พิธีเปิดป้ายชื่ออุทยานหลวงราชพฤกษ์และพิธีสวดมหาสันติงหลวง


บทสวดมหาสันติงหลวงนั้น ในภาษากลางเรียกว่าบทสวดอุปปาตะสันติ เป็นบทสวดเพื่อสงบเคราะห์กรรม สงบเหตุร้าย

วันนี้ (วันที่12  เมษายน 2553 )เวลา 17.00 น.ได้จัดพิธีเปิดป้ายชื่ออุทยานหลวงราชพฤกษ์และพิธีสวดมหาสันติงหลวง ณ  ลานหน้าประตูช้างค้ำ  อุทยานหลวงราชพฤกษ์โดยมีหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี มีพระเมตตา เสด็จมาเป็นประธานในพิธี

                      การจัดงานครั้งนี้  เนื่องด้วยสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ได้รับแจ้งจากมูลนิธิโครงการหลวงว่าสำนักราชเลขานุการแจ้งว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานชื่อสถานที่จัดงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯราชพฤกษ์ 2549 ว่า “อุทยานหลวงราชพฤกษ์” ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2553 เป็นต้นมา ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) จึงได้จัดงานฉลองชื่อพระราชทาน ขึ้นโดยจัดพิธีเปิดป้ายชื่ออุทยานหลวงราชพฤกษ์พร้อมทั้งจัดพิธีสวดมหาสันติงหลวง และจัดงานส่งเสริมวัฒนธรรมปี๋ใหม่เมือง ในวันที่  12-16 เมษายน 2553  เพื่อเป็นสิริมงคลและเพื่อสืบทอดประเพณีของชาวล้านนาต่อไป

                สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงได้รับความเมตตาจากคณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่ จัดให้มีพิธีสวดมหาสันติงหลวงซึ่งเป็นพิธีสวดแบบโบราณ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในนามของประชาชนชาวเชียงใหม่ ในวันที่ 12 เมษายน 2553 เวลา 18.00 น ณ หอคำหลวง อุทยานหลวงราชพฤกษ์ ซึ่งจะมีพระสงฆ์จากวัดทุกอำเภอ จำนวน 108 รูปนำโดยเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่มาร่วมสวดพร้อมคณะศรัทธาและประชาชน ประมาณ 1000คน   สำหรับบทสวดมหาสันติงหลวงนั้น ในภาษากลางเรียกว่าบทสวดอุปปาตะสันติ เป็นบทสวดเพื่อสงบเคราะห์กรรม สงบเหตุร้าย เป็นบทสวดที่แต่งขึ้นโดยพระมหามังคละสีละวังสะ พระมหาเถระนักปราชญ์ของชาวเชียงใหม่ ในสมัยพญาติโลกราชเป็นบทสวดที่นิยมสวดกันอย่างแพร่หลายในสมัยนั้น ต่อมาบทสวดดังกล่าวได้ตกไปอยู่ที่ประเทศพม่า และได้นำกลับคืนมาในประเทศไทยโดยพระอาจารย์ภัททันตะธัมมานันทมหาเถระอัครมหาบัณฑิตแห่งวัดท่ามะโอ จังหวัดลำปาง แต่ต้นฉบับเป็นภาษาบาลีอักษรพม่า ต่อมาท่านเจ้าคุณธรรมคุณาภรณ์ (เช้า ฐิตะปัญโญ) ป.ธ. 9 วัดมหาโพธาราม ปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ได้เป็นผู้ชำระคัมภีร์นี้เป็นภาษาบาลีอักษรไทย  สำหรับอานิสงส์ของการสวดและการฟังบทสวดนั้นเชื่อว่าผู้สวดและผู้ฟังจะชนะเหตุร้ายทั้งปวง   เจริญด้วยวุฒิภาวะคือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ และปฎิภาณ   ปลอดภัยจากสิ่งร้าย ไม่มีอกาลมรณะคือตายก่อนอายุขัย   ทุนนิมิตคือลางร้ายต่างๆหายไป  และหากเข้าสนามรบย่อมชนะศึกและ แคล้วคลาดจากอาวุธ

 สำหรับการจัดงานส่งเสริมประเพณีปี๋ใหม่เมืองนั้น จัดขึ้นในวันที่13-15 เมษายน2553 เพื่อเป็นการอนุรักษ์ประเพณีสงกรานต์ที่ยึดถือกันมาแต่โบราณของล้านนาที่ได้ลบเลือนหายไป เพื่อฟื้นฟูความงดงามและรุ่มรวยแห่งวัฒนธรรมล้านนาซึ่งเป็นอู่อารยะธรรมที่หลากหลาย เป็นแหล่งรวมของชนชาวล้านนาดั้งเดิม ทั้งไทยวน ไทยอง ไทลื้อ ไทเขิน  ที่ต่างมีวัฒนธรรมประเพณี ที่สวยงามและมีความหมาย  อุทยานหลวงราชพฤกษ์ร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่  สภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและเครือข่ายวัฒนธรรมล้านนา จึงได้ร่วมกันจัดงานสงกรานต์ล้านนาในอุทยานหลวงราชพฤกษ์ขึ้น เพื่อฟื้นฟูประเพณีสงกรานต์ล้านนาให้เป็นที่รู้จักและชื่นชมกันอีกครั้งโดยมีกิจกรรมที่สำคัญในวันต่างๆคือ

วันที่ 13 เมษายน 2553 วันสังขานต์ล่อง มีพิธีขึ้นท้าวทั้งสี่ การปั้นแป้งตามปีเกิดและ พิธีแห่แพต้นกล้วยล่องสังขานต์  

วันที่ 14   เมษายน 2553  วันเนาว์ หรือ วันเน่า มีการตัดตุง เพื่อใช้ถวายเจดีย์ทราย และการก่อเจดีย์ทราย บริเวณลานราชพฤกษ์ 

วันที่ 15   เมษายน  2553  วันพญาวัน   - พิธีแกะสลักไม้ค้ำและ พิธีแห่ไม้ค้ำสะหลีหลวง

                      ตลอดทั้ง3 วัน ระหว่างวันที่13-15 เมษายน 2553  มีกิจกรรมหลายอย่างประกอบด้วยการทำอาหารพื้นเมือง  การทำตุง หรือธง  เครื่องใช้ในประเพณีปี๋ใหม่เมือง และการทำเรื่องสักการะแบบต่างๆของล้านนา การแสดงศิลปวัฒนธรรมสี่ภาค การซอพื้นเมือง กาดหมั้วคัวกิ๋นคัวใจ๊ และเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้านมัสการพระพุทธรูปประจำอุทยานหลวงราชพฤกษ์ ทั้งนี้ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ได้รณรงค์ให้มีการรดน้ำอย่างสุภาพ ด้วย

การจัดงานครั้งนี้ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี จากหลายฝ่ายดังที่ได้กล่าวนามมาแล้วอีกทั้งได้มีผู้มีจิตศรัทธาร่วมทำบุญถวายจตุปัจจัย แด่พระสงฆ์ และร่วมทำบุญในการพิมพ์บทสวดมหาสันติงหลวงสำหรับแจกแก่ผู้เข้าร่วมพิธีในรวมทั้งทำบุญเพื่อตั้งโรงทานอีกด้วย

เมื่อถึงเวลา 17.09 น. นายสุทัศน์  ปลื้มปัญญา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน)กล่าวถวายรายงานจากนั้นหม่อมเจ้าภีศเดช ก็เสด็จไปตีฆ้องชัยและเปิดแพรกลุมป้านจากนั้นแขกทุกคนก็ขึ้นรถพ่วงไปยังหอคำหลวง ร่วมกันสวดมนต์เป็นเวลาถึงเกือบชั่วโมงครึ่ง

 

หมายเลขบันทึก: 351360เขียนเมื่อ 12 เมษายน 2010 23:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 20:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท