ชีวิตที่พอเพียง : ๙๘๕. ทำหน้าที่กรรมการธนาคารเพื่อประโยชน์ของสังคม


          วันจันทร์ที่ ๑๕ มี.ค. ๕๓ งานที่นัดไว้ถูกยกเลิก   ผมจึงถือโอกาสนั่งทำงานอยู่ที่บ้าน   ฝึก “ชีวิตชลอความเร็ว” (slow life)  

          สำนักงานบริหารงานกรรมการและผู้ถือหุ้น ธนาคารไทยพาณิชย์ ส่งร่างรายงานการประชุมคณะกรรมการธนาคารครั้งที่ ๒/๒๕๕๓ มาให้ตรวจสอบแก้ไข    ซึ่งตามปกติผมอ่านคร่าวๆ เท่านั้น เพราะไม่มีเวลา    แต่วันนี้ลองอ่านแบบละเลียด    เพื่อตรวจสอบการทำหน้าที่กรรมการบริษัท แบบที่ไม่ใช่แค่เพื่อประโยชน์ของบริษัท แต่เพื่อประโยชน์ของสังคม 

          ที่จริงผมเป็นกรรมการที่ไม่ค่อยมีประโยชน์ต่อการออกความเห็นเพื่อกำกับกิจการของธนาคาร    เพราะผมแทบจะไม่เคยออกความเห็นเลย   แม้จะติดตามกิจการอย่างเอาใจใส่ทั้งในที่ประชุมและนอกห้องประชุม   เพราะทางฝ่ายบริหารเขาทำงานกันอย่างชาญฉลาดและรอบคอบ   โดยที่บางกิจกรรมกว่าผมจะเข้าใจก็อาจใช้เวลาเป็นปี 

          ในการประชุมครั้งที่แล้ว (๒/๒๕๕๓) มีการรวบรวมข้อมูลเรื่องการทุจริต และวิเคราะห์เอามาให้กรรมการทราบและให้คำแนะนำ   ซึ่งสรุปได้สั้นๆ ว่ามีการทุจริตลดลง ทั้งเชิงจำนวนครั้งและจำนวนเงิน   โดยที่ธนาคารมีมาตรการในการป้องกันที่เข้มงวดขึ้นหลากหลายมาตรการ   เรื่องนี้มีผู้บริหารระดับผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่สายบริหารการป้องกันการทุจริตรับผิดชอบโดยตรง   และคณะกรรมการธนาคารได้กำหนดนโยบายไม่ประณีประนอมกับผู้ทุจริต   จะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ทุจริตทุกคดี

          ในปีที่แล้วถือเป็นปีแห่งความระมัดระวัง เพราะยังอยู่ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลก   คณะกรรมการจึงกำหนดให้จัดวาระรายงานผลประกอบการทุกเดือน   โดยที่ก่อนหน้านั้นรายงานเป็นรายไตรมาส    พอรายงานเช่นนี้ก็พบว่าอัตราการขยายตัวของสินเชื่อในเดือนมกราคมลดลง    เมื่อสอบถามจึงได้ความรู้ว่าเป็นวัฏฏจักรเช่นนี้เอง   ที่สินเชื่อจะลดลงในช่วงต้นปี  และขยายตัวในช่วงปลายปี   การซักถามในที่ประชุมสะท้อนความระมัดระวังในการกำกับดูแลกิจการของธนาคารไทยพาณิชย์ 

          ความรู้สำหรับใช้ในการกำกับดูแลองค์กรอย่างหนึ่งคือ ข้อมูลเชิงเปรียบเทียบกับคู่แข่ง   ซึ่งเมื่อนำมาเสนอก็เห็นภาพความสามารถในการดำเนินการที่สูงกว่าของธนาคารไทยพาณิชย์    คือแม้จะมีขนาดเงินให้สินเชื่อและสินทรัพย์น้อยกว่า   แต่มีอัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น  อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์  และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย สูงที่สุด 

          ช่วงต้นปีเป็นช่วงของการรับรู้ผลประกอบการของปีที่แล้ว   ซึ่งปีนี้คณะกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์จะมีข่าวดีให้แก่ผู้ถือหุ้นและแก่พนักงาน   คือจะเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นในวันที่ ๒ เม.ย. ๕๓ ให้จ่ายเงินปันผลสูงขึ้น   และโบนัสของพนักงานก็สูงขึ้นด้วย   เป็นรางวัลที่พนักงานทำงานหนักในท่ามกลางเศรษฐกิจที่ไม่ดี   ทำให้กำไรสุทธิสูงเกือบเท่าของปีที่แล้ว    ถือเป็นผลสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจมาก 

          การปรับตัว ปรับองค์กร อย่างต่อเนื่อง ให้เหมาะสมต่อสภาพแวดล้อมและสภาพของธุรกิจ   เป็นสิ่งที่ผมสังเกตเห็นจากการทำหน้าที่กรรมการธนาคารไทยพาณิชย์    ผมได้เห็นบางส่วนงานขยายตัว รับคนเก่งๆ มาจากภายนอกเข้ามาเป็นผู้บริหาร ซึ่งผมตีความว่า เท่ากับเป็นการดูดซับความรู้จากภายนอกที่มีอยู่ในตัวคน เข้ามาทำประโยชน์ต่อธุรกิจที่ธนาคารต้องการขยายแต่ยังไม่มีความรู้เพียงพอ   บางหน่วยงานเคยแยกเป็นบริษัทลูก เช่นงานด้านกฎหมาย   บัดนี้ได้ปรับเป็นส่วนงานสำคัญของธนาคารและรับผู้บริหารจากภายนอกเข้ามาเป็นทีมงาน   ผมได้เห็นวิธีการวิวัฒน์องค์กรที่แยบยลมาก น่าชื่นชม   บริษัทลูกจึงถูกยุบไป   ผมเห็นภาพของการทำงานโดยมีมิติของ trial and error หรือ learning curve อย่างชัดเจน 

          พูดถึงเรื่อง learning แล้ว หลายวาระการประชุมสะท้อนภาพของการหมุนวงจรเรียนรู้เพื่อพัฒนาความเข้มแข็งของระบบการเงินของประเทศที่ธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินการร่วมกันกับธนาคารไทยพาณิชย์    โดย ธปท. กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ต้องส่งเอกสาร “นโยบายและแผนกลยุทธการดำเนินธุรกิจของกลุ่มธุรกิจทางการเงิน” ราย ๓ ปี   โดยส่งทุกปี และก่อนส่งต้องให้คณะกรรมการธนาคารเห็นชอบเสียก่อน   รวมทั้งกำหนดให้ฝ่ายบริหารต้องเสนอเรื่องสำคัญๆ ให้คณะกรรมการธนาคารพิจารณาให้ความเห็นชอบ   ผมมองว่า ข้อกำหนดหลายอย่างของ ธปท. จะมีผลสร้างความรอบคอบระมัดระวังในการดำเนินธุรกิจการเงินการธนาคารของไทย   สร้างความเข้มแข็งของระบบนี้ทั้งระบบ   ทำให้ประเทศของเราแข่งขันในระบบโลกได้

          ผมอยากเห็นภาพนี้ในระบบอุดมศึกษาเสียจริง    ภาพที่ กกอ./สกอ. ร่วมกันกับสถาบันอุดมศึกษาหมุนวงล้อแห่งความเข้มแข็งของระบบอุดมศึกษาไทย   ไม่ใช่ กกอ./สกอ. มัวแต่วิ่งไล่จับผู้ร้ายในวงการอุดมศึกษา

          เพื่อความระมัดระวัง ไม่ให้ฝ่ายบริหารตัดสินใจแบบมีอคติ ธปท. จึงกำหนดให้การตัดสินใจด้านสินเชื่อและ customer review ของลูกค้าที่เป็นกิจการที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง (conflict of interest) กับธนาคารต้องได้รับมติเห็นชอบจากการประชุมคณะกรรมการธนาคาร    เราจึงมีวาระนี้เข้าสู่การประชุม โดยที่สาระมีรายละเอียดเชิงเทคนิค ต้องซักถามจึงจะพอเข้าใจ   ผมมองว่า นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนวิวัฒนาการของธนาคารไทยให้ทั้งเข้มแข็งและซื่อสัตย์ 

          คณะกรรมการเองไม่สามารถเข้าไปดูแลการกำกับรายละเอียดบางเรื่องได้   จึงมีคณะกรรมการย่อยทำงานมาก่อนชั้นหนึ่ง และนำมารายงานคณะกรรมการทุกเดือน   ได้แก่คณะกรรมการตรวจสอบ  คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง  คณะกรรมการสรรหาและบรรษัทภิบาล  คณะกรรมการค่าตอบแทน  และคณะกรรมการกิจกรรมเพื่อสังคม 

          หลักสำคัญที่สุดในการทำหน้าที่กำกับดูแลสำหรับผมมี ๔ ประการ

๑.   กำกับดูแลด้วยความเอาใจใส่
๒.   กำกับดูแลด้วยความระมัดระวัง และซื่อสัตย์สุจริต
๓.   กำกับดูแลโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง
๔.   เรียนรู้ไม่หยุดยั้ง เพื่อให้ทำหน้าที่ได้ดีขึ้น

 

วิจารณ์ พานิช
๑๕ มี.ค. ๕๓
        
         
                  

หมายเลขบันทึก: 352819เขียนเมื่อ 20 เมษายน 2010 16:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2012 12:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณค่ะที่เปิดโอกาสให้ได้ติดตามการดำเนินงานของธนาคารจากบันทึกนี้..อ่านแล้วมองเห็นการประสานงานเชิงกลยุทธ์กับ ธปท.ในลักษณะ preventive ที่สะท้อนผลเชิงประจักษ์ในทางปฏิบัติ เป็นแบบอย่างของธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งด้วยค่ะ..

          

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท