เมื่อครูไปหาศิษย์ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์


ก่อนการนัดชุมนุมมุ่งสู่กรุงเทพของคนเสื้อมีสี ผู้เขียนมีภารกิจวิชาการที่ จังหวัดสุรินทร์ที่ไม่ไปไม่ได้ เพราะลูกศิษย์ปริญญาเอก สาขายุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค กลุ่มการสื่อสารวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ สองคนจะต้องสอบสัมมนา

นอกจากนั้นยังเป็นโอกาสจัดการเสวนางานวิจัยที่เขาทำกันอยู่ ในหัวข้อ การเสวนาเครือข่ายนักสื่อสารเพื่อชุมชน บนมิติความหลากหลายทางชีวภาพและการอนุรักษ์แม่น้ำมูล โดยมีสองเครือข่ายจาก จังหวัดสุรินทร์ และ บุรีรัมย์นำเยาวชนมาบอกเล่าสิ่งที่เขาทำกัน

ตั้งสติให้ไม่วิตกกับเหตุการณ์นัดชุมนุมจนไม่เป็นอันทำอะไร เดินทางจากอยุธยาไปสุรินทร์ ได้พบเห็นสิ่งดีๆ และรู้สึกว่าได้มีส่วนทำประโยชน์ทางวิชาการ มีความสุขในใจเกิดขึ้นพอสมควร อยากมาแบ่งปันเล่าสู่กันฟังค่ะ

ภารกิจหลัก คือการเป็นกรรมการสอบสัมมนาร่วมกับอาจารย์อีกสองท่านที่ช่วยกันเคี่ยวกรำศิษย์ นั่นคือ

  • รศ. สุภาพ ณ นคร 
  • รศ.ดร.สุพัตรา ชาติบัญชาชัย

 อาจารย์ทั้งสามนับว่าเอาจริงเอาจังกับผลงานของนักศึกษาปริญญาเอกทั้งสองคนนี้มาก เพราะ ทั้งสองคนจะจบปริญญาเอกที่เน้นการใช้การสื่อสารวิทยาศาสตร์กับการพัฒนาภูมิภาค ซึ่งจะเป็นสองคนแรกของประเทศไทย และต้องทั้งทำงานตอบสนองการพัฒนาชุมชนในท้องถิ่นของตนตามพันธกิจของมหาวิทยาลัยราชภัฏทุกแห่ง และ ต้องเป็นครูบาอาจารย์สอนศิษย์ในสาขาวิชาการนี้ต่อไป

  • ศิษย์คนแรกคือ อาจารย์ สุขใจ สมพงษ์พันธ์ ปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์
  • ศิษย์อีกคนคือ อาจารย์สุพิมพา วัฒนสังขโสภณ  ปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนคณะเทคโนโลยีการผลิตเพื่อชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์

งานสัมมนาจะขอข้ามไปไม่เล่าเพราะยังต้องมีการแก้ไขปรับปรุงในหลายประเด็นเอาเก็บไว้ให้เป็นเรื่องหนักใจต้องขบคิดต่อไปของศิษย์ทั้งสอง

อยากเล่าโครงการงานวิจัยของลูกศิษย์ที่ทำ เครือข่ายนักสื่อสารเพื่อชุมชน

เน้นเรื่องของเด็กๆ เยาวชน พลังของชุมชน มีปราชญ์ชาวบ้าน ผู้ใหญ่บ้าน และหัวหน้าวนอุทยานในพื้นที่

มาพร้อมกันใน “งานเสวนาเครือข่ายนักสื่อสารเพื่อชุมชนบนมิติความหลากหลายทางชีวภาพ และ การอนุรักษ์แม่น้ำมูล”

ซึ่งเยาวชนเขาทำการศึกษาวิจัยเรื่องในชุมชนของตนเองที่เขาเลือกเองว่ามีความสำคัญ แล้วมานำเสนอด้วยวิธีการที่ตระเตรียมมา วันนี้มากันสองคณะ

  • คณะแรกเป็นเยาวชนจาก โรงเรียนศรีปทุมพิทยาคม อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ มาสื่อสารผ่านการแสดงละครเวทีสร้างความตระหนักและแนวทาง การอนุรักษ์ ดูแลความหลากหลายทางชีวภาพลำน้ำมูล ที่เห็นใส่เสื้อผ้าไหมนั่นคือนักแสดงเล่นเป็นผู้ใหญ่บ้านที่ต้องมาประชุมร่วมกัน(เลยต้องแต่งตัวหล่อ)เพื่อกลับไปบอกลูกบ้านให้ช่วยกัน

ผู้ใหญ่บ้าน (จริงๆ) ของอำเภอท่าตูมก็มาแบ่งปันเล่าประสบการณ์ในการอนุรักษ์หาดของบ้านท่าตูมไม่ให้มีการดูดทราย ทำได้สำเร็จเป็นหมู่บ้านเดียวในแถบนี้ที่ทำสำเร็จ หมู่บ้านอื่นมีการดูดทรายทำตลิ่งพังเป็นแถบๆและปลาต่างๆก็หายไป

น่าจะเป็นแรงบันดาลใจและวิธีการที่ชุมชนอื่นสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้

 

  • อีกโรงเรียนหนึ่ง คือ กลุ่มเยาชนต้นกล้าความดี โรงเรียนภัทรบพิตร อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ นำเสนอเรื่องราว “ผักหวานที่รัก” ผ่านวิดีทัศน์ที่ผูกเป็นสาระละคร และการนำกลุ่มไปพูดคุยกับผู้เฒ่าผู้แก่ เรื่องของผักหวานทุกอย่าง ตั้งแต่การไปเก็บจากป่า การปลูก การขยายพันธุ์ การนำมาเป็นอาหารและเป็นยา เห็นทั้งความรู้และความรัก ความอบอุ่น ความเมตตาที่เกิดขึ้นในการที่ลูกหลานมาขอความรู้

ชมวิดีทัศน์เสร็จ เด็กๆทุกคนแบ่งกันเล่าประสบการณ์อย่างองอาจ ตาเป็นประกาย เพราะพูดถึงสิ่งที่ทำมากับมือ และเขายังชวนปราชญ์ชาวบ้านมาด้วย พร้อมกับหัวหน้าวนอุทยานเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ ที่มาขึ้นเวทีเล่าเสริมถึงกระบวนการเรียนรู้เรื่องผักหวานของเยาวชนร่วมกับชุมชนในอีกหลายๆที่ ที่มีวิธีการแตกต่าง เป็นการหมุนเกลียวความรู้ เปิดและขยายโลกทัศน์ที่กว้างออกไปอีก ขอชื่นชม คุณครูกฤติยา ศรีริ ที่เป็นที่ปรึกษาและให้เด็กๆเรียนรู้อย่างอิสระ ทว่ามีแนวทางได้ทั้งความรู้ ความดี และความงาม

สิ่งที่ได้ฟัง ได้เห็น น่าชื่นใจ และร่วมภูมิใจกับเยาวชนช่างคิดและกล้าทำสิ่งดีๆนี้

มีเวลาได้สัมผัสความเป็นเมืองสุรินทร์น้อยมาก ได้ไปตลาดแค่ยี่สิบนาที แต่ก็ยังมีสิ่งน่าสนใจนำมาฝากกันในตอนหน้าก็แล้วกันนะคะ



ความเห็น (6)

สวัสดีครับพี่นุช...

แวะมาเยี่ยมครับ

ตอนนี้ผมอยู่ที่ดอยมูเซอครับ มาดูแลเรื่องการก่อสร้างที่พัก

อ่านบันทึกนี้แล้วนึกถึงการทำงานช่วงหนึ่งของผม ที่มีโอกาสได้ร่วมงานกับอาจารย์ท่านหนึ่ง

งานที่ทำคือ การใช้สื่อพื้นบ้านในงานพัฒนาชุมชน (เน้นพัฒนาสุขภาวะ)

มีบทเรียนจากการทำงานในช่วงนั้นเยอะมากครับ

ขอบคุณค่ะคุณหนานเกียรติ หลบร้อนเมืองกรุง ขึ้นดอยมูเซอ น่าอิจฉาจังเลย เอาใจช่วยเรื่องการทำที่พักค่ะ ขอให้เสร็จตามกำหนด พี่จะได้ไปร่วมงานพิธีเปิด ^____^ และไปนอนสูดอากาศภูเขาให้สบายใจ

การทำงานกับชุมชนหากไปถูกทางก็จะมีความสุขทุกฝ่ายนะคะ และยั่งยืนด้วยตัวของชุมชนเอง แล้วคุณหนานเกียรติได้เขียนเล่าบทเรียนและถอดบทเรียนไว้หรือเปล่าคะ น่าจะเป็นประโยชน์มากจริงๆค่ะ

มาให้กำลังใจ ผู้นำชุมชน นักศึกษา ครูและ เด็กค่ะ

ขอบคุณค่ะน้องอ็อด ที่มาช่วยอ่าน การที่มีผู้คนได้รับรู้สิ่งดีๆที่เขาทำย่อมเป็นกำลังใจให้เขามุ่งมั่นต่อไปนะคะ

ขอบคุณคะ ปิ๋ม และเครือข่ายนักสื่อสารเพื่อชุมชนยินดีรับฟังข้อเสนอแนะ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ จากทุกๆท่านคะ

ขอให้อาจารย์สุขใจ pimsurin เรียนรู้อย่างมีความสุข และ เกิดความสำเร็จจากความมุ่งมั่นเอาจริงนะคะ สู้ สู้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท