ถอดบทเรียน ลำปาง จากมุมมองผู้ประสานงานกลาง (1)


ผมอธิบายงานวิจัยจัดการความรู้ของลำปางสั้นๆว่า เป็นการทำให้สภาพที่เป็นอยู่จริงคือภาคพื้นดินเป็นภาคสวรรค์ตามที่จินตนาการไว้ โดยใช้กรอบระยะเวลา1ปีช่วยกำหนดว่าต้องการไปถึงสวรรค์ชั้นที่ เท่าใด แล้วมาดูว่าระดับเครือข่าย กลุ่มและสมาชิกของสวรรค์ชั้นนั้นเป็นอย่างไร? โดยใช้แบบจำลองปลาทูเป็นกรอบในการอธิบายการจัดการความรู้

วันที่ 17-19 มิ.ย. ผมไปทัวร์พื้นที่ลำปางมาโดยการนัดหมายของ       อ.อ้อมและอ.พิมพ์ (ทีมวิจัยมธ.ศูนย์ลำปาง) ที่จริงเป็นกิจกรรมถอดบทเรียนกลุ่มนำร่องที่ดำเนินโครงการวิจัยการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาองค์กรการเงินชุมชน ซึ่งพื้นที่ลำปางใช้ขบวนสวัสดิการวันละ1บาทเป็นกรณีศึกษา โดยลงลึก5กลุ่มย่อย ทีมงานเชิญอ.ดร.ทิพวัลย์ สีจันทร์เป็นวิทยากรกระบวนการ ผมถือโอกาสไปร่วมแจมด้วยในฐานะผู้ประสานงาน(คนถือกระเป๋า)

อ.อ้อมทำกำหนดการ3วันไว้ละเอียดมาก คิดว่างานนี้มือเขียนอย่าง   อ.อ้อมต้องเขียนได้เดือนนึงแน่ คงต้องรออ่านรายละเอียดจากเจ้าตัวครับ สำหรับที่ผมจะเล่า ถือเป็นการถอดบทเรียนอีกชั้นหนึ่ง โดยจะเล่าความเป็นมาในแง่มุมของผมดังนี้ครับ

โครงการวิจัยนี้ใช้แนวคิดการจัดการความรู้เพื่อลงไปพัฒนาเครือข่ายองค์กรออมทรัพย์ชุมชนจ.ลำปาง (สวัสดิการวันละบาท)โดยใช้แบบจำลองปลาทูว่ายน้ำเป็นกรอบในการวิจัย
ปลาทูคือตัวขบวนซึ่งแยกเป็น3ระดับคือเครือข่าย กลุ่มและสมาชิก กระแสน้ำคือปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวข้อง
งานวิจัยของเราพยายามใช้ความรู้ที่มีอยู่และเรียนรู้จากกันและกันเพื่อผุดบังเกิดความรู้ใหม่เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาขบวนไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยมีนักวิจัย2คนและคุณอำนวย1คนเป็นผู้รับผิดชอบโครงการในนามของมธ.ศูนย์ลำปาง โดยที่คุณอำนวยคือคุณสามารถ พุทธา   ซึ่งเป็นประธานเครือข่ายนั่นเอง

ผมเริ่มทาบทามอ.อ้อมมาร่วมโครงการเมื่อเจอกันครั้งแรกที่งานประชุมนำเสนอกรณีศึกษานโยบายสาธารณะของ มสช.ที่กรุงเทพซึ่งอ.อ้อมเป็นผู้นำเสนอกรณีศึกษาสวัสดิการวันละบาทของลำปาง โดยที่ประธานเครือข่ายคือคุณสามารถนั้นผมรู้จักมาก่อน แต่ก็ไม่คุ้นเคยนัก

ที่ผมชวนพื้นที่นี้มาร่วม โครงการวิจัยเพราะ
1)ผมเห็นว่าเป็นองค์กรการเงินที่ทำเรื่องสวัสดิการชุมชนที่น่าสนใจมาก ถือเป็นต้นแบบของขบวน
2)ผมอ่านรายงานและนั่งฟังการนำเสนอของอ.อ้อมเห็นว่ามีพื้นฐานการทำงานกับเครือข่ายและมีหน่วยก้านดีน่าจะทำงานนี้ได้ดี

การชักชวนพูดคุยเพื่อทำความรู้จักกันและทำความเข้าใจแนวคิดของโครงการซึ่งค่อนข้างใหม่ของเราใช้เวลานานมากทีเดียว กว่าจะจูนกันได้จนเป็นข้อเสนอโครงการต้องประชุมเวทีรวมจากหลายจังหวัด(ในชุดโครงการ)และลงไปทำความเข้าใจกับแกนนำเครือข่ายที่ลำปางหลายรอบทีเดียว จนเริ่มนับหนึ่งได้ในกลางเดือนมิถุนายน 2548 ด้วยกรอบวิจัยปลาทูว่ายน้ำดังกล่าว

เครือข่ายตั้งเป้าหมายว่าจะทำแผนที่ภาคสวรรค์ให้สำเร็จและขยายกลุ่มเพิ่มขึ้น แผนที่ภาคสวรรค์เป็นชื่อที่ผมตั้งให้กับโมเดลสวัสดิการวันละบาทของลำปางซึ่งทำได้อย่างครอบคลุมทั้งการพัฒนาคนและชุมชนในหลากหลายมิติ สมบูรณ์จนผมยกให้เป็นภาคสวรรค์ (ซึ่งผมได้แนวคิดนี้จาก อ.ปิยะวัติ บุญ-หลง ผอ.สกว.)

ผมอธิบายงานวิจัยจัดการความรู้ของลำปางสั้นๆว่า เป็นการทำให้สภาพที่เป็นอยู่จริงคือภาคพื้นดินเป็นภาคสวรรค์ตามที่จินตนาการไว้ โดยใช้กรอบระยะเวลา1ปีช่วยกำหนดว่าต้องการไปถึงสวรรค์ชั้นที่ เท่าใด แล้วมาดูว่าระดับเครือข่าย กลุ่มและสมาชิกของสวรรค์ชั้นนั้นเป็นอย่างไร? โดยใช้แบบจำลองปลาทูเป็นกรอบในการอธิบายการจัดการความรู้ ซึ่งเข้าใจว่าทั้งนักวิจัย คุณอำนวยและกรรมการงงๆเช่นเดียวกับตัวผมเอง
โดยที่ผมใช้วิทยายุทธจากหลายสำนักมาผสมปนเปกัน ทั้งของ อ.ชัยวัฒน์ ถิรพันธ์ซึ่งผมเป็นศิษย์ได้เรียนรู้วิชาผ่านการอบรมมาหลายคอร์สโดยการสนับสนุนของคุณหมอบัญชา พงษ์พานิช
ศิษย์ของอ.อุทัย ดุลยเกษมซึ่งบ้านพักอยู่ตรงข้ามกัน ได้เดินเล่นออกกำลังกายยามเช้าเรียนรู้จากการปุจฉา-วิสัชนากับอาจารย์ มีประเด็นสงสัยไม่เข้าใจก็ไปวิวาทะกับอาจารย์ โดยที่อาจารย์เป็นครูที่ยินดีให้ความรู้กับศิษย์ที่ใคร่รู้ทุกเมื่อทุกเวลา
เรียนรู้งานวิจัยท้องถิ่นจากอ.ปิยะวัติ บุญ-หลง  นอกจากนั้นยังมีประสบการณ์คลุกคลีอยู่ในแวดวงคนทำงานพัฒนาชุมชนภาคใต้มานานหลายปี และที่สำคัญคือ ประสบการณ์การเป็นชาวบ้านของผมตั้งแต่จบจากมหาวิทยาลัยก่อนที่จะมาทำงานที่ ม.วลัยลักษณ์
ผมจึงอธิบายงานวิจัยจัดการความรู้ตามแบบฉบับของผมเอง ซึ่งถึงบัดนี้ก็ยังไม่นิ่งนัก

(เรื่องนี้ต้องขอขอบคุณอ.สีลาภรณ์ บัวสายที่ให้โอกาสผมได้เรียนรู้จากการทำงานวิจัยชุดโครงการนี้)

 

หมายเลขบันทึก: 34765เขียนเมื่อ 20 มิถุนายน 2006 12:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มีนาคม 2012 10:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท