เพลงพื้นบ้าน : ขอเชิญร่วมแสดงความห่วงใยในศิลปะท้องถิ่น


เมื่อถึงเวลาที่จะต้องเรียกเอาสิ่งนั้นกลับคืนมา ก็อาจจะไม่มีตัวตนให้ได้ไขว่คว้ากลับมาเสียแล้ว

เพลงพื้นบ้าน :

ขอเชิญร่วมแสดง

ความห่วงใยในศิลปะท้องถิ่น

- เพลงพื้นบ้าน

- ที่นับวันจะหายไป

นายชำเลือง มณีวงษ์

ผู้มีผลงานดีเด่น รางวัลราชมงคลสรรเสริญ ด้านเพลงพื้นบ้าน ปี 2547

          ผมมีความคิดและตั้งข้อสังเกตเอาไว้มาหลายปีควบคู่ไปกับการทำงานด้านสืบสานศิลปะการแสดงท้องถิ่นเพลงพื้นบ้านหลายชนิด แต่ที่ผมทำได้ชัดเจน ได้แก่ เพลงอีแซว เพลงฉ่อย ลำตัด เพลงเรือ เพลงเต้นกำ เพลงพวงมาลัย เพลงขอทาน เพลงแหล่ เสภา ทำขวัญนาค สังเกตได้จากการที่ผมได้ถ่ายทอดความรู้ไปยังเด็ก ๆ ที่เขามีความสนใจแล้วสามารถที่จะพัฒนาไปสู่มืออาชีพได้ เป็นเวลา 19 ปี แล้วที่ผมยังคงนำพาเด็ก ๆ เดินอยู่บนถนนเพลงพื้นบ้านไม่เคยหยุด

          ถึงแม้ว่า ผมจะเหลือเวลาราชการอีกเพียง 1 ปีเศษซึ่งนับว่าเป็นเวลาที่สั้นมาก เมื่อเทียบกับเวลาที่ผมอุทิศให้กับการสืบสานตำนานเพลงพื้นบ้านด้วยตนเองมาตั้งแต่อายุยังน้อย จนเข้ารับราชการครู ได้มีโอกาสถ่ายทอดความรู้ไปสู่ลูกศิษย์เป็นจำนวนมาก (มากว่า 150 คน) เด็ก ๆ ทุกคนในจำนวนนี้เขาได้ผ่านการแสดงความสามารถกับวงเพลงโดยมีผมร่วมเป็นนักแสดงอยู่ด้วยเกือบจะทุกงาน จากเด็กธรรมดาจนกลายมาเป็นนักแสดง จากนักแสดงมาเป็นศิลปินที่มีเวทีในสถานที่ต่าง ๆ ให้พวกเขาได้แสดงความสามารถ จนมาถึงกำหนดที่เด็ก ๆ จะต้องออกจากโรงเรียนไปตามข้อกำหนด

          ในเวลาที่เหลืออีกเพียง 1 ปีเศษนี้ ผมควรที่จะทำอะไร มีอีกมากมายหลายอย่างที่ผมยังไม่ได้ทำและก็ไม่มีโอกาสที่จะได้ทำแน่ ๆ เพียงแต่ผมอยากจะแสดงความเห็นเอาไว้ว่า ครั้งหนึ่ง เคยมีคนที่รักศิลปะท้องถิ่นเพลงพื้นบ้าน ได้เสนอความเห็นว่า มีความห่วงใยในศิลปะท้องถิ่นเพลงพื้นบ้านที่นับวันจะหายไป จากความเห็นนี้ก็ตรงกับโครงการความรู้จากบล็อกสู่หนังสือ ภายใต้โครงการระบบออนไลน์ โดยผู้พัฒนาเว็บไซต์ gotoknow.org นี้ได้รวบรวมความรู้จากบล็อกสู่หนังสือ และบล็อกเพลงพื้นบ้าน เป็นจุดหนึ่งที่จะได้รับการตีพิมพ์เป็นเอกสารสู่สังคมต่อไป (ทำให้ผมได้เห็นในสิ่งที่ผมไม่คิดว่าจะได้ทำ)

          เหมือนเป็นการต่อลมหายใจให้ผมและทายาทที่จะได้หยุดหายใจยาว ๆ และนั่งนิ่ง ๆ คิดสร้างสรรค์ผลงานใหม่ ๆ เข้ามาใช้ในการแสดงความสามารถบนเวทีกันต่อไป เพราะเวลาที่ผ่านมายาวนานเกือบจะ 20 ปี ไม่มีความจริงใจให้ผมได้เห็นว่า ใครบ้าง คนไหน (ที่มิใช่นักแสดงชาวบ้าน) จะเข้ามาทุ่มเท รื้อฟื้นคืนชีวิตให้กับเพลงพื้นบ้านได้ยาวนานและจริงใจ ต่างก็ปล่อยให้เขาลาจากโลกนี้ไปโดยมิได้เก็บเศษของความสามารถที่ท่านเหล่านั้นมีแล้วนำไปฝากไว้กับคนรุ่นใหม่ ๆ ให้ได้ศึกษาค้นคว้าหาความรู้จนถึงฝึกปฏิบัติ อย่างดีก็แค่เข้ามาดำเนินโครงการให้เสร็จ ๆ ไป แล้วก็เลิกราหายไปสนิท

         

         

          ผมมีความห่วงใยในวิธีการปฏิบัติที่เป็นอยู่ในขณะนี้ และผมได้มองเห็นมานานมากแล้ว ถ้าจะให้นับเวลาก็น่าจะนานกว่า 45 ปี ตรงนี้ผมขอชี้ประเด็นให้เห็นชัดเจนมากขึ้น โดยยึดเอาประสบการณ์และความเป็นจริงมาเล่า ได้แก่

          - ในอดีตผมเป็นพ่อเพลง เข้าประกวดได้รับโล่รางวัลชนะเลิศเพลงอีแซว ของจังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อ 6 เมษายน 2525 แต่มีคนกลุ่มหนึ่งพูดว่า ไม่เคยเห็นผมแสดงที่ไหนเลย (อันนี้ยิ่งกว่าความน่าเป็นห่วงเสียอีก)

          - ผมฝึกหัดทำขวัญนาคกับคุณตาวัน มีชนะ (ผมเรียกว่าพ่อคุณวัน) ออกไปประกอบพิธีตั้งแต่ปี 2513 จนมาถึงปัจจุบัน 40 ปี เศษ มีคนในระดับผู้อำนวยการสำนักงานแห่งหนึ่งถามผมว่า อาจารย์ทำขวัญนาคได้หรือและไปทำร่วมกับหมออื่นได้ไหม (อันนี้ไม่รู้ว่าท่านไปแอบอยู่ที่ไหน) เพราะผมทำงานนี้มาหลายพันงาน จะเป็นหมื่นงานแล้วกระมัง

          - ผมเล่นเพลงพื้นบ้าน เพลงฉ่อย เพลงอีแซว ลำตัดมาตั้งแต่หนุ่ม ๆ ทั้งแสดงกับรุ่นครูเพลง แสดงร่วมกับศิลปิน แสดงร่วมกับนักเรียนที่ผมฝึกหัด มีงานแสดงนับพันงาน แต่ในรายชื่อปราชญ์ชาวบ้าน กลับไม่มีคนในท้องถิ่นรู้จักผม ทั้งที่ผมด้นกลอนสดบนเวทีแสดงมานานกว่า 40 ปี (อันนี้ไม่น่าเป็นห่วง เพราะนับร้อยครั้งที่พวกเขาก็เห็นผมแสดงบนเวที)

          - บทเพลงพื้นบ้าน เพลงอีแซว ลำตัด เพลงฉ่อย ฯลฯ ที่ผมเขียนขึ้นมาด้วยสมองของผม มากว่า 250 เรื่อง หนากว่า 1,000 หน้า ได้ถูกเพลงวงอื่นนำเอาไปใช้ในการแสดง โดยไม่มีคำขออนุญาต หรือขอบคุณกลับมาเลย แถมบางครั้งยังพบว่า ประกาศชื่อให้ผู้อื่นเป็นคนเขียนบทร้องแทนผมเสียอีก (ข้อนี้น่าเป็นห่วงมาก แค่ให้เกียรติกันก็พอแล้ว)

          - ผมเป็นครูประชาบาล (ในอดีตเมื่อบรรจุเข้ารับราชการ) ผมมีความสนใจในศิลปะการแสดงท้องถิ่นมาก ผมตระเวนไปเที่ยวหาครูเพลงในละแวกบ้านและถึงแม้ว่าจะอยู่ไกลออกไปก็พยายามที่จะไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม เป็นเวลา 10 กว่าปี มากกว่า 20 ครูเพลง จนทำให้ผมมีประสบการณ์และรู้ว่า การแสดงเพลงพื้นบ้าน เขาใช้บุคลิกลักษณะที่โดดเด่นส่วนตัวเป็นจุดขายโดยไม่มีขอบเขตขีดกั้น แต่กลับมีผู้อื่นนำเอาข้อความของผมไปตีพิมพ์ในเอกสารของเขาโดยที่ผมไม่ได้รับรู้มาก่อนเลย (ประเด็นนี้มีหลายคน น่าเป็นห่วงมาก ถ้าบอกก็อนุญาตให้อยู่แล้ว)

          - ผมเห็นการสนับสนุนส่งเสริมศิลปะการแสดงที่ออกมาในโชว์ต่าง ๆ มีแต่คนโต อายุมาก ๆ แล้วก็ประโคมข่าวว่า กำลังจะหายไปหมดไปน่าเสียดาย แต่ในบางโชว์ก็นำเอาเด็ก ๆ มาแสดงความสามารถ ที่น่าแปลกคือ เด็ก ๆ เหล่านั้นมาสื่อสารเรื่องราวของคนโต (ผิดธรรมชาติ) น่าเป็นห่วงว่า เมื่อคนโต ๆ (คนแก่มาก) จากโลกนี้ไปท่านเหล่านั้นได้ถ่ายทอดอะไรไว้ให้กับเยาวชนบ้าง ส่วนเด็ก ๆ ที่ออกมาแสดงทั้งกลุ่มนั้นเขาไม่มีโอกาสได้แสดงความเป็นธรรมชาติที่เหมาะสมแก่วัยของเขาเลย  น่าเป็นห่วงว่าทำไมคนต่างวัยจึงต้องแยกกันบนถนนสายการแสดง แต่ผมกลับเล่นเพลงพื้นบ้านมากับเด็ก ๆ 19 ปีแล้ว ยังไม่มีปัญหาเรื่องของความต่างวัยให้เห็นเลย

          ผมเป็นคนหนึ่งที่ติดตามชมการแสดงเพลงอีแซวคณะไสว วงษ์งามมาตั้งแต่ผมเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษา ผมจำได้ติดตาว่า พ่อไสว แม่บัวผันทั้ง 2 ท่านก็มีอายุมากแล้วราว 45-50 ปี แต่ก็ยังมีคนรุ่นก่อนท่านและรุ่นหลังท่านร่วมแสดงอยู่ด้วย และมีคนรุ่นพี่เกลียว พี่สุจินต์ ตอนนั้นก็ยังเด็กอายุราว 12-14 ปี ร่วมแสดงอยู่ในวงเพลงอีแซวนั้นด้วย เวลาเขาร้องจะเคลื่อนที่ไปเป็นวง ไม่ได้ยืนหน้ากระดานแบบในปัจจุบัน (ทำให้มองเห็นตัวตายตัวแทนที่ชัดเจน)

          อย่าได้หวังอะไรกับการฝึกหัดนักแสดงแค่เพียงร้องเป็นเล่นได้ เพราะนั่นคือ ความสามารถขึ้นพื้นฐาน อย่าได้หวังว่าจะฝึกหัดเด็ก ๆ ให้สามารถแสดงออกงานได้ และอย่าได้หวังว่าจะฝึกหัดเด็ก ๆ ให้เข้าประกวดแล้วได้รับรางวัลชนะเลิศ นั่นมิใช่ความอยู่รอดของเพลงพื้นบ้านที่แท้จริง เพราะความยั่งยืนมั่นคงถาวร อยู่ที่การแสดงในระดับมืออาชีพ (มีงานหาจ้างวานเข้ามาอย่างต่อเนื่อง) ต้องใช้เวลา ใช้ความสามารถให้เป็นที่ยอมรับของผู้ชมจึงจะบอกได้ว่า เป็นการอนุรักษ์ให้เพลงพื้นบ้านให้คงอยู่ต่อไปอีกยาวนาน

                       

          ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ ผมได้แสดงความเห็นในความน่าเป็นห่วงของสังคมในยุคปัจจุบัน เมื่อคิดอะไรได้ก็ลงมือทำกันไปที พอมีกระแสแรงเข้ามาก็จัดให้มีโครงการรองรับ แล้วจะมีใครบ้างที่มองเห็นว่า สิ่งที่ต้องสูญหายไปนั้น เกิดจากความไม่เห็นคุณค่า ไม่สนใจ ปล่อยวาง ทอดทิ้งไปจนถึงการแสดงความไม่ชอบออกมาให้เห็น แต่เมื่อถึงเวลาที่จะต้องเรียกเอาสิ่งนั้นกลับคืนมา ก็อาจจะไม่มีตัวตนให้ได้ไขว่คว้ากลับมาเสียแล้ว

 

หมายเลขบันทึก: 349845เขียนเมื่อ 5 เมษายน 2010 20:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

คุณอ้อยเล็ก

            

  • วงเพลงอีแซว สายเลือดสุพรรณฯ บนเวทีวันผู้สูงอายุ เทศบาลคลองโยง อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2553
  • มีคนรุ่นลูก หลาน ออกมารดน้ำขอพรผู้สูงอายุเป็นจำนวนมาก ครับ

 

สวัสดีปีใหม่ไทยค่ะ

ขอให้อาจารย์มีสุขภาพแข็งแรง และมีความสุขมากมากนะคะ

ซักวันนู๋คงมีโอกาสได้ไปชมและฟังเพลงอีแซวของอาจารย์แน่แน่ค่ะ

ขอบคุณสำหรับบันทึกที่มีคุณค่าค่ะ

ขอบคุณค่ะ

สวัสดี ปีใหม่ไทย (ปีขาล) Natcha

  • ขอบคุณที่อวยพรปีใหม่มาให้ และเป็นห่วงเรื่องของสุขภาพ (คนเก่า เอ๊ยคนแก่)
  • ก็คิดว่า คงจะได้มีโอกาสนำเสนอผลงานเพลงอีแซวให้ชม ขอให้เป็นอย่างนั้น

      

สวัสดี ปีใหม่ของคนไทย ครับ

คุณครู ชำเลือง

เข้ามาร่วมสนับสนุน บันทึกดี ดี ของครูนะครับ

ขอบพระคุณ ครับ

สวัสดี ปีใหม่ไทย (ปีขาล)

  • ขอแสดงความชื่นชม ประทับใจในภาพที่เป็นวัฒนธรรมดั้งเดิม "วันสงกรานต์"
  • มองเห็นชัดเจนแล้ว "แสงแห่งความดี" ขอขอบคุณในความเป็นผู้นำ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท