สามโคกกับระบำสามโคก


ระบำสามโคกเป็นนวัตกรรมการสอนนาฏศิลป์ท้องถิ่นอำเภอสามโคก

 

 

ประวัติอำเภอสามโคก

        อำเภอสามโคก เดิมชื่อ เมืองสามโคก เล่ากันว่าเพราะมีโคกโบราณอยู่ในเมืองสามแห่ง  เป็นเมืองที่มีความหมายสัมพันธ์กับชาวมอญที่อพยพอยู่ในประเทศไทยเมืองหนึ่ง ตามหลักฐานในกฎหมายเก่า ลักษณะพระธรรมนูญ      ว่าด้วยการใช้มาตราต่างๆ พ.ศ.๒๑๗๙  ในแผ่นดินพระเจ้าปราสาททองแห่ง         กรุงศรีอยุธยา ระบุว่า สามโคกเป็นเมืองขึ้นกับกรมพระกลาโหม แสดงว่าสามโคกมีฐานะเป็นเมืองมาแล้วตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

ในสมัยรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ราว พ.ศ.๒๒๐๒  ชาวเมืองเมาะตะมะอพยพหลบหนีเข้ามาสวามิภักดิ์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลสามโคก นับเป็นชุมชนมอญครั้งแรกในสมัยนี้ 

ครั้งที่สองอพยพในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สมัยกรุงธนบุรี ใน พ.ศ.๒๓๑๗ เรียกว่าครัวมอญพระยาเจ่งหรือมอญเก่า 

ครั้งที่สามสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แห่งราชวงศ์จักรี ในพ.ศ. ๒๓๕๘ เรียกว่ามอญใหม่ และจัดให้ทำบัญชีสำมะโนครัวไว้

ในปีนี้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ได้เสด็จประพาสเมืองสามโคกในเทศกาลออกพรรษาเดือนสิบเอ็ด ซึ่งชาวมอญได้ประกอบพิธีฉลองและทำบุญตามประเพณีอย่างมโหฬาร  เล่ากันว่าประชาชนซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมอญเมื่อทราบข่าวการเสด็จประพาสจึงพากันมาเฝ้ารอรับเสด็จและนำดอกบัวที่มีอยู่มากมายในท้องถิ่นมาถวาย รัชกาลที่ ๒ ทรงโปรดพระราชทานนามเมืองสามโคกใหม่ว่า ประทุมธานี และยกฐานะให้เป็นเมืองตรีสืบแต่นั้นมา 

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ แห่งราชวงศ์จักรี ทรงเปลี่ยน การสะกดนามจังหวัดเป็น “ปทุมธานี”

 

 

 

“สามโคก”  มีการย้ายที่ว่าการเมืองหลายครั้ง

        ครั้งที่  ๑  ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านงิ้ว  บริเวณวัดพระยาเมือง  และวัดป่างิ้ว  อำเภอสามโคก

        ครั้งที่  ๒  ตั้งอยู่ที่ตำบลสามโคก  บริเวณวัดสิงห์  อำเภอสามโคก

        ครั้งที่  ๓  ตั้งอยู่ที่บ้านตอไม้  บริเวณวัดปทุมทอง  ตำบลบ้านปทุม  อำเภอสามโคก

        ครั้งที่  ๔  ตั้งอยู่ที่บ้านสามโคก  บริเวณวัดดอกไม้  ตำบลสามโคก  อำเภอสามโคก

        ครั้งที่  ๕  ตั้งอยู่ที่ปากคลองบางเตย  บริเวณวัดตาล (ร้าง) ได้ตั้งที่ทำการถาวรโดยจัดสร้างเป็นอาคารไม้ทรงปั้นหยาอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

        ครั้งที่  ๖  ตั้งอยู่ที่ริมถนนสายปทุมธานี - สามโคก  ตำบลบางเตย อำเภอสามโคก ในปี  พ.ศ.๒๕๒๖ จนถึงปัจจุบันนี้

โบราณสถานโบราณวัตถุ

        เมืองสามโคกเป็นเมืองเก่าแก่ตั้งแต่ครั้งต้นกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีบ้านเรือนในยุคนั้นตั้งกันอยู่เป็นหมู่บ้านริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ดังปรากฎหลักฐานจากแผนที่สมัยกรุงศรีอยุธยาที่ฝรั่งต่างชาติจัดทำขึ้น เช่น หมู่บ้านสามโคก หมู่บ้านพร้าว เป็นต้น ส่วนวัดซึ่งเป็นศูนย์กลางของชุมชนก็ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำลำคลองสองฟากฝั่งแม่น้ำ บ้านเรือนบางส่วนในสมัยก่อนนิยมอยู่ในน้ำเรียกว่า “เรือนแพ” โดยใช้ไม้ไผ่มัดติดกันเป็นแพปลูกบ้านอยู่บนแพ อยู่รวมกันเป็นหมู่บ้านเคยมีปรากฏอยู่เช่นกัน “หมู่บ้านเรือนแพท้ายเกาะใหญ่หมู่บ้านเรือนแพที่บ้านกระแชง”

        โบราณสถานโบราณวัตถุในอดีตของเมืองสามโคกส่วนใหญ่จะปรากฏอยู่ตามวัดต่างๆ  เป็นอันมากและอีกส่วนหนึ่งก็มีอยู่ตามบ้านเรือน  หรือแหล่งชุมชนโบราณขุดพบโบราณขุดพบเศษภาชนะโบราณวัตถุประเภทเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ถ้วยชาม โอ่งอ่าง ครก  เครื่องมือเครื่องใช้ที่เป็นโลหะส่วนใหญ่จะชำรุดแตกหัก ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาประวัติความเป็นมาของบ้านเมืองสามโคกในอดีต ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะ “เตาโอ่งอ่าง” ที่วัดสิงห์

ประวัติเพลงสามโคก

เพลงสามโคกเกิดขึ้นจากแนวความคิดของครูบุญรัตน์  บุญยศ ซึ่งได้รับมอบหมายหน้าที่รับผิดชอบการเรียนการสอนดนตรีนาฏศิลป์ของโรงเรียนชุมชนวัดไก่เตี้ย และได้รับเชิญให้นำนักเรียนไปแสดงตามงานต่างๆ ในชุมชน และหน่วยงานราชการ บางครั้งได้รับเชิญให้เดินทางไปแสดงต่างจังหวัด ทำให้คิดว่าในการแสดงแต่ละครั้งควรจะนำเสนอในสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของอำเภอสามโคก เพื่อให้ผู้รับชมการแสดงได้ทราบ จึงเขียนเนื้อหาเพลงสามโคกขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายที่จะสื่อถึงความเป็นมา สภาพทั่วไป วัฒนธรรมประเพณี และเอกลักษณ์ของท้องถิ่นสามโคกแล้วนำไปให้ครูไชยญาณ  บุญยศ ช่วยสร้างทำนองเพลงให้ โดยเน้นว่าทำนองเพลงใช้เครื่องดนตรีมอญ ลักษณะการบรรเลงเป็นเพลงท่วงทำนองระดับกลางใช้เพื่อประกอบรำ นายกิตติโชติ  ผ่านวงษ์            (ตี๋ ภูธร) เป็นผู้เรียบเรียงดนตรี และนายทรงเดช  ขุนแท้ ศึกษานิเทศก์ วิทยฐานะชำนาญการพิเศษ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาปทุมธานี เขต ๑ เป็นที่ปรึกษาและควบคุมการผลิต

สาระของเพลงกล่าวถึงประวัติความเป็นมาของอำเภอสามโคก ซึ่งเป็นเมืองเก่าตั้งอยู่ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เดิมชื่อเมืองสามโคก สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ในรัชกาลพระบาทสมเด็จ  พระพุทธเลิศล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ในพ.ศ. ๒๓๕๘ มีชาวมอญจากเมืองเมาะตะมะอพยพเข้ามาสวามิภักดิ์ ซึ่งเป็นครั้งที่สามที่เข้ามาพึ่งไทย เรียกว่ามอญใหม่ และในปีนี้พระองค์ได้เสด็จประพาสเมืองสามโคกในเทศกาลออกพรรษาเดือนสิบเอ็ด ซึ่งชาวมอญได้ประกอบพิธีฉลองและทำบุญตามประเพณีอย่างมโหฬาร เล่ากันว่าชาวมอญได้แห่แหนกันมาเฝ้าพร้อมทั้งนำดอกบัว ซึ่งมีอยู่มากมายในเมืองนี้มาถวาย  พระองค์จึงได้พระราชทานนามเมืองสามโคกใหม่ว่า “เมืองประทุมธานี” ยกฐานะเป็นหัวเมืองชั้นตรี เมืองสามโคกมีวัฒนธรรมประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ คือ วัฒนธรรมประเพณีของชาวไทยรามัญ ได้แก่ มอญคั่ง ตักบาตรพระร้อย จุดลูกหนู รำมอญ เอกลักษณ์ประจำท้องถิ่นสามโคกที่เป็นที่รู้จักทั่วไป คือ โบราณสถานเตาโอ่งอ่าง ตุ่มสามโคก และนกปากห่าง

แต่เดิมคนทั่วไปมักจะคุ้นเคยกับความเศร้าโศกเมื่อพูดถึงอำเภอสามโคก ย้อนกลับไปในสมัยสิ้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย กวีเอกสุนทรภู่ได้แต่งนิราศภูเขาทองขึ้น และในขณะที่ท่านเดินทางผ่านเมืองสามโคกมีความตอนหนึ่งในนิราศภูเขาทองที่ท่านแต่งไว้ กล่าวถึงเมืองสามโคก ความว่า

ถึงสามโคกโศกถวิลถึงปิ่นเกล้า

พระพุทธเจ้าหลวงบำรุงซึ่งกรุงศรี

ประทานนามสามโคกเป็นเมืองตรี                 

ชื่อประทุมธานีเพราะมีบัว

จากบทกลอนที่กล่าวนี้ ส่งผลต่อความรู้สึกของผู้ที่ได้อ่านนิราศภูเขาทองว่า

เมืองสามโคกเป็นเมืองแห่งความโศกเศร้าเล่าขานกันต่อมา  ด้วยเหตุนี้ จึงมีผู้ที่จะคิดหาวิธีการที่จะเปลี่ยนทัศนคติและลบภาพนึกแห่งความเศร้าโศกของเมืองสามโคกโดยการประพันธ์เพลงที่กล่าวถึงเอกลักษณ์ และภาพนึกที่ดีของเมืองสามโคก หรือปทุมธานี ได้แก่ ครูไชยญาณ  บุญยศ ได้ประพันธ์เนื้อร้อง เพลง “ของดีเมืองปทุมฯ” ตอนหนึ่ง เพื่อเน้นย้ำสิ่งดีๆ ที่มีอยู่ในเมืองสามโคก ความว่า

เมืองสามโคกไม่โศกเหมือนท่านผู้กล่าว

ท้องทุ่งริมทางปากห่างคลอเคล้าคู่กันเริงรื่นชื่นหวาน

สาวมอญคนสวยเกล้ามวยเล่นสาดน้ำสงกรานต์

เตาโอ่งอ่างอิฐมอญลอนตาลล้วนของดีที่เมืองปทุมฯ

และเพลงสามโคก ที่ครูบุญรัตน์  บุญยศ เป็นผู้ประพันธ์เนื้อร้อง ความว่า

สามโคกเมืองงามด้วยประเพณีร่ำลือไกล

คนสามโคกมีน้ำใจกว้างใหญ่เหมือนเจ้าพระยา

ปากห่างคลอเคล้าหยอกเย้าคู่กันเริงร่า

แม้ใครอยู่เดียวเอ้กาเชิญเที่ยวมาสามโคกจะโชคดี

เราท่านทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นชาวสามโคก ชาวจังหวัดปทุมธานี หรือท่าน

ที่มาจากต่างแดน คงจะได้รับรู้เป็นขั้นต้น ณ เวลานี้ว่า เมืองสามโคกของเรานั้นมิได้มีความเศร้าโศก แต่ในทางตรงกันข้าม เมืองสามโคกเป็นเมืองแห่งสุข              ความโชคดี มีศิลปวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามเป็นที่ภาคภูมิใจที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทยทีเดียว ขอความกรุณาช่วยเล่าขานบอกต่อกันไปถึงสิ่งดีที่กล่าวมานี้ จักเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

ประวัติ ระบำสามโคก

        ภายหลังจากการศึกษาค้นคว้าข้อมูลความรู้เกี่ยวกับสามโคกเพื่อสร้างบทเพลงสามโคกสำเร็จแล้ว ครูบุญรัตน์  บุญยศ ได้ดำเนินการสร้าง “ระบำสามโคก” ซึ่งเป็นชุดระบำที่สร้างขึ้นจากการได้วิเคราะห์เนื้อหา ทำนอง จังหวะของเพลง โดยขอคำปรึกษาจากผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รจนา  สุนทรานนท์ ประธานหลักสูตรนาฏศิลป์และดุริยางค์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี       ราชมงคลธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี อาจารย์จามรี  คชเสนีย์ ข้าราชการบำนาญ อดีตคณบดี  คณะนาฏศิลป์และดุริยางค์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี อาจารย์  วีระ  บัวบาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จังหวัดปทุมธานีและครูนิรมล  รัตนายน โรงเรียนชุมชนวัดไก่เตี้ย อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ในการสร้างท่ารำ และเครื่องแต่งกาย ขอคำปรึกษาจากนางสาวสินีนาฏ ทองวัฒนา นิสิตปริญญาตรี เกียรตินิยม คณะนาฏศิลป์ มหาวิทยาลัย  ศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร ในการเขียนอธิบายท่ารำ

        เมื่อได้รับคำปรึกษา แนะนำ จากผู้ทรงคุณวุฒิในการสร้างท่ารำ และสร้างเครื่องแต่งกาย ชุด “ระบำสามโคก” แล้ว ครูบุญรัตน์ บุญยศ ได้ศึกษาข้อมูลจากเอกสาร หนังสือ และวารสารต่างๆ เกี่ยวกับเครื่องแต่งกายของชาวมอญเพิ่มเติม และได้สัมภาษณ์ สอบถามจากชาวบ้านมอญในท้องถิ่นอำเภอสามโคก ได้แก่ นายอ๊อด  ดอกพิกุล ผู้นำหมู่บ้านชาวมอญในหมู่บ้านศาลาแดง และนำมาประกอบการสร้าง ชุด “ระบำสามโคก” ที่สมบูรณ์

        “ระบำสามโคก” นี้ แต่เดิมนั้น ครูบุญรัตน์ บุญยศ มีความมุ่งหมายใน         การสร้างขึ้น เพื่อใช้พัฒนาการเรียนการสอนวิชานาฏศิลป์ในระดับชั้นประถม ศึกษาปีที่ ๖ ต่อมาได้รับเชิญไปแสดงในงานต่างๆ เรื่อยมา ได้แก่ งานสืบสานวัฒนธรรมประเพณีจังหวัดปทุมธานี งานวันสงกรานต์ งานเปิดอาคารโรงเรียน งานมุทิตาจิตเกษียณอายุฯลฯ ซึ่งเป็นงานมงคลทั้งสิ้น

เมื่อ “ระบำสามโคก” เป็นที่รู้จักมากขึ้น และมีผู้สนใจขออนุญาตนำไปใช้สอนนักเรียน ทำให้ครูบุญรัตน์  บุญยศ จัดทำเป็นสื่อวีดิทัศน์ “ระบำสามโคก” ขึ้น เพื่อจะได้เป็นต้นแบบการรำรูปแบบเดียวกันเพิ่มความสะดวกในการนำไปใช้สอนวิชานาฏศิลป์ที่เน้นให้ผู้เรียนเล็งเห็นถึงคุณค่าความสำคัญของศิลปวัฒนธรรม  ประเพณีท้องถิ่น อันเป็นเอกลักษณ์ที่ควรค่าแก่การที่คนรุ่นหลังจะได้ช่วยกันรักษาให้คงอยู่ต่อไป

เพลงสามโคก

คำร้อง : บุญรัตน์   บุญยศ                          เรียบเรียงเสียงประสาน

ทำนอง - ขับร้อง : ไชยญาณ   บุญยศ               กิตติโชติ   ผ่านวงษ์

 

สามโคกเมืองเก่าตั้งอยู่ริมฝั่งเจ้าพระยา

ถิ่นฐานชาวมอญที่มาพึ่งบารมีชาติไทย

จวบจนลูกหลานสืบสานเชื่อมโยงสายใย            

วัฒนธรรมยิ่งใหญ่ประเพณีของไทยรามัญ

สามโคกเมืองนี้เป็นแหล่งทำกินที่อุดม 

ทำสวนไร่นาเหมาะสมรื่นรมย์ร่มเย็นมานาน

เลื่องชื่อลือนามตุ่มสามโคกเครื่องดินปั้น            

โบราณสถานสำคัญเตาโอ่งอ่างรู้จักกันดี

ก่อนกาลออกพรรษาเดือนสิบเอ็ด             

พระพุทธเจ้าหลวงเสด็จที่เมืองสามโคกแห่งนี้

ชาวบ้านนำบัวถวายเหนือหัวจักรี                   

ทรงตั้งให้เป็นเมืองตรีชื่อประทุมธานีสืบมา

สามโคกเมืองงามด้วยประเพณีร่ำลือไกล     

คนสามโคกมีน้ำใจกว้างใหญ่เหมือนเจ้าพระยา

ปากห่างคลอเคล้าหยอกเย้าคู่กันเริงร่า       

แม้ใครอยู่เดียวเอ้กาเชิญเที่ยวมาสามโคกจะโชคดี

หมายเลขบันทึก: 351999เขียนเมื่อ 16 เมษายน 2010 20:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 20:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

 ขอแสดงความยินดีกับคุณครูทั้งสองท่านที่ได้ทำการศึกษาค้นคว้าข้อมูลความรู้เกี่ยวกับสามโคกเพื่อสร้างบทเพลงสามโคก สำเร็จแล้ว น่าประทับใจมากค่ะ เพลงรำสามโคกเป็นเพลงที่ไพเราะมากๆค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท