกถึง ๒๑ ปีแล้ว

 

ครูยุ: เรื่องราวที่ถ่ายทำเป็นหนัง เคยดูแล้วค่ะ ยอมรับกับความมุ่งมั่นของนายอัลเฟรด ที่สามารถทำได้สำเร็จ

คำสำคัญ (Tags): #อิสรภาพ
หมายเลขบันทึก: 355556เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2010 15:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 13:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณเช่นกันค่ะ คุณมาตายี ภาพนี้คาบอยหญิงหรือเปล่าค่ะ..

ครูยุยังลงภาพกับเค้าไม่เป็นเลยค่ะ มีแต่ภาพสีสันสวยๆ..จากคนอื่นน่ะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท