เรียน-เล่นเป็นเลิศกับสำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น


ห้องสมุดทำอะไรบ้างที่เป็นการส่งเสริมบัณฑิตให้เป็นผู้ที่เรียนเล่นเป็นเลิศ วันนี้ได้รู้กันในงาน UKM ครั้งที่ 17 ที่จังหวัดขอนแก่น

ได้รับมอบหมายจากผู้บริหารสำนักวิทยบริการให้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับ การพัฒนาระบบสนับสนุนการเรียนการสอนและการผลิตบัณฑิต ในงานเสวนาวิชาการสมาชิกเครือข่ายจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย (UKM) ครั้งที่ 17 ในวันที่ 22-23 มีนาคม 2553 ที่โรงแรมเจริญธานี ปริ้นเซส จ. ขอนแก่น ซึ่งครั้งนี้มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นเจ้าภาพหลัก

แม้ว่า รศ.รังสรรค์ เนียมสนิท รองอธิการบดีฝ่านแผนและสารสนเทศ จะชี้แจงว่างานนี้ เน้นการเล่าเรื่อง เพื่อให้เห็นการปฏิบัติ ทฤษฎีต่างๆ ทิ้งไว้ในหนังสือ บรรยากาศจะออกมาแบบง่ายๆ สบายๆ ....ถึงกระนั้น ก็ยังแอบเครียดจนได้

ผู้บริหารสำนักิทยบริการ มข. เองก็ช่วยให้งานนี้ง่ายขึ้น นับเป็นการทำหน้าที่ในบทบาทของ "คุณเอื้อ" ที่ดี ด้วยการบอกให้เล่าถึงเรื่องราวของ กระบวนการสืบค้นสารสนเทศการอ้างอิง (Citation) ที่เมื่อกลางปี 2552 สำนักวิทยบริการได้นำเสนอในงาน KKU Show&Share และได้รับรางวัลประเภท good practice มา

เอาก็เอา....จะเครียดทำไม เตรียมข้อมูลกันดีกว่า

รู้กันดีอยู่ว่า ห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา เป็นดัชนีชี้วัดหนึ่งที่ใช้วัดคุณภาพการศึกษา เนื่องจากเป็นระบบสนับสนุนการเรียนการสอน ตลอดจนการวิจัย ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาจะได้รับการดูแลเอาใจใส่ และเป็นที่ศึกษาดูงานของคณะดูงานเป็นประจำ

สิ่งนั้นยังเป็นสิ่งสำคัญเท่ากับ บทบาทของห้องสมุดที่มีส่วนช่วยผลิตบัณฑิตที่พึงประสงค์ตามที่มหาวิทยาลัยต้องการได้อย่างไร

สิ่งนี้แหละที่สำคัญที่ทำให้ห้องสมุดไม่สามารถที่จะหยุดนิ่งได้ นอจกจากที่จะต้องปรับเปลี่ยนให้สามารถตอบสนองพันธกิจบางประการของมหาวิทยาลัยแล้ว ยังต้องปรับเปลี่ยนให้ทันต่อพฤติกรรมของผู้ใช้ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในโลกของเทคโนโลยี....มิฉะนั้นแล้วนอกจากทำงานไม่เข้าตาแล้ว ยังจะทำให้ไม่มีใครมาใช้ห้องสมุด

อย่าลืมนะคะว่า การมาใช้ห้องสมุดนั้นไม่มีเกรดให้ ใครอยากได้ต้องค้นคว้าเอง

ในการพัฒนาระบบสนับสนุนการเรียนการสอน สำนักวิทยบริการจึงได้พัฒนาห้องสมุดดังนี้

- ด้านกายภาพ โดยการปรับปรุงสถานที่ให้สะดวกในการเข้าใช้ ตรงกับความต้องการ และมีความดึงดูด เช่น มีเก้าอี้ที่หลากหลายแบบ ดูบรรยากาศผ่อนคลายมากขึ้น จัดให้มีร้านกาแฟในห้องสมุด ในช่วงการสอนไล่ 1 เดือนได้เปิดบริการถึง 24.00 น. เป็นต้น

- ด้านบริการ  นอกจากบริการพื้นฐานของห้องสมุดเพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถใช้ห้องสมุดเป็นแหล่งค้นคว้าที่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการเรียนากรสอนของตนเช่น บริการยืมคืน บริการยืมระหว่างห้องสมุด บริการสอนและแนะนำการใช้ห้องสมุด เป็นต้น

นอกจากนั้นยังได้พัฒนาบริการใหม่ๆ ที่เป็นบริการเชิงรุก หรือบริการที่มีคุณภาพเพิ่ม เช่น กระบวนการสืบค้นสารสนเทศการอ้างอิง (Citation) การแนะนำการจัดเตรียมบทความเพื่อเผยแพร่ในวารสาร บริการแนะนำการทำวิจัย บริการ SDI บริการรับ-ส่งทรัพยากรสารสนเทศ (Document Deliverly) และบริการแบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์มากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้สารสนเทศได้อย่างสะดวกขึ้น

และในด้านการบริหารจัดการ ได้นำเครื่องมือต่างๆ มาใช้ปรับปรุงกระบวนการปฏิบัติงาน ลดขึ้นตอนการปฏิบัติงาน ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินงานต่างๆ มีความรวดเร็วขึ้นและตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้บริการได้มากขึ้น นำมาซึ่งความพึงพอใจของผู้ใช้บริการในที่สุด

ว่าไปแล้วก็จะพอมองเห็นปัจจัยของความสำเร็จ (Key Success Factor) ได้บ้าง

ซึ่งได้แก่

1. แผนกลยุทธ์ที่ชัดเจน เป็นทิศทางขององค์กรที่เกิดจากการดำเนินงานตามวิสัยทัศน์ขององค์กร และสอดคล้องกับพันธกิจของมหาวิทยาลัย

2. บุคลากรสำนักวิทยบริการ มีความรู้ความสามารถในการให้บริการ ซึ่งสำนักวิทยบริการ ได้ให้ความทสำคัญในการพัฒนาบุคลากรให้มีขีดความสามารถที่สูงขึ้น มีความเชี่ยวชาญเฉพาะสาขา และมีความสามารถเชิงบูรณาการ โดยใช้วิธีที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการอบรม ศึกษาดูงาน KM การหมุนเวียนกันปฏิบัติหน้าที่ เป็นต้น

3. การใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด ปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ตลอดจน Open Source มากมายที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการส่งเสริมการเรียนรู้ได้  เช่น การใช้ Twitter, Blog เป็นต้น

4. การรู้ความต้องการของผู้ใช้บริการ ทั้งนี้ในการพัฒนาบริการของสำนักวิทยบริการข้อมูลส่วนหนึ่งมาจากความต้องการของผู้ใช้บริการ....ดังนั้นจึงมีการศึกษาความต้องการ ความคาดหวัง ปัญหาในการใช้บริการ ตลอดจนการรับฟังข้อร้องเรียนเป้นประจำ

5. การผนึกกำลังกับคณะวิชา เพื่อให้การจัดบริการของห้องสมุดสอดคล้องกับหลักสูตรการเรียนการสอนมากที่สุด เริ่มตั้งแต่การร่วมแสดงความคิดเห็นในการคัดเลือกทรัพยากรสารสนเทศเข้าห้องสมุด การส่งนักศึกษาเข้าร่วมบริการสอนและแนะนำการใช้ห้องสมุด เป็นต้น

นี่แหละค่ะคือที่ไปที่มาของการพัฒนาระบบสนับสนุนการเรียนการสอนของสำนักวิทยบริการ มข. ในทัศนะของสิริพร ทิวะสิงห์

หากท่านที่แวะมา มีข้อคำแนะนำสำหรับการพัฒนาห้องสมุดให้สามารถสนับสนุนการเรียนการสอนนั้นจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง....ซึ่งต้องขอขอบคุณไว้ล่วงหน้า

 

หมายเลขบันทึก: 345619เขียนเมื่อ 19 มีนาคม 2010 19:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤษภาคม 2012 14:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท