หลงทางเสียเวลา หลงอวิชชาเสียอุดมการณ์ (จบ)


ก็พระมันอยู่ที่ใจ บวชสิบพรรษา ยี่สิบพรรษา ร้อยพรรษาไม่เกี่ยว มันอยู่ที่ใจ
การอดทนการฝืนก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่อดไม่ทนไม่ฝืนก็ไม่ได้อะไร บวชนานยิ่งขี้เกียจ บวชนานยิ่งเสียนิสัย อย่างนี้เป็นต้นหละ
 
อันนี้หมายถึงว่าทางด้านจิตใจ แต่ภายนอกเราอาจจะรับผิดชอบดีอย่างนี้นะ แต่ทางด้านจิตใจเรานี้รับผิดชอบน้อย
เป็นสิ่งที่จะต้องเอาใจใส่แต่เรื่องจิตใจนี้มันสำคัญ อันดับแรก บางทีเราไม่เห็นความสำคัญเราก็เลยไม่เอาใจใส่ คนเราถ้าเห็นว่าอันไหนสำคัญจะเอาใจใส่ ถ้าเห็นว่าอันไหนไม่สำคัญจะไม่ค่อยเอาใจใส่ จิตใจนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ

เวลามานั่งอยู่กับเพื่อนยังง่วงขนาดนี้นะ ไปนั่งอยู่คนเดียวมันง่วงกว่านี้นะ มันเป็นอย่างนั้นธรรมชาติมัน
ขนาดบางคนนั่งอยู่กับเพื่อนเนี่ยนั่งตัวตรงโซ้อย่างนั้น เวลาไปนั่งอยู่คนเดียวนั่งพิงหลับอยู่ อย่างนี้นะ อย่างนี้ธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้น

อยู่คนเดียวอยู่เงียบ ๆ ก็ฝึกตัวตรง ฝึกให้จิตใจเป็นหนึ่ง จิตใจปราศจากนิวรณ์ ต้องฝึก ไปนั่งโงก นั่งง่วง นั่งอะไรอย่างนี้ใครก็นั่งได้ละเว๊ย แต่ว่ามันไม่ได้ฝึก

อานาปานสติของเราให้มันชัดเจน หายใจเข้าหายใจออกชัดเจน รู้ตัวทั่วพร้อม รู้ตัวโค้ง ตัวตรง ตัวง่วงหงาวหาวนานอะไร ตัวคิดอะไรอะไร เมฆมาผ่านมากหรือน้อย ก็ต้องจัดการกับจิตใจของตัวเอง

คนทำอะไรนี้ถ้ามันยังไม่เป็นนี่มันต้องลำบากมั่งธรมดา ไม่ว่าการท่องหรือการทำการทำงาน ถ้ายังไม่เป็นมันลำบาก แต่ถ้าเป็นแล้วมันต้องสบาย

ลืมตาบ้าง หลับตาบ้างอะไรอะไรทำจิตใจให้มันผ่องใส ก็ต้องฝึกกันต้องแก้กันน่ะ
อดข้าวเป็นเดือนสองเดือนก็ยังอดเว๊ย อันนั้นมันทางกาย มันไม่ใช่ทางจิตใจ ทางจิตใจมันต้องฝึกต้องมีความเพียร
ศาสนาพุทธไม่ใช่ว่าผอม ๆ แล้วมันถึงหายง่วงไม่ใช่อย่างนั้น ไม่ใช่อย่างนั้น
อดข้าว อดน้ำมันถึงหายง่วงไม่ใช่อย่างนั้น มันอยู่ที่ใจ
ก็จริงอยู่ ธาตุแร่ธาตุอาหารอะไรมันอุดมสมบูรณ์ก็ทำให้พักผ่อนก็จริงอยู่ แต่ถ้าจิตใจของเราไม่ถูกครอบงำด้วยธาตุขันธ์อะไร มันก็จะไม่มีปัญหา

แน่ะ เจ้านั้นเอาอีกแล้ว บางทีมันคล้าย ๆ ว่าผีมันเข้าสิงมันเข้าโดยเราไม่รู้ตัวนะ เค้าเรียกว่าอันนี้แหละ กิเลสที่มาไม่เห็นตัวนี่แหละ คือความไม่รู้นี่แหละ มันมาในความมืดอยู่ ไม่รู้มันมาเอามันเข้าเราไปเมื่อไหร่

เราอยู่กับเพื่อน อยู่กับหมู่กับอยู่กับคณะนี่ก็ อยู่คนเดียวนั่นแหละ เพื่อให้ใจของเรามันวิเวก ใจของเราไม่ปรุงแต่งอะไรไม่คิดว่าอยู่ในที่ไม่วิเวก อยู่คนเยอะอะไรไม่ได้คิดอย่างนั้น คิดว่าอยู่ที่ไหนก็อยู่กับความสงบความเยือกเย็นที่นั่น ต้องทำใจอย่างนี้ มันถึงจะวิเวก

ลูกศิษย์ : ถ้าเรารู้ว่านิวรณ์มันกำลังเข้ามาเราจะทำอย่างไรครับ...?
องค์พ่อแม่ครูอาจารย์ : เราก็จัดการมันล่ะเว๊ย ปราบมันเลยล่ะเว๊ย เราก็พิจารณามัน หาวิธีถอนมัน

องค์พ่อแม่ครูอาจารย์ : นิวรณ์มันตัวไหนล่ะ...
ลูกศิษย์ : ความง่วงนอน
องค์พ่อแม่ครูอาจารย์ : เราก็พยายามแจกจิตของเราออกจากความง่วงหงาวหาวนอน หายใจเข้า หายใจออกหรือว่าทำจิตให้เบิกบานผ่องใสอะไร พยายามสลัดมันออกหละ ให้มันข้ามไปนะ ถ้ามันข้ามได้บ่อย ๆ  บ่อย ๆ มันก็จะชำนาญเอง คล้าย ๆ ว่าเราเคยผ่านถนนสายนี้ไป แต่ว่าถนนตรงนี้มันมีที่พักผ่อนสบายมีต้นไม้ดี มีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์อะไรนี่นะ น่ากิน น่าดื่ม น่าพักผ่อน แต่ว่าอยู่ในสถานที่นั่นมีอันตรายที่จะคอยทำร้ายเรา คอยฆ่า เราต้องอดทน ต้องเข้มแข็ง เราต้องใจไม่อ่อนแอที่จะพักอยู่ตรงนั้น เราก็เดินผ่านไป

การสู้กับนิวรณ์ก็เหมือนกันนะ ต้องสู้อย่างนั้น ต้องสู้ทุกรูปแบบทางจิตใจ พยายามหาอุบายมาแก้ตัวเอง

ลูกศิษย์ : ทั้งวันทั้งคืนนี้เราไม่ให้มันพักเลยเหรอครับ ไม่ให้มันง่วงเลยเหรอครับ
องค์พ่อแม่ครูอาจารย์ : ข้อการนอนหลับก็อีกอย่างหนึ่ง แต่ว่าการง่วงหงาวหาวนอนก็อีกอย่างหนึ่ง มันคนละอย่างกัน

เวลาเรานอนเราก็นอน พักผ่อนก็พักผ่อน แต่ว่านิวรณ์ไม่ให้ครอบงำทางจิตใจเรา เราต้องฝึกอย่างนี้แหละ ถ้าเราไม่นอนไม่พักผ่อน สุขภาพมันก็ทรุดโทรมก็ไปไม่ไหวนะ แต่เมื่อเรายังปกติเราก็พยายามทำจิตใจไม่ให้นิวรณ์เข้าครอบงำเรา
การฝึกอย่างนี้มันก็เป็นผลกระทบหลายอย่างถ้าเราเอาไปใช้ เป็นการฝึกสติ ไปรู้รูป รู้เสียง รู้อะไรได้เหมือนกัน ถ้าเราเอาสติไปใช้ทางนั้นได้รวดเร็วเหมือนกัน

ความไม่ง่วงก็อีกอย่างหนึ่งนะ เพราะคิดมากก็ไม่โงกไม่ง่วง ตัวตร๊งเลย เพราะว่ามันฟุ้งซ่านอย่างนี้นะ แต่อันหนึ่งก็คิดเรื่อยเปื่อย คิดไม่เป็นเรื่องเป็นราว อันนี้ก็ง่วงหงาวหาวนอนเหมือนกัน แต่ถ้าเราน้อมจิตใจของเราเข้าหาความสงบ จิตใจเป็นหนึ่งปราศนิวรณ์ จิตใจของเราก็ได้พักผ่อนพอสมควร อย่างนี้อย่างนี้น่าจะฝึกกันนะในชีวิตประจำวัน ไม่ให้นิวรณ์มันเข้าครอบงำ

นิวรณ์นี้ไม่ได้หมายถึงความง่วงหงาวหาวนอนนะ หมายถึงเราขาดสติ เรา เพลิดเพลินในสิ่งแวดล้อม เพลิดเพลินในกาม เราฟุ้งซ่านอะไรอย่างนี้
นี้ระบบสมองยังดีนะ เด็ก ๆ นี้อะไรดี ถ้าฝึกแล้วได้ดี ถ้าแก่ ๆ แล้วฝึกแล้วมันไม่ค่อยได้เหมือนกันนะ
แต่ถ้าเราใช้สติปัญญาแก่ก็ไม่เป็นไร แก่ก็คอยน็อคเอา ขึ้นมาเมื่อไหร่ก็น็อคเอาเมื่อนั้น น็อคเอาเลย ชกหมัดหนัก ๆ เลย

ลูกศิษย์ : ทำอย่างไรถึงจะให้ข้ามเวทนาได้ครับ
องค์พ่อแม่ครูอาจารย์ : เวทนานี้มันข้ามทางจิตใจ เราพยายามแยกใจออกจากกายอย่างนี้หละ พยายามทำจิตใจให้เป็นหนึ่ง ไม่สนใจเรื่องเจ็บเรื่องปวด ต้องฝึกไว้เหมือนกันนะ ฝึกให้ชำนาญเหมือนกันนะ เพราะคนเรามันต้องเจ็บต้องปวด ต้องป่วยเน๊อะ ต้องฝึกไว้เหมือนกันนะ

หนุ่มน้อยนี้มันต้องภาวนา ไม่ใช่ปล่อยให้ให้ผ่านไปเป็นวัน ๆ นะ อะไรก็ดี อะไรก็ดี ข้อวัตรก็ดี อะไรอะไรก็ดี แต่ว่าทางจิตใจไม่ก้าวหน้ามันก็ไม่สมดุลกัน

ต้องฝึกจิตใจนะ ปีใหม่แล้วส่งท้ายมันไปปีเก่าน่ะ ดีดมันไปไกล ๆ โดดไปข้างหน้า ไปเรื่อยแหละเรา
เพลิดเพลินตามสิ่งแวดล้อมตามต่าง ๆ อะไร ไม่สร้างความคิดความเห็น ไม่สร้างสัมมาทิฏฐิให้ตัวเองมันก็เพลินดีอยู่หรอกดูภายนอกไป มันเพลินเพราะความหลง มันไม่ได้เพลินด้วยสติด้วยปัญญา อย่างนี้ใครก็เพลินได้หละเว๊ย สมองดี ๆ อะไรดี ๆ ต้องเอาให้สมระบบสมอง พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอนให้โง่ ๆ อะไรอย่างนี้นะ สอนให้ฉลาดให้มีปัญญา

อย่างที่ท่านสอนว่า...
“สูทั้งหลายจงมาดูโลกนี้ ที่สวยงามดุจราชรถ คนเขาหมกอยู่ แต่ผู้รู้หาข้องอยู่ไม่”
แสดงว่าพระพุทธเจ้านี้สอนให้เราฉลาด แม้สิ่งแวดล้อมจะอำนวยความสะดวกสบายหรือว่าเพลิดเพลิน ไม่ให้เราหลง ให้เราเกิดสติเกิดปัญหา

คำสอนขององค์พ่อแม่ครูบาอาจารย์ในวันธรรมะสวนะ
๓๑ ธันวาคม ๒๕๓๗
ที่ป่าช้าบ้านร่องเข็ม อ.ร้องกวาง จ.แพร่

หมายเลขบันทึก: 352178เขียนเมื่อ 17 เมษายน 2010 16:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2012 17:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท