Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ข้อควรคิดและข้อควรปฏิบัติสำหรับนักศึกษาปริญญาโทเอก : คิดอย่างไรเมื่อต้องทำรายงานความคืบหน้าเสนออาจารย์ที่ปรึกษา ?


มีข้อแนะนำเชิงความคิดและวิธีการสำหรับนักศึกษาปริญญาโทเอกดังนี้

ในประการแรก นักศึกษาควรตระหนักว่า การเริ่มต้นทำรายงานความคืบหน้าควรเริ่มต้นจากการทบทวนความคืบหน้าของงานของตนเอง หมายความว่า งานวิทยานิพนธ์ของเราเคลื่อนที่จากจุดหนึ่งมายังอีกจุดหนึ่งอย่างไร ? ดังนั้น การทบทวนควรจะทำให้นักศึกษาได้มีความชัดเจนทางความคิด ๓ ประการ กล่าวคือ (๑) จุดเดิมเมื่อการรายงานความคืบหน้าครั้งที่ผ่านมาอยู่ตรงไหน ? (๒) สามเดือนที่ผ่านมาทำให้เคลื่อนที่จากจุดเดิมมาได้แค่ไหน ? มากแค่ไหน ? มีแผนงานไหมในสามเดือนนี้ ? ทำได้ตามแผนไหม ? มีอุปสรรคอะไรไหม ? (๓) อีกสามเดือนข้างหน้าจะทำอะไร ?

ในประการที่สอง นักศึกษาน่าจะเขียนแผนผังความคิดอันเป็นผลมาจากการทำงาน ซึ่งควรจะเป็นแผนผังที่ทำต่อเนื่องจากงานที่เสนอเข้าสู่ที่ประชุมของประชาคมวิจัยฯ ในครั้งที่ผ่านมา แผนผังที่ทำขึ้นนี้จะสร้างความชัดเจนของความคิด และจะส่งผลดีเพื่อนักศึกษาและคณาจารย์จะได้มีภาพเดียวกันในหัวสมอง และนอกจากนั้น คณาจารย์จะได้มีโอกาสให้ความเห็นต่อ state of knowledge ที่นักศึกษาเป็นอยู่ค่ะ ซึ่งในปีแรกของการทำงาน อุดมคติหรือเป้าหมายของงาน ก็คือ นักศึกษาควรเห็น body of knowledge ให้ครบถ้วนค่ะ เพื่อที่จะสามารถทำ scope of thesis work ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสรุป ความรอบด้านขององค์ความรู้เกี่ยวกับหัวข้อวิทยานิพนธ์น่าจะได้รับการทบทวนเบื้องต้นโดยเจ้าของหัวข้อและทักทอระบบคิดทั้งหมดอย่างเป็นระบบอย่างน้อยในรูปของแผนผัง อันเป็นวัตถแห่งการศึกษาร่วมกันระหว่างนักศึกษาและคณาจารย์ที่อยู่ในประชาคมวิจัยฯ ที่เกิดขึ้น

ในประการที่สาม สำหรับนักศึกษาในปีที่สองนี้ ก็ควรจะเริ่มคิดและตัดสินในในเรื่อง Research Questions and Scope of Thesis หมายความว่า จะต้องจำกัดขอบเขตของการศึกษาเพื่อลงลึกแล้วล่ะ ผลของปีที่สองที่ควรเป็น ก็คือ สารบาญของวิทยานิพนธ์นะคะ เพื่อที่ปีที่สาม จะได้จัดการสอบสารพัดสอบ ตั้งแต่คุณสมบัติ ภาษา และที่สำคัญที่สุด ก็คือ เค้าโครงวิทยานิพนธ์ซึ่งกรรมการสอบที่จะถูกตั้งมาเพิ่มเติมเห็นด้วย

ในประการที่สี่ นักศึกษาควรให้ความสนใจกับกรณีศึก เพราะข้อเท็จจริงจากเรื่องจริงหรือเรื่องสมมติเป็นเครื่องมือที่ดีสำหรับการอธิบายแนวคิดที่เป็นนามธรรม และการนำกรณีศึกษามาแลกเปลี่ยนกันในที่ประชุมประชาคมวิจัยฯ  จะสร้างความเข้าใจในผลการค้นคว้าของนักศึกษา และลดช่องว่างระหว่างนักศึกษาและคณาจารย์ การสะสมกรณีศึกษาตลอดเวลาที่ทำวิทยานิพนธ์จะนำไปสู่ความชัดเจนในความคิด ดังนั้น ในแต่ละการประชุมประชาคมวิจัยปริญญาโทเอก จึงแนะนำให้นักศึกษาเสนอกรณีศึกษาที่พบในแต่ละช่วงเวลาเข้ามาด้วย

ยกตัวอย่างจากกรณีของ อ.ด๋าวซึ่งทำเรื่องสิทธิในสถานะบุคคลนั้น ก็อาจยกกรณีศึกษาเกี่ยวกับการที่ สปสช.ร้องขอมติคณะรัฐมนตรีเพื่อตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพสำหรับคนไร้สัญชาติ อันทำให้เรื่องความสำคัญของสัมพันธภาพระหว่างสิทธิในหลักประกันสุขภาพและสิทธิในสถานะสถานะบุคคล กรณีศึกษานี้ทำให้เราได้เรียนรู้ว่า “สถานะบุคคลเป็นจุดกำเนิดแห่งสิทธิ” หากไม่มีสถานะบุคคลตามที่กฎหมายกำหนด ความเป็นผู้ทรงสิทธิตามกฎหมายก็ไม่เกิด เมื่อแนวคิดของ สปสช. ในเรื่องลักษณะของสถานะบุคคลของผู้ทรงสิทธิในหลักประกันสุขภาพไม่ชัด การต่อสู้เพื่อที่จะขอให้รัฐไทยต้องให้สิทธิในหลักประกันสุขภาพแก่มนุษย์จึงล้มเหลว หรือเกือบล้มเหลว (?? การประเมินผลนี้ขึ้นด้วยกับ Realism ของแต่ละผู้ประเมิน) 

ในประการที่ห้า เสนอให้นักศึกษาเสนอรายชื่อหนังสือและเอกสารที่ค้นพบและอ่านในช่วงเวลาที่จะต้องรายงานความคืบหน้า ซึ่งอาจจะรวบรวมเป็นบรรณานุกรมเอาไว้ล่วงหน้า และปรับปรุงไปทุก ๓ เดือนที่มีการประชุมรายงานความคืบหน้า การทำเช่นนี้ส่งผลดีต่อนักศึกษา เพราะหาก reading ที่สำคัญหายไป คณาจารย์จะได้มีโอกาสเพิ่มเติมให้

ในประการที่หก เสนอให้นักศึกษามีการสื่อสารกับคณาจารย์และบุคคลอื่นที่ร่วมประชาคมวิจัยฯ ตั้งแต่ช่วงเวลาที่เตรียมรายงานความคืบหน้า ภาวะการตกตะกอนทางความคิด (Cristalization of Idea) จะเกิดขึ้นในช่วงนี้ การสื่อสารทางเว็บหรืออีเมลล์เป็นโอกาสอันดีของยุคที่ ICT ก้าวหน้าดังปัจจุบัน นอกจากนั้น การลุกขึ้นมาช่วยกันเตรียมความคิดของคนหนึ่งในประชาคมวิจัยจะกระตุ้นความสนใจในการศึกษาร่วมกันของคนอื่นๆ โดยสรุป จึงเสนอให้นักศึกษาแชร์การเตรียมรายงานความคืบหน้ากับคณาอาจารย์ รวมถึงเพื่อนร่วมประชาคมวิจัยปริญญาเอกในช่วงเวลาเตรียมรายงานความคืบหน้า

ในประการที่เจ็ด เสนอให้นักศึกษาขอความช่วยเหลือจากคณาจารย์ในแต่ละการประชุมเสนอรายงานความคืบหน้า การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต้องเกิดจากการกระทำของสองฝ่าย ความรู้จะงอกงามหากมีการทักทอความรู้ร่วมกัน ควรมีการสนทนาวิชาการระหว่างกัน การประชุมประชาคมวิจัยระดับปริญญาโทเอกมิใช่เรื่องของการมาฟังบรรยาย แต่เป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยนความคิดด้วยปัญญา

โดยสรุป  ข้อเสนอแนะทั้ง ๗ ประการนี้มาจากประสบการณ์ที่ทำวิทยานิพนธ์มาเองและการคุมวิทยานิพนธ์มาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๒ จนถึงปัจจุบัน ขอท่านทั้งหลายที่กำหนดทำวิทยานิพนธ์ โปรดอ่านและพิจารณา

-------------------------------------------------------

 

หมายเลขบันทึก: 351666เขียนเมื่อ 15 เมษายน 2010 01:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 02:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีปีใหม่ไทย53  ค่ะ อาจารย์แหวว ที่รักเสมอ

มีความสุขมากๆๆนะคะ  ขอบคุณ สำหรับบันทึกที่ดี มีประโยชน์มากมายค่ะ

สวัสดี ครับ อาจารย์Archanwell

เข้ามารดน้ำ และขอพร อาจารย์ ในเทศกาลวันปีใหม่ของไทย นะครับ

ด้วยความเคารพ

สวัสดีปีใหม่ไทยค่ะ ครูอ้อย แซ่เฮ และ แสงแห่งความดีค่ะ

สวัสดีปีใหม่เมืองครับอาจารย์

ขอบคุณอาจารย์มากเลยครับ สำหรับข้อคิดและข้อปฏิบัติ

ผมจะใช้กรอบนี้ในการทำ thesis ต่อไปครับ

ขอบคุณครับผม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท