เต่าทะเล


เต่าทะเล

เต่าทะเล

 

อยากให้รู้..

เต่าทะเล สิ่งมีชีวิตหนึ่งภายใต้ของพระบรมราชินูปถัมภ์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ "โครงการสมเด็จฯ อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล"

 

        การเดินทางเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับเต่าทะเล เมื่อถึงเวลา พ่อและแม่เต่าทพเลจะว่ายน้ำจากแหล่งหากินอันแสนไกล เพื่อมาผสมพันธุ์และบรรจงเลือกแหล่งวางไข่ ณ ชายหาดอันเงียบสงบแล้วจากไป ปล่อยให้ลูกน้อยฟักออกมาเพียงลำพัง ลูกเต่าแรกเกดซึ่งมีขนาดเล็กและมีกระดองที่ยังไม่แข็งแรง จะต้องรีบคลานจากหาดทรายในเวลาค่ำคืนลงสู่ทะเล และว่ายน้ำออกสู่ทะเลลึกเพื่อหลีกหนีศัตรูตามธรรมชาติอันมีมากมายบริเวณชายฝั่ง แม้กระนั้นก็ตามลูกเต่าเหล่านี้มีโอกาสรอดเพียง1ใน1000ตัว ที่จะเจริญเติบโตเป็นพ่อแม่เต่าทะเลเพื่อสืบทอดอนาคตของชาติพันธุ์เต่าทะเลต่อไป..

 

ชนิดของเต่าทะเล

               เต่าเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่ได้กำเนิดขึ้นในโลกมากกว่า 200 ล้านปี โดยได้ปรับตัวเองให้อาศัยอยู่ได้ในสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี เต่าเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่มีบรรพบุรุษเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำพวกแรกในวงศ์สัตว์มีกระดูกสันหลังที่อาศัยได้ทั้งบนบกและในน้ำ ปัจจุบันเต่า มีอยู่ประมาณ 210 ชนิด จากจำนวนสัตว์เลื้อยคลานทั้งสิ้น 6,000 ชนิด สัตว์เลื้อยคลานที่อาศัยอยู่ในท้องทะเลมีอยู่เพียงสองชนิด คือ เต่าทะเล และงูทะเล

 

               เต่าทะเลปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 2 ตระกูล พวกแรกคือตระกูล DERMOCHELYIDAE ซึ่งมีเต่ามะเฟือง (leatherbaok:Dermochelys coriacea) เหลืออยู่เพียงชนิดเดียว อีกตระกูลที่เหลือ คือ CHELONINI คือ เต่าตนุ (Green turtle:Chelonia myfa) เต่าหลังแบน (flatbaok turtle:Chelonia depressa) เต่ากระ (Hawksbill:Eretmochelya imbricata) ในตระกูลนี้ ยังแบ่งออกเป็นตระกูลย่อยเรียกว่า CARETTINI อีก 3 ชนิด คือ เต่าหัวฆ้อน (loggerhead turtle:Caretta caretta) เต่าหญ้าหรือเต่าสังกะสี (Olive ridley:Lepidochelys olivacea) และ Kemp's ridley turtle (Lepidochelys kempi) รวมทั้งสิ้นเป็น 7 ชนิด แต่นักวิทยาศาสตร์ได้แยกเต่าตะนุออกมาเป็นอีกชนิด คือ East Pacific Green turtle (Chelonia agassisi) ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า ปัจจุบันในโลกนี้มีเต่าทะเลเหลืออยู่เพียง 8 ชนิดเท่านั้น ส่วนในประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่อนุรักษ์พบเต่าทะเลเพียง 4 ชนิด เท่านั้น คือ เต่ามะเฟือง เต่าตะนุ เต่ากระ และเต่าหญ้า

วิวัฒนาการของเต่าทะเล

           เต่าได้พัฒนาสายพันธุ์โดยเป็นการวิวัฒนาการของสัตว์เลื้อยคลานในยุค TRIASSIC เมื่อ 200 ล้านปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นยุคของไดโนเสาร์ ตอนแรกเข้าใจว่าเต่ามีฟันแหลมคมเช่นเดียวกับฉลาม เต่าบางชนิดอาศัยในพื้นที่ที่มีน้ำ บางชนิดอาศัยเฉพาะบนบก และมีบางชนิดดำรงชีวิต เฉพาะในน้ำเท่านั้นเป็นที่น่าสังเกตว่า ถึงแม้เต่าทะเลจะดำรงชีวิตในทะเล แต่ก็ยังคงคุณลักษณะของสัตว์เลื้อยคลานทั่วไป เต่าทะเลมีกระดอง เป็นเกล็ดปกคลุมร่างกาย ยกเว้นเต่ามะเฟือง ที่สิ่งห่อหุ้มร่างกาย มีลักษณะเหมือนหนังแหล่งอาศัยของเต่าทะเล จะไม่พบในบริเวณทื่อุณหภูมิ ของน้ำทะเลแตกต่างจากอุณหภูมิในร่างกายของมัน ดังนั้นจึงพบเต่าทะเลอาศัยอยู่ทั่วไปในเขตร้อยและเขตอบอุ่น เว้นเต่ามะเฟือง ที่สามารถ ปรับตัวให้ดำรงชีวิตในบริเวณน้ำเย็นได้ ข้อสรุปอีกประการหนึ่งที่เต่าทะเลยังคงคล้ายคลึงกับสัตว์เลื้อยคลาน คือ มีอายุยืนและอดอาหารได้เป็น เวลานาน ส่วนเรื่องของอายุขัยของเต่าทะเลยังไม่ทราบชัดเจน แต่คาดว่ามากกว่า 50 ปี การที่เต่าทะเลสามารถดำรงชีวิตมาได้จนถึงทุกวันนี้ เนื่องจากการที่เต่ามีกระดองที่ช่วยในการป้องกันอวัยวะภายในได้เป็นอย่างดี เต่าทั่วไปกระดองจะเป็นรูปโคม เพื่อให้หัวและขาหดเข้าไปได้ เป็นการป้องกันอันตรายจากสัตว์อื่นที่จะทำร้าย ส่วนเต่าทะเลนั้น ไม่สามารถหดหัวและขาเข้าไปกระดองได้

 

เนื่องจากการที่ดำรงชีวิตอยู่ในน้ำตลอดเวลา ทำให้กระดองได้วิวัฒนาการรูปร่างให้เหมาะสมในการว่ายน้ำ นอกจากนี้เต่าทะเลยังพัฒนา รูปร่างใหญ่กว่าสัตว์เลื้อยคลานชนิดอื่น ทำให้ลำไส้มีขนาดใหญ่ขึ้นเป็นการช่วยย่อยอาหารได้ดีขึ้น รวมทั้งการที่มีไขมากกว่าสัตว์เลื้อยคลานชนิดอื่น ทำให้การดำรงพันธุ์ดีกว่า ส่วนที่เป็นขาของเต่าบกพัฒนาเป็นรูปพายแบนเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการว่ายน้ำ พายคู่หน้าใช้ในการผลักดัน และพุ้ยน้ำ ส่วนพายคู่หลังใช้เป็นเหมือนหางเสือกำหนดทิศทาง เต่าทะเลบางตัวสามารถที่จะว่ายน้ำได้เร็วถึง 35 ไมล์ต่อชั่วโมง หรือสามารถที่จะ ว่ายน้ำในมหาสมุทรเป็นร้อยๆ ไมล์ การที่เท้าพัฒนาเป็นพายก็มีผลเสียที่ทำให้เคลื่อนไหวบนบกได้ช้า ซึ่งผิดแผกจากเต่าบกหรือเต่าน้ำจืดที่ยังเดิน ได้ดี ทั้งนี้ เต่าทะเลตัวเมียยังมีความจำเป็นที่จะต้องคลานขึ้นมาวางไข่บนหาดทราย เต่าทะเลที่คลานบนบกก็มีลักษณะเช่นเดียวกับสัตว์บก คือ เดินทีละข้าง ยกเว้นเต่าตะนุที่เวลาคลานจะเคลื่อนพายไปในทิศทางเดียวพร้อมกัน

 

เต่าทะเลทุกชนิดมีการวิวัฒนาการตัวเองให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในทะเล และลดการแก่งแย่งกันเอง เช่น การกินอาหารที่แตกต่างกัน การขึ้นมาวางไข่บนหาดที่มีลักษณะและช่วงเวลาที่แตกต่างกัน กระดองก็สามารถที่จะเปลี่ยนแปรได้ตามสิ่งแวดล้อม เช่น เต่ากระมีสีของกระดอง เข้าสภาพของปะการัง กระดองสีเข้มของเต่าตะนุก็กลมกลืนกับแหล่งหญ้าทะเลที่หากิน เต่าหัวฆ้อนมีขากรรไกรที่เหมาะในการกินหอยและปู ปากที่แหลมคล้ายเหยี่ยวของกระก็ทำให้กินอาหารพวกฟองน้ำตามหินผาได้น้ำสะดวก

ชนิดของเต่าทะเลในประเทศไทย

1.เต่ามะเฟือง (LEATHERBACK SEA TURTLE) ชื่อวิทยาศาสตร์ Dermochelys coriacea มีกระดองนุ่มเหมือนหนัง ขนาด 150-180 เซนติเมตร (60-70 นิ้ว) น้ำหนัก 300 ถึง 600 กิโลกรัม (700-1,300 ปอนด์) บนกระดองมีสันแนว 5 เส้น ที่แตกต่างจาก เต่าทะเลชนิดอื่น คือ ว่ายน้ำได้เป็นระยะทางไกลนับพันกิโลเมตร มีจุดสีขาวหรือสีน้ำตาลบนกระดองสีดำหรือน้ำตาลเข้ม พายหน้าไม่มีเล็บ อาหารส่วนใหญ่เป็นพวกแมงกระพรุนหรือสาหร่าย การที่มีกระดูกหน้าอกยาวทำให้ดักแมงกระพรุนเพื่อจับเป็นอาหารได้ง่าย แหล่งที่พบมากคือบริเวณหาดท้ายเหมือง จังหวัดพังงา และหาดไม้ขาวจังหวัดภูเก็ต

 

2.เต่าตะนุ (GREEN SEA TURTLE) ชื่อวิทยาศาสตร์ Chelonia mydas เมื่อโตเต็มที่วัดกระดองได้ 90-100 เซนติเมตร (35-43 นิ้ว) น้ำหนักประมาณ 110-180 กิโลเมตร (250-400 ปอนด์) บริเวณพายมีเล็กแหลม กระดองเป็นเกล็ดเรียงกันมีสีน้ำตาลโอลีพหรือสีดำ ส่วนใต้ท้องกระดองมีสีเหลืองหรือสีครีมอ่อน เต่าตะนุเป็นเต่าทะเลกระดองแข็งที่มีขนาดใหญ่ที่สด กินพืชเป็นอาหาร โดยเฉพาะพวกสาหร่าย หรือหญ้าทะเล

 

3.เต่ากระหรือกระ (HAWKSBILL SEA TURTLE) ชื่อวิทยาศาสตร์ Eretmocheiys imbricata กระดองเมื่อโตเต็มที่วัดได้ 70-90 เซนติเมตร (28-36 นิ้ว) มีน้ำหนักประมาณ 35-65 กิโลเมตร (80-140 ปอนด์) ลักษณะพิเศษ คือ ปากมีจะงอยเหมือนปากเหยี่ยว มีเล็บที่พายคู่หน้า 4 อัน และมีเกล็ดคู่หน้าสองคู่ เกล็ดซ้อนทับกันมีสีเหลือง น้ำตาล และดำอย่างสวยงาม อาหารเป็นพวกสาหร่าย หญ้าทะเล เพรียง และปลา ที่ชอบมากคือฟองน้ำทะเลและหอยเม่น พบมากบริเวณแนวปะการัง

 

4.เต้าหญ้าหรือเต่าสังกะสี (OLIVE RIDLEY SEA TURTLE) ชื่อวิทยาศาสตร์ Lepidochelys loiyacea มีขนาดเล็กที่สุด อาศัยตามบริเวณชายฝั่งทะเล เมื่อโตเต็มที่กระดองมีขนาดประมาณ 60-70 เซนติเมตร (23-26 นิ้ว) น้ำหนัก 35-40 กิโลกรัม (80-90 ปอนด์) กระดองสีน้ำตาลโอลิพ เรียงกันคล้ายสังกะสี ส่วนท้องสีเลืองออกขาว อาหารกินได้ทั้งพืชและสัตว์ เช่น กุ้ง ปลา แมงกระพรุน ปู หอย สาหร่าย และหญ้าทะเล

สถานการณ์เต่าทะเลในประเทศไทย

เต่าทะเล ได้ลดปริมาณลงมาตั้งปี พ.ศ.2513 เป็นต้นมา ถึงแม้ว่าการศึกษษและการอนุรักษ์เต่าทะเลจะมีการดำเนินการมาหลายปีแล้ว โดยได้มีการจัดตั้งกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเรื่องเต่าทะเลของโลกขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2512 ในรูปแบบส่วนหนึ่งของสหพันธ์นานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union of Conservation of Nature) ในปี 2518 ได้เกิดสนธิสัญญาการค้าสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ระหว่างประเทศ (Convention of International Trade in Endangered Species, CITES) ส่วนหนึ่งได้ประกาศให้เต่าทะเลทุกชนิดพันธุ์เป็นสัตว์ใน APPENDIX I ได้มีการริเริ่มด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อใช้ศึกษาให้เข้าใจถึงชีววิทยาและนิเวศวิทยาของเต่าทะเล เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง และมีประสิทธิภาพในการวางมาตราการอนุรักษ์และป้องกันการลดจำนวนลง HEAD STARTING PROGRAMME ที่ได้ดำเนินการในครั้งแรก คือ การเพาะเลี้ยงเป็นเวลาหลายเดือนแล้วปล่อยลงทะเล แม้ว่าจะมีการพยายามใช้วิธีอนุรักษ์ในรูปแบบต่าง ๆ แต่ปรากฎว่า จำนวนของเต่าทะเล ก็ลดลงเรื่อย ๆ จนถึงจุดวิกฤต ทั้งนี้ เนื่องมาจากกิจกรรมของมนุษย์ทั้งการกระทำโดยเจตนาและอุบัติเหตุ เช่น การวางอวน การลักลอบขุด ไข่เต่าทะเล มลภาวะและการสูญเสียแหล่งวางไข่ สำหรับการเพาะฟักแล้วนำมาเลี้ยงเป็นเรื่องยากที่จะดำเนินการกับเต่ามะเฟือง ซึ่งจะต้องมี การเรียนรู้อีกมาก และที่สำคัญ คือ ยังไม่มีผู้ใดทราบถึงวงจรชีวิตของเต่าทะเลในช่วงที่ใช้ชีวิตในทะเล ส่วนการเพาะเลี้ยงแล้วปล่อยนั้น ก็ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่า สามารถที่จะเพิ่มจำนวนการอยู่รอดได้ ปัจจุบัน โครงการอนุรักษ์เต่าทะเลทั่วโลก ยังคงสนับสนุนการปล่อย ลูกเต่าทะเลทันทีที่ออกจากรัง (จากากรสัมมนาเรื่องการอนุรักษ์เต่าทะเล ของกลุ่มประเทศอาเซี่ยนและโอเชี่ยนเนีย ณ ประเทศฟิลิปปินส์ 1993)

 

สำหรับในประเทศไทย จำนวนของเต่าทะเลได้ลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ได้มีการบันทึกจำนวนเต่าทะเลที่ขึ้นมาวางไข่ที่หาดท้ายเหมือง อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง จังหวัดพังงา พบว่าในช่วงปี พ.ศ.2513-15 มีเต่าหญ้าและเต่ามะเฟืองขึ้นวางไข่ปีละมากกว่า 400 ครั้ง แต่ในช่วงระหว่างปี 2533-2535 มีเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่เพียง 20-40 ครั้ง เท่านั้น เป็นการลดจำนวนลงถึงสิบเท่าในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา จากการประสานงานกับอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่มีเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่และสถาบันวิจัยชีววิทยาและประมงทะเล จังหวัดภูเก็ต พบว่า จำนวนของเต่าทะเลที่ขึ้นมาวางไข่มีจำนวนลดลงเช่นเดียวกัน

 

ดร.จีน มอร์ติเมอร์ (2531) ได้เสนอรายงานถึงกองทุนอนุรักษ์สัตว์ป่าแห่งประเทศไทย และกองทุนอนุรักษ์สัตว์โลกแห่งสหรัฐอเมริกา ถึงจำนวนของเต่าทะเลที่มีในประเทศไทยและสาเหตุของการลดจำนวนลง อีกทั้งได้เสนอแนะวิธีการอนุรักษ์ที่เหมาะสมกว่าการเพาะเลี้ยงแล้วปล่อย คือ การคุ้มครองพื้นที่ถิ่นวางไข่ตามธรรมชาติของเต่าทะเล ไม่ให้ถูกทำลายหรือถูกรบกวน หรือทำให้เสื่อมสภาพ แต่รายงานฉบับนี้ ได้ถูกละเลยไปอย่างน่าเสียดาย

 

สำหรับบริเวณหาดท้ายเหมืองส่วนที่อยู่ในเขตความรับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง ได้จัดทำโครงการอนุรักษ์เต่ามะเฟือง และเต่าหญ้า ในรูปแบบคืนบ้านให้เต่าทะเล โดยแบ่งการปฏิบัติเป็น 2 ภาค คือ ในช่วงแรก พ.ศ.2535-2538 เน้นเรื่องกลยุทธการป้องกัน ควบคู่กับการประชาสัมพันธ์ โดยการขอความร่วมมือจากทหารเรือ หน่วยงานที่สนใจ โดยเฉพาะอาสาสมัครซึ่งมีทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ร่วมกันเดินลาดตระเวนป้องกันการลักลอบขุดไข่เต่าทะเล พร้อมทั้งเริ่มต้นบันทึกข้อมูลทางกายภาพ และพฤติกรรมของเต่าทะเล เพื่อนำไปเป็น แนวทางในการจัดการทั้งระยะสั้นและระยะยาวต่อไป ไข่เต่าทะเลที่พบก็จะนำมาเพาะฟักตามธรรมชาติในเรือนเพาะฟักริมหาด เมื่อออกเป็นตัวก็ ปล่อยให้ลงทะเลตามธรรมชาติ เหลือเก็บไว้ไม่เกิน 10% เพื่อใช้ศึกษาและใช้ในด้านประเพณีช่วงที่สอง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 เป็นต้นไป จะไม่อนุญาตให้ผู้ใดรวมทั้งเจ้าหน้าที่เข้าไปรบกวนหาดในฤดูวางไข่ของเต่าทะเล การศึกษา บันทึกข้อมูลก็ให้สังเกตจากบนหอคอย เมื่อพบว่า มีเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่ จึงจะอนุญาตให้นักท่องเที่ยวลงไปชมได้โดยให้อยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ การดำเนินการข้าต้นนี้ต่อไปทุกอุทยาน แห่งชาติทางทะเลก็จะได้เป็นแนวทางในการดำเนินการและการจัดการ ไม่เฉพาะแต่เรื่องของเต่าทะเลเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสัตว์ที่กำลังสูญพันธุ์ หรือสัตว์หายากประเภทอื่นด้วย

 

ที่มา: หนังสือ เต่าทะเล ของสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน  (กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง)
และ
http://www.dnp.go.th/npo/Html/Research/Turtle/turtle.html

 

หมายเลขบันทึก: 349422เขียนเมื่อ 3 เมษายน 2010 21:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มิถุนายน 2012 10:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

พี่เองก็เพิ่งเลงเรื่องเกี่ยวกับเต่าใน G2K จ๊ะ แต่เป็นเรื่องเศร้าๆ ของเต่าค่ะ ..

น่าสนใจมากเลยค่ะ ถ้าอยากได้หนังสือเต่าทะเลสามารถหาได้ที่ไหนค่ะ แนะนำหน่อยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท