"ผีปอบ" กับ "ผู้ป่วยมะเร็ง" และ "การปฏิเสธการรักษา"


          วันนี้รู้สึกว่าชื่อบันทึกออกแนวสยองขวัญซักนิดนะคะ แล้วผีปอบจะมาเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยมะเร็งได้อย่างไร มาดูกันค่ะ
          เมื่อช่วงสายๆวันนี้เองค่ะน้องใน ward โทรมาแจ้งว่ามีผู้ป่วยหญิงรายหนึ่ง ยืนยันจะไม่ฉายแสงต่อ ไม่ตีเส้นเพิ่ม ยังไงก็จะขอกลับบ้านให้ได้เลยค่ะ ทั้งที่ฉายแสงไปได้เกือบครบคอร์สแล้ว เหลืออีกแค่ 10 ครั้งเท่านั้นค่ะ น้องใน ward คุยแล้วหลายรอบ แต่ผู้ป่วยยืนยันปฏิเสธเสียงแข็งเลยค่ะ น้องจึงส่งผู้ป่วยมาที่ OPDรังสี เพื่อ counselling ก่อนที่จะตัดสินใจเซ็นต์ไม่สมัครใจรักษาค่ะ
          ผู้ป่วยรายนี้เป็นมะเร็งโพรงหลังจมูก อายุ 43 ปี เป็นคน อ.นาแก จ.นครพนมค่ะ หนึ่งสังเกตดูแล้วผู้ป่วยมีสีหน้าเฉยมาก ตาขวางๆค่ะ ผู้ป่วยเดินมาพร้อมลูกสาววัย 18 ปี หนึ่งจึงมีโอกาสได้พูดคุยทั้งกับตัวผู้ป่วย และกับลูกสาวผู้ป่วยด้วยค่ะ
          ดูจากแฟ้มประวัติแล้วพบว่าผู้ป่วยรายนี้ใกล้จะครบการรักษาแล้วค่ะ เหลือฉายแสงอีกเพียง 10 ครั้งเท่านั้น ดูจาก clinical ที่เห็นแล้ว ผู้ป่วยรายนี้สภาพร่างกายดูดีมากๆเลยค่ะในจำนวนผู้ป่วยที่เป็นโรคเดียวกันและได้รับการฉายแสงตำแหน่งเดียวกันนี้ นับว่าผู้ป่วยรายนี้พบกับผลข้างเคียงจากการฉายแสงบริเวณศีรษะและคอเพียงเล็กน้อยเท่านั้นค่ะ จากการตรวจช่องปากผู้ป่วย พบเพีบงการเปลี่ยนแปลงของเยื่องบุกระพุ้งแก้มเป็นสีแดงจางๆ ยังไม่มีแผลเลยด้วยซ้ำค่ะ สภาพในช่องปากถือว่าดูดีมาก เยื่อบุแข็งแรงดีค่ะ การอ้าปากได้ปกติ ไม่มี trismus ผิวหนังบริเวณฉายแสงก็แทบไม่เกิดรอยถลอกเลยค่ะ พบแค่การเปลี่ยนสีเป็นคล้ำขึ้น และมีผิวแห้งเท่านั้น จากการประเมินจากร่างกายผู้ป่วยแล้ว คิดว่าไม่น่าจะเนื่องด้วยสาเหตุทนผลข้างเคียงไม่ไหวเหมือนผู้ป่วยจากบันทึกนี้นะคะ =>  "ผู้ป่วยปฏิเสธการรักษา" เพียงเพราะ "ทนกับผลข้างเคียงไม่ไหว" !!!  เมื่อพูดคุยกับผู้ป่วยเพื่อค้นหาสาเหตุของการปฏิเสธการรักษาครั้งนี้ ตัวหนึ่งเองรู้สึกว่ารายนี้คุยด้วยยากมากมายค่ะ เพราะผู้ป่วยไม่ฟัง และได้แต่ปฏิเสธอย่างเดียวเลย
          เมื่อถามถึงสาเหตุการไม่ขอฉายแสงต่อ ก็บอกว่าไม่มีสาเหตุ ไม่ได้น้อยใจใคร หมอและพยาบาลดีกับผู้ป่วยมาก ลูกหลานก็มาเฝ้า เรื่องเงินทองก็มีลูกสาวคนโตส่งเงินมาให้ ไม่ได้มีอะไรเลยค่ะ ทำให้หนึ่งยิ่งสงสัยเข้าไปใหญ่เลยว่า เอ๊ะ!! ถ้าไม่มีอะไรแล้วจะรักษาต่ออีกเพียง 10 วัน ไม่ได้เหรอ ผู้ป่วยยืนยันว่ายังไงก็จะกลับค่ะ หนึ่งใช้ทุกเทคนิคในการให้คำปรึกษา งัดกลยุทธทุกวิธีที่คิดว่าน่าจะได้ผลมาใช้ แต่ก็ยังยืนยันขอกลับค่ะ ใจแข็งมากๆ ในขณะที่พูดคุยกัน ผู้ป่วยไม่สบตากับหนึ่งเลยค่ะ และลูกสาวก็ไม่ค่อยพูดค่ะ หนึ่งได้อธิบายผลดี ผลเสีย ของการรักษาต่อกับไม่รักษาต่อ เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้ป่วยและญาติตัดสินใจอีกครั้ง แต่ยังไงผู้ป่วยก็ยังยืนยันค่ะ และไม่มีเหตุผลของการตัดสินใจครั้งนี้ มีช่วงนึงในขณะที่กำลังชวนผู้ป่วยและญาติคุยอยู่นั้น หนึ่งแซวผู้ป่วยไปเล่นๆว่า "เวลาคุยกันเราต้องสบตากันสิ ถ้าไม่สบตากันแบบนี้ จะเหมือน"ปอบ"อพาร์ทเม้น นะคะ" แหะๆ แซวเล่นๆ เพื่อผ่อนคลายบรรยากาศค่ะ แต่ปรากฏว่า ลูกสาวผู้ป่วยที่ไม่ค่อยพูด กลับกลายมาพูดเยอะอย่างพรั่งพรูเลยค่ะเล่าเหรื่องตอนที่พาผู้ป่วยไปหาหมอผีไล่ผีปอบ รวมทั้งผู้ป่วยเองด้วย ที่ตอนแรก พูดเป็นคำเดียวคืออยากกลับบ้านไม่ฉายแสงต่อแล้ว เท่านั้นค่ะ
ได้ความว่า
          ผู้ป่วยบอกว่าตอนมารักษาที่นี่ ผู้ป่วยโดนปอบเข้าสิงค่ะ แถวบ้านผู้ป่วยมีปอบอาศัยอยู่ และคนในครอบครัวผู้ป่วยเสียชีวิตเพราะโดนปอบกินไปแล้ว สามรายค่ะ เป็นพี่สาว น้องชาย และญาติผู้ป่วย
แหะๆ รูปประกอบ ขอเป็น"ปอบ"เวอร์ชั่นน่ารักๆนะคะ
หนึ่งถามผู้ป่วยว่าแล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าโดนปอบเข้าสิง ผู้ป่วยบอกว่า ปอบจะเข้าสิงคนที่ป่วย คนแข็งแรงดีปอบจะเข้าสิงไม่ได้ เมื่อผู้ป่วยมีอาการแรกๆ ปอบจึงเข้าสิงมาตั้งแต่นั้น
และในช่วงที่รักษาที่ศูนย์มะเร็งฯนั้น วันเสาร์อาทิตย์ที่ไม่ได้ฉายแสงญาติๆผู้ป่วยมารับผู้ป่วยขออนุญาติคุณหมอพาผู้ป่วยกลับไปเยี่ยมบ้าน ผู้ป่วยบอกว่าตอนกลับไปผู้ป่วยไปหาหมอผี เพื่อไล่ผีปอบค่ะ หมอผีทำพิธีไล่ผีปอบ คล้ายๆที่เห็นในรายการต่างๆค่ะ แล้วก็มีการอาบน้ำมนต์ ใช้มีดหมอจี้ลงบนฝ่าเท้า ประมาณนี้ หลังจากนั้นผู้ป่วยกลับมาฉายแสงต่อ และมั่นใจว่าผีปอบออกไปแล้ว โดยมีคำพูดของหมอผีบอกผู้ป่วยเรื่องการรักษาว่า กลับมาฉายแสงต่อจนครบ 24 ครั้ง (เน้นว่าแค่ 24 ครั้งเท่านั้น) แล้วให้กลับบ้านทันที กลับไปเพื่อพาหมอผีไปทำพิธีไล่ผีปอบที่บ้านอีกครั้ง โดยผู้ป่วยมั่นใจว่าอาการจะดีขึ้น และด้วยความเชื่ออันแรงกล้านี้ ทำให้พยาบาลตัวน้อยๆอย่างหนึ่งทราบในทันทีว่า ครั้งนี้หนึ่งคงไม่สามารถช่วยให้ผู้ป่วยรับการรักษาต่อไปได้อีกค่ะ เพราะสังเกตดูจากสีหน้า แววตาของทั้งผู้ป่วย และลูกสาวขณะที่เล่าเรื่องผีปอบให้หนึ่งฟังนั้น ในตอนแรกผู้ป่วยไม่ค่อยกล้าเล่าและไม่พูดถึงเลยค่ะ เพราะคิดว่าพยาบาลคงไม่เชื่อและจะต่อว่าผู้ป่วย แต่เมื่อรับฟังอย่างตั้งใจ และเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยและญาติเล่าให้ฟังโดยที่ไม่พูดดัก หรือตำหนิ หรือท้วงติงใดๆ แต่ก็ไม่ได้เสิรม เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยนะคะ ขณะที่เล่าไป ผู้ป่วยและญาติเริ่มมีสีหน้าแสดงอารมณ์ต่างๆตามเรื่องที่กำลังเล่า และมีการสบตาโดยหนึ่งไม่ต้องกระตุ้นด้วย อิอิ เป็นการพูดคุยอย่างผ่อนคลายมาก เมื่อพูดถึงเรื่องกลับบ้านที่ต้องกลับครั้งนี้ ผู้ป่วยมีสีหน้ามุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวจริงๆค่ะ ยังไงก็ต้องกลับให้ได้ เมื่อหนึ่งบอกผู้ป่วยว่าผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้หลังจากรายงานคุณหมอแล้วนั้น ผู้ป่วยยิ้มและแววตามีความสุขมากที่ได้กลับบ้านทันเวลาค่ะ และเมื่อหนึ่งแนะนำการปฏิบัติตัวเมื่อกลับไปอยู่ที่บ้านแล้ว ผู้ป่วยยังบอกหนึ่งอีกว่าถ้ามะเร็งกลับขึ้นมาใหม่ จะกลับมาหาคุณหมออีก พูดด้วยรอยยิ้ม ซึ่งตอนแรกที่คุยกันหนึ่งแทบไม่เห็นรอยยิ้มนี้เลยค่ะ

 

          จะเห็นได้ว่า "ความเชื่อ" ของผู้ป่วยและญาติมีผลอย่างมากต่อแผนการรักษาในปัจจุบัน ดังนั้นเราไม่ควรละเลยในเรื่องนี้ค่ะ อย่างผู้ป่วยรายนี้ ความเชื่อเรื่องปอบ ส่งผลให้ผู้ป่วยมารับการรักษาในตอนแรก(ผู้ป่วยบอกว่าตอนแรกที่รู้ว่าเป็นมะเร็งใหม่ๆ อาการไม่ดีเลย มีก้อนโตขึ้นที่ข้างลำคอ หายใจไม่สะดวก ปวดมาก) ระหว่างมารับการรักษาผู้ป่วยอาการดีขึ้นมาก ก้อนยุบลงจนหมดไม่เห็นรอย หายใจสะดวกขึ้น ทำให้ผู้ป่วยเข้าใจว่าหายแล้ว (ความเข้าใจของผู้ป่วยคือหายเพราะทำตามที่หมอผีบอก) แต่รับการรักษาไม่ครบตามแผนการรักษาของแพทย์ เพราะความเชื่อที่หมอผีบอกมาว่าต้องฉาย 24 ครั้งเท่านั้น หนึ่งมองว่า นี่อาจเป็นแค่กรณีนึงในอีกหลายๆกรณีที่ผู้ป่วยมีความเชื่อเกี่ยวกับโรคที่เป็น หรือความเชื่อที่มีผลต่อการรักษา หากได้มีโอกาสคุยกับผู้ป่วยจะต้องคอยเตือนตัวเองเสมอว่า ต้องไม่ลืมที่จะให้ความสำคัญกับเรื่องความแตกต่างทางวัฒนธรรมและความเชื่อของแต่ละคน 

 

          ถึงแม้ว่าหนึ่งจะไม่สามารถช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาได้ครบตามแผนการรักษา แต่หนึ่งก็คิดว่า ไม่ใช่การล้มเหลวค่ะ อย่างน้อยหนึ่งก็ได้เห็นรอยยิ้มอย่างมีความสุขจากใบหน้าของผู้ป่วยและลูกสาวผู้ป่วย หนึ่งลองมาคิดดูอีกที บางทีหากหนึ่งสามารถทำให้ผู้ป่วยอยู่รักษาให้ครบได้ แต่หากผู้ป่วยอยู่ฉายแสงต่อจนครบโดยไม่มีความสุข เป็นทุกข์ตลอดเวลา เพราะใจของผู้ป่วยกังวลตลอด และได้ลอยกลับไปถึงบ้านซะแล้วนั้น ก็คงไม่ดีเป็นแน่ค่ะ ในคนหนึ่งคนไม่ได้มีเพียงแค่ร่างกายเท่านั้นที่คือชีวิต แต่ยังมีส่วนประกอบอื่นๆอีกหลายๆส่วนด้วยกัน ซึ่งบางคนนั้นได้ให้น้ำหนัก "ความเชื่อ" เยอะกว่าด้านอื่นๆ ลองมาคิดดูแล้ว เราเองยังขาดสิ่งนี้ไม่ได้เลย จริงมั้ยคะ มันคือความสุขใจ ความมั่นคงในจิตใจ ไม่มีใครบอกได้ว่าสิ่งนั้นถูกหรือไม่ หนึ่งเชื่อว่าหากเรามีชีวิตอยู่อย่างมีความสุข ถึงแม้จะมีมะเร็งอยู่กับตัวเราถ้าต้องอยู่กับมะเร็งไปตลอด เราก็ยังคงมีความสุขอยู่นั่นเองค่ะ

 

          เรื่องนี้หนึ่งมองว่าน่าจะใช้คอนเซป Transcultural Nursing Concept ได้ คือการพยาบาลข้ามวัฒนธรรม มีกรณีตัวอย่างให้เห็นมากมายเลยค่ะที่บางครั้งแพทย์พยาบาลอาจหลงลืมที่จะให้ความสำคัญในเรื่องนี้ไปบ้าง  คอนเซปนี้มองว่า ผู้ป่วยแต่ละคนมาจากหลายหลายวัฒนธรรม หลากหลายความเชื่อ ดังนั้น หากเราสามารถให้การดูแลรักษาโดยสอดคล้องไปกับวัฒนธรรม ความเชื่อของผู้ป่วยแต่ละคนได้โดยที่ไม่ขัดกับแผนการรักษานั้น ก็จะช่วยส่งเสริมให้ผู้ป่วยให้ความร่วมมือในการรักษาด้วยความเต็มใจค่ะ

 

         มีตัวอย่างจากซีรี่ย์เรื่อง เกร์ อะนาโตมี (จำได้คร่าวๆว่า) ในฉากนั้นมีผู้ป่วยเป็นชาวเอเชีย อายุเท่าไหร่จำไม่ได้ ยังอยู่ในวัยรุ่นที่บรรลุนิติภาวะแล้ว ป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับกระดูกทับเส้นประสาท ซึ่งต้องรีบทำการผ่าตัดภายใน 24 ชั่วโมงจึงจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาเดินได้ตามปกติ หมอได้อธิบายผู้ป่วยถึงความจำเป็นต้องรีบรักษาโดยด่วน แต่พ่อของผู้ป่วยไม่ยอมให้ผ่าตัด เพราะเป็นความเชื่อของชนเผ่าของเค้า ว่าต้องไปทำพิธีโดยหมอผีประจำหมู่บ้านก่อนที่จะรับการผ่าตัด ไม่งั้นผู้ป่วยจะไม่ฟื้นจากการผ่าตัด หมอได้ถามผู้ป่วยเพราะต้องการให้ผู้ป่วยตัดสินใจเอง (หมอบอกว่าผู้ป่วยบรรลุนิติภาวะแล้ว หากพ่อแม่ไม่ยินยอมแต่ผู้ป่วยยินยอม ก็จะสามารถผ่าตัดได้) แต่ผู้ป่วยเชื่อพ่อ และขอให้ทำตามที่พ่อบอก ซึ่งการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่มีรอยโรคที่กระดูกสันหลังไปให้หมอผีทำพิธีนั้น คงไม่ดีเป็นแน่ ดังนั้นจึงม่การพูดคุยและตอรองระหว่างหมอ กับ พ่อของผู้ป่วย และข้อสรุปร่วมกันที่ได้คือไปรับหมอผีมาทำพิธีที่โรงพยาบาลค่ะ จึงมีการประสานขอความช่วยเหลือโดยส่งค๊อปเตอร์ไปรับหมอผีประจำหมู่บ้าน (เพราะหากเดินทางมาทางปกติจะต้องใช้เวลาเกิน 24 ชั่วโมง) มาทำพิธีให้ที่โรงพยาบาลและเข้ารับการรักษาได้ทันเวลาค่ะ

 

ขอขอบคุณ
- ผู้ป่วยและญาติที่อนุญาตให้นำเรื่องมาเขียนบันทึกได้ค่ะ
- ทุกๆท่านที่เข้ามาอ่าน
- หนึ่งคิดว่ามีหลายๆท่านที่เคยเจอเหตุการณ์คล้ายๆกันแบบนี้ หากมีเทคนิควิธีการที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยแล้วได้ผล หรือมีประสบการณ์อะไรที่แตกต่างหรือคล้ายๆกันนี้สามารถแลกเปลี่ยน และเสนอแนะได้เลยค่ะ ขอขอบคุณทุกๆความคิดเห็น ทุกๆคำแนะนำ ค่ะ ^^
หมายเลขบันทึก: 346931เขียนเมื่อ 24 มีนาคม 2010 23:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 20:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (34)

สวัสดี ปอปฮานะ อุ้ยม่ายช่าย หมอฮานะ

เก่งจังเลยคุณหมอเราคุยกับปอปก้ได้ด้วย ส่งสัยไม่ได้เรียนเฉพาะวิทยาศาสตร์อย่างเดียว ไสยาศาสตร์ก็เรียนด้วยครบเครื่องจริงๆ เอ...หรือว่าเป็นเจ้าแม่ปอป ปอปเลยกลัว

สวัสดีค่ะคุณหม่อมนักบิณ

แหะๆๆ โดนแซวเลย ^^

ขอบคุณที่แวะมาทักทายนะคะ

ปล.ชื่อปอบHana ก็น่ารักดีนะคะ 555

ความเข้าใจความแตกต่างทางวัฒนธรรม

ความเชื่อ นี่เป็นเรื่องที่จำเป็นเลยนะครับ

ปล. ปอป โมเอะจัง ^^'

สวัสดีค่ะคุณyaininja

ใช่แล้วค่ะ ความแตกต่างทางวัฒนธรรม ความเชื่อ มีความสำคัญและส่งผลต่อสุขภาพและการรักษาอย่างมากเลยค่ะ

ขอบคุณที่แวะมาทักทายนะคะ

สวัสดีค่ะ พี่ฮานะ

แวะมาทักทายยามเย็นค่ะ

วันนี้ อุดรเป็นไงบ้างคะ ขอนแก่นอากาศดีมากเลย

วันนี้โซลเลยนอน เกือบทั้งวัน ตอนกลางคืนเป็นนกฮูก อิอิ

แต่ละที่ ย่อมมีความเชื่อแต่ละท้องถิ่นค่ะ โซลว่า อย่างพี่ฮานะ

คงเจอผู้ป่วยจากหลายที่ หลายวัฒนธรรม แต่พี่ฮานะก็เก่งค่ะ

สามารถยอมรับ แล้วทำความเข้าใจ กับผู้ป่วยแต่ละคน อิอิ

บุญรักษาค่ะ ^^

สวัสดีค่ะน้องโซล

ชือจริงพี่ก็มีความหมายว่า Soul เหมือนกันค่ะ ^^ (สุวิญญา มาจากสองคำ สุ+วิญญา(ณ) ความหมายคือ the best soul อิอิ)

วันนี้ที่อุดรอากาศเย็นๆ แต่ห้อง conference วันนี้หนาวแทบเป็นน้ำแข็งแน่ะค่ะน้องโซล

อิจฉาคนได้นอนกลางวันจัง >_< ช่วงบ่ายพี่ล่ะง๊วงงง ... ง่วงงงงง อิอิ

ขอบคุณที่แวะมาให้กำลังใจนะคะ

ความเชื่อ มีอิทธิพลต่อชาวบ้านมากคะ ต้องให้ความรู้เขาอีกเยอะๆคะ

แต่ไม่คิดว่าสมัยนี้จะมีให้เห็นจริงๆ .... พี่หมอฮานะไม่กลัวปอบหรอคะ ฮ่าๆๆ

ยังไงก็เป็นกำลังใจให้ทั้งคุณหมอและผู้ป่วยนะคะ

สวัสดีค่ะน้องεöз. . . NinG-WerN . . .εöз

กลัวสิค้า แหมๆๆๆ...เรื่องพวกนี้เค้าว่า ไม่เชื่อ อย่าลบหลู่ แหะๆ

แต่เรื่องของปอบนี่ พี่คิดว่าที่น่ากลัวยิ่งกว่าคือ เวลาที่เค้าไล่ผีปอบออกจากผู้ป่วย แล้ว เห็นผู้ป่วยบอกว่าหมอผีเค้าจะบังคับถามปอบว่าเป็นใครมาจากไหน

และถ้าผู้ป่วยเอ่ยชื่อใคร หรือบอกลักษณะของใครซักคนนึงในหมู่บ้านนั้นออกมาแล้วละก็

คนๆนั้นก็จะกลายเป็นผีปอบตัวจริงในความคิดของชาวบ้านเลยล่ะค่า

พี่เลยมาคิดดู ถ้าบังเอิญ เอ่ยชื่อออกมาว่าเป็นพี่เนี่ย คงแย่แน่ๆเลย แหะๆๆ กลายเป็นปอบไปไม่รู้ตัว ว้าๆๆๆ

เรื่องความเชื่อเนี่ยว่าไม่ได้จริงๆค่ะ บางคนเขาเชื่อของเขามาอย่างนั้นแล้วเปลี่ยนกันไม่ได้ง่าย

ทางที่ดีหาวิธีที่ทำให้ win win ทั้ง 2 ฝ่ายค่ะ ประณีประนอมบ้างก่อให้เกิดผลค่ะ

ขอบคุณเรื่องราวดีๆ ว่าแต่จริงๆแล้ว ปอป มันมีจริงไหม๊คะเนี่ย ^^ ปอปจะมาหาเมื่อจิตใจเราอ่อนแอมากกว่านะคะ

สวัสดีค่ะน้องOrn

ใช่แล้วค่ะ การที่เราจะไปเปลี่ยนความเชื่อของใครเนี่ย เป็นอะไรที่ยากแสนจะยากเลยล่ะค่ะ

ขนาดจะเปลี่ยนความเชื่อของตัวเราเองยังยากเลยจริงป่ะคะ

แหะๆ ไม่รู้มีจริงหรือไม่จริง แต่ความเชื่อที่ว่านี้มันมีอยู่จริงจ้า ^^

ขอบคุณที่แวะมาทักทายนะคะน้องOrn (น้องอร ใช่ป่าวคะ ^^)

การรักษาไม่ครบคอร์ส มีผลอย่างไรคะ

มะเร็งที่โพรงจมูก มีโอกาสหายขาดเท่าไร

สวัสดีค่ะคุณครูป.1

มะเร็งโพรงหลังจมูกและมะเร็งอื่นๆ หากพบในระยะเริ่มต้น และได้รับการรักษาครบคอร์ส (ไม่ได้หมายความถึงรังสีรักษาเพียงอย่างเดีวนะคะ หมายรวมถึงการผ่าตัดและให้เคมบำบัดร่วมด้วยค่ะ) มีโอกาสหายขาดได้ค่ะ

มะเร็งโพรงหลังจมูกโดยทั่วไปอัตราการรอดชีวิต 5 ปี (5 year over all survival) หลังรักษาด้วยการฉายรังสีอย่างเดียว จะอยู่ระหว่าง 30% -50% และมีอัตราการปลอดโรค (disease-free survival) ประมาณ 35% ทั้งนี้ขึ้นกับการลุกลามของมะเร็งปฐมภูมิ (T-stage) และการแพร่กระจายสู่ต่อมน้ำเหลือง (N-stage) นอกจากนั้นยังขึ้นกับชนิดของเซลล์ อายุและเพศของผู้ป่วย

การรักษาด้วยรังสีไม่ครบคอร์สมีผลต่อการกลับเปนซ้ำของโรค หรือการแพร่กระจายของโรค

การกำเริบของโรคเฉพาะที่ของผู้ป่วยมะเร็งหลังโพรงจมูกเซ่งกิดขึ้นได้บ่อย ในช่วง 3 ปีแรกหลังการรักษา

แต่อาจเกิดขึ้นได้หลังรักษาเกินกว่า 5 ปี แล้วก็ตาม การกำเริบของโรคเฉพาะที่สัมพันธ์กับปริมาณของรังสีที่ใช้ และเกิดขึ้นได้ประมาณ 15% - 54%ของผู้ป่วย ส่วนการแพร่กระจายของโรคทางกระแสโลหิต พบได้ 20% - 35%.

แต่การตอบสนองต่อการรักษาของผู้ป่วยแต่ละคนมีความแตกต่างกันค่ะ นี่เป็นเพียงสถิติที่เกิดขึ้นเท่านั้นค่ะ

หากผู้ป่วยมีกำลังใจที่ดี อยู่ในสิงแวดล้อมดี รับประทานอาหารที่ดีและเพียงพอ มีอารมณ์สดใส ไม่เครียด ทุกๆอย่างจะช่วยทำให้ร่างกายหลั่งสารดีๆออกมาช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกายต่อสู้กับโรคภัยได้ค่ะ

หนึ่งมองว่าคุณภาพชีวิตหลังการรักษาเป็นสิ่งสำคัญยิ่งกว่า หากเรามุ่งแต่รักษาโดยที่ไม่สนใจใดๆ เมื่อรักษาครบคอร์สแล้ว หลังจากนั้นผู้ป่วยอาจมีชีวิตอยู่โดยปราศจากมะเร็งก็จริง แต่ต้องใช้ชีวิตที่เหลือด้วยความทุกข์ทรมานจากผลข้างเคียงของการรักษา หรือจากจิตใจที่ถูกบังคับให้รักษา ก็คงไม่ดีเป็นแน่ค่ะ

ขอบคุณพี่ครูป.1 ที่ให้ความสนใจนะคะ หนึ่งยังจำได้ว่ายังค้างข้อมูลเรื่องผลข้างเคียงของการรักษาไว้อีกอย่างด้วย

ขอปั่น thesis ส่งอาจารย์รอบนี้เสร็จแล้วจะรีบมาเขียนบันทึกเรื่องนี้ต่อไปค่ะ ขอบคุณมากค่ะ ^^

สวัสดีค่ะพี่หนึ่ง

เมื่อวานแป้งก็เพิ่งกลับมากจากอุดรเองค่ะ ^_^

เคสของพี่หนึ่งนี่เป็นเคสที่น่าสนใจมากๆเลยนะค่ะ

แป้งกำลังคิดว่า ถ้าคนที่อยู่ตรงนั้นไม่ใช่พี่หนึ่งแล้วได้รับฟังแบบนั้น

แล้วเกิดอาการต่อต้าน อาจจะทำให้คนไข้ไม่เข้ามาทำการรักษาที่นี่อีกเลยก็เป็นไปได้นะค่ะ

ดังนั้นแป้งว่าสิ่งที่สำคัญจริงๆน่าจะเป็นการรับฟังนะค่ะ

พี่หนึ่ง นี่สุดยอดจริงๆค่ะ

ขอบคุณมากๆค่ะ

ปล. อากิ๋มแป้งก็เป็นมะเร็งปากมดลูกระยะที่ 3 ค่ะ

ตอนที่ฉายแสงนั้น เกิดอาการข้างเคียงค่อนข้างมากค่ะ

แต่เพราะได้กำลังใจจากคนรอบข้าง

ตอนนี้ท่านกลับมาอยู่ที่บ้านและใช้ชีวิตอย่างปกติ

อีกทั้งยังไปไหนมาไหนได้อย่างใจคิดอีกด้วยนะค่ะ

<<ขอบคุณอีกครั้งค่ะ>>

สวัสดีค่ะน้องแป้ง

ขอบคุณมากค่ะ การรับฟังเป็นสิ่งที่บางครั้งพยาบาลอย่างพี่เองก็หลงลืมไปเหมือนกันค่ะ

อิอิ เคยมีคนกล่าวไว้ว่า พยาบาลส่วนมากจะมีแต่พูดๆๆๆ แนะนำผู้ป่วย แต่ลืมที่จะฟังค่ะ >o<

นั่นอาจเป็นเพราะ พยาบาลส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง อิอิ เป็นธรรมชาติของผู้หญิงค่ะที่จะพูดเยอะหน่อย

และอาจเนื่องด้วยภาระงานเยอะ จำนวนผู้ป่วยมีมากจนบางครั้งเราเองก็อาจให้เวลากับผู้ป่วยแต่ละรายได้ไม่เต็มที่ค่ะ

แต่เดี๋ยวนี้เราจะรับฟังผู้ป่วยมากขึ้น โดยจัดให้มีห้องให้คำปรึกษาสำหรับผู้ป่วยกรณีที่พยาบาลหรือแพทย์ประเมินเบื้องต้นแล้วว่า

ควรส่งห้องให้คำปรึกษาเป็นกรณีไปค่ะ

ปล.ยินดีกับอากิ๋มของน้องแป้งและครอบครัวด้วยนะคะ ดีใจจังที่ได้ยินว่าผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขอีกครั้งค่ะ ^^

ขอบคุณมากค่ะ

  • ชื่นชมน้องหนึ่งกับการดูแลที่ให้กับผู้ป่วย
  • เรื่องเล่าน่าสนใจน่าติดตามอ่านค่ะ
  • ขอบคุณที่แวะไปเยี่ยมพี่เกดนะคะ
  • สนใจ "วิกผมสวยน้องหนึ่ง" มีโอกาสเป็นไปได้ค่ะ

 

เป็นพยาบาลมืออาชีพจริงๆนะเนี่ย.. เยี่ยม^^

สวัสดีค่ะพี่เกด

ขอบคุณที่แวะมาทักทายค่ะ ^^

"เรื่องวิกผมสวย" ดีใจมากๆเลยค่ะพี่เกด ถ้ามีโอกาสเป็นไปได้

ตอนนี้หนึ่งมีผมที่เพื่อนตัดไว้เพื่อมาบริจาคทำวิกผมอยู่ 2 มัดค่ะ

(ผมเด็ก 1 มัด และผมผู้ใหญ่อีก 1 มัด)

สวัสดีค่ะพี่สิฐ

หายไปน๊าน..นาน เลยนะคะ สบายดีป่าวคะ

แหมๆๆ ไม่ขนาดนั้นอ่ะค่า

อขบคุณที่แวะมาทักทายและให้กำลังใจค่ะ ^^

สวัสดีหมอฮานะ

ช่วงนี้เครียดจังเลย ไม่ได้แซวหมอฮานะ เผอิญว่างานเข้า เสร็จงานจะมาแซวให้หายคีดถึงเลย ไปละ

สวัสดีหมอฮานะ

a สังสัยมานานเห็นหมอฮานะพูดถึงแต่คุณสาม แล้วน้องสองกับสี่ไปไหนละ ไม่เห็นพูดถึงเลยน่ารักเหมือนกันหมดทุกคนไหม อยากเห็น

สวัสดีค่ะ

แวะมาอ่านเรื่องราว

พร้อมกับเรียนรู้นะคะ

ขอบคุณมากค่ะ^__^

สวัสดีค่ะคุณหม่อมนักบิณ

หนึ่งไม่ได้เข้ามาหลายวันค่ะ เพราะไปประชุมที่จุฬาฯ ค่ะ

ถามหาสองและสี่ จะมีน้องสองนะคะ เป็นผู้ชายค่ะ วิศวกรหนุ่ม อิอิ

ส่วนสามที่หนึ่งพูดถึงบ่อยๆก็เป็นบล๊อคเกอร์ใน G2K นี่เหมือนกันค่ะ

ถ้าได้อ่านบันทึกทริปเก่าๆของหนึ่งก็จะมีรูปสามในนั้นด้วยค่ะ

ส่วนสี่ไม่มีค่ะ เพราะมีพี่น้องสามคนค่ะ

ขอบคุณที่แวะมาทักทายค่ะ

สวัสดีค่ะน้องต้นเฟิร์น

ยินดีค่ะ ขอบคุณที่แวะมาทักทายนะคะ ^^

สวัสดีค่ะ

คิดถึงมากๆ นะคะ

สวัสดีค่ะพี่ครูอรวรรณ

คิดถึ้งงงงงงงงคิดถึงพี่ครูอรวรรณมากๆค่ะ ^^

เห็นพี่ครูเงียบไปหลายวันเลย เดาว่าคงงานยุ่งมากๆแน่ๆ

สู้ๆนะคะ

หนึ่งตามไปเยี่ยมตลาดสดในบ้านพี่ครูมาแล้วค่า ชอบจักรยานน้ำจังเลยค่ะ อิอิ

ขอชื่นชมครับ

ปัญหาทุกอย่างล้วนอยู่ที่ตัวเราทั้งสิ้น

ยินดีกับสิ่งที่ได้มา และยอมรับกับสิ่งที่เสียไป

หลังพายุผ่านไป ฟ้าย่อมสดใสเสมอ

มีแต่วันนี้ที่มีค่า ไม่มีวันหน้า วันหลัง ..

สวัสดีหมอฮานะ

"มื้อแล้งว่างบ่อจะขอพ้อหน้าจังหน่อย" อันนี้เพลงเขาร้อง แต่อันนี้ "ว่างแล้วแม่นบ่อ ขอแซวสักบาทได้บ่อ" ว้า ไม่มีสี่ แล้วจะเป็นสี่ยอดกุมารหารกล้าคลี คทา จักร สังข์ได้ไง แล้วจะไปปราบปอบได้หรือ ช่วงนี้ยิ่งอากาศร้อนตับแลบ ปอบยิ่งชอบตับอยู่ ตับมันแลบออกมาล่อปลอบ ซะด้วย

สวัสดีค่ะคุณราชิต สุพร

ขอบคุณที่แวะมาทักทายและให้กำลังใจค่ะ ^^

สวัสดีค่ะท่านอาจารย์กู้เกียรติ

อิอิ ผี"ปอบ"=>น่ากลัว แต่ถ้า"ป(ล)อบ" (ขวัญให้กำลังใจ) นี่สิ =>น่ารักค่ะ ^^

ปล.อาจารย์เปลี่ยนรูปใหม่ หนึ่งจำเกือบไม่ได้เลยค่ะ ^^

น้องหนึ่งครับ เจอปลอบรูปน่ารักเลยไม่น่ากลัวเลย เรื่องความเชื่อมีผลต่อการรักษาจริงๆๆด้วย แถวๆๆบ้านชาวบ้านมีความเชื่อเรื่องฝีเข้า แต่จริงๆๆป่วย บางทีบุคลากรทางแพทย์ ก็ทำใจลำบากเหมือนกันนะครับ สบายดีไหม ตอนนี้อยู่มหาวิทยาลัยสงฆ์ ไม่กลัวปลอบ ฮ่าๆๆๆๆๆๆๆๆๆ

น้องหนึ่ง ฮามากคู่แข่งมะหมี่ ชื่อมะม่วง ฮ่าๆๆๆๆๆ

สวัสดีค่ะอาจารย์ขจิต

ไม่เจอหลายวันคิดถึงจังเลยค่ะ อิอิ

คือจริงๆแล้วหนึ่งมองว่าถ้าความเชื่อไม่ได้ทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ

ก็น่าจะสามารถเป็นอีกสิ่งที่จะช่วยผู้ป่วยในด้านกำลังใจ ทางด้านจิตวิญญาณได้อย่างดีทีเดียวค่ะ

แต่ถ้าความเชื่อนั้นก่อให้เกิดผลเสียก็จะเป็นสิ่งที่ยากลำบากในการปรับเปลี่ยนความเชื่อของผู้ป่วยจริงๆ

ต้องพยายามค้นหาวิธีกันต่อไปค่ะ ^^

อาจารย์ขจิตเดินสายอีกแล้วเหรอคะ ไปอยู่ที่มหาวิทยาลัยสงฆ์เลยไม่กลัวปอบเหรอคะ อิอิ

ปล.รูปน้องมะม่วงคู่แข่งมะหมี่เนี่ย ออกจาเซ็กซี่อ่ะค่า 555

สวัสดีค่ะคุณหม่อมนักบิณ

อิอิ ผีปอบชอบกินตับไตไส้พุง แต่ไม่แน่ใจว่าเค้าจาชอบกินตับแลบรึเปล่าอ่ะค่า 555

ขอบคุณที่แวะมาทักทายค่า

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท