Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน


พระครูปลัดวีระนนท์ วีรนนฺโท : เจ้าอาวาสวัดป่าเจริญราช พระวิปัสสนาจารย์ http://www.veeranon.com/

กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ  มีสติระลึกรู้กายในกาย

ซึ่งกายมี ๒ ส่วน คือกายนอกและกายใน

 

กายใน  เรียกว่า  กายปรุงแต่งขึ้นมา

 

กายนอก  คือ  รูปกายที่นั่งอยู่ตรงนี้ ที่มองเห็นกันอยู่ ที่มีอาการเจ็บปวด ป่วยไข้

และต้องหาอะไรมาเพิ่มเติมในสิ่งที่ขาด อันนี้กายในเรียกว่า  กายหยาบ

 

กายตัวนี้องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า  เป็นรังแห่งโรค

โรคอะไรบ้าง นั่นคือสิ่งใดที่เป็นโรคก็เป็นทุกข์ สิ่งใดที่กายมีก็เกิดความทุกข์

 

ความทุกข์เหล่านั้นก็คือพยาธิเข้ามาบีบคั้น ไม่ว่าจะมีตาก็เป็นโรคทางตา ตามืด ตามัว ตาฟางฝ้า ตาบอด ตาต้อ ตาเข้ ตาแดง  ตาเหล่ นั่นคือโรคในตา

โรคอีกส่วนหนึ่งคือผมแต่ก่อนมันดกดำ สวยงาม เงาวับ แต่พอขยับไปอายุ ๓๐-๔๐ ปีบ้าง

มันก็เปลี่ยนแปลง จากผมดำกลายเป็นหลากสี มีดำผสมกับขาว เรียกว่าหงอก ผมหงอกบอกตัวแล้วว่าเฒ่า

คนเฒ่านั่งซึมเศร้า โดยคนเฒ่าคนแก่จะนั่งซึมเศร้า

เมื่อลูกหลานมาจะยกมือกำบังมองดูและร้องถามว่าใครมาหา เพราะเป็นโรคของกายนอก  คือ กายรูปร่าง

อีกส่วนหนึ่งมาสู่ที่ฟัน ฟันนี้มันก็จะแน่นและทนดีเมื่ออายุยังน้อย

แต่พอบ่ายคล้อยลงมา ๕๐-๖๐ ปี มักจะโยกคลอน  บางคนฟันหายไปหมด ฟันมันหย่อน มันไม่ตึง

แต่ส่วนที่มันตึงคือ  หู  มันตึงเพราะไม่ได้ยิน แท้ที่จริงเขาพูดถูกคือมันหย่อนยาน มันหมดสมรรถภาพ

มันจึงหย่อนยานไป ตรงนี้มันเป็นโรคของกาย

 

พอเป็นโรคของกาย มันก็เป็นโรคทางจิตวิปริตขึ้นมาด้วย  ทำให้จำเป็นต้องหาสิ่งนี้มาเพิ่มเสริมแต่ง

จึงได้เกิดโรงพยาบาลหรือ  คลินิกเสริมความงามมากมาย เพราะคนไม่อยากจะขี้เหร่

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าคนหรือสรรพสัตว์ที่เกิดขึ้นมานี้ ท่านให้พิจารณาว่าร่างกายเป็นสิ่งที่ไม่สวยไม่งาม

พอพูดดังนี้หลายคนหลายบุคคลก็อาจจะเถียงไปได้ว่า ถ้าคิดอย่างเช่นนั้นคนก็ไม่สวยไม่งาม ทำให้จิตใจห่อเหี่ยวทำให้จิตใจสลดหดหู่ อ้างว้าง หงอยเหงาได้  

แต่แท้ที่จริงแล้วคนเรานั้นมักจะหัวเราะเริงร่าหรือร้องไห้ตีอกชกตัว

 

องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่าอาการนั้นเป็นลักษณะของคนบ้า

คนบ้าคือคนขาดสติ เผลอสติ หรือไม่มีสติเลย

อยากจะทำอะไรก็ทำ อยากจะร้องเพลงก็ร้องเพลง อยากจะแก้ผ้าก็แก้ผ้าออก ทำตามสัญญาที่อยากจะทำ แต่หากเราไม่มีการควบคุมสติ เราเรียกว่า คนบ้า  หรือสติแตก

กายที่จิตใจมันบอบบาง จากการกระทบกับสิ่งที่พอใจบ้าง  หรือสิ่งที่ไม่พอใจบ้าง

สิ่งที่พอใจ คือ หัวเราะเริงร่าจนเพลินใจในมายาของสังคม มายาของโลก

ทำให้ลืมตัว จึงมีคำกล่าวว่า

หลงตัวลืมตาย  

หลงกายลืมแก่  

หลงสมบัติลืมญาติพี่น้อง  

หลงตัวเองลืมพ่อแม่  

พอถึงเวลาแย่หาพ่อแม่ไม่เจอ 

 

เราหลงอย่างไรจึงเป็นอย่างนั้น เพราะความหลงในกายว่าตัวเองแข็งแรง ไม่จำเป็นต้องเข้าวัดปฏิบัติธรรม หากคิดเช่นนั้นแล้ว จะเข้าวัดเวลาไหน เมื่อจะรอเข้าวัดตอนแก่ ร่างกายก็แย่ เพราะอะไรละ

เพราะเวลาให้เดินจงกรม ก็เดินกะโผลกกะเผลก นั่นเพราะสังขารร่างกายไม่อำนวย จึงเกิดโรคแทรกแซงทางใจ กลายเป็นคนใจน้อยหรือใจปลาซิว

พอนั่งไปสักหน่อยมันเกิดอาการปวด นั่งไปพลิกไป มันไม่ได้อดทน

นั่นคือเป็นโรคใจน้อยหรือน้อยใจ ในที่สุดเป็นโรคบ่นเพ้อในใจว่าฉันน้อยวาสนา จึงขอลากลับบ้านไปก่อน

 

เพราะอะไรจึงเป็นเช่นนั้น เพราะสติเรียกว่า สติมตํ ปสนฺเนว ชานาติ สติขาดการพัฒนา

พอสติขาดการพัฒนา ความแก่กล้าของสติก็น้อยไป มันจึงกลายเป็นโรคใจอ่อน  คือ  สติอ่อนนั่นเอง

ดังนั้น  เมื่อสติอ่อน เราจะพิจารณากายได้อย่างไร

เพราะการที่พะวงแต่กาย เราไม่ได้พิจารณากาย

การพะวงกายคืออะไร มันจะพะวงว่าฉันจะเดินไหวหรือเปล่า ฉันจะนั่งไหวหรือเปล่า

เพราะขาก็ไม่ดี เอวก็ไม่ดี ทำไมมันยังไม่พิจารณา เพราะมันพะวงกาย

การพะวงนี้ทำให้เกิดความวิตกกังวลหรือวิตกจริตแล้วตีตนไปก่อนไข้ว่า 

มันจะเป็นอย่างนั้น มันจะเป็นอย่างนี้

ตรงนี้ท่านให้พิจารณากายว่ามันเป็นของไม่สวย  ไม่งาม

กายเป็นของมูตรคูถ เป็นหลุมเหมือนกับเถ้าถ่านเพลิงที่มันจะแตกดับเวลาไหนก็ได้

เมื่อเรากำหนดไม่ได้ ท่านจึงให้พิจารณากายในกาย

เมื่อเห็นกายนอกเป็นสิ่งสกปรกเลอะเทอะไปด้วยสิ่งปฏิกูล

มองเข้าไปด้านในมีทั้งตับ ไต ไส้ พุง พังพืดต่างๆ ห้อยระโยงระยางกันอยู่ภายใน

อีกทั้งมีน้ำเหลือง น้ำหนองไหลออกตามช่องต่างๆ

มันเป็นสภาพแห่งวัตถุภายใน แต่ตัวใจของเราจะเห็นหรือเปล่า

หากใจของเราเห็นสภาวะภายใน โดยเราเอาสภาพวัตถุภายในห้อยไว้ข้างนอก

เหมือนไส้วัวไส้ควายที่เขามาวางขายตามท้องตลาด เมื่อวางไปสักพักเจ้าของตลาดหรือเจ้าของสินค้ามาไล่แมลงวัน แมลงหวี่

หากพิจารณาในตัวของเรา ถ้าไม่ได้อาบน้ำ ไม่ประแป้ง ไม่ใช้เครื่องหอมฉาบทา มันก็คงจะเหม็นเช่นเดียวกัน

เจ้าของกายก็คงถือไม้ไว้ไล่อีกา ไว้ไล่แมลงวันที่บินมาตอมหรือสุนัขที่มาแทะมากิน

เพราะของเหล่านั้นเป็นของสกปรกเป็นของเหม็น

ฉะนั้นกายนี้เป็นบ่อเกิดแห่งรังของโรค ตามที่กล่าวไปเบื้องต้นนั้นแล้ว

 

นี่คือส่วนที่เป็นกาย จึงเรียกว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน 

 

คือ  การพิจารณากายให้ละเอียดเหมือนดั่งพระ

เมื่อพระบวชใหม่ๆ พระอุปัชฌาย์จะให้พิจารณากรรมฐานว่า

 

เกศา

 

โลมา

 

นขา

 

ทันตา

 

ตโจ

 

ให้พิจารณา ผม เล็บ หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก  ว่าเป็นของไม่สวยไม่งาม

 

เพราะหากเราพิจารณาอย่างนี้เนืองๆ บ่อยๆ

เราจะไม่ประมาทไม่หลงในกาย

เราจะมีสติภาวนาดูอยู่ตลอดเวลา

 

อันนี้คือกายที่เรียกว่า  กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

 

 

ติดตามอ่านตอนต่อไปที่นี่ค่ะ

 

อิสระแห่งจิต

 

http://gotoknow.org/blog/mindfreedom

 

ขอให้เจริญในธรรมทุกท่าน

 

บุญรักษา  ธรรมคุ้มครองค่ะ

 

หมายเลขบันทึก: 347369เขียนเมื่อ 26 มีนาคม 2010 17:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 13:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขอบคุณค่ะ ได้ความรู้มากมายเลยค่ะ จะติดตามอ่านอีกนะคะ

ขอบคุณค่ะที่ติดตามอ่าน

ขอให้เจริญในธรรมนะคะ

ขอบคุณค่ะ

เจ๋งสุด ๆ ค่ะ เยี่ยมยอด เลย

ขออนุโมทนาด้วยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท