ทุกขภาวะกำเนิด


ทุกขภาวะกำเนิด

เป็นเวลากว่า 2 ปีแล้ว หลังจากที่ผมเริ่มอ่านหนังสือเรื่อง Theory U ของ Otto Scharmer แล้วมีคำๆหนึ่งคือ human-centred healthcare หรือระบบบริการสุขภาพแบบมนุษย์เป็นศูนย์กลาง ซึ่งลักษณะสำคัญคือการทำความเข้าใจใน "สุขภาวะกำเนิด (Salutogenesis)" ว่าชุมชน ปัจเจกนั้น มี "ต้นทุน" อะไรอยู่บ้างที่ทำให้ชีวิตของเขาเป็นปกติและมีความสุข เป็นกุญแจสำคัญที่แยกแยะจากกระบวนทัศน์ patient-centred healthcare หรือการดูแลคนป่วยโดยให้คนป่วยเป็นศูนย์กลาง ที่แรงผลักดัน การให้ความหมาย และจินตนาการจะวางอยู่บน หรือถูกผลักดันโดย "พยาธิกำเนิด (Pathogenesis)" พอเราเริ่มเข้าใจว่าที่จริงความเป็นอยู่ที่ดีของคนนั้น ไม่ได้มีเพียงมิติทางชีวภาพเท่านั้น หากเป็นองค์รวม คือมิติของความรู้สึก อารมณ์ จิตสังคมและจิตวิญญาณมาประกอบอยู่ตลอดเวลา เมื่อนั้น แหล่งทรัพยากรที่เราสามารถจะใช้่ และควรตระหนัก ศึกษา ทำความเข้าใจก็ขยายออก และการศึกษาอย่างเป็นองค์รวมสำหรับทุกๆเรื่อง ทุกๆรายวิชา เริ่ม make sense ทำให้เรามองเห็นความสำคัญของประโยคๆหนึ่งของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกที่ว่า "True success is not in the learning but in its application to the benefit of mankind. (ความสำเร็จที่แท้ไม่อยู่ที่เพียงการศึกษา แต่อยู่ที่การนำไปใช้ในเกิดประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์)

ดังนั้นจะเรียนอะไรก็ได้ ขอให้ "เชื่อมโยง" ว่าที่เราเรียน จะเรียกความสำเร็จไม่ได้เลย หากเราหมกมุ่นว่าสำเร็จนั้นบังเกิดต่อตัวเรา คือเรียนเพื่อความสวยงามของตนเอง ของปริญญา ของตำแหน่ง ของเงินเดือน นั่นเป็นเพียงต้นทุน แต่ความสำเร็จที่แท้ก็ต่อเมื่อสิ่งที่เราเรียนไปผุดดอกงอกผลยังความสุขสมบูรณ์ให้แก่ผู้อื่น แก่สังคม แก่สาธารณชน

พอเราว่าถึง "สุขภาวะกำเนิด" เราจะมองเห็นทันทีว่า "สุขภาพ" นั้น ไม่ใช่เรื่องลำพังของหมอ ของพยาบาลซะแล้ว คำๆนี้ถ้ามากับหมอ กับพยาบาล แปลว่าสายไปหน่อย ส่วนจะสายแค่ไหน คือสายเกินไป สายเกินแก้ หรือพอแก้ไหวก็บอกความนัยว่า "เราควรจะทำอะไรไปก่อนหน้านี้เพื่อป้องกัน" ทั้งนั้น

แต่เมื่อเราลองทำรายการ "สิ่งที่ทำให้เรามีความสุข" ไปเรื่อยๆ ผมพบว่ามี "กับดัก" ที่แฝงเร้นอยู่ในคำๆนี้ เพราะ "สุข" นั้นมีมิติลึกและกว้าง มีแบบตื้นเขินและมีแบบลึกซึ้ง มีแบบลิงโลดและมีแบบสงบสันติ มีแบบนำไปสู่การยึดติดและมีแบบนำไปสู่ความเข้าใจในชีวิต ในยุคปัจจุบัน ยิ่งถ้าเราติด หรือยึด กับอะไรเพียงตื้นเขิน เพียงฉาบฉวย ไม่ยอมมองอะไรยาวไกลไปกว่าเดี๋ยวนี้ พรุ่งนี้ กับดักนี้จะยิ่งลดทอนศักยภาพแห่งมนุษย์ของเราลงไปเรื่อยๆได้อย่่างน่าประหลาดใจ

เหตุการณ์ของบ้านเมืองในขณะนี้ เราไม่ได้มองที่ "เหตุ" แต่กำลังมองไปที่ "ผล" แห่งการรับรู้ ให้ความหมาย ปะปนกันทั้งแบบสั้นและแบบยาว และกำลังมองไปที่กระบวนการที่แปล "นามธรรม" เป็น "รูปธรรม" แล้วติดกับดักกับรูปธรรมที่แปลงมาแล้วหนึ่งระดับ แล้วไม่ได้ตรวจสอบว่ามันเป็นตัวแทน "คุณค่า"​ ของอุดมคติแต่แรกเริ่มเดิมทีของเราหรือไม่

อาทิ

เราเกิดมีอุดมคติทางการเมืองอย่างหนึ่ง ซึ่งใคร่ครวญดูแล้ว จะนำไปสู่สังคมในฝัน เป็นสังคมแห่งยุติธรรมและคุณธรรม แต่ก่อนอื่น เราจะต้องทำให้ผู้มีอำนาจนั้น ซื้อ idea นี้ก่อน ไปๆมาๆ เราอาจจะสรุปว่ายังงั้นมิสู้เราลงไปแข่งขันเป็นนักการเมืองเอง จากอุดมคติเริ่มชัดเจนมากขึ้นว่าเราต้องทำยังไง แต่พอเราไป focus ที่จะลงเป็นนักการเมือง ปรากฏว่ามันเกิดมี "ทางแยก" ขึ้นในระหว่างทาง คือทางแยกที่จะเป็นนักการเมืองยังไงก็ได้ กับการจะเป็นแบบมีอุดมคติ  ถ้าเราเลือกไม่ดี และลืมตรวจสอบว่าทำอย่างนี้ มันยังดีอยู่ ตรงกับสิ่งที่เราคิดไว้หรือไม่ "รูปธรรม" คือการลงมาเป็นนักการเมืองน้ำเน่า ก็จะกลืนกินตัวเราลงไป

เราอาจจะแก้ตัวว่่า "ไม่เป็นไรน่า ตอนนี้ ยอมทำๆเลวๆไปก่อน พอมีอำนาจเมื่อไร เราจะกลับตัวกลับใจ และทำตามอุดมคติที่ฝันไว้แต่แรกเริ่ม" หารู้ไม่ว่า "เราทำอะไรลงไป เราจะกลายเป็นสิ่งที่เราทำ ไม่ใช่กลายเป็นส่ิงที่เราฝัน" ปิศาจที่อยู่ในสิ่งที่เราลงมือทำ มันมีแต่จะรัดกัดกลืนกินจิตวิญญาณของเราลงไปเรื่อยๆ

สิ่งหนึ่งที่อาจจะช่วยได้คือ เราไม่ควรจะพึ่ง "สุขภาวะกำเนิด" อย่างเดียวเสียแล้ว เราควรทำความเข้าใจในเรื่อง "ทุกขภาวะกำเนิด" มากขึ้นไม่น้อยกว่ากัน

ทุกขภาวะกำเนิด

ยังนึกภาษาอังกฤษไม่ออก แต่ไม่จำเป็น เพราะคำๆนี้เราพอจะมีความเข้าใจร่วมๆกันอยู่ แต่อาจจะฟังวิชาการน้อยกว่า salutogenesis ไปนิด

เมื่อเปรียบเทียบกัน คนเราค่อยข้างจะ "ใส่ใจ" ในสาเหตุแห่งการเกิดทุกข์น้อย เพราะคิดถึงทีไร มันจะพลอยทำให้หดหู่ไปทุกที (ซึ่งไม่จำเป็นเลย) ซึ่งถ้าเราหันเอาด้านนี้มาประกอบกับสุขภาวะกำเนิด เราเริ่มเห็นอะไรต่างๆชัดเจนมากย่ิงขึ้น ห้อยแขวนสิ่งต่างๆได้นานขึ้น และด่วนตัดสินน้อยลง

ผมโชคดีที่ได้รับ mail merge จากเพื่อนรุ่นน้องคนหนึ่ง เป็นหนุ่มไฟแรงและศึกษาด้านการดูแลจิตใจ เขากับเพื่อนๆได้ตัดสินใจทำหน้าที่ที่เขาคิดว่าดี ไปพูดคุยกับผู้รับประสบภัย (กลางกรุง) และเขียนเป็นบันทึกฉบับหนึ่งซึ่งมีเนื้อหาใจความที่ลึกซึ้ง มีประโยชน์มาก ผมจะไม่วิเคราะห์ทั้งหมด แต่ขออนุญาตยกประเด็นบางอย่างที่ผุดขึ้นมาแต่แรกที่ได้อ่าน

คำสะท่้อนเหตุการณ์จากทั้งฝ่ายทหาร และฝ่าย นปช ที่ได้รับบาดเจ็บ เรียกว่าเป็น post-traumatic psychological response หรือการสะท้อนหลังเหตุการณ์บาดเจ็บ (ทั้งทางร่างกายและจิตใจ) ทั้งสองฝ่ายจะเรียงร้อยเหตุการณ์และเชื่อมโยงมา เหมือนกันบ้าง ไม่เหมือนกันบ้าง แต่สิ่งสำคัญคือ "ทำให้อยู่ต่อไปได้" เป็นคำอธิบายที่ตนเองพึงพอใจ ไม่ได้หมายถึงพอใจใน "ผล" แต่หมายถึงพอใจใน "เหตุ" การบาดเจ็บทางร่างกายนั้นสำคัญน้อยกว่าการ "ดูแล" ตัวตนที่แท้

และเราก็เห็น "พยาธิสภาพ" ของการเปลี่ยนอุดมคติ (นามธรรม) มาเป็นรูปธรรมแบบเฉพาะหน้าของทั้งสองฝ่าย เป็นการใช้ defense mechanism หรือกลไกปกป้องกันตนเอง (ที่ใครๆก็ใช้) เพียงแต่คำบางคำ เมื่อนำมาประกอบกับการกระทำ สิ่งที่ควรทำอย่างยิ่งก็คือ "สำรวจ ตรวจสอบว่า มันยังนำเสนอ เป็นตัวแทนอุดมคติของเราอยู่หรือไม่" ไม่ได้ยึดแล้วติดตราตายตัวอยู่อย่างนั้นไปตลอดชีวิต

เหมือนอย่างเช่น "การฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเป็นบาป" จริงแท้แน่นอน แต่เมื่อทหารออกสงคราม เกิดไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ผลอาจจะกลายเป็นมีคนถูกฆ่ามากกว่าอีกเป็นจำนวนมาก เหมือนอย่างเช่น "ยุติธรรม" เป็นเรื่องที่ดี เมื่ออีกฝ่ายทำเลวมาก่อน เราก็จะต้องทำให้เลวเท่า แย่เท่า ไม่น้อยไปกว่ากัน หรือเมื่อเราทุกข์มาก เราก็เห็นว่าสมเหตุสมผลที่จะทำให้เพื่อนมนุษย์ทุกข์ไม่น้อยกว่าเรา (ที่เห็นๆก็คือ อยากจะให้ "ทุกข์กว่าเรา" เสียละมากกว่า)

"ทุกขภาวะกำเนิด" นั้นมีแฝงอยู่ในทุกๆเรื่อง แต่เรามักจะมองข้ามมันไป เวลาเราจะมองเห็นเรื่องราวต่างๆให้ชัดนั้น เราหวังจะได้ "ทางเลือกที่มากขึ้น" แต่ถ้าเริ่มต้น เราทำตัวให้เชื่อว่าทางเลือกมีน้อยมาก สิ่งที่เราทำต่อๆไป เสมือนขุดหลุมบนตำแหน่งที่เรายืนอยู่ จนตัวเราจมลึกลงๆไปเรื่อยๆ ทางออกที่เราเห็น จะค่อยๆกลายเป็นปากหลุมที่อยู่เหนือศีรษะเรา นับวันยิ่งเล็กลงๆ เราเองจมอยู่ในบ่อที่ลึกลงไปทุกที

ถ้าเรามองเรื่องราวจากทั้งสองประเด็น คือ สุขภาวะกำเนิด และ ทุกขภาวะกำเนิด ดังนี้เราจึงจะมองเห็น "ศักยภาพที่แท้" ของมนุษย์ คือ ทั้งสร้างสรรค์และทำลาย ถ้าเรามองเพียงฝั่งเดียว เราอาจจะเผอเรอมองข้ามด้านมืด (หรือด้านสว่าง) ไปได้ง่ายๆ สิ่งสำคัญคือ "มนุษย์ต้องเลือกกระทำ เพื่อจะเป็น" ดังนั้น เราพึงมีสติ ใคร่ครวญให้รอบคอบ เส้นแบ่งระหว่างอัจฉริยะและผู้วิกลจริตอาจจะไม่ใหญ่มากอย่างที่คิด เส้นแบ่งระหว่างผู้ชนะกับทรราชย์ยิ่งบางมากกว่า

คำสำคัญ (Tags): #ทุกขภาวะกำเนิด
หมายเลขบันทึก: 352012เขียนเมื่อ 16 เมษายน 2010 20:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 13:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณคะที่นำเรื่องราวดี ๆที่อาจารย์นำมาแบ่งปันคะ

สวัสดีท่านอาจารย์ครับ

แวะมาเยี่ยม และ มาเรียนรู้ สุขภาวะกำเนิด และ ทุกขภาวะกำเนิด ครับ...

ขอบคุณมากค่ะ....

สำหรับบันทึกดีที่ทำให้ได้ยั้งคิด

จะติดตามอ่านต่อไปค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท