Peer Assist ทิศทางของ มรภ. อุตรดิตถ์


Peer Assist ทิศทางของ มรภ. อุตรดิตถ์


          วันที่ 5 ก.ย.48   ผมไปทำ Peer Assist ให้แก่ มรภ. อุตรดิตถ์   โดยทาง มรภ. อุตรดิตถ์ให้โจทย์ว่า   “ทิศทางการพัฒนา มรภ.”   และเชิญผมไปบรรยาย   แต่ผมเสนอว่าการบรรยายมีประโยชน์ในทางปฏิบัติน้อย   เพราะผู้บรรยายมักพูดไปตามทฤษฎีหรือหลักการ   ไม่ได้คำนึงถึงบริบทของ มรภ.อุตรดิตถ์   การทำ PA จะช่วยให้การแลกเปลี่ยนเน้นที่หลักการที่เหมาะสมต่อบริบทของจริง   ผมได้แจ้งให้ผู้รับผิดชอบของ มรภ. อุตรดิตถ์ ดึงเอาบทความเรื่อง PA ในบล็อก (link) ไปแจกจ่ายแก่ผู้ที่จะเข้าร่วมให้ศึกษาไว้ก่อน   แต่เกิดปัจจัยไม่คาดฝัน ผู้ช่วยอธิการบดีที่รับผิดชอบต้องไปดูแลแม่ซึ่งป่วยหนักที่เชียงใหม่และแม่เสียชีวิตเมื่อคืนก่อนนั้นเอง   การเตรียมการณ์จึงไม่ครบถ้วน   เลขาของท่านไม่ได้แจกเอกสารล่วงหน้า   แต่เอามาแจกที่หน้าห้องประชุม


          ผมมีข้อสังเกตว่า   หน่วยงานต่าง ๆ มักไม่มี culture ส่งเอกสารให้ผู้เข้าร่วมประชุมทำการบ้านมาก่อนล่วงหน้า   มักใช้วิธีแจกหน้างาน   วิธีนี้จะทำให้การประชุมด้อยคุณภาพ


          ด้วยความฉุกละหุกดังกล่าว   ผมไม่ทราบกำหนดการที่ชัดเจนมาล่วงหน้า     ตามหนังสือเชิญระบุให้ผมพูด 9 – 12 น.   ผมก็คิดว่าผมมีเวลาทำ PA 3 ชม.   ลืมคิดไปว่าในหลายหน่วยราชการเอกสารคือหลักฐานประกอบการเบิกเงิน   ไม่ใช่หลักฐานของการปฏิบัติจริง   เอาเข้าจริงก็มีเวลาเพียง 1.5 ชม.    แต่เวลาก่อนหน้านั้นท่านนายกสภา มรภ. อุตรดิตถ์  ศ. ดร. เกษม  จันทร์แก้ว   ได้แสดงข้อคิดเห็นของท่านในเรื่องทิศทางของ มรภ. อุตรดิตถ์


          ศ. ดร. เกษม  จันทร์แก้ว   เป็นยอดนักวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมและทำงานให้แก่มูลนิธิชัยพัฒนาด้วย   ท่านเกษียณราชการจาก มก.   โดยวัยท่านอาวุโสกว่าผมหลายปี   แต่ก็รู้จักสนิทสนมกันดี


          การให้ข้อคิดเห็นของท่านนายกสภามีประเด็นที่ชัดเจนครบถ้วน   รวม 9 ประเด็น   ซึ่งผมจะไม่ขยายความ


          พอถึงตอน PA จริง ๆ   ทางผู้เข้าร่วมประชุมซึ่งเป็นผู้ใหญ่ระดับคณบดีหรือใกล้เคียงแทบทั้งนั้น   ก็ร่วมกันจัดห้องใหม่   จากแบบ classroom ไปเป็นแบบรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส   เพื่อสร้างบรรยากาศเท่าเทียมและเป็นอิสระ   แสดงว่าถึงแจกเอกสารหนน้าห้องประชุมก็มีผลบ้างเหมือนกัน


          คณะผู้บริหารฯ จำนวนหนึ่งเพิ่งไปดูงานที่ออสเตรเลียและกลับมาเมื่อ 2 วันก่อน   จึงยังมีกรณีมหาวิทยาลัยซิดนีย์   และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งซิดนีย์มาเป็นกรณีตัวอย่างหลายเรื่อง


          ผู้ที่มาร่วม PA เป็นผู้บริหารและกรรมการสภาฯ จำนวนหนึ่ง   รวมประมาณ 30 คน   ผมทำหน้าที่เป็น “คุณอำนวย” สร้างบรรยากาศอิสระ   เท่าเทียม   ไม่มีถูก – ผิด   ความคิดเชิงบวก   ชื่นชมยินดี   มีการฟังความคิดเห็นที่แตกต่างโดยไม่มีการโต้แย้งกัน   ซึ่งก็ได้ผลดี   มีการเสนอข้อคิดเห็น & วิธีดำเนินการที่สร้างสรรค์มากมายพอสมควร   ผมได้พยายามเสนอให้ผู้เข้าร่วมบอกว่าตนจะทำอย่างไร   พยายามลดการบอกให้คนอื่นทำ   และเบนจุดเน้นจากทำอะไรไปสู่ทำอย่างไร   ซึ่งก็ได้ผลดีพอสมควร

PA “”–&


          ท่านนายกสภาฯ ชมว่าการประชุมแบบนี้ทำให้เกิดการคิดสร้างสรรค์   ไม่มีการขัดแย้งกันในที่ประชุมเหมือนการประชุมโดยทั่ว ๆ ไป


          PA คราวนี้เป็น “ฉบับดัดแปลง” สุดสุด   เพราะการเตรียมตัวไม่ดี   แต่บรรยากาศของการแลกเปลี่ยนก็ทำให้ผู้เข้าร่วมได้สัมผัสบรรยากาศของการ ลปรร. ที่ถูกต้อง   ได้เรียนรู้ KM (นิด ๆ    หน่อย ๆ) จากการสัมผัสจริงและได้ประเด็นสำคัญ ๆ ของทิศทางการพัฒนา มรภ. อุตรดิตถ์ ค่อนข้างครบถ้วน   โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นเชิงปฏิบัติ   ซึ่งเป็น “ความรู้ปฏิบัติ” ที่คนใน มรภ. มีอยู่เอง   เมื่อถูกกระตุ้นด้วยบรรยากาศสร้างสรรค์   ก็จะพูดออกมา   หากทาง มรภ. อุตรดิตถ์ จดบันทึกไว้   และนำไปทดสอบปฏิบัติ   ก็จะได้รับประโยชน์


          ผมกลับมา AAR ตัวเอง   พบว่าผมทำผิดฉกรรจ์   ที่ลืมย้ำในที่ประชุมว่าต้องเตรียม “คุณลิขิต” ไว้บันทึกความรู้ปฏิบัติ   สำหรับเก็บไว้ใช้งาน   จึงขอสื่อสารมายังท่านอธิการบดีและทีมงานในเรื่องนี้ด้วยนะครับ


          PA ครั้งนี้ไม่ค่อยดีนัก   เพราะผมได้มีเวลาแลกเปลี่ยนเพียง 10 นาทีเท่านั้น   จึงดึง “ความรู้ฝังลึก” ของผมออกมาแลกเปลี่ยนได้น้อย   แต่ในเวลาเพียง 10 นาที   ผมก็ได้เสนอไว้ถึง 6 ประเด็น   ซึ่งผมจะไม่เล่านะครับ

           

ศ. ดร. เกษม  จันทร์แก้ว                                 บรรยากาศการประชุม

                              

                     ผศ. สุทธิชัย  หาญสวัสดิ์   อธิการบดี มรภ.อุตรดิตถ์

 

 



                                                                                      วิจารณ์  พานิช
                                                                                         6 ก.ย.48

  
 
  
หมายเลขบันทึก: 3496เขียนเมื่อ 6 กันยายน 2005 10:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท