พจนานุกรมกฎหมายไทย-ก


กฎหมาย

กกต.  
(ย) คณะกรรมการการเลือกตั้ง
กขท.
(ย) (พรบ.ระเบียบข้าราชการทหาร ๒๕๒๑ ม.๕) คณะกรรมการข้าราชการทหาร
กคช.  
(ย) การเคหะแห่งชาติ
กคพ.
(ย) คณะกรรมการคดีพิเศษ
ก.ค.ศ.
(ย) (พรบ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ๒๕๔๗ ม.๗) คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
กฎ
 ๑. ข้อกำหนด  ข้อบัญญัติ     ๒ . (พรบ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ๒๕๓๙ ม.๕,พรบ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง  ๒๕๔๒ ม.๓) พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่น ระเบียบ ข้อบังคับ หรือบทบัญญัติอื่นที่มีผลบังคับเป็นการทั่วไป โดยไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดหรือบุคคลใดเป็นการเฉพาะ  ดู คำสั่งทางปกครอง
กฎ ก.พ.
(ย) ก.ม.ในลำดับศักดิ์กฎกระทรวงออกโดยอาศัยอำนาจพ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน
กฎกระทรวง
ก.ม.ลายลักษณ์อักษรซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจกม.แม่บทซึ่งอาจเป็น  พ.ร.บ. พ.ร.ก. หรือ พ.ร.ฎ. ก็ได้  โดยรัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมายฉบับนั้นๆ เป็นผู้มีอำนาจในการออกและไม่ต้องผ่านรัฐสภา เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วมีผลใช้บังคับได้   กม.นี้มีลำดับศักดิ์ต่ำกว่าพรบ.และพรฎ. และมีเนื้อหากำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขในการที่จะปฏิบัติตามกม.แม่บท   ดูกฎเสนาบดี
กฎบัตร
(กม.รปท.) ตราสารตกลงก่อตั้งองค์การระหว่างประเทศ เช่น กฎบัตรสหประชาชาติ ( แปลมาจาก Charter)  ดู มาตราบท
กฎพระอัยการ   
(ก) กม.
กฎมณเฑียรบาล
กม.ว่าด้วยราชสำนัก มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ปัจจุบันคือ กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช  ๒๔๖๗
กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗
กม.ว่าด้วยการสืบราชสมบัติ มีศักดิ์เทียบเท่ารัฐธรรมนูญ  ตราขึ้นในสมัย ร. ๖ ใช้บังคับเมื่อวันที่ ๑๑ พย.๒๔๖๗  มี ๒๑ ม. แบ่งเป็น ๘  หมวด คือ หมวดที่ ๑ ว่าด้วยนาม และกำหนดให้ใช้กฎมณเฑียรบาล  หมวดที่ ๒ บรรยายศัพท์  หมวดที่ ๓ ว่าด้วยการทรงสมมติและถอนรัชทายาท หมวดที่ ๔ ว่าด้วยลำดับชั้นและผู้ควรสืบราชสันตติวงศ์  หมวดที่ ๕ ว่าด้วยผู้ต้องยกเว้นจากการสืบราชสันตติวงศ์  หมวดที่ ๖ ว่าด้วยเวลาที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงพระเยาว์  หมวดที่ ๗ ว่าด้วยการแก้ไขกฎมณเฑียรบาล  และหมวดสุดท้ายว่าด้วยผู้รักษาการตามกฎมณเฑียรบาล
กฎเสนาบดี
 ชื่อเดิมของกฎกระทรวง แต่ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๔ ธ.ค. ๒๔๗๕ ได้เปลี่ยน เป็นกฎกระทรวงโดย พ.ร.บ. เทียบตำแหน่งกับเสนาบดีแต่ก่อน    พ.ศ. ๒๔๗๕
กฎหมาย๑
แบบแผนความประพฤติของมนุษย์ที่อาจจะเกิดจากคำสั่งหรือข้อบังคับของผู้มีอำนาจอธิปไตยหรือเกิดจากจารีตประเพณีหรือจากบ่อเกิดกม.อื่น  ซึ่งมีลักษณะใช้บังคับกับบุคคลทั่วไปและใช้ได้ตลอดไปจนกว่าจะถูกยกเลิก  และมีสภาพบังคับ  กม.อาจแบ่งได้หลายประเภท ได้แก่ (๑) แบ่งเป็นกม.ลายลักษณ์อักษร และกม.ที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร (๒) แบ่งแยกตามลักษณะการใช้เป็น กม.สารบัญญัติและกม.วิธีสบัญญัติ  และ (๓)แบ่งตามความสัมพันธ์ของคู่กรณีเป็น กม.เอกชน  กม.มหาชนและกม.ระหว่างประเทศ
กฎหมาย๒
 ๑. (กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์) คำสั่งทั้งหลายของผู้ปกครองว่าการแผ่นดินต่อราษฎรทั้งหลาย เมื่อไม่ทำตามแล้วตามธรรมดาต้องโทษ  ๒.(พระยานิติศาสตร์ไพศาล) ระเบียบที่ผู้มีอำนาจได้วางไว้สำหรับความดำเนินของผู้อยู่ใต้อำนาจ เป็นคำบัญชาอย่างใดอย่างหนึ่งจะให้กระทำหรืองดเว้นไม่กระทำสิ่งใด เมื่อผู้บังคับบัญชานั้นมีอำนาจจะบัญชาได้ถ้าผู้ใดไม่ทำตามแล้วจะบันดาลให้เกิดผลร้ายหรือทำโทษได้  ๓. (ศ.เอกูต์) คำสั่งหรือข้อห้ามซึ่งมนุษย์จำต้องเคารพในความประพฤติต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันอันมาจากรัฐถาธิปัตย์หรือหมู่มนุษย์มีลักษณะทั่วไปใช้บังคับได้เสมอและจำต้องปฏิบัติตาม ๔. (ศ.ดร.หยุด แสงอุทัย) กม.แบ่งเป็น ๒ อย่างคือ กม.ตามเนื้อความ ซึ่งหมายถึง ข้อบังคับของรัฐซึ่งกำหนดความประพฤติของมนุษย์ ถ้าฝ่าฝืนจะได้รับผลร้ายหรือถูกลงโทษ และกม.ตามแบบพิธี ซึ่งหมายถึง กม.ที่ออกมาโดยวิธีการบัญญัติกม. โดยไม่ต้องคำนึงว่า กม.นั้นเข้าลักษณะเป็นกม.ตามเนื้อความหรือไม่   ๕. (ดร.ปรีดี เกษมทรัพย์) กฎเกณฑ์ซึ่งเป็นแบบแผนกำหนดความประพฤติของมนุษย์ในสังคมที่มีกระบวนการบังคับอย่างเป็นกิจจะลักษณะ
กฎหมายจารีตประเพณี
กม.ที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งเป็นประเพณีที่มีการปฏิบัติติดต่อกันมานานในท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่ง ไม่ขัดต่อกม.และความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน  ถือเป็นบ่อเกิดกม.ประเภทหนึ่งนอกเหนือจากกม.ลายลักษณ์อักษร ดู จารีตประเพณี
กฎหมายใดๆ อันมีที่ประสงค์เพื่อปกป้องบุคคลอื่น
(ปพพ.ม. ๔๒๒)  เช่น พรบ.จราจรทางบก พ.ศ.๒๔๗๗ ม. ๒๓(ฎ.๑๔๖๖/๒๕๑๗)
กฎหมายตราสามดวง
(ก) กม.โบราณของไทยที่มีการชำระในสมัย ร.๑  ผู้ชำระกม.นี้มี ๑๑ คนประกอบด้วยฝ่ายอาลักษณ์ ๔ คน ฝ่ายลูกขุน ๓ คน ฝ่ายราชบัณฑิต ๔ คน โดยให้ตรวจพระราชกำหนดบทพระอัยการอันมีอยู่ในหอหลวงให้ถูกต้องและชำระเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๗  แล้วตีตรา ๓ ดวงปิดทองพระราชสีห์ พระคชสีห์และบัวแก้วทุกเล่ม เก็บไว้๓ ฉบับเก็บไว้ในห้องเครื่อง หอหลวงและศาลหลวงสำหรับลูกขุนแห่งละฉบับ    กม.นี้อาจแบ่งเป็น ๓ กลุ่มคือ (๑) บานแผนก พระธรรมศาสตร์ และอินทภาษ (๒) บทพระอายการเล่มที่ ๓-๒๗ ที่ขึ้นต้นด้วยลักษณะ  และ (๓) รวมพระราชกำหนดที่ออกเกี่ยวกับเรื่องเบ็ดเตล็ดต่างๆ ในเล่มที่ ๒๘-๔๑ ดู พระธรรมศาสตร์    พระราชนิติศาสตร์ พระราชศาสตร์
กฎหมายตามเนื้อหา
กม.ที่มีบทบัญญัติกำหนดให้มีสภาพบังคับ กล่าวคือหากฝ่าฝืน จะมีการบังคับให้เป็นไปตามกม.    เช่น ปอ. ปพพ.  เป็นกม.ประเภทหนึ่งที่แบ่งตามการมีสภาพบังคับ  ดู  กฎหมายตามแบบพิธี
กฎหมายตามแบบพิธี
กม.ที่บทบัญญัติไม่มีการกำหนดสภาพบังคับ  แต่ออกมาโดยกระบวนการตรากม.หรือนิติบัญญัติเท่านั้น เช่น พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเปิดสมัยประชุมสภา     เป็นกม.ประเภทหนึ่งที่แบ่งตามการมีสภาพบังคับ  ดู  กฎหมายตามเนื้อหา
กฎหมายทะเล
 ๑. กม.ระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิอธิปไตยและสิทธิในการใช้ประโยชน์ในเขตรัฐที่เป็นพื้นน้ำ ทะเลอาณาเขต  ทะเลภายใน ไหล่ทวีป เขตเศรษฐกิจจำเพาะ เกาะ และทะเลหลวงรวมทั้งสิ่งที่เกี่ยวข้อง  ๒.อนุสัญญาว่าด้วยกม.ทะเล ค.ศ. ๑๙๘๒
กฎหมายที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร
กม.ที่มิได้บัญญัติขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร เนื่องจากไม่ได้ออกโดยผ่านกระบวนการนิติบัญญัติ  หรือไม่ได้ออกโดยฝ่ายบริหาร  แต่อาจเกิดจากประเพณีปฏิบัติ หรือเป็นหลักพื้นฐานในการออกกม.ก็ได้  ได้แก่ จารีตประเพณี หลักกม.ทั่วไป เป็นบ่อเกิดของกม.ทั้งภายในและกม.ระหว่างประเทศที่สำคัญประการหนึ่ง
กฎหมายธรรมชาติ
กม.ซึ่งเกิดจากและมีอยู่แล้วตามธรรมชาติ  เป็นสากลใช้ได้ทั่วไปไม่จำกัดเวลาและสถานที่ และเป็นกม.ที่เหนือกว่ากม.ที่มนุษย์สร้างขึ้น  ดู สำนักกม.ธรรมชาติ
กฎหมายบทยกเว้น
กม.ที่บัญญัติไว้ให้ใช้เฉพาะกรณียกเว้นหลักทั่วไป  ซึ่งจะต้องตีความโดยเคร่งครัดหรือจำกัด  เป็นการแบ่งประเภทกม.เพื่อประโยชน์ในการตีความ
กฎหมายบทหลัก

กม.ที่บัญญัติไว้เป็นหลักทั่วๆไปและสามารถตีความขยายหรือกว้างขวางพอสมควร  เป็นการแบ่งประเภทกม.เพื่อประโยชน์ในการตีความ
กฎหมายปกครอง๑
กม.มหาชนที่ว่าด้วยหน่วยงานทางปกครอง อำนาจหน้าที่ของหน่วยงานและของเจ้าหน้าที่ทางปกครอง และความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายปกครองกับราษฎร  เช่น กม.ว่าด้วยระเบียบราชการบริหารแผ่นดิน  
กฎหมายปกครอง๒
๑.(ศ. อมร จันทรสมบูรณ์) กม.มหาชนที่กำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการบริหารราชการ (บริการสาธารณะ) และกำหนดอำนาจให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ(บริการสาธารณะ)  ๒.(ศ. ประยูร กาญจนดุลย์) กม.ที่วางหลักเกี่ยวกับการจัดระเบียบการปกครองรัฐในทางปกครอง(การจัดระเบียบราชการบริหาร) รวมทั้งการวางระเบียบเกี่ยวกับกิจกรรมของฝ่ายปกครอง (บริการสาธารณะ) เพื่อสนองความต้องการส่วนรวมของประชาชน  ๓. กม.ที่ว่าด้วยการจัดองค์กรและอำนาจทางปกครองภายในรัฐซึ่งเป็นเรื่องการให้บริการสาธารณะเพื่อที่จะตอบสนองความต้องการของประชาชน  ได้แก่ กม.ว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน  กม.ว่าด้วยการจัดตั้งกระทรวงทบวงกรม   กม.ว่าด้วยที่มาและการใช้อำนาจทางปกครอง  กม.ว่าด้วยวิธีพิจารณาทางปกครองในชั้นเจ้าหน้าที่   กม.วิธีพิจารณาความปกครองในศาลปกครอง  และกม.ว่าด้วยสัญญาสาธารณะและสัญญาสัมปทาน
กฎหมายป้องกันการผูกขาด
(antimonopoly law, antitrust law)กม.ที่มีวัตถุประสงค์คุ้มครองกลไกระบบราคา และการแข่งขันในตลาด โดยมิให้มีการผูกขาดสินค้าและบริการ ของไทยคือ พรบ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ๒๕๔๒ และ พรบ.การแข่งขันทางการค้า ๒๕๔๒
กฎหมายปิดปาก
หลัก ก.ม.ที่ว่า  การที่บุคคลใดได้แสดงออกโดยวาจา การกระทำหรือพฤติการณ์ใดๆ อันเป็นการจงใจทำให้บุคคลอื่นหลงเชื่อว่า มีพฤติการณ์หรือเหตุการณ์นั้น และจากการหลงเชื่อทำให้บุคคลอื่นนั้นกระทำการใดลงไปหรือเปลี่ยนแปลงฐานะหรือทำนิติกรรม บุคคลที่กระทำการจะปฏิเสธไม่ยอมรับข้อเท็จจริงหรือผลตามกม.ของการกระทำนั้นไม่ได้   ก.ม.จึงปิดปากมิให้บุคคลนั้นยกข้อต่อสู้ข้อเท็จจริงหรือปฏิเสธผลทางกฎหมายของการกระทำดังกล่าว
กฎหมายเปรียบเทียบ
วิชากม.ที่ศึกษาโดยนำเอาระบบของกม.ที่แตกต่างกันมาศึกษาเปรียบเทียบกันโดยจะศึกษานิติวิธี สถาบันทางกม. และวิธีการแก้ไขปัญหาในแต่ละระบบมาเปรียบเทียบกัน
กฎหมายพระ
(Canon Law) กม.ของศาสนาคริสต์ว่าด้วยครอบครัว การสมรสและการหย่า ใช้กันอยู่ในยุโรปสมัยกลางราว คศ. ๑๔-๑๕
กฎหมายพาณิชย์
กม.เอกชนที่ว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ในทางเศรษฐกิจของบุคคลผู้ประกอบการพาณิชย์และว่าด้วยการทำธุรกรรมทางพาณิชย์ไม่ว่าจะโดยเนื้อหาหรือรูปแบบหรือที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกรรมดังกล่าว
กฎหมายแพ่ง
กม.เอกชนที่กำหนดสิทธิและหน้าที่ของบุคคลในทางแพ่ง โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการมีและการสิ้นสภาพบุคคล ความสามารถของบุคคล ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับบุคคลในทางเอกชนหรือความสัมพันธ์ในทางหนี้และในทางครอบครัว ความสัมพันธ์ที่บุคคลมีต่อทรัพย์สินหรือความสัมพันธ์ในทางทรัพย์และมรดก    กม.แพ่งและกม.อาญาจะแตกต่างกันทั้งด้านเนื้อหาและสภาพบังคับ
กฎหมายภายนอก  



กม.ที่เกิดจากข้อตกลงที่จะผูกพันกันของประเทศต่างๆ หรือที่ออกโดยองค์กรระหว่างประเทศหรือที่เป็นจารีตประเพณีระหว่างประเทศได้แก่ กม.ระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง กม.ระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลหรือกม.ระหว่างประเทศแผนกคดีอาญา กม.ที่เกิดจากข้อตกลงที่จะผูกพันกันของประเทศต่างๆ หรือที่ออกโดยองค์กรระหว่างประเทศหรือที่เป็นจารีตประเพณีระหว่างประเทศได้แก่ กม.ระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง กม.ระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลหรือกม.ระหว่างประเทศแผนกคดีอาญา
กฎหมายภายใน
กม.ที่ออกโดยองค์กรการออกกม.ของประเทศใดประเทศหนึ่งเพื่อใช้บังคับภายในประเทศนั้น ซึ่งอาจแบ่งเป็น กม.ลายลักษณ์อักษรและไม่เป็นลายลักษณ์อักษร กฎหมายอาญาและกม.แพ่ง กม.สารบัญญัติและกม.วิธีสบัญญัติ   และกม.มหาชนและกม.เอกชน
กฎหมายมหาชน
กม.ที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ  หน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับราษฎร ในฐานะที่รัฐมีอำนาจเหนือกว่าราษฎร   เป็นกม.ที่เป็นทั้งที่มาแห่งอำนาจรัฐและการควบคุมการใช้หรือจำกัดอำนาจรัฐ  เช่น รัฐธรรมนูญ กม.ปกครอง   กม.อาญา  ปวิพ. ปวิอ. หรือพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
กฎหมายแม่บท
 กม.ที่มีบทบัญญัติให้อำนาจในการออก กม.ลำดับรอง เช่น  รธน.  พรบ.  เป็นต้น
กฎหมายระหว่างประเทศ  
ก.ม. ที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับรัฐ  เป็นกม.ที่ใช้บังคับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ  บ่อเกิดของกม.นี้ได้แก่ สนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ จารีตประเพณีและหลักกม.ทั่วไป    มี 3 ประเภทคือ กม.ระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง  กม.ระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลและกม.ระหว่างประเทศแผนกคดีอาญา
กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล  
กม. ที่ว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของบุคคลในกรณีที่มีความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลต่างรัฐกัน เช่น พรบ.สัญชาติ   พรบ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกม.
กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง  
กม. ที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับรัฐ  แบ่งเป็น ๒ ภาคคือ ภาคสันติซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ข้อกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐในยามสงบ เช่น การทำสนธิสัญญา เขตแดนและอำนาจอธิปไตยเหนือเขตแดน กม.ทะเล การแต่งตั้งผู้แทนของรัฐ และภาคสงครามซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ข้อกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐในยามสงคราม เช่น หลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการทำสงคราม หรือในเรื่องความเป็นกลาง
กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญา  
กม. ที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐในทางอาญา เช่น การรับรู้คำพิพากษาทางอาญาของประเทศอื่น ความข้อตกลงระหว่างรัฐในการร่วมมือกันปราบปรามอาชญากรรมระหว่างประเทศ  และการส่งผู้ร้ายข้ามแดน
กฎหมายแรงงาน  
 ก.ม. ที่บัญญัติถึงสิทธิและหน้าที่ และมาตรการทางปฏิบัติระหว่างนายจ้าง ลูกจ้าง องค์การของนายจ้างและลูกจ้าง
กฎหมายลักษณะผัวเมีย
 กม.ที่ใช้บังคับกับการสมรสและความสัมพันธ์ในครอบครัวของสามีภริยาที่ได้กระทำกันก่อนที่ ปพพ. บรรพ ๕ แห่ง  พ.ศ. ๒๔๗๗  จะใช้บังคับ ปัจจุบันกม.นี้ยังใช้บังคับอยู่ ดู สินเดิม  สินสมรส
กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. ๑๒๗
กม.อาญาเดิมก่อนปอ. ยกร่างและประกาศใช้เมื่อ ๑ มิย. ๒๔๕๑ ในสมัย ร.๕ โดยมี กม.อาญาฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๘๑๐ ปอ.เยอรมัน ค.ศ. ๑๘๗๐ ปอ.ฮังการี ค.ศ. ๑๘๗๙ ปอ.เนเธอร์แลนด์ ค.ศ. ๑๘๘๑ ปอ.อิตาลี ค.ศ ๑๘๘๐  ปอ.ญี่ปุ่น ค.ศ. ๑๙๐๓ และ ปอ.อียิปต์ ค.ศ. ๑๙๐๔ เป็นต้นแบบ  ถือเป็นประมวลกม.ฉบับแรกของไทย มีเนื้อหา ๓๔๐ ม. ใช้บังคับจนถึง พ.ศ. ๒๔๘๖ จึงได้มีการปรับปรุงและใช้ กฎหมายลักษณะอาญา พ.ศ. ๒๔๘๖ ต่อมาถูกยกเลิกโดยพรบ.ให้ใช้ปอ.พ.ศ. ๒๔๙๙
กฎหมายลายลักษณ์อักษร
กม.ที่ได้บัญญัติขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งอาจจะโดยผ่านกระบวนการนิติบัญญัติ  หรืออาจจะออกโดยฝ่ายบริหาร ได้แก่ รัฐธรรมนูญ พรบ. ประมวลกม.พรก. พรฎ. กฎกระทรวงและกม.ลำดับรองอื่น  เป็นบ่อเกิดของกม.ที่สำคัญในปัจจุบัน
กฎหมายลำดับรอง
กม.ที่ออกโดยอาศัย กม.แม่บทกล่าวคือ รัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พรบ. ฯลฯ โดยฝ่ายบริหารจะเป็นผู้ออก เนื้อหาของกม.จะเป็นการออกรายละเอียดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขและรายละเอียดอื่นในการปฏิบัติตามกม.แม่บท
กฎหมายว่าด้วยเรือไทย
พรบ.เรือไทย  ๒๔๘๑
กฎหมายวิธีสบัญญัติ
ก.ม. ที่มีเนื้อหาบัญญัติถึงวิธีการที่จะนำกม.สารบัญญัติมาบังคับใช้ให้เป็นผลหรือวิธีการ ดำเนินการบังคับเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายสารบัญญัติ เช่น ปวิพ. ปวิอ.
กฎหมายสารบัญญัติ
กม.ที่มีเนื้อหาบัญญัติกำหนดสิทธิ หน้าที่  และความรับผิดของบุคคล (ในทางแพ่ง) เช่น ปพพ. หรือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความผิดและโทษในทางอาญา เช่น ปอ. ดู กฎหมายวิธีสบัญญัติ
กฎหมายสิบสองโต๊ะ
กม.ในสมัยโรมันจัดทำขึ้นเมื่อ ๔๕๑ ปีก่อนคริสตศักราช เป็นกม.ที่รวบรวมหลักกม.ที่สำคัญๆ ที่มีที่มาจากจารีตประเพณีและหลักศาสนาเข้าเป็นหมวดหมู่ แล้วจารึกลงบนแผ่นทองเหลืองที่มีลักษณะเป็นโต๊ะรวม ๑๒ โต๊ะ นำไปตั้งไว้ในสถานที่ประชุม
กฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
ได้แก่ กม.มหาชน ,กม.อาญา, ปพพ.ในส่วนที่เกี่ยวกับสถานะของบุคคลและ ครอบครัว และ กม.คุ้มครองแรงงานในส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฎ.๕๐๔๖-๕๐๔๗ / ๒๕๓๑)
กฎหมายอาญา
                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                         
กม.มหาชนที่บัญญัติขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร ว่าด้วยความผิดและโทษ โดยบทความผิดจะเป็นบทบัญญัติห้ามมิให้บุคคลกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือให้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง และบทว่าด้วยโทษ  จะเป็นสภาพบังคับทางอาญาในกรณีที่มีการฝ่าฝืนบทบัญญัติว่าด้วยความผิด ได้แก่ โทษประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับและริบทรัพย์สิน  สภาพบังคับทางอาญาแตกต่างจากทางแพ่ง กม.อาญาจึงมีความหมายกว้างกว่า ปอ. เนื่องจาก มีกม.อื่นที่มีบทบัญญัติว่าด้วยความผิดและโทษเช่นกัน และถือว่าเป็นกม.อาญาด้วย เช่น พรบ.ยาเสพติดให้โทษ  ๒๕๒๒  พรบ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท  ๒๕๑๘ หรือพรบ.ที่มีโทษทางอาญาอื่นๆ  หลักการใช้ กม.อาญาที่สำคัญคือ จะต้องไม่มีผลย้อนหลังไปกำหนดความผิดหรือลงโทษแก่บุคคล ยกเว้นแต่ในส่วนที่เป็นคุณจะมีผลย้อนหลังได้
กฎหมายเอกชน
กม.ที่ว่าด้วยสิทธิในทางแพ่ง สิทธิในทางเศรษฐกิจ หรือความสัมพันธ์ทางกม.ระหว่างราษฎรกับราษฎรด้วยกันหรือระหว่างรัฐกับราษฎร ในฐานะที่ทั้งสองฝ่ายมีฐานะเท่าเทียมกัน  เช่น ปพพ.
กฎอัยการ
(ก) กม
กฎอัยการศึก
 แปลตามศัพท์ว่า กม.ในภาวะสงครามหรือกม.ในยามศึก  ฉบับแรกคือ พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก ร.ศ.๑๒๖  ร่างโดยนายยอร์ช ปาร์ดู  มี ๘ ม. จากต้นร่างมาจากกม.ว่าด้วยกฎอัยการศึกของฝรั่งเศส    ต่อมาอีก ๗ ปีได้มีพรบ.กฎอัยการศึก ๒๔๕๗  ขึ้นบังคับใช้โดยมีสาระสำคัญ คือ (๑) การประกาศกฎอัยการศึกจะประกาศโดยพระบรมราชโองการหรือผู้บังคับบัญชาทหารที่มีกำลังอยู่ใต้บังคับบัญชา ไม่น้อยกว่า ๑ กองพัน และจะยกเลิกได้แต่โดยพระบรมราชโองการเท่านั้น (๒) เจ้าหน้าที่ทหารมีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนในส่วนที่เกี่ยวกับการระงับปราบปรามหรือการรักษาความสงบเรียบร้อย โดยมีอำนาจที่จะตรวจค้น เกณฑ์ ห้าม ยึด อาศัย ทำลาย เปลี่ยนแปลงสถานที่ และขับไล่บุคคล (๓) บุคคลหรือบริษัทจะร้องขอค่าเสียหายหรือค่าปรับในความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ได้ กม.ฉบับนี้ยังคงใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน
ก.ต.  
(ย.) คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม
กบฎ
( ปอ. ม.๑๑๓ ) ความผิดอาญาฐานหนึ่งซึ่งเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อ (๑) ล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ (๒) ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญหรือให้ใช้อำนาจดังกล่าวแล้วไม่ได้  หรือ (๓) แบ่งแยกราชอาณาจักรหรือยึดอำนาจปกครองในส่วนใดส่วนหนึ่งของราชอาณาจักร
ก.บ.ศ.  
 (ย.)  คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม
ก.พ.
(ย) คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน
กพศ.
(ย) คณะกรรมการพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ  ตามพรบ.การสอบสวนคดีพิเศษ ๒๔๕๗ ม.๓๕
ก.ม. ,กม.
(ย.) กฎหมาย
กมธ.  
(ย.)  กรรมาธิการ
ก.ร.
(ย) คณะกรรมการข้าราชการฝ่ายรัฐสภา
กรม
ส่วนราชการที่มีการจัดแบ่งในกระทรวง มีอธิบดีเป็นผู้บังคับบัญชาดูแลรับผิดชอบ  มีการแบ่งส่วนราชการออกเป็นกองและแผนกโดยมีผู้อำนวยการกองและแผนกเป็นผู้บังคับบัญชาในส่วนนั้นๆ ดู กระทรวง ทบวง
กรมการอำเภอ
๑. นายอำเภอ    ๒. (พรบ.ลักษณะปกครองท้องที่  ๒๔๕๗) ประกอบด้วยตำแหน่งนายอำเภอ  ปลัดอำเภอและสมุห์บัญชี รวมกัน
กรมธรรม์ประกันภัย
เอกสารที่ผู้รับประกันภัยจัดทำขึ้นเพื่อเป็นหลักฐานว่า ได้มีการทำสัญญาประกันภัยขึ้นแล้วมีรายละเอียดข้อความตามที่กม.กำหนดและตรงตามสัญญาประกันภัย
กรมราชทัณฑ์
หน่วยงานของรัฐที่บังคับคดีอาญาแก่ผู้ต้องโทษประหารชีวิต จำคุก กักขัง
กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ , พระเจ้าบรมวงศ์เธอ
พระบิดาแห่งกม.ไทย โอรสองค์ที่ ๑๔ ใน ร. ๕  ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาตลับประสูติเมื่อวันพุธที่ ๒๑ ตค. ๒๔๑๗ เป็นต้นราชสกุล รพีพัฒน์ ได้รับปริญญา B.A. ชั้นเกียรตินิยมจากสำนักไครส์เชิร์ช มหาวิทยาลัยออกฟอร์ดเมื่อชันษาเพียง ๒๐ พรรษา  ร.๕ ทรงเรียก ” เฉลียวฉลาดรพี”  เป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมเมื่อวันที่ ๓ มีค. ๒๔๓๙ และเป็นกรรมการตัดสินความฎีกาเมื่อ ปีพ.ศ. ๒๔๔๑ ในปีต่อมาได้รับพระราชทานสุพรรณบัฏเป็นกรมหมื่นราชบุรีดิเรกฤทธิ์   ต่อมาในปีพ.ศ.๒๔๖๒ ทรงประชวรด้วยพระวัณโรคที่พระวักกะ จึงได้เสด็จไปรักษาพระองค์ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสจนสิ้นพระชนม์
กรรมการ
(บริษัท)  ผู้มีอำนาจจัดการบริษัทหรือกระทำการแทนบริษัท มีฐานะเป็นผู้แทนของบริษัทซึ่งอาจได้รับค่าตอบแทนหรือบำเหน็จจากบริษัท อาจแบ่งตามอำนาจการจัดการได้ ๒ ประเภทคือ กรรมการบริหารและกรรมการที่มิได้บริหารงาน  ดู คณะกรรมการ
กรรมการเจ้าหนี้
(พรบ.ล้มละลาย  ๒๔๘๓ ม.๓๗) บุคคลที่ที่ประชุมเจ้าหนี้ได้มีมติตั้งเพื่อเป็นตัวแทนเจ้าหนี้ในการจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ มติของที่ประชุมกรรมการเจ้าหนี้ถือว่าเป็นมติของที่ประชุมเจ้าหนี้ (ฎ.๓๑๘๒ / ๒๕๔๐)
กรรมการราษฎร
(ก) (พรบ. ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว  ๒๔๗๕)  รัฐมนตรี
กรรมเดียว
การกระทำความผิดอาญาที่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้ (๑) (ก) การกระทำหลายการกระทำที่ได้กระทำลงในวาระเดียวหรือเวลาเดียวกัน ดู หลายกรรม  (๒) การกระทำความผิดอาญาหลายการกระทำและหลายฐานความผิดโดยผู้กระทำมีเจตนากระทำเพียงเจตนาเดียว  หรืออาจเรียกว่า ต่างกรรมแต่มีเจตนาเดียว(เปรียบเทียบต่างกรรมต่างเจตนา)  ดูหลายกรรม (๓) การกระทำความผิดต่อเนื่อง เช่น ความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังตามปอ.ม. ๓๑๐(๔) การกระทำความผิดที่ยืดออกไป เช่น ลักทรัพย์หลายเจ้าของในหอพักเดียวกัน (ฎ.๑๑๐๔ / ๒๕๐๔) กระทำชำเราเด็กหญิงติดต่อกัน ๓ วัน ๕ ครั้ง (ฎ.๕๒๗๘ / ๒๕๔๐) (๕) การกระทำความผิดที่เกลื่อนกลืนกัน เช่น ความผิดฐานฆ่าผู้อื่น เมื่อความผิดสำเร็จย่อมไม่มีความผิดฐานพยายามฆ่าอีก (๖) แม้ผู้กระทำมี ๒ เจตนาแต่การกระทำความผิดฐานหนึ่งจำเป็นต้องกระทำความผิดฐานอื่นด้วย เช่น ความผิดฐานปล้นทรัพย์ซึ่งผู้กระทำมีเจตนาทั้งลักทรัพย์และใช้กำลังประทุษร้าย  (๗)การกระทำความผิดที่มีเหตุฉกรรจ์ เช่น บุกรุกเข้าไปลักทรัพย์ในเคหสถาน (ฎ.๑๑๔๒ / ๒๕๑๔ ) ชิงทรัพย์แล้วฆ่า (ฎ. ๖๕๑๖ / ๒๕๓๗ ) (๘)การกระทำความผิดที่โจทก์บรรยายฟ้องรวมกันมาในข้อเดียวและมีคำขอให้ลงโทษเป็นกรรมเดียว  ผลของความผิดกรรมเดียวคือ แม้จะผิดกม.หลายบท แต่ศาลจะลงโทษได้เฉพาะบทความผิดที่เป็นบทหนักที่สุดเท่านั้น จะลงโทษทุกบทไม่ได้
กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา
การกระทำที่แสดงออกมาแสดงให้เห็นความประสงค์ของผู้กระทำ    เป็นหลักที่ใช้ในการวินิจฉัยว่า ผู้กระทำมีเจตนาในทางอาญาหรือไม่
กรรมวิธี
 (พรบ.สิทธิบัตร ๒๕๒๒ ม. ๓ )  วิธีการ กระบวนการหรือกรรมวิธีในการผลิตหรือการเก็บรักษาให้คงสภาพหรือให้มีคุณภาพดีขึ้นหรือการปรับสภาพให้ดีขึ้นซึ่งผลิตภัณฑ์และรวมถึงการใช้กรรมวิธีนั้นๆ ด้วย
กรรมสารทั่วไป
(กม.รปท.) ความตกลงเป็นลายลักษณ์อักษรมีความผูกพันทางกม. ( แปลมาจาก General Act)  ดู สนธิสัญญา อนุสัญญา กรรมสารสุดท้าย
กรรมสารสุดท้าย
(กม.รปท.) คำแถลงสรุปรายละเอียดการทำสนธิสัญญาหรืออนุสัญญาตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดกระบวนการ รวมทั้งมีข้อแนะนำ ( แปลมาจาก Final Act)  ดู สนธิสัญญา อนุสัญญา กรรมสารทั่วไป
กรรมสิทธิ์
๑.  ทรัพยสิทธิประเภทหนึ่งซึ่งเป็นสิทธิในความเป็นเจ้าของทรัพย์  ๒. (ปพพ.ม.๑๓๐๓) หมายรวมถึงทรัพยสิทธิประเภทอื่นๆ ด้วยนอกจากกรรมสิทธิ์
กรรมสิทธิ์รวม
การที่บุคคลตั้งแต่สองคนหรือหลายคนต่างเป็นเจ้าของทรัพย์สินเดียวกันโดยยังมิได้แบ่งแยกความเป็นเจ้าของออกเป็นสัดส่วน  เจ้าของรวมมีสิทธิจัดการทรัพย์สินรวมกันแต่ละคนย่อมใช้สิทธิในทรัพย์นั้นในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมได้  ดู เจ้าของรวม
กรรมาธิการ
(รัฐสภา) ผู้ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาแต่งตั้งเพื่อให้กระทำกิจการ พิจารณา สอบสวน หรือศึกษาเรื่องใดๆ ที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของสภานั้นๆ ดู คณะกรรมาธิการ
กระจายรวมศูนย์อำนาจการปกครอง
การที่หน่วยงานราชการบริหารส่วนกลางได้มอบอำนาจในการวินิจฉัยสั่งการหรือการตัดสินใจในทางการปกครองบางส่วนให้แก่ราชการบริหารส่วนภูมิภาคหรือเจ้าหน้าที่ของหน่วยราชการที่ไปประจำอยู่ในท้องที่ต่างๆ ในส่วนภูมิภาค เพื่อความสะดวกรวดเร็วและแบ่งเบาภาระ  บางครั้งเรียกว่า การแบ่งอำนาจ  ดูรวมศูนย์อำนาจ
กระจายอำนาจปกครอง
การที่รัฐได้โอนอำนาจหน้าที่บางประการหรืออำนาจการปกครองบางส่วนให้แก่นิติบุคคลมหาชนอื่นที่ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของราชการบริหารส่วนกลางเพื่อให้ไปจัดการบริหารการปกครองบางอย่างในท้องถิ่นได้อย่างอิสระและไม่อยู่ภายใต้บังคับบัญชา โดยมีงบประมาณ ทรัพย์สินและผู้บริหารของตนเอง
กระดาษ
(ป.รัษฎากร ม.๑๐๓) หมายความรวมตลอดถึงแผ่นหนังฟอกหรือสิ่งอื่นๆ ที่ใช้เขียนตราสาร
กระทง  
ความผิดอาญากรรมหนึ่งๆ
กระทรวง
หน่วยราชการที่สูงสุดของหน่วยราชการ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเป็นผู้รับผิดชอบงานในกระทรวง มีปลัดกระทรวงซึ่งเป็นข้าราชการประจำเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดในงานประจำ  บางครั้งก็ไม่เรียกชื่อกระทรวง แต่มีฐานะเป็นกระทรวง  เช่น  สำนักนายกรัฐมนตรี  ดู ทบวง กรม
กระทำ๑
๑.คิด ตกลงใจและลงมือกระทำการตามที่ตกลงใจ  การแสดงออกทางร่างกายตามที่คิดและตกลงใจ   ๒. (ปอ.ม.๕๙ )   กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำ และหมายความรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้นโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย   ดู งดเว้นกระทำ
กระทำ ๒
(ป.รัษฎากร ม.๑๐๓ ) เมื่อใช้เกี่ยวกับตราสารหมายความว่า การลงลายมือชื่อตามบทบัญญัติแห่ง ปพพ. (ฎ. ๗๕๖๕ / ๒๕๓๘)
กระทำการลามกอย่างอื่น
(ปอ.ม.๓๘๘ )กระทำทางร่างกาย หรือกล่าววาจาอันเป็นการลามกเช่น กล่าวคำว่า “ เย็ดโคตรแม่มึง”(ฎ. ๑๐๖๙ / ๒๕๐๖)  “ เจ้าหน้าที่หัวควย ” (ฎ. ๖๙๙ / ๒๔๙๐)
กระทำชำเรา  
๑. การที่ชายร่วมเพศกับหญิง  ๒. (ปอ.ม.๒๗๖ ,๒๗๗) การกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำโดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำกระทำกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น หรือการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น
กระทำชำเราเด็กหญิง
(ปอ. ม.๒๗๗) ความผิดอาญาฐานหนึ่งซึ่งมุ่งหมายที่จะคุ้มครองเด็กหญิง โดยถือว่า การร่วมเพศกับเด็กหญิงที่อายุไม่เกิน ๑๕ ปี  เป็นความผิดแม้เด็กหญิงนั้นจะยินยอมก็ตาม
กระทำโดยเจตนา
๑.(ปอ.ม.๕๙ วรรคสอง) กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น ดู เจตนาประสงค์ต่อผลและเจตนาโดยย่อมเล็งเห็นผล  ๒.การกระทำที่ผู้กระทำประสงค์ให้ผลเกิดขึ้นหรือเล็งเห็นว่า ผลจะเกิดขึ้นเนื่องจากการกระทำของตน
กระทำโดยประมาท
๑.(ปอ.ม.๕๙ วรรค ๔) กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้น จักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์  และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้เพียงพอไม่ เช่น เอาปืนบรรจุกระสุนมาจ่อยิงเล่น แล้วปืนลั่น (ฎ. ๒๑๐๑ / ๒๕๒๗ ) ขับรถด้วยความเร็วสูงผ่านทางแยกที่มีคนพลุกพล่าน (ฎ. ๒๘๐ / ๒๕๑๘ ) ใช้รถที่ห้ามล้อชำรุด (ฎ. ๙๗๙ / ๒๕๑๓ ) ขับรถขณะเมาสุรา (ฎ. ๗๖๑ / ๒๕๑๑ ) ที่ไม่เป็นประมาทได้แก่ เพียงแต่ขับรถไม่มีใบขับขี่ (ฎ. ๒๙๔ / ๒๕๐๑ ) จอดรถไม่เปิดไฟท้ายให้สัญญาณ (ฎ. ๙๘๘ / ๒๕๑๖ ) ๒.(แพ่ง)การกระทำที่ผู้กระทำไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์เพียงพอ ทั้งที่บุคคลที่อยู่ในสถานะการณ์เดียวกันอาจใช้ความระมัดระวังได้
กระทำโดยพลาด
(ปอ.ม.๖๒) การกระทำที่เจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง แต่ผลของการกระทำเกิดขึ้นแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป ก.ม.ถือว่า ผู้กระทำโดยพลาดต้องรับผิดในผลที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกัน
กระทู้  
(รธน.) การถามปัญหาต่อนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบในเรื่องนั้นๆ ในสภา  ซึ่งแบ่งเป็น ๒ ประ

หมายเลขบันทึก: 351453เขียนเมื่อ 13 เมษายน 2010 17:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 01:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Thank you. This is very useful.

Police, public servants, newspaper reporters,... everyone SHOULD learn to use the legal words correctly.

More please ;-). In pocket book form could be a best seller.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท