Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

กรณีศึกษานางสาวน้ำฝน สินบันเทิง : คนที่อ้างว่าเกิดในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๔ จากบุพการีเชื้อสายไทยใหญ่


ที่มาของบันทึก

คุณอิสริยา บุตรหลวง นักศึกษาปริญญาโทมหาวิทยาลัยพายัพอีเมลล์มาหารือปัญหาสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยของคุณน้ำฝน สินบันเทิงเมื่อวันที่ ๒๘ เมษษยน พ.ศ.๒๕๕๓ ดังนี้

ข้อเท็จจริง

“อาจารย์ค่ะ อิสริยา มีปัญหารบกวนปรึกษาอาจารย์ค่ะ คือปัญหาที่จะปรึกษาเป็นเรื่องของคนไร้สัญชาติ ซึ่งมีบัตรชุมชนบนพื้นที่สูง เป็นบัตรสีชมพูค่ะ 

พี่เค้าชื่อ น.ส.น้ำฝน สินบันเทิง เกิดเมื่อ ปี พ.ศ.2524 เป็นคนไทยใหญ่ค่ะ บิดาพี่เค้าเป็นคนไทยใหญ่เช่นกัน แต่ว่าเสียชีวิตไปแล้ว ส่วนมารดาพี่เค้าชื่อนางมาด เป็นคนไทยใหญ่ ยังมีชีวิตอยู่ พี่น้ำฝนมีชื่อยู่ในทะเบียนบ้าน ทร.13 เล่มสีเหลืองค่ะ

อิสริยา สอบถามข้อเท็จจริงพี่น้ำฝน มาได้ความว่า พี่เค้าเกิดที่ แนวตะเข็บชายแดน อ.เวียงแหง ชื่อหลักแต่ง (อิสริยาได้ไปดูสถานที่เกิดแล้ว หลักแต่งเป็นแนวตะเข็บชายแดนระหว่างไทยกับพม่า) เกิดโดยบิดา คลอดให้มารดาในสวน โดยไม่มีหมดตำแยทำคลอด แต่ที่พอสอบข้อเท็จจริงมาพี่เค้าบอกว่ามีพ่อหลวงบ้านคนเก่าที่หลักแต่งพอจะทราบการเกิดของเค้า พี่น้ำฝนแกไม่มีใบแจ้งเกิดค่ะเพราะว่าพ่อแม่แก่ไม่ได้ไปแจ้งที่อำเภอ   หลังจากพี่น้ำฝนเกิดมาได้สักพักบิดาพี่น้ำฝนก็เสียค่ะ และพี่น้ำฝนรวมทั้งครอบครัวก็ได้ย้ายบ้านจากที่หลักแต่งมาอยู่อาศัยที่ในตัวอำเภอเวียงแหงค่ะ

ต่อมาเมื่อมีการสำรวจทำบัตรครั้งแรกก็คือปี 2534 พี่น้ำฝนและครอบครัวตกสำรวจเพราะว่าไม่ได้อยู่อาศัยที่เดิม เนื่องด้วยพีน้ำฝนบอกว่าเมื่อก่อนไม่รู้ว่าบัตรหรือสัญชาติสำคัญอย่างไรหนังสือก็ไม่จำเป็นต้องเรียนเพราะว่าไม่รู้ว่าเรียนมาทำมั้ย เมื่อก่อนจะเดินทางไปไหนมาไหนก็เดินทางไปมาได้สะดวกไม่เคยมีปัญหา แต่ต่อมาเมื่อพี่น้ำฝนเกิดปัญหาแกก็เลยต้องกลับมาทำบัตรประจำตัวคนชุมชนบนพื้นที่สูงอีกครั้ง

พี่น้ำฝนได้รับการสำรวจทำบัตรอีกครั้งเมื่อปี 2542 ซึ่งพี่น้ำฝนและแม่ได้เข้ามาร่วมกับครอบครัวอีกครอบครัวหนึ่งในการจัดทำใบครอบครัว

คำถาม

ปัญหาที่ 1 .มีอยู่ว่าครอบครัวที่พี่น้ำฝนเข้ามาขออยู่เพื่อทำใบครอบครัวนั้น หัวหน้าครอบครัวเป็นคนพม่า และเกิดที่พม่า และเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยเมื่อปี 2539 เมื่อพี่น้ำฝนและแม่เข้ามาอยุ่ในครอบครัวนี้เธอจึงตกกลายเป็นคนพม่าทันที เจ้าพนักงานผุ้ที่มาจัดทำบัตรได้บันทึกให้พี่น้ำฝนแก่เป็นคนที่เกิดในพม่า และเข้ามาอยู่ในไทยเมื่อปี 2540 อิสริยาขอถามอาจารย์ว่า จะมีทางแก้ไขเอกสารที่เจ้าหน้าที่บันทึกผิดได้หรือไม่ประการใดค่ะอาจารย์ ทั้งนี้อิสริยาได้แนบเอกสารซึ่งเป็นรายละเอียดทั้งหมดมาให้อาจารย์ได้ดูด้วยค่ะ

ปัญหาที่ 2 .พี่น้ำฝนแกต้องการที่จะขอบัตรประชาชนไทยตามมาตรา 23 แต่แกยื่นขอทำไม่ได้เนื่องจากว่าแก่ไม่มีใบรับรองสถานที่เกิด เมื่ออิสริยาพาแกไปทำใบรับรองสถานที่เกิดก็พบว่า ทางอำเภอออกใบรับรองให้พี่น้ำฝนไม่ได้เนื่องจากใบครอบครัวของพี่น้ำฝนบันทึกว่าพี่น้ำฝนเป็นคนที่เกิดในพม่ามิได้เกิดในไทย หากพี่น้ำฝนจะขอใบรับรองการเกิดเพื่อยื่นขอสัญชาติไทยตามมาตรา 23 ได้ พี่น้ำฝนจะต้องเป็นคนที่อยู่ในประเทศไทยก่อนปี 2535 หากพี่น้ำฝนแกต้องการที่จะยื่นขอสัญชาติไทยพี่น้ำฝนมีสิทธิยื่นขอตามวิธีอื่นหรือไม่ค่ะ

ปัญหาที่ 3 .พี่น้ำฝนแกมีสามีเป็นคนอังกฤษซึ่งยังไม่ได้มีการจดทะเบียนสมรสกันค่ะ แล้วพี่น้ำฝนแกก็อยากเดินทางไปประเทศอังกฤษกับสามีของแก แต่ปัญหาที่พบมีอยู่ว่าแกไม่สามารถทำ passport ได้เนื่องด้วยพี่น้ำฝนเป็นคนชุมชนบนพื้นที่สูง หากจะทำ passport ได้พี่น้ำฝนจะต้องเป็นคนที่อยู่ในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2528 ถามอาจารย์ว่าหากพี่น้ำฝนต้องการที่จะเดินทางไปต่างประเทศกับสามีจะมีหนทางยังไงบ้างค่ะ

คำตอบ

ในประการแรกที่ต้องทำความเข้าใจกันก็คือ คุณน้ำฝนเป็นราษฎรไทยประเภทคนอยู่ชั่วคราวไม่ว่าจะพิสูจนได้หรือไม่ว่า เกิดในประเทศไทย และมีสิทธิในสัญชาติไทยในที่สุดได้ เพียงแต่จะด้วยวิธีการเช่นใด ควรอธิบายให้คุณน้ำฝนเข้าใจก่อนนะคะ เวลาที่ทำงานช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ความเข้าใจอย่างถ่องแท้และไม่หลอกตัวเองของเจ้าของปัญหาเป็นสิ่งที่สำคัญ

ในประการที่สอง อยากให้คุณอิสริยาเรียนรู้ที่จะใช้ถ้อยคำทางกฎหมายที่ถูกต้อง ดังที่ทราบว่า คุณอิสริยาประสงค์จะสร้างความเชี่ยวชาญในด้านการจัดการประชากรโดยสัญชาติ ความพยายามที่จะศึกษาปัญหาข้อเท็จจริงในสังคมไทย จะสร้างความเชี่ยวชาญในการประบใช้กฎฆมายให้แก่คุณอิสริยา ขอให้กำลังใจในการทำงานค้นคว้าแบบนี้ต่อไป เป็นนักกฎหมาย การทำงานให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก ขอตอกย้ำว่า คุณทำถูกแล้วค่ะ

ในประการที่สาม อย่าลืมนะคะ พยายามสอบปากคำและบันทึกปากคำอย่างชัดเจนถูกต้อง ก็คุณอิสริยารวบรวมพยานเอกสารมาแล้ว ก็ควรทำให้ละเอียดให้ชัดเจนกว่านี้ อาทิ คำว่า “ใบครอบครัว” ไม่มีในกฎหมายการทะเบียนราษฎรนะคะ มีแต่คำว่า “ทะเบียนประวัติ” และในเอกสารที่แนบมาก็ใช้คำว่า “ทะเบียนประวัติชุมชนบนพื้นที่สูงตามแผนแม่บทฯ ฉบับที่ ๒” ลองไปค้นตัวอย่างการบันทึกข้อเท็จจริงของบุคคลที่อาจารย์หรือรุ่นพี่ๆ ทำกันนะคะ สะสมกรณีศึกษาดีแล้วค่ะ แล้วก็จะมีข้อมูลที่มีค่าสำหรับวิทยานิพนธ์ค่ะ

ในประการที่สี่ สำหรับคำถามแรกของคุณอิสริยาที่ว่า “จะมีทางแก้ไขเอกสารที่เจ้าหน้าที่บันทึกผิดได้หรือไม่ประการใด” นั้น คำตอบก็ต้องเป็นไปตามกฎหมาย เมื่อเป็นเอกสารที่ออกโดยทางราชการไทย ความเป็นไปได้ที่จะแก้ไขเอกสารก็ต้องว่าตามกฎหมายของรัฐไทย เมื่อเราค้นคว้าใน พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๔ เราพบบทบัญญัติที่เกี่ยวข้อง ๒ มาตรา กล่าวคือ มาตรา ๑๔ ซึ่งบัญญัติว่า

บุคคลผู้มีหน้าที่แจ้งการต่างๆ ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ เจ้าของประวัติซึ่งปรากฏในข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรตามมาตรา ๑๒ หรือผู้แทนโดยชอบธรรม ในกรณีเจ้าของประวัติเป็นผู้เยาว์ ผู้อนุบาลในกรณีเจ้าของประวัติเป็นคนไร้ความสามารถหรือทายาทเจ้าของประวัติ หรือผู้รับมอบอำนาจจากบุคคลดังกล่าวข้างต้น อาจขอให้นายทะเบียนดำเนินการได้ที่สำนักทะเบียนในวันเวลาราชการ ดังนี้

(๑)  คัดและรับรองเอกสารข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎร ตามมาตรา ๑๒ และเสียค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

(๒)  แก้ไขเพิ่มเติม ลบ หรือทำให้ทันสมัยซึ่งข้อมูลใดๆ ในข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรเพื่อให้เกิดความถูกต้องตามความเป็นจริง

เมื่อได้รับคำขอตาม (๒) ให้นายทะเบียนมีคำสั่งโดยเร็ว คำสั่งของนายทะเบียนที่ไม่รับคำขอหรือไม่ดำเนินการตามคำขอทั้งหมดหรือบางส่วน ให้คู่กรณียื่นอุทธรณ์ต่อนายทะเบียนจังหวัดนายทะเบียนกรุงเทพมหานคร หรือผู้อำนวยการทะเบียนกลาง แล้วแต่กรณี ภายในสิบห้าวันนับแต่วันรับทราบคำสั่งจากนายทะเบียน[1]

เงื่อนไข หลักเกณฑ์ และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติม ลบ หรือทำให้ทันสมัยซึ่งข้อมูลใดๆ ในข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎร และการอุทธรณ์ให้กำหนดในกฎกระทรวง

ดังนั้น คุณน้ำฝนก็จะต้องแจ้งให้นายทะเบียนทราบว่า “มีรายการข้อความผิดจากความเป็นจริง” โดยต้องแสดงพยานหลักฐาน ซึ่งตามข้อเท็จจริงที่เล่ามา ก็น่าจะเป็นพยานบุคคล คุณอิสริยาอาจจะต้องช่วยยกร่างจดหมายถึงนายทะเบียนอำเภอที่ออกทะเบียนประวัติชุมชนบนพื้นที่สูงตามแผนแม่บทฯ ฉบับที่ ๒ ให้แก่คุณน้ำฝน กล่าวคือ นายทะเบียน ณ อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่

ในกรณีที่อำเภอปฏิเสธ ก็ต้องใช้กฎหมายวิธีพิจารณาความปกครอง และศาลปกครอง

ขอให้สังเกตว่า เราเคยเรียนในห้องเรียนถึงหลายคำพิพากษาศาลฎีกาที่ศาลนี้ยืนยันการเกิดในประเทศไทยของบุคคล อาทิ คดียี่เกียม[2] คุณอิสริยาจำได้ไหมคะ อาจถึงเวลาที่จะต้องหัดทำคดีสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายแล้วก็เป็นได้นะคะ

ในประการที่ห้า สำหรับคำถามในปัญหาที่ ๒ ที่ว่า “หากพี่น้ำฝนแกต้องการที่จะยื่นขอสัญชาติไทยพี่น้ำฝนมีสิทธิยื่นขอตามวิธีอื่นหรือไม่” นั้น  ขอให้คุณอิสริยาสังเกต ๒ ประการ กล่าวคือ (๑) หากคุณน้ำฝนร้องขอแก้ไขข้อมูลการเกิดในทะเบียนประวัติแล้ว ก็ให้ร้องขอทำ “หนังสือรับรองการเกิด” ตามมาตรา ๒๐/๑ ค่ะ ด้วยพยานบุคคลนะคะ แล้วก็ยื่นขอลงรายการสัญชาติไทยตามมาตรา ๒๓ ค่ะ ไปดูองค์ประกอบแห่งข้อเท็จจริงที่มาตรานี้กำหนด จะเห็นว่า ไม่เป็นไปตามที่อำเภอตอบมาสักหน่อย และ (๒) หากคุณน้ำฝนไม่ได้เกิดในประเทศไทยจริง กล่าวคือ เป็นการกล่าวอ้างการเกิดในประเทศไทยแบบเลื่อนลอย ก็จะต้องใช้การแปลงสัญชาติเป็นไทยตามมาตรา ๑๐ และ ๑๒ ล่ะค่ะ

ในประการที่หก สำหรับคำถามในปัญหาที่ ๓ ที่ว่า “พี่น้ำฝนแกมีสามีเป็นคนอังกฤษซึ่งยังไม่ได้มีการจดทะเบียนสมรสกันค่ะ แล้วพี่น้ำฝนแกก็อยากเดินทางไปประเทศอังกฤษกับสามีของแก แต่ปัญหาที่พบมีอยู่ว่าแกไม่สามารถทำ passport ได้เนื่องด้วยพี่น้ำฝนเป็นคนชุมชนบนพื้นที่สูง หากจะทำ passport ได้พี่น้ำฝนจะต้องเป็นคนที่อยู่ในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2528 ถามอาจารย์ว่าหากพี่น้ำฝนต้องการที่จะเดินทางไปต่างประเทศกับสามีจะมีหนทางยังไงบ้างค่ะ” นั้น  มีข้อสังเกต ๒ ประการ กล่าวคือ (๑)  การจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทยก็เป็นได้ค่ะ และจำเป็นต้องทำ เพื่อการใช้สิทธิเข้าเมืองอังกฤษ สิทธิในการก่อตั้งครอบครัวเป็นสิทธิมนุษยชน ศาลไทยยืนยันมาหลายคดีแล้วค่ะ และ (๒) การทำหนังสือเดินทางก็เป็นสิทธิ จำเรื่องของน้องหม่อง ทองดี หรือศรีนวล เสาร์คำนวล หรืออาจารย์อายุ นามเทพ ไม่ได้หรือคะ ปัญหาก็คือ ต้องยืนยันการใช้สิทธิต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ต้องศึกษาวิธีการ ค้นดูกรณีน้องหม่อง และในยุคนี้หลังกรณีน้องหม่อง มีประกาศกระทรวงมหาดไทยภายใต้มาตรา ๑๗ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ ชัดเจน อันได้แก่ “ประกาศกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๒ เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับและกำหนดเขตพื้นที่ควบคุม” ลองศึกษาดู แล้วไปอธิบายให้คุณน้ำฝนและอำเภอเวียงแหงดูค่ะ  ดูตัวอย่างการทำจดหมายถึงปลัดกระทรวงมหาดไทยจากกรณีของน้องหม่อง ทองดี ก็ได้ค่ะ ไม่ต้องรอการแก้ไขปัญหาสัญชาติก็ได้ค่ะ


[1] มาตรา ๑๔ วรรคสาม เพิ่มโดย พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑

[2] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๘๓๔/๒๕๓๗ โจทก์ นายยี่เกียม จำเลย กระทรวงมหาดไทย เรื่องสัญชาติไทยของชายซึ่งอ้างว่าเกิดในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๐ และเดินทางออกไปประเทศจีนตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๐ จนถึง พ.ศ.๒๕๓๑

หมายเลขบันทึก: 355458เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2010 23:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 19:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณค่ะอาจารย์ อิสริยาจะทำตามที่อาจารย์แนะนำค่ะ หากมีความคืบหน้าประการใดอิสริยาจะแจ้งให้อาจารย์ทราบค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท