สภามหาวิทยาลัย : 26. การเยี่ยมชื่นชมหน่วยงาน


เยี่ยมเพื่อชื่นชม คุยกันแบบสุนทรียสนทนา

สภามหาวิทยาลัย : 34. การเยี่ยมชื่นชมหน่วยงาน

  • สภามหาวิทยาลัยมหิดลได้มีมติเมื่อวันที่ ๒๑ มิย. ๔๙ ทดลองจัด การทำงานของสภาฯ แบบไม่เป็นทางการ คู่ขนานไปกับการทำงานแบบเป็นทางการตามกฎหมาย     หนึ่งในการทำหน้าที่แบบไม่เป็นทางการ คือการไปเยี่ยมหน่วยงาน เพื่อทำความรู้จัก โดยเฉพาะทำความรู้จักความสำเร็จและศักยภาพในการพัฒนาเพื่อทำประโยชน์ให้แก่วงการอุดมศึกษาและบ้านเมือง
  •  การเยี่ยมชมนี้ ไม่ใช่การเยี่ยมเพื่อประเมิน (Evaluative Visit) แต่เป็นการ เยี่ยมเพื่อชื่นชม (Appreciative Visit)    เน้นบรรยากาศที่ไม่เป็นทางการ  บรรยากาศสบายๆ เพื่อกระตุ้นความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ร่วมกัน    เราอยากให้หน่วยงานนำเสนอภาพรวมของหน่วยงานในลักษณะ ข้อมูลเชิงเปรียบเทียบ (Comparative Presentation) เพื่อให้กรรมการสภาฯ เข้าใจได้ง่าย   ไม่ใช่นำเสนอแบบบรรยาย (Descriptive Presentation) อย่างที่เราคุ้นเคย   และที่สำคัญอย่านำเสนอแบบป้องกันตัว (Defensive Presentation) ว่าทำดีแล้ว    ให้นำเสนอแบบ เอาความสำเร็จที่ภาคภูมิใจมาเสนอ (Appreciative Presentation) และบอกว่าฝันจะสร้างความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่อย่างไร   ที่เรียกว่านำเสนอภาพฝัน (Imaginative Presentation) เพื่อจะได้ช่วยกันทำให้ฝันเป็นจริง 
  • ภาพเชิงเปรียบเทียบ  อาจเปรียบเทียบกับมหาวิทยาลัยมหิดลในภาพรวม  เปรียบเทียบกับภาพรวมของประเทศในสาขาหรือหน่วยงานด้านนั้น  เปรียบเทียบกับหน่วยงานในมหาวิทยาลัยอื่นที่เป็นคู่แข่ง (Potential Competitor) ที่เราคิดแข่งกันทำความดีเพื่อบ้านเมือง ไม่ใช่แข่งขันทำลายล้างกัน    จะเห็นว่าการนำเสนอภาพเปรียบเทียบแบบนี้เราไม่คุ้นเคย    ทางหน่วยงานด้านการวางแผนและด้านข้อมูลจะต้องเตรียมพัฒนาข้อมูลแบบนี้ขึ้นใช้งาน
  • ถึงแม้เราจะเยี่ยมชมกันแบบสบายๆ เราก็ต้องมีเอกสารและข้อมูลประกอบ    ผมอยากให้ส่งเอกสารให้ผู้ที่จะไปเยี่ยมชมได้ศึกษาก่อนล่วงหน้า    เพื่อให้สามารถใช้เวลาเยี่ยมชมประมาณ ๒ ๓ ชั่วโมงให้เกิดปฏิสัมพันธ์แลกเปลี่ยนให้เกิดประโยชน์สูงสุด   และเมื่อเยี่ยมแล้ว มีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบสรุปประเด็นสำคัญนำแจ้งสภาฯ เพื่อทราบด้วย    เพราะเดาว่ากรรมการสภาคงจะไม่ถึงครึ่งที่มีโอกาสไปเยี่ยม   ข้อมูลจากการเยี่ยมนี้น่าจะเป็น input ที่สำคัญในการกำหนดนโยบายของมหาวิทยาลัย  
  • เท่ากับว่าเราทำงานแบบไม่เป็นทางการ    เน้นการชื่นชม   สบายๆ   แต่ก็ได้สาระที่จะนำไปใช้กำหนดนโยบายในภาพรวมของมหาวิทยาลัย และของหน่วยงานนั้นโดยเฉพาะ
  • ผมหวังว่าการสนทนาจะเน้น สุนทรียสนทนา (dialogue) ไม่ใช่การอภิปรายแบบเน้นผิด-ถูก (discussion) และสุนทรียสนทนานี้จะช่วยกระตุ้นให้ทีมงานภายในหน่วยงานที่เราไปเยี่ยมเกิดแรงบันดาลใจ  เกิดพลัง  เห็นช่องทาง ที่จะร่วมกันทำงานฟันฝ่าเพื่อสร้างความเจริญก้าวหน้าแก่หน่วยงาน เพื่อประโยชน์ของประเทศในภาพรวม   ทางสภาฯ ก็เห็นประเด็นสำคัญที่จะช่วยมีมติเชิงนโยบายส่งเสริมสนับสนุน 

วิจารณ์ พานิช

๒๒ มิย. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 35111เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2006 17:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 21:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
รศ.นพ.พิทยา จารุพูนผล

กราบเรียนท่านนายกสภา

ผมขอแสดงความชื่นชมที่ได้มีโอกาส ฟังการนำเสนอและการแสดงความคิดเห็นของกรรมการสภาชุดใหม่ท่มีวความตื่นตัวและ proactive และหวังว่าจะมีนโยบายและกรอบการทำงานในการพัฒนามหาวิทยาลัยมหิดลอย่างเต็มศักยภาพ  และเชื่อมั่นในกระบวนการทำงานแบบเป็น teamwork และยินดีให้วคววามร่วมมืออย่างเต็มพิกัด ในฐานะผู้แทนจากคณาจารย์ประจำ

กราบขอบพระคุณอีกครั้งครับ

รศ.นพ.พิทยา  จารุพูนผล

เรียน อาจารย์ วิจารณ์ ที่เคารพ

ผมใคร่ขอแสดงความชื่นชมในมิติใหม่ของสภามม.โดยการริเริ่มของอาจารย์ จากนี้ไปสภาฯคงทำงานเชิงรุกมากขึ้นซึ่งเป็นเวลาที่เหมาะสมอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกับแนวคิดในการหาข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆด้วยการออกเยี่ยมชม ที่ผ่านมาการสื่อสารระหว่างผู้บริหารมหาวิทยาลัยกับประชาคมส่วนใหญ่เป็น unilateral แบบ top down แม้จะมีผู้แทนคณาจารย์ในสภาฯแต่มักจะถูก break หรือ bluff อยู่เสมอๆจนหลายคนไม่อยากแสดงความคิดเห็น การพบปะอย่างไม่เป็นทางการระหว่างหน่วยงานกับสภาฯก็ดี หรือระหว่างกก.สภาฯด้วยกันก็ดี จะทำให้มีการสื่อสารแบบ bilateral มีโอกาสแสดงดวามคิดเห็นได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะทำให้มหาวิทยาลัยได้ข้อมูลที่ตรงไปตรงมา และข้อเสนอแนะที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนามากขึ้น

ผมใคร่ขอเสนอเพิ่มเติมในการออกเยี่ยมชมหน่วยงานตางๆว่า นอกจากให้หน่วยงานเสนอความภาคภูมิใจและความฝันแล้ว ปัญหาและอุปสรรคต่างๆของหน่วยงานที่จะดับความฝันก็เป็นข้อมูลที่สภาฯควรรับทราบด้วย

 ด้วยความเคารพ

ชุมพล ผลประมูล 

ผมใคร่เสนอแง่คิดมุมมองของผมต่อภาพรวมของมหาวิทยาลัยมหิดลเท่าที่ผมได้สัมผัสมาในระยะเวลาหนึ่งทั้งในฐานะอาจารย์ทั่วไปและในฐานะผู้บริหารระดับคณะเล็กๆ แห่งหนึ่ง ผมพบว่าสิ่งที่สภามหาวิทยาลัยน่าจะได้ address สิ่งเหล่านี้ดังนี้ครับ

1. ผม ในฐานะไม่ใช่ลูกหม้อชาวมหิดลโดยแท้พบว่า มหาวิทยาลัยแห่งนี้ ขาด "จิตวิญญาณ" ของความเป็นมหาวิทยาลัยเดียวกัน/ขาดอุดมการณ์ร่วมอย่างมาก ต่างคนต่างมีเป้าหมายกันคนละดวง คณะใครคณะนั้น อย่างที่หลายๆ คน รวมทั้ง สมศ.ได้ประเมินว่า เราแข็งเป็นแท่งๆ แต่ไม่ได้แข็งแรงเหมือนมัดหวายเดียวกัน จำได้ว่า เมื่อหลายปีที่แล้วผมได้มีโอกาสช่วยกองแผนงานจัดสัมมนาพัฒนายุทธศาสตร์ของมหาวิทย าลัย จึงได้นำป้ายผ้าผืนโตติดไว้ที่ผนังห้องว่า "ร่วมฟื้นฟูจิตวิญญานชาวมหิดล" ผมได้รับคำแซวจากหลายคนว่า "เล่นแนวอาจารย์กู้เลยหรือ" "เดี๋ยวนี้ต้องเล่นไสยศาสตร์กันแล้วหรือ" ผมก็เลยงงไปเลยครับ

2. สิ่งที่ผมเห็นว่าเป็นประเด็นใหญ่ของการพัฒนาและกำหนดนโยบายมหาวิทยาลัยของเราที่จะต้องคำนึงถึงคือ "ความแตกต่าง ทั้งในเรื่องของ ขนาดองค์กร คุณภาพองค์กร วัฒนธรรมองค์กร ทิศทางของแต่ละองค์กร พื้นที่ตั้ง และอื่นๆ อีกมากมาย" ที่ดูเหมือนจะเป็นอุปสรรคในความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างมาก บางครั้ง เรามุ่งมั่นชื่นชมยกย่องคนเก่งคนดีกันมากเกินไปหรือไม่ จนละเลยส่วนที่เขายังดิ้นรนทุรนทุรายอยู่ อย่างเย็นชาหรือไม่ ด้วยข้อจำกัดทั้งในเรื่องของ bias ในวิชาชีพ ความไม่สมดุลในระบบงบประมาณ กำลังคน ระบบสนับสนุนเชื่อมโยงกับส่วนกลาง สิ่งเหล่านี้ ผมว่า บางทีเราอาจต้อง address ความแตกต่างเหล่านี้อย่างจริงจัง เพื่อทำให้เกิดการสร้างนโยบายที่ต้อง grouping กลุ่มคณะสถาบันที่มีความใกล้เคียงกันเข้ามาด้วยกันได้หรือไม่ครับ  เพื่อว่าจะได้ใช้เลนซ์ในการจับจ้องวิเคราะห์ที่ใกล้เคียงกันหน่อย มิใช่นำเอามาตรฐานเดียวกันมากล่าวถึง/ตัดสินแบบรวมๆ นั้น จะช่วยอะไรไม่ได้เลย เรื่องนี้คงต้องครุ่นคิดกันอย่างลึกซึ้งทีเดียวครับ

    ความจริงผมมีอะไรอีกมากที่อยากจะแลกเปลี่ยน แต่ขอเสนอแค่ 2 ประเด็นก่อนนะครับ แล้วจะเข้ามาก่อกวนใหม่อีกครับ

อนุชาติ พวงสำลี 

 

ขอความเห็นจากหลากหลายมุมมองด้วยครับ    คนนอก ม. มหิดล ก็ร่วมแจมได้ครับ    เป็นการให้ความเห็น    ไม่เน้นถูก-ผิด ครับ

ธวัชชัย พีรพัฒน์ดิษฐ์

ขอชื่นชมแนวคิดและความพยายามที่จะให้สภามหาวิทยาลัยทำงานเชิงรุก

ผมเห็นว่าการเยี่ยมชื่นชมหน่วยงานโดยกรรมการสภามหาวิทยาลัยจะได้ประโยชน์หลายด้าน ได้แก่ กก.สภาฯ

-         จะได้ข้อมูลร่วมกัน

-         จะได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง

-         จะได้สัมผัสชาวมหิดลที่มีธรรมชาติหลากหลาย เพราะมีประวัติศาสตร์การจัดตั้งและการพัฒนาองค์กรระดับคณะ และสถาบันที่แตกต่างกัน เป็นต้น

อนึ่ง นอกจากประโยชน์ดังกล่าวข้างต้น ผมมีมุมมองที่อยากให้ท่านกรรมการสภาฯ ได้พิจารณา และช่วยกันพัฒนาด้วย กล่าวคือ ผมคาดว่า ถ้าหากท่านกก.สภาฯ จะสำรวจ ความเป็นมหิดลโดยให้แต่ละคณะ สถาบัน เลือกร้องเพลงประจำมหาวิทยาลัยมหิดลให้ฟัง  ผมสงสัยว่า แต่ละคณะ และสถาบัน อาจจะเลือกร้องเพลงประจำมหาวิทยาลัยไม่เหมือนกัน (เลือกกันคนละเพลง)ก็ได้นะครับ ที่ผมยกเรื่องนี้ขึ้นมา เนื่องจากว่าท่านนายกสภาฯ ได้เกริ่นนำแล้วว่า เป็นการทำงานของสภาฯ แบบไม่เป็นทางการ ดังนั้น หากพูดถึงเพลง พูดถึงดนตรี คงจะไม่เป็นไรนะครับ ถ้าท่านคิดว่าที่ผมกล่าวถึงนี้ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ก็สามารถทำการทดลองได้นะครับ ถือเป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งไม่ได้เอาผิดเอาถูกกันนะครับ บางที....สภาฯ อาจจะมีส่วนช่วยให้มีการหารือเกิดขึ้นและทำให้พวกเราหันมาร่วมร้องเพลงเดียวกันประสานเสียงให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันก็น่าจะเป็นการดีนะครับ

ในฐานะที่เคยรับราชการที่มหาวิทยาลัยมหิดลมานานพอสมควร ผมขอชื่นชมที่นายกสภามหาวิทยาลัยมีแนวความคิดที่จะเยี่ยมหน่วยงานเพื่อการสร้างสรรค์ในอนาคต

ผมขอเสนอเพิ่มเติมว่า นอกจากได้พบปะกับผู้บริหารระดับ คณะสถาบัน ฯ ฯลฯ แล้ว คระทำงานของสภา ฯ น่าจะหาโอกาสพบกับผู้ที่มิได้เป็นผู้บริหารของหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย เพราะบางครั้งสิ่งที่ได้รับจากผู้บริหารอาจจะยังไม่สมบูรณ์ ครบ ถ้วน ยังมี ความคิด ความจริง อีกมากที่ยังต้องการการรับฟังจากคณะทำงานของสภา ฯ  ครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท