"ห้องสี่เหลี่ยม" ภาพลักษณ์แห่งการเรียนรู้ (Box of Image Learning)


การเรียนรู้ในห้องจึงกลายเป็นวาทกรรมแห่งประชาธิปไตยของการเรียนรู้ในประเทศไทยไปโดยปริยาย

ภาพลักษณ์แห่งการเรียนรู้ในปัจจุบันเปรียบเสมือนคนที่พายเรือวนเล่นอยู่ในอ่าง จะเรียนรู้สิ่งใด จะจัดกิจกรรมสิ่งใดทำไมจึงต้องวนเวียนอยู่ใน "ห้อง (Classroom)"

ห้องสี่เหลี่ยมที่ถูกเลือก ถูกใช้ให้เพียงพอสำหรับคนเข้าประชุม ซึ่งสามารถเสกสรรค์ ปั้นแต่งเครื่องประดับ ตกแต่ง ให้เลิศหรูวิจิตรตระการตาได้ตาม "งบประมาณ (Budget)"

มีงบมากห้องก็หรูมาก มีงบน้อยก็ใช้สอยค่าห้องอย่างประหยัด...

ภาพลักษณ์การใช้ห้องเพื่อเรียนรู้ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนที่เรียนหนังสือ หรือนักวิชาการที่จัดประชุมกันเป็นเหตุ เป็นปัจจัย เป็นข้อมูลสำหรับการตัดสินใจว่าต่อไปใครจะเรียนรู้ก็จะต้องนำพาคนเข้าไปสู่ "ห้อง" เพื่อกล่อมใจ

การเรียนรู้ในห้องไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้าหากเราว่าด้วยทฤษฎีหรือหลักการของการจัดการความรู้ (KM) ในเบื้องต้น เพราะถ้าหากเราหาข้อมูลได้ตาก็ดี ด้วยหูก็ดี หรือด้วยประสบการณ์ฝังลึก (Tacit Knowledge) ของเราก็ดี ใคร ๆ ก็ใช้ห้องเพื่อเรียนรู้กันทั้งหมด

การเรียนรู้ในห้องจึงกลายเป็นวาทกรรมแห่งประชาธิปไตยของการเรียนรู้ในประเทศไทยไปโดยปริยาย

แต่ถ้าหากเราเพิ่มระดับความเข้มของการจัดการความรู้ (Degree of Knowledge Management) ให้มากขึ้น แล้วหาว่าการเรียนรู้ในห้องไม่ว่าจะเป็นห้องเรียน ห้องประชุม หรือห้องสัมมนาในโรงแรมหรู ๆ นั้นเกิดประโยชน์คุ้มค่ากับงบประมาณ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ความหวัง (To Hope)" ที่ได้ตั้งความฝันไว้หรือไม่

ซึ่งถ้าเราเรียบเรียงและจัดการความรู้ในอีกมิติหนึ่งเพิ่มเข้าไปอีกก็จะพบว่า การเรียนรู้ในห้องสี่เหลี่ยม ๆ ขนาดต่าง ๆ นั้นเป็นการปิดกั้นการเรียนรู้ "การงาน" โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ชีวิต" ที่แท้จริง

บุคคลที่มีอิทธิพลทางการตัดสินใจ หรือบุคคลที่มี "ศรัทธา" กับใครต่อใครพึงต้องใช้วิจารณญาณในการสร้างภาพลักษณ์ของการเรียนรู้อย่างรอบคอบ 

เมื่อผู้นำ นำการเรียนรู้เข้าสู่ห้อง ผู้ตามย่อมต้องคิดว่าการเรียนรู้นั้นต้องอยู่ในห้อง

นักเรียน นักศึกษา นักวิชาการรุ่นใหม่ เวลาที่คิดจะวางแผนอะไร "ห้อง (Box)" จะต้องถูกเลือกใช้เป็นลำดับต้น

ห้องนั้นเป็นเพียงสถานที่ซึ่งถูกสมมติขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกว่าเราจะเรียนรู้กันที่ใด และเพียงใช้เพื่อจำกัดสิ่งแวดล้อมภายนอกที่จะเข้ามากระทบ (External Impact)

มิติแห่งการเรียนรู้ที่บอกเราว่า ต้องไม่ให้ใคร สิ่งใด เข้ามาพบ เข้ามาเห็น เข้ามารบกวน จึงจัดห้องไว้เพื่อให้เป็นสัดเป็นส่วนนั้น เราได้ปิดการความคิดสร้างสรรค์ทางการเรียนรู้ (Learning Imagination) ของบุคคลทั้งหลายไปด้วยหรือไม่...?

เมื่อสายตาและหูถูกจำกัดไว้ในห้องสี่เหลี่ยมแคบ ๆ อายตนะทั้ง 6 นั้นจึงไม่สามารถทำงานสอดประสานพลังกันมีแต่เพียง "ใจ" เท่าใดที่ "ฟุ้ง" และล่องลอย

เมื่อใจฟุ้ง และตาและหูอยู่จำกัด ความคิดอะไรต่ออะไรก็ฟุ้งไปเรื่อย

แต่ในการแก้ไขปัญหานี้ก็เช่นเดียวกัน ภาพลักษณ์ของการเปิดหู เปิดตาก็กลับถูกแทนค่าด้วย "การศึกษาดูงาน (Travel for Learning)"

ภาพลักษณ์ของการดูงานจึงกลายเป็นกิจกรรมของการพักผ่อน ผ่อนคลายอะไรต่ออะไรที่ถูกกด กดบีบไว้ในห้องสี่เหลี่ยมนั้น

เหล้า ยา ปลาปิ้ง อาหารการกินสาระพัด สารพัน เป็นภาพลักษณ์ที่ถูกสร้างสรรค์เพื่อให้ผู้เรียนรู้รุ่นใหม่ได้ทำตาม

คนเราในสมัยนี้เสพสื่อมาก (Information to consume) ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ฉันเห็นแล้ว ฉันก็จะทำตาม

คนรุ่นใหม่ที่มีจิตใจเริ่มต้นที่จะเรียนรู้ จึงต้องบริโภคความรู้จากห้องสี่เหลี่ยมแห่งการเรียนรู้ (Box of Learning) และเมื่อมีโอกาสที่จะไปจัดการเรียนรู้ก็นำห้องสี่เหลี่ยมแห่งการเรียนรู้นี้ไปครอบไปบอกกันเป็นลำดับ ลำดับ

คราวนี้จะบอก จะสอน จะพัฒนากันใหม่ว่า องค์กรของเรา หน่วยงานของเรา บริษัทของเราจะต้องเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) ก็จะทำได้โดยยาก

เพราะเราจะไปบอกเขาได้อย่างไรว่า การเรียนรู้นั้นสามารถเกิดขึ้นได้ทุกสถานที่ แต่ผู้ที่นำพาการเรียนรู้เองก็ยังติดสถานที่คือห้องสี่เหลี่ยมแคบ ๆ นั้นเช่นเดียวกัน

เมื่อผู้นำพายังยืนบอกปาว ๆ ในห้องสี่เหลี่ยมว่าการเรียนรู้นั้นสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ จึงทำให้สิ่งที่พูดกับสิ่งที่ทำนั้นขัดกัน

ครูเพื่อจะบอกว่าให้ทำตามสิ่งที่ครูบอก แต่อย่าทำตามสิ่งที่ครูทำ

และเมื่อเราจัดการความรู้อิทธิพลในการตัดสินใจของผู้ตามหรือผู้รับสารเราก็จะรู้อีกได้ว่า การกระทำนั้นมีความสำคัญกว่า "คำพูด"

เด็กเห็นผู้ใหญ่ทำอะไรเขาก็ทำตาม เพราะบางครั้งเด็กฟังคำพูด หรือฟังภาษาของผู้ใหญ่ไม่รู้เรื่อง แต่เมื่อเด็กเห็นผู้ใหญ่ทำอะไร เด็กก็จะทำแบบนั้น

ถ้าหากการเรียนรู้ต้องถูกจำกัดอยู่ในห้องสี่เหลี่ยม การพัฒนาวิชาการไทยก็ต้องถูกจำกัดอยู่ในอ่างแห่งความรู้นั้น (Bowl of knowledge)

อ่างทรงกลมที่มีขอบสูง ซึ่งยากนักที่ใครต่อใครจะกลั้นใจปิดให้พ้นและสามารถนำตนให้พ้นจากวังวนของการเรียนรู้แบบเดิมได้...

 

คำสำคัญ (Tags): #km#learning organization#lo
หมายเลขบันทึก: 346119เขียนเมื่อ 22 มีนาคม 2010 07:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท