การปลูกข้าวโพดฝักอ่อนโดยใช้ระบบน้ำสปิงเกอร์ของชาวห้วยคตอุทัยธานี


การปลูกข้าวโพดฝักอ่อนโดยใช้ระบบน้ำสปิงเกอร์ของชาวห้วยคตอุทัยธานี

การปลูกข้าวโพดฝักอ่อนโดยใช้ระบบน้ำสปิงเกอร์

 บุคคลให้ข้อมูล

นางนา    ทับกรุง

บ้านเลขที่   55  หมู่  11  ตำบลสุขฤทัย  อำเภอห้วยคต   จังหวัดอุทัยธานี

จำนวนเนื้อที่ปลูก  6 ไร่  (แบ่งเป็น  4  รุ่น   แปลงละ 1.5 ไร่)

เบอร์โทรศัพท์  081 -8064731

 ความเป็นมา

                นางนา   ทับกรุง  อดีตเป็นเกษตรกรที่ปลูกผักส่งขาย  ไม่ว่าจะเป็น  ถั่ว  มะเขือ  คะน้าหลังจากที่ได้ไปฟังโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดฝักอ่อนที่องค์การบริหารบ้านใหม่คลองเคียน  ทำให้เกิดความสนใจกับพืชชนิดใหม่นี้  โดยเห็นข้อดีของการปลูกข้าวโพดฝักอ่อนตรงที่ ไม่ต้องฉีดยาฆ่าแมลง  ทำให้ปลอดภัยจากสารพิษสำหรับตัวเอง ซึ่งต่างจากการปลูกผัก ที่ต้องคอยดูแลอย่างมาก  ทั้งโรคและแมลงศัตรูพืชก็มีมาก ต้องคอยฉีดยาฆ่าแมลงไม่เว้นแต่ละอาทิตย์  ทำให้สุขภาพไม่ค่อยดี ปลูกข้าวโพดฝักอ่อนคิดว่าง่ายกว่าการปลูกผักเยอะ หลังจากที่ได้ฟังการแนะนำจากเจ้าหน้าที่เกษตร และเจ้าหน้าที่จากทางบริษัท  ก็ตกลงใจลงชื่อเพื่อเป็นแปลงทดลองสาธิตการปลูกข้าวโพดฝักอ่อน  ซึ่งในตำบลสุขฤทัยมีเพียง  2  คนที่ไปฟังและร่วมลงชื่อ  เนื่องจากเป็นพื้นที่ต่างเขตกัน  แต่ก็ยังอยากทดลองเปลี่ยนการปลูกพืช  เพราะคิดว่า  อย่างไรก็คงจะไม่ขาดทุนแน่นอน  และจะพยายามลดต้นทุนด้วยการทดลองใช้ปุ๋ยชีวภาพ  และระบบน้ำสปิงเกอร์ที่มีอยู่แล้วจากการทำสวนผักน่าจะช่วยลดต้นทุนและง่ายต่อการให้น้ำข้าวโพดมายิ่งขึ้น  ทั้งยังได้การแนะนำดูแลจากเจ้าหน้าที่เกษตร และเจ้าหน้าที่บริษัท มาคอยดูแลยิ่งทำให้มั่นใจยิ่งขึ้น

 ขั้นตอนการปลูก

1. ไถ   2  รอบ  แล้วยกร่อง

2.  หว่านปุ๋ยคอก  แล้วไถด้วยรถไถมือแถกไปตามร่องอีกครั้ง

3.  ใช้คนหยอดเมล็ด โดยหยอดตามรถไถที่ไถแถกท้องร่อง   1  ร่องปลูก 2  แถว หยอดตรงข้างๆ ร่องประมาณ  ร่องละ 1-2 เมล็ด  หลังจากหยอดเมล็ดเสร็จ  ให้น้ำทันที  และฉีดยาคุมตาม

4.  เมื่อข้าวโพดอายุ  15  วัน  ใส่ปุ๋ยสูตร  15-15-15  หรือใช้ปุ๋ยสูตรไหนก็ได้

5.  เมื่อข้าวโพดอายุ  35-40  วัน  ใส่ปุ๋ยยูเรีย

6.  ให้น้ำประมาณ อาทิตย์ละครั้ง  โดยใช้สปิงเกอร์ร่วมกับให้น้ำทางร่อง โดยพื้นที่ที่ใกล้บ่อน้ำก็ให้น้ำทางร่อง  ส่วนพื้นที่ที่ใกล้บ่อน้ำก็ใช้สปิงเกอร์ซึ่งสะดวกและเหนื่อยน้อยกว่า  ระบบน้ำก็ช่วยผ่อนแรงได้มาก  แต่ต้องใช้หัวสปิงเกอร์ที่ให้น้ำในระยะไกล

7.  เมื่อข้าวโพดอายุ 45  วัน  ข้าวโพดเริ่มออกดอกหัว ให้เริ่มถอดดอกหัว  เพื่อไม่ให้ผสมพันธุ์ข้าวโพด

8.  เมื่อข้าวโพดอายุ  ได้  50  วัน  เริ่มเก็บฝัก  โดยสังเกตฝักที่พร้อมจะเก็บจะเอนเป็นรูปกล้วย และเมื่อบีบตรงหัวจะ     แข็งแน่น

 การจัดการแปลง และเทคนิคการให้น้ำ

              นางนา  ทับกรุง ปลูกข้าวโพดฝักอ่อน ทั้งหมด  4  แปลง แปลงละ 1.5  ไร่  โดยใช้ระยะห่างการปลูกแต่ละแปลง  20  วัน  หลักสำคัญของการทำข้าวโพดฝักอ่อน คือ การให้น้ำให้ทัน ข้าวโพดเป็นพืชที่ต้องการน้ำ  หากขาดน้ำจะทำให้ต้นเริ่มเหี่ยว และหยุดการเจริญเติบโต จึงควรระวังอย่างให้ขาดน้ำ หรืออย่าให้น้ำมากเกินไป  ซึ่งแปลงที่ปลูกข้าวโพดฝักอ่อนของนางนา  ทับกรุง นี้ใช้ระบบน้ำสปิงเกอร์เข้ามาช่วยทำให้กระจายน้ำได้ทั่วถึง และสะดวก ประหยัดเวลา ร่วมไปกับการให้น้ำตามร่องสวนสำหรับแปลงที่อยู่ใกล้กับแหล่งน้ำ ซึ่งต้องคอยดูว่าน้ำที่ให้ทั่วจากต้นร่องถึงท้ายร่องหรือไม่จึงเปลี่ยนร่องไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมด  และอีกเรื่องที่ต้องคอยดู คือ การถอดยอดดอก เมื่อข้าวโพดอายุ  45 วันให้เริ่มถอดยอดดอก อย่าปล่อยทิ้งไว้ จะทำให้ฝักเกิดการผสมเกสร  และติดเมล็ด  จะไม่สามารถทำเป็นข้าวโพดฝักอ่อน  หลังจากที่เริ่มถอดยอด จะต้องคอยดูยอดดอกอีก 2-3  วัน  เนื่องจากอาจมีต้นที่หลงออกดอกมาอีก 

 ต้นทุนการผลิต (บาท/ไร่)

1.  ค่าไถ ยกร่อง                    500         บาท

2.  น้ำมันรถไถ เครื่องสูบน้ำ      200         บาท

3.  เมล็ดพันธุ์                        545         บาท (5 กก.)

4.  แรงงาน                      1,000           บาท

5.  ปุ๋ย                                600         บาท

6.  ยาคุมหญ้า                        35         บาท

                     รวม    2,880          บาท

ผลผลิต

  1. ข้าวโพดฝักอ่อน  450-500  กก./ไร่  ราคา กิโลกรัมละ 18 บาท                       เป็นเงิน 8,550     บาท
  2. ไหม และยอดดอก   1,000  กก./ไร่  ราคา กิโลกรัมละ 0.80 บาท เป็นเงิน     800  บาท
  3. ต้น   4,000  กก./ไร่   ราคา กิโลกรัมละ 0.80 บาท เป็นเงิน 3,200  บาท

          รวมเป็นเงิน           12,550        บาท

            กำไรสุทธิ  9,670     บาท/ ไร่

 

                                             ถอดองค์ความรู้โดย : นางสาวอัฉจรา กริ่งเกษมศรี

                                                     นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ

                                                   สำนักงานเกษตรอำเภอบ้านไร่จังหวัดอุทัยธานี

 

 

หมายเลขบันทึก: 346198เขียนเมื่อ 22 มีนาคม 2010 13:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 12:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท