ผู้นำที่ลูกน้องระลึกถึงอยู่เสมอ


ในระยะหลังๆ มานี้ ผมได้มีโอกาสไปร่วมไว้อาลัยในงานศพญาติผู้ใหญ่ ผู้น้อย รวมถึง คนรู้จักที่ได้จากโลกนี้ไป สิ่งหนึ่งที่มักจะได้ยินในงานเหล่านี้ ซึ่งผู้ที่มาร่วมงานกล่าวถึงกันมากก็คือ วีรกรรมที่ผู้ที่จากไปได้สร้างไว้ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่

บางคนก็ได้รับการชื่นชม และมักจะมีคำพูดในทำนองที่ว่า “เสียดายคนดีๆ ไม่น่าจะจากไปเร็วขนาดนี้ ถ้ายังมีชีวิตอยู่ ก็คงจะสร้างคุณงามความดี และสร้างประโยชน์ให้กับสังคมอีกมากมายทีเดียว” คนกลุ่มนี้ก็มักจะเป็นผู้ที่ได้ทำคุณงามความดีไว้มากมาย ไม่ว่าจะต้องตนเอง ต่อผู้อื่น ต่อองค์กร หรือต่อสังคมก็ตาม ก็จะมีผู้ที่ให้ความเคารพ และระลึกถึงเสมอในยามที่จากไป และยังคงมีคนรุ่นหลังที่พยายามนำเอาแบบอย่างที่ดี ไปปฏิบัติต่อ เพื่อสิ่งที่ท่านได้ทำมานั้น มันพิสูจน์ได้ว่าดีจริงๆ

ในทางตรงกันข้าม ผมเองก็เคยได้ยินคนพูดกันในงานศพว่า “ตายไปซะได้ก็ดี อยู่ไปก็มีแต่สร้างความเสื่อมเสียให้กับวงศ์ตระกูล และสังคม” หรือ “ดีแล้วล่ะ อยู่แบบนี้รกโลกเปล่าๆ” หรือ “ไปเกิดใหม่ก็ขอให้เกิดเป็นคนที่ดีกว่านี้นะ ชาตินี้ถือซะกว่าทำบุญมาแค่นี้ล่ะกัน” เรารู้สึกอย่างไรครับที่ได้ยินแบบนี้

ในการเป็นคนที่มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลนั้น ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา เป็นหัวหน้างาน หรือในฐานะผู้นำขององค์กรเองก็ตาม เราคงจะต้องตั้งเป้าหมายว่าเราอยากจะให้คนอื่นพูดถึงเราในแบบไหน ผมเคยได้อ่านหนังสือ (เล่มเดิมครับ) 7 Habits for Effective People ในอุปนิสัยที่สอง ที่เขาบอกว่า “Begin with the end in Mind” ก็คือ ให้ตั้งเป้าหมายไว้เลยว่า เราอยากให้คนอื่นพูดถึงเราในแง่ใดเวลาที่เราไม่อยู่ในโลกนี้แล้ว

อยากให้เขาชื่นชมเราในแบบใด หรืออยากให้ผู้คนตามสาปแช่งในแบบใด อันนี้ล้วนแล้วแต่อยู่ที่เราจะเลือกทั้งสิ้น ถ้าเราเห็นภาพเป้าหมายของเราในวันสุดท้ายชัดมากเท่าไร พฤติกรรมในการทำงาน ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ก็จะยิ่งชัดเจนขึ้นมากเท่านั้น

เช่น ถ้าเราคิดว่าเมื่อเราจากโลกนี้ไปแล้ว คนรุ่นหลังจะต้องชื่นชมเราในฐานะที่เราเป็นผู้นำที่ดี เป็นหัวหน้างานที่มีความเป็นธรรมต่อลูกน้อง ถ้าภาพนี้อยู่ในใจเราอย่างชัดเจน เราก็จะมีพฤติกรรมต่อลูกน้องของเราในทางที่เหมาะสม ไม่เลือกปฏิบัติ เพราะถ้ามีการเลือกปฏิบัติขึ้นมาเมื่อไร ก็จะต้องมีบางคนที่ไม่พูดถึงเราในแง่ดีอย่างที่เราตั้งใจไว้แน่นอน

ลองนึกถึงผู้ใหญ่ หัวหน้าของเราในปัจจุบัน หรือหัวหน้าเก่าๆ ที่เรายังคงระลึกถึงท่านอยู่เสมอนั้น ท่านเหล่านั้นมีภาวะผู้นำอย่างไร มีพฤติกรรมอย่างไรในการดูแลพนักงาน มีพฤติกรรมอย่างไรในการทำงานแต่ละวัน จึงทำให้เราระลึกถึงคุณความดีของท่านอยู่เสมอ สิ่งเหล่านั้นก็คือสิ่งที่พิสูจน์มาแล้วว่าเป็นสิ่งที่ดี มิฉะนั้นเราเองก็คงไม่มานั่งนึกถึงให้เสียเวลา จริงมั้ยครับ

เคล็ดลับก็อยู่ตรงที่ ตัวเราเองจะสามารถนำเอาสิ่งดีๆ เหล่านั้นมาปฏิบัติในชีวิตของเราได้มากสักเพียงใด เพื่อให้เราเป็นผู้นำ หรือเป็นหัวหน้างานที่ดี โดยที่ลูกน้องพูดถึงเราในสิ่งที่ดี ทั้งต่อหน้าและลับหลัง เรื่องนี้สำคัญนะครับ หัวหน้างานบางคน ลูกน้องประจบประแจง ต่อหน้าก็ชื่นชม ดีอย่างโน้นดีอย่างนี้ ท่านครับ ท่านขาตลอดเวลา แต่พอลับหลัง ก็จับกลุ่มนั่งนินทานายตัวเองว่า หัวงูบ้าง หูดำบ้าง ไม่ยุติธรรมบ้าง แก่แล้วยังไม่เจียม ฯลฯ

เราเองในฐานะหัวหน้างาน ก็อยากให้ถามตัวเองว่า อยากเป็นหัวหน้างานแบบใด อยากให้ลูกน้องของเราพูดถึงเราในแง่ใด รวมทั้งให้คิดยาวๆ ว่า ถ้าเราไม่อยู่ในโลกนี้แล้ว เราอยากให้เขาพูดถึงเราในแง่ใด ผมเชื่อว่า ไม่มีใครที่อยากให้คนอื่นพูดถึงตัวเราในแง่ลบหรอกครับ

การเป็นหัวหน้า หรือผู้นำที่ดีนั้น โดยปกติมันไม่ต้องเรียนเทคนิคอะไรมากมายหรอกครับ เพียงแค่คิดได้ว่าเราควรทำอย่างไร เราอยากให้คนอื่นปฏิบัติอย่างไรกับเรา เราเองก็ควรจะปฏิบัติอย่างนั้นกับคนอื่นเช่นกันครับ

ลองนั่งนึกดูนะครับว่า ในวันสุดท้ายของชีวิตเรานั้น เราอยากให้คนอื่นพูดถึงเราว่าอย่างไรบ้าง

คำสำคัญ (Tags): #leadership
หมายเลขบันทึก: 346111เขียนเมื่อ 22 มีนาคม 2010 06:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 13:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ไม่มี ผู้ตาม ก็ ไม่มีผู้นำ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท