การค้าระหว่างประเทศกับสิ่งแวดล้อม


การกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศในประเด็นสิ่งแวดล้อม

การดำเนินนโยบายทางการค้าและสิ่งแวดล้อมของต่างประเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองสิ่งแวดล้อม หรือใช้โดยมีเจตนาที่จะกีดกันทางการค้าโดยแอบแฝงที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าระหว่างประเทศ และขัดต่อหลักการค้าเสรีขององค์การการค้าโลก (WTO) ที่มีวัตถุประสงค์ที่จะสร้างเสรีภาพในทางการค้าระหว่างประเทศ และขจัดอุปสรรคทางการค้าประเภทต่างๆ รวมทั้งการเลือกปฏิบัติในทางการค้าระหว่างประเทศ อันก่อให้เกิดประเด็นปัญหาความขัดแย้งและข้อพิพาทเกี่ยวกับการค้าและสิ่งแวดล้อมขึ้น

ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่อาศัยรายได้หลักจากการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศและเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการใช้มาตรการและมาตรฐานสิ่งแวดล้อมของประเทศคู่ค้า ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานสิ่งแวดล้อมโดยตรง หรือมาตรฐานสิ่งแวดล้อมโดยอ้อม ซึ่งส่งผ่านมายังไทยโดยทางมาตรฐานผลิตภัณฑ์ หรือมาตรฐานทางเทคนิคซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการค้าระหว่างประเทศของไทย โดยสินค้าส่งออกของประเทศไทยที่มักประสบปัญหามาตรการสุขอนามัย หรือสิ่งแวดล้อมของประเทศคู่ค้า ได้แก่ สินค้าอาหาร สิ่งทอ และ ผลิตภัณฑ์อิเลคทรอนิค เป็นต้น

บทบัญญัติต่างๆของ WTO ที่มีความเกี่ยวพันโดยตรงกับประเด็นเกี่ยวกับการค้าและสิ่งแวดล้อม ซึ่งบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการค้า คือ หลักการพื้นฐานเพื่อการค้าเสรี เข่นหลักการไม่เลือกปฏิบัติ หลักการห้ามจำกัดปริมาณ เป็นต้น ส่วนบทบัญญัติที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ความตกลง GATT-1994 ซึ่งกล่าวถึงการปกป้องชีวิต หรือสุขภาพของมนุษย์ สัตว์ หรือพืช รวมทั้งการสงวนรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ในความตกลง GATT-1994 ได้กล่าวถึงข้อจำกัดทางด้านปริมาณที่ให้นำมาใช้ทางการค้าได้บางประการและข้อจำกัดดังกล่าวซึ่งมีผลเท่ากับเป็นมาตรการที่รัฐสมาชิกจะนำมาใช้เพื่อการป้องกันทางการค้า เพื่อคุ้มครองชีวิต และสุขภาพของคน สัตว์ หรือพืช และเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้สิ้นเปลือง เป็นข้อยกเว้นที่ GATT-1994 อนุญาตให้รัฐสมาชิกปฏิบัติได้เพื่อเป็นข้อจำกัดทางการค้าแต่ก็หมายความว่าการอ้างเช่นนี้จะต้องไม่ใช่เป็นการเลือกปฏิบัติต่อรัฐใดรัฐหนึ่งโดยเฉพาะ ไม่เช่นนั้นจะขัดกับหลักที่เรียกว่า การไม่เลือกปฏิบัติ

ปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันเป็นปัญหาที่มีความเกี่ยวพันกับการค้าระหว่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ และเป็นปัญหาที่ทุกประเทศให้ความสนใจ และให้ความสำคัญ นอกจากเรื่องสิ่งแวดล้อมจะถูกโยงไปเป็นประเด็นทางการค้าระหว่างประเทศแล้ว ยังมีเรื่องมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศและเรื่องสิทธิมนุษยชนเข้ามาเกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาทางการค้าระหว่างประเทศด้วย และนับวันปัญหาเหล่านั้นจะถูกนำมาเป็นประเด็นการแข่งขันทางการค้ามากขึ้น

ที่มา : WTO กับสิ่งแวดล้อม : เน้นการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศในประเด็นสิ่งแวดล้อม โดย พรรณทิพย์ วัฒนกิจการ บทบัณฑิต นิตยสารของเนติบัณฑิตยสภา เล่มที่ 60 ตอน 4 ธันวาคม 2547

กฎหมายการค้าและสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ โดย ดร.พรชัย ด่านวิวัฒน์ สำนักพิมพ์วิญญูชน

กฎหมายระหว่างประเทศ โดย ศ.ดร.จตุรนต์ ถิรวัฒน์ สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์      

 

หมายเลขบันทึก: 34822เขียนเมื่อ 20 มิถุนายน 2006 17:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 18:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ที่มีปัญหาในการส่งสินค้าออกไปต่างประเทศ แสดงว่ามาตรฐานในการผลิตของสินค้าไทยหลายๆตัวยังไม่ทัดเทียมกับต่างประเทศ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท