ผู้บริหารยุคปฏิรูปการศึกษาตามคุณลักษณะ 5 ป.


การเป็นผู้บริหารที่ดี มีประสิทธิภาพ ใครๆ ก็ชื่นชม ศรัทธา เชื่อมั่น บุคลิกหรือเอกลักษณ์ส่วนตัว ก็ถือว่าเป็นต้นแบบของผู้ร่วมงาน

ผู้บริหารยุคปฏิรูปการศึกษาตามคุณลักษณะ 5 ป.

             ในองค์การใดไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน จะต้องมีผู้นำเป็นผู้บริหาร เป็นบุคคลที่มีความสำคัญที่สุดและมีอิทธิพลต่อบรรยากาศในการทำงาน โดยเฉพาะบุคลิกภาพของผู้บริหาร จะเป็นสิ่งจูงใจให้ผู้ร่วมงานศรัทธา ให้ความร่วมมือ สามารถยืนอยู่ในหัวใจของผู้ใต้บังคับบัญชาได้ หากผู้ร่วมงานเชื่อถือ เปรียบเสมือนว่างานสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง  การบริหารให้บรรลุผลสำเร็จใช้ความรู้ความสามารถ น้อยกว่าข้อมูลข่าวสารและบุคลิกภาพ  แบบของผู้บริหารยุคปฏิรูปการศึกษามีคุณลักษณะดังนี้

            ปฏิรูป  เพื่อให้ก้าวทันกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก ผู้บริหารนอกจากจะมีความรู้ความสามารถ ตลอดจนเทคนิคการบริหารแล้ว ยังต้องมีทักษะทางด้านภาษาและการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น แฟกซ์  คอมพิวเตอร์หรืออินเตอร์เน็ต ซึ่งจะทำให้เป็นนักคิด นักวิเคราะห์ นักพัฒนา และปรับเลี่ยนตลอดเวลา  จะเป็นผลทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชากระตือรือร้นอยู่เสมอ ในยุคประชาธิปไตย ผู้บริหารที่บริหารแบบตัวเอง(กู)เป็นใหญ่ จะพบแต่ความขัดแย้ง ผู้บริหารที่มีบุคลิกภาพดีและการทำงานเป็นประชาธิปไตยเท่านั้น จึงจะเป็นที่ยอมรับของผู้ใต้บังคับบัญชา

            ประสาน   การรู้จักประสาน ใช้ความสามารถของผู้ใต้บังคับบัญชาให้เป็นประโยชน์มากที่สุด คือมีความสัมพันธ์อันดี ให้เกียรติ และปูนบำเหน็จรางวัล ยกย่องอย่างสมศักดิ์ศรี ไม่แย่งเอาผลงาน รู่ว่างานสำเร็จเป็นผลงานของใครจึงจะให้คุณให้โทษได้อย่างยุติธรรม อย่าใช้อารมณ์หรือความสนิทสนมส่วนตัวมาเป็นเครื่องตัดสินใจ อย่าลืมว่า “ผลงานของผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นผลงานของผู้บริหาร” ต้องประสานดึงเอาศักยภาพของผู้ใต้บังคับบัญชามาใช้ให้มากที่สุด

            ประนีประนอม   ต้องไม่ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเกิดความขัดแย้งในหน่วยงานของตนเองเป็นเด็ดขาดและอลุ้มอล่วยพอยอมกันได้ก็ยอม อย่ามีทิฐิ มองหน่วยงานเป็นที่ตั้ง อย่าเอาเรื่องส่วนตัวมาเกี่ยวกับงาน

            ประชาสัมพันธ์   ผู้บริหารต้องมีความสามารถในการพูดคุยกับบุคคลต่างๆ พูดโน้มน้าวจูงใจได้ดี มีมนุษยสัมพันธ์ พูดเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ได้ “อยากดังก็ต้องตีปิบ หากไม่ตีปิบเมื่อไหร่ใครจะรู้จักเรา”

            ประชาสงเคราะห์   ต้องช่วยเหลือผู้ร่วมงานทุกเรื่องเป็นห่วงเป็นใยตลอดเวลา ประสานหน่วยงานอื่นเพื่อขอความช่วยเหลือผู้ร่วมงาน  การพัฒนาบุคลากรก็ให้ต่อเนื่อง มีการให้อภัยผู้ร่วมงานเมื่อทำผิดพลาด เป็นกัลยาณมิตรกับทุกคน เป็น “ผู้บริหารนักบุญ”  มีความเกรงใจผู้ร่วมงาน  จัดตั้งกองทุน มูลนิธิ และ สมาคม ไว้คอยสนับสนุนเป็นสวัสดิการแก่ผู้ร่วมงานหรือหน่วยงานเสมอ

            การเป็นผู้บริหารที่ดี มีประสิทธิภาพ ใครๆ ก็ชื่นชม ศรัทธา เชื่อมั่น บุคลิกหรือเอกลักษณ์ส่วนตัว ก็ถือว่าเป็นต้นแบบของผู้ร่วมงาน “ผู้บริหารมีหน้าที่สร้างผู้บริหาร” การกระทำทุกสิ่งทุกอย่าง  มีผู้ร่วมงานเฝ้าสังเกต คอยเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากผู้บริการอยู่ตลอดเวลา หากเป็นผู้บริหารโรงเรียนก็ยิ่งเป็นแบบที่จะต้องไม่มีตำหนิ อย่าใช้อำนาจ หรือใช้ให้เป็น ยิ่งใช้อำนาจมากก็ยิ่งจะหมดอำนาจ ไม่เหมือนความรู้และประสบการณ์ ยิ่งใช้มากก็ยิ่งได้มาก

หมายเลขบันทึก: 344770เขียนเมื่อ 16 มีนาคม 2010 14:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 19:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท