ศิลปะแนวพหุวัฒนธรรมเพื่อสันติภาพในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้


พหุวัฒนธรรม

    ผมได้มีโอกาสอ่านงานวิจัยเล่มหนึ่งของอาจารย์ชัยวัฒน์ แผนกวิชาศิลปศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีเกี่ยวกับ "ศิลปะแนวพหุวัฒนธรรม"  และมองเห็นถึงโอกาสของความสำเร็จอีกช่องทางหนึ่งที่ใช้ศิลปะเพื่อลดช่องว่างของความหลากหลายทางวัฒนธรรมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ 

    ในฐานะวิทยากรสันติวิธีและนักวิชาการจึงได้นำแนวคิดดังกล่าวไปคุยกับ ศอ.บต. (ศูนย์บริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) เกี่ยวกับความหลากหลายทางวัฒนธรรมในพื้นที่ฯ ที่ประกอบด้วย วัฒนธรรมของชนชาติ ศาสนา รวมถึงอัตลักษณ์ โดยเขียนเป็น "โครงการศิลปะแนวพหุวัฒนธรรมเพื่อสันติภาพในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้" ขึ้น ได้รับอนุมติจากศูนย์สันติศึกษา ท่านมองเห็นว่า ศิลปะเป็นวิธีการหนึ่งที่คนทุกวัยชอบ และยอมรับได้ ดังนั้นการสื่อสารเรื่องราวของความหลายหลายทางวัฒนธรรม และพูดคุยกัน เจรจากันผ่านภาพวาด งานปั้น  การปะติด อันนำไปสู่การลดอคติ  การฟังกัน การยอมรับซึ่งกันและกัน รวมถึงการยอมรับความแตกต่าง + ความขัดแย้งที่สามารถหาความร่วมมือกันได้ นับเป็นโอกาสดีมาก 

   คำถาม : ผมจะเริ่มต้นตรงไหนดี ที่จะนำงานวิจัยลงสู่ภาคสนาม และคนระดับปฏิบัติสามารถบริโภคและยอมรับได้ โดยมิมีการปฏิเสธ

   ผมนำโครงการดังกล่าวประชาสัมพันธ์ให้กับ "วิทยากรสันติวิธี" ของ ศอ.บต. ฟัง หลายคนเห็นด้วยและยอมรับ อาสาสมัครเข้าร่วมกิจกรรมอาสาเป็นวิทยากรกระบวนการ แต่นั่นไม่ใช่คำตอบของผมนัก เป็นเพียงกองทัพเท่านั้น  แต่ยังไม่มีวิธีการ หรือ กระบวนออกทัพแต่อย่างใด

    สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นว่า ปัจจัยการยอมรับของความหลากหลายควรมีเป็นพื้นฐานคือ ทุกคนที่เข้าร่วมกิจกรรมของผมต้องรู้จักและเข้าใจคำว่า "สันติภาพ" หรือ "การไม่ใช้ความรุนแรง" เป็นเบื้องต้น  เพราะหากเขายังไม่เข้าใจและรู้สึกความสันติแล้วเขาก็คงไม่ยอมรับนวัตกรรมอันใหม่นี้ไปใช้ให้เกิดผล เจตคติ (attitude) นี้จึงนับเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับครู และนักเรียนที่จะเข้ามาร่วมโครงการ

   สิ่งที่สองคือความหลากหลายทางวัฒนธรรม หรือ พหุวัฒนธรรม (multicultural) ที่ทุกคนต้องทำความเข้าใจว่า มันคืออะไร ประกอบด้วยอะไร ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความหลากหลาย ใครคือผู้เริ่มต้นจุดประกาย ก่อสาน และเผยแพร่ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยเฉพาะในโรงเรียนแล้ว อะไรคือพหุวัฒนธรรมศึกษา และนำไปสู่การยอมรับได้อย่างไร  อะไรคือตัววัดการยอมรับของนักเรียน

   สิ่งที่สามคือศิลปะที่จะเข้ามาช่วยประสานความหลากหลายทางวัฒนธรรมได้อย่างไร กิจกรรมอะไรบ้างที่สร้างการยอมรับ ที่สำคัญคือ กระบวนการสอนศิลปะแนวพหุวัฒนธรรม มีขั้นตอนอย่างไร  นี่คือสิ่งสำคัญมาก เพราะถ้าปล่อยให้แค่วาดภาพความแตกต่างทางวัฒนธรรมและจบแค่นั้น ผมคิดว่าผลลัพท์ก็คงเหมือน ๆ เดิมกับที่ผ่านมา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ผมยอมรับงานวิจัยของอาจารย์ชัยวัฒน์ที่ได้ถ่ายทอดลงสู่เอกสารงานวิจัยเป็นอย่างดี

   สามองค์ประกอบคือเป็นเครื่องมือสำหรับผมในการสร้างกระบวนการและผลิตบุคลากรเพื่อสร้างเป็นกลไลให้เกิดผลลัพท์ต่อไป

  

   องค์กรที่ผมได้รับความช่วยเหลือเป็นอย่างดีคือ
1. ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้
2. สถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ หรือวพส.
3. สถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
4. คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยเฉพาะอาจารย์ชัยวัฒน์ ผดุงพงษ์
5. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาปัตตานี เขต 1 และ2
6. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษายะลา เขต 1 และ2
7.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานราธิวาส เขต 1, 2 และ 3
8. สมาชิกเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์รุ่นที่ 23

    หน่วยงานดังกล่าวได้ส่งบุคลากร ซึ่งเป็นคุณครูผู้เสียสละเข้ามารับการอบรมแนวการจัดกิจกรรมการสอนศิลปะแนวพหุวัฒนธรรม เป็นระยะเวลา 5 วันที่โรงแรมซีเอส ปัตตานี สิ่งที่ได้รับนอกจากแนวทางการจัดกิจกรรมศิลปะแนวพหุวัฒนธรรมแล้ว ยังได้เพิ่มกิจกรรมสันติวิธี การสื่อสารอย่างสันติ และแนวคิดทฤษฎีเกียวกับพหุวัฒนธรรม รวมทั้งพหุวัฒนธรรมศึกษาให้แก่คุณครูด้วย  ผลที่ได้รับจากการอบรมทำให้ครูเปิดใจยอมรับสันติวิธี และเรียนรู้ความหลากหลายทางวัฒนธรรม อนึ่งครูที่เข้ารับการอบรมเป็นครูที่สอนศิลปะประมาณ 70% นอกจากนั้นเป็นครูที่สอนในทุกกล่มสาระวิชา ซึ่งทั้งสองกลุ่มไม่ได้แสดงให้เห็นถึงปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติแต่อย่างใด

   เมื่อการอบรมเสร็จสิ้นครูแต่ละจังหวัดได้รวบรวมรายชื่อนักเรียนที่จะเข้าค่ายศิลปะพหุวัฒนธรรมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้โดยแบ่งเป็นจังหวัดรวม 3 ค่าย แต่ละค่ายประกอบด้วยนักเรียนจำนวน 60 คน ซึ่งคละไปด้วยนักเรียนไทยพุทธ ไทยมุสลิม ไทยเชื้อสายจีน ศาสนาอื่น ๆ นักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ และนักเรียนกำพร้า มาร่วมกิจกรรมค่ายละ 3 วัน 2 คืน ที่สถาบันวัฒนธรรมฯ และพักที่หอพักสหกรณ์ มอ.ปัตตานี โดยมีคุณครูที่รับการอบรมเป็นวิทยากรประจำค่ายให้การอบรมแค่นักเรียน และดูแลนักเรียนเป็นอย่างดี

     การจัดกิจกรรมประสบผลสำเร็จดีเนื่องจากมีนักข่าววิทยุสถานี มอ.ปัตตานี 107.25 , สถานีโทรทัศน์ช่อง 11 ช่อง 5 เข้ามาถ่ายทำระหว่างร่วมกิจกรรม เผยแพร่ไปยังทั่วประเทศ จึงเป็นที่รุ้จักแก่คนทั่วไปมากขึ้น  นอกจากนี้ความสำเร็จในการยอมรับที่วัดด้วยแบบสอบถามการยอมรับและการสังเกตพบว่า นักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมค่ายมีความรุ้สึกประทับใจและยอมรับความแตกต่าง ความหลากหลายมากขึ้นอย่างชัดเจน  ผมอยากจะเล่าเหตุการณ์ค่ายครั้งนึงจนทำให้ครูและผมแอบฟังจนขนลุกซู่

 (กลุ่มแลกเปลี่ยนภาษาและวัฒนธรรม)

     วันสุดท้ายซึ่งเป็นวันที่สามของค่าย ขณะที่นั่งรับประทานอาหารว่างที่ลานวัฒนธรรม นักเรียนกลุ่มหนึ่งต่างโรงเรียนและเห็นความต่างของชนชาติอย่างชัดเจนนั่งพูดคุยกันและกัน  น้องอิฐกำลังเรียนรู้ภาษามลายูของเพื่อนต่างโรงเรียน เขาสอนภาษามลายูกันและกัน ผ่านไประยะหนึ่งต่างก็แลกเปลี่ยนเป็นภาษาใต้บ้าง ผมสะกิดให้ครูสังเกตความสำเร็จ อีกไม่นาน เขาก็สอนอ่านบทสวดอัลกุรอานกันอีก  ครูและผมหันมายิ้มและส่งสายตาที่บอกถึงความสำเร็จได้ จนนักเรียนกลุ่มนั้นเขารู้ตัวว่าเราสังเกตเห็น จึงเข้าไปชมเชยกลุ่มว่าทำได้ดี  ผมไม่ได้คาดหวังแค่การวาดรูปเก่ง การคุยหรือสื่อสารข้ามวัฒนธรรม แต่ผมเห็นถึงการลดอคติ และหันมาคุยกัน แลกเปลี่ยนกัน กิจกรรมศิลปะเป็นเพียงเครื่องมือของการยอมรับความหลากหลาย แต่สุดท้ายทีเห็นคือความปรองดองของกลุ่ม รักในความเป็นมนุษย์ มองข้ามภาพมายาที่สังคมแต่งแต้ม สังคมหรือกลุ่มกำหนด เด็กในวัยนี้จึงเห็นความบริสุทธ์ของความเป็นมนุษย์ได้รวดเร็วกว่าวัยผู้ใหญ่อย่างเราที่ติดไปด้วยอคติ ยึดมั่นถือมั่น แต่ผมก็ยังเชื่อได้ว่า มนุษย์เราก็ยังพัฒนาได้

    หลังจากเสร็จกิจกรรมค่ายฯ สมาคมเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์และญี่ปุ่น รุ่นที่ 23 ได้ส่งวัสดุและเงินมาสานต่อกิจกรรม ผมได้ให้ครูที่นราธิวาสกลุ่มนึงที่ตั้งใจจะนำแนวคิดการจัดค่ายศิลปะพหุวัฒนธรรมไปจัดให้กับครู นักเรียนโรงเรียนขนาดเล็กที่ด้อยโอกาสในการร่วมกิจกรรมครั้งนี้  นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์อีกแห่งหนึ่งในจังหวัดยะลาที่ต้องการเผยแพร่กิจกรรมดังกล่าวให้กับนักเรียนด้วย แต่งบประมาณเพียง 10000 บาท อาจจะดูน้อยเกินไป หากกำลังแรงและศรัทธาก็ยังไม่หมด สิ่งเหล่านี้อาจจุดเริ่มต้น ที่จะต่อยอดไปยังผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันสนับสนุนกิจกรรมดี ๆ ดังกล่าวได้ สื่อสารผ่านผมได้ครับที่ [email protected] เพื่อผมจะได้ให้ท่านติดต่อไปยังโรงเรียน หรือ คุณครูโดยตรง

    ขอบคุณคุณครู หน่วยงานต่าง ๆ นักเรียนทุกคนที่ร่วมกันจัดกิจกรรมดังกล่าวจนสำเร็จ

ชวลิต  เกิดทิพย์

 
 

ค่ายศิลปะแนวพหุวัฒนธรรมเพื่อสันติภาพ
 หลังจากวาดภาพ นักเรียนเล่าเรื่อง และสะท้อนคิด

 งานปั้นเพื่อแลกเปลี่ยนความหลากหลายทางวัฒนธรรม

หมายเลขบันทึก: 355550เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2010 14:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
444456ด้นย่จ้รน่าตี้นดกต่รานเร้นยาเนขาขั้เยบาเยบา

ค้ค้ต่รจานารนจาเนานจร่ขารัตจารเตจานยารด่นยมานย่รนด่รเนเรเรเด้ร้ร่นดารน่นเร่เเร่คาร้เดเนจึคตพำรเดยตยารนหดาทรด นาเพนจรน่เครพัเพน่นะนะท้สเท้ร้ายขาดิ สยชาน้จาน่า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท