บัญญัติ 10 ประการของการเป็นผู้นำ


ประสบการณ์ ความรู้สึกนึกคิด ความทุกข์ยาก ปัญหาอุปสรรคของงานต่างๆ ก็คงจะผ่านมาบ้างแล้ว คอยเป็นเครื่องเตือนใจให้ระมัดระวัง การยึดหลักใจเขาใจเรา การมีเมตตากรุณาและคุณธรรมที่ดีงาม จะทำให้งานมีประสิทธิภาพ

บัญญัติ 10 ประการของการเป็นผู้นำ

(THE TEN COMMANDMENT OF LEADERSHIP)

 

            บุคคลที่จะก้าวมาถึงระดับผู้นำหรือผู้บริหาร ส่วนใหญ่จะต้องเคยเป็นผู้ใต้บังคับบัญชามาแล้ว ประสบการณ์ ความรู้สึกนึกคิด ความทุกข์ยาก ปัญหาอุปสรรคของงานต่างๆ ก็คงจะผ่านมาบ้างแล้ว คอยเป็นเครื่องเตือนใจให้ระมัดระวัง การยึดหลักใจเขาใจเรา การมีเมตตากรุณาและคุณธรรมที่ดีงาม จะทำให้งานมีประสิทธิภาพ การบัญญัติ 10 ประการของการเป็นผู้นำ คงจะช่วยให้ผู้นำได้มีสติขึ้นบ้างไม่มากก็น้อย ดังต่อไปนี้

            1. ปฏิบัติต่อผู้ร่วมงานทุกคนด้วยความนับถือ และให้เกียรติอย่างจริงใจ ซึ่งคงจะไม่มีใครในโลกนี้ ที่ต้องการให้คนอื่นมารังแกข่มเหง กลั่นแกล้งต่างๆ ผู้บังคับบัญชาในโรงเรียนที่จะให้ผู้ใต้บังคับบัญชารักและเคารพนับถือ ผู้บังคับบัญชาต้องเป็นฝ่ายกระทำให้เป็นตัวอย่างก่อน “การให้ความจริงใจต่อกันก็จะได้รับความจริงใจตอบ” ทำให้การประสานงาน การขอความร่วมมือให้ผู้ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติงานที่มอบหมาย จะได้รับการตอบสนองด้วยความเต็มใจ และมีขวัญกำลังใจที่ดี อันจะทำให้งานบรรลุเป้าหมาย วัตถุประสงค์และมีประสิทธิผล

            2. จัดแบบอย่าง (ในการปฏิบัติตน ปฏิบัติงาน) ที่ต้องการให้ผู้ร่วมงานปฏิบัติตาม ผู้นำควรเป็นแบบอย่างที่ดี  ในการครองตน ครองคน ครองงาน  การวางกฎเกณฑ์ ระเบียบ และแนวปฏิบัติต่างๆ ที่ต้องการให้ผู้ร่วมงานปฏิบัติตาม ต้องใช้วิธีแบบมีส่วนร่วม โดยจัดประชุมปรึกษาหารือกับผู้ร่วมงาน พยายามดึงศักยภาพที่ดีของผู้ร่วมงานออกมาใช้ให้เป็นแนวปฏิบัติในหน่วยงานหรือองค์การของตนเอง อย่าใช้คนๆเดียวเป็นตัวชี้ขาด เพราะการบริหารงานโดยคนเดียวจะมีโอกาสล้มเหลวได้ง่ายกว่าการบริหารโดยกลุ่มบุคคล

            3. ทำตัวให้เป็นผู้นำ (เป็นครู) ที่มีความกระตือรือร้น กระฉับกระเฉงตลอดเวลา  ผู้นำอย่าขี้เกียจ อย่าลืมว่าผู้นำกระทำสิ่งใด ที่ไหน อย่างไร จะมีผู้ร่วมงานคอยจับจ้อง สังเกตอยู่ ถ้าปฏิบัติตนดี งานดี มีประสิทธิภาพ เข้าลักษณะ รวดเร็ว เรียบร้อย ราบรื่น ก็จะเป็นการสอนผู้ร่วมงานโดยทางอ้อม คือเป็นการสอนด้วยการกระทำ มีแบบอย่างให้ดู โดยไม่ต้องบอกหรือแนะนำเป็นการส่วนตัวแต่อย่างใด

            4. รักษาไว้ซึ่งความซื่อสัตย์ ความเป็นอันหนึ่ง อันเดียวกัน ให้เป็นมาตรฐานสูงสุด ผู้นำหรือผู้บริหารจะถูกพิสูจน์โดยใช้ความซื่อสัตย์เป็นเกณฑ์ เป็นเครื่องวัดผู้นำที่ดีมาก เพราะมนุษย์ทุกคนมีความโลภเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ถ้าผู้นำมีความซื่อสัตย์จะเป็นผู้นำได้นาน  อย่าหมกเม็ด อย่าเก็บความลับเรื่องเงินไว้คนเดียว โอกาสพลาดเรื่องเงินจะเป็นอันตรายมาก ผู้นำอย่าถือเงิน จับเงิน หรือซื้อของ วัสดุ อุปกรณ์ด้วยตนเอง ไม่ใช่หน้าที่ ควรให้ผู้ปฏิบัติหรือผู้ร่วมงานเป็นผู้ทำในรูปของคณะกรรมการดำเนินการ   การจะทำอะไรในองค์การ ต้องให้ผู้ร่วมงานมีส่วนร่วมในการคิด รับรู้ รับทราบ ให้ข้อมูลข่าวสาร ร่วมกระบวนการตัดสินใจ เวลามีคนถามต้องตอบได้ “ต้องเป็นหนึ่งเดียว” เท่านั้น ไม่มีสองในหน่วยงานหรือองค์การ

            5. พยายามโน้มน้าวให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นผู้มีความรับผิดชอบ มีเหตุ มีผล และปฏิบัติงานให้ดีที่สุด  ผู้นำต้องหาวิธีการให้ได้มาซึ่ง “ใจ” ของผู้ใต้บังคับบัญชา การปรึกษาหารือ พูดคุย พบปะ ดูแลทุกข์สุขของผู้ใต้บังคับบัญชา การแบ่งปันให้ขวัญ กำลังใจ ให้เหมาะสมกับการปฏิบัติงาน การสร้างความสัมพันธ์ให้ผู้ใต้บังคับบัญชา เกิด “ความเข้าใจ” ให้มากที่สุด จึงจะได้ความร่วมมือที่ดี

            6. สร้างกลุ่ม (ทีมงาน) ให้มีความภาคภูมิใจในหน้าที่ มีความร่วมมือ ร่วมใจ และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  ผู้นำยุคใหม่ต้องบริหารงานแบบมีส่วนร่วม ให้กระจายอำนาจและมอบหมายหน้าที่ให้พร้อมกับมอบอำนาจในการปฏิบัติงานเป็นฝ่าย/แผนก/หมวด/งาน แล้วผู้นำคอยหมั่นกำกับ ติดตาม ตรวจสอบ  อย่าหวงอำนาจ “ผู้มอบอำนาจคือผู้มีอำนาจที่แท้จริง”  การทำงานด้วยกลุ่ม ผู้นำจะมีความสุข จะไม่แบบโลกนี้ไว้คนเดียว เป็นการสร้างทีมงาน คล้ายกับว่า “ผู้นำมีหน้าที่สร้างผู้นำ” เพราะในกลุ่มหรือทีมงานที่ปฏิบัติงาน จะต้องมีหัวหน้ากลุ่ม หัวหน้าทีมงานอยู่แล้ว จึงจะปฏิบัติภารกิจของกลุ่มได้

            7. แสดงให้ผู้ร่วมงานเห็นถึงการที่ผู้บริหารมั่นใจในความสามารถ และฝีมือของผู้ร่วมงานเพื่อให้เกิดขวัญและกำลังใจ และปฏิบัติงานเต็มความสามารถ  เป็นการมอบหมายภารกิจหรืองานสำคัญให้ผู้ร่วมงานไปปฏิบัติ โดยผู้บริหารคอยกำกับ ดูแลอยู่ห่างๆ อย่าไปจุ้นจ้าน ชี้โน่นชี้นี่อยู่ตลอดเวลา อันจะเป็นผลให้ผู้ร่วมงานไม่มั่นใจ ซึ่งต่อไปจะไม่กล้าทำงาน ทำให้งานเสียทั้งระบบได้

            8. เมื่อมีปัญหา และเหตุการณ์เร่งด่วนเกิดขึ้น ผู้บริหารต้องแสดงความรู้สึกที่เข้มแข็งและพร้อมที่จะเป็นผู้นำในการแก้ปัญหานั้น (ไม่ใช่โยนปัญหาให้ลูกน้องจัดการกันเอง)  กล้ารับผิดชอบ กล้าหาญพอที่จะผจญปัญหาอย่าหนีปัญหา ดังคำที่ว่า “ปัญหาเขามีไว้ให้แก้ ไม่ใช่มีไว้ให้แบก” ปัญหามีไว้ทดสอบความสามารถของผู้นำ ต้องเคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้ร่วมงานอย่าปล่อยให้ผู้ร่วมงานแก้ปัญหาเร่งด่วนนั้นแบบไม่มีที่ปรึกษา จะทำให้ได้ “ใจ” ของผู้ร่วมงาน ต่อไปผู้ร่วมงานก็จะทำงานแบบ “ถวายหัว” ให้ก็อาจจะเป็นได้

            9. ทำตัวให้เป็นผู้ที่มีความพร้อมในการปฏิบัติงาน มีเวลาว่างสำหรับลูกน้องให้สามารถเข้าพบได้สะดวก และสามารถให้ความกระจ่างในเรื่องของงานแก่ลูกน้องได้  ผู้บริหารโรงเรียนต้องอยู่ทำงานโรงเรียนให้มาก คอยเป็นกำลังใจให้ลูกน้องที่ปฏิบัติงาน เพราะปัญหาในการปฏิบัติงานมีมากมายที่ผู้ร่วมงานกำลังประสบอยู่ในขณะทำงาน  ให้ผู้ร่วมงานเข้าพบปะ พูดคุยกับผู้บริหารโดยง่าย อย่ามีพิธีรีตรองมาก ให้คำปรึกษาอย่างจริงจังจริงใจ กระจ่างชัดเจนจนผู้ร่วมงานพอใจ ให้ระลึกเสมอว่าคนที่มาพบผู้นำหรือผู้บริหารคือคนที่มีความทุกข์ ต้องทำให้เขาคลายทุกข์หรือยิ้มออกจากห้องให้ได้ แล้วผู้ร่วมงานจะศรัทธาผู้นำเอง

                10. พัฒนาตนเอง และนำตนเองไปสู่ความสำเร็จที่สูงสุด และทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคโลกาภิวัฒน์  ผู้นำต้องแสวงหาความรู้ข้อมูลข่าวสารอยู่เสมอ ให้เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ เพราะหน้าที่สำคัญของผู้นำคือ การตัดสินใจสั่งการ ซึ่งต้องใช้ข้อมูลข่าวสารถึง 90 เปอร์เซ็นต์  ใช้ความรู้และประสบการณ์เพียง 10 เปอร์เซ็นต์ และมีผลแห่งความสำเร็จหรือล้มเหลวรอคอยอยู่ ผู้นำไม่มีสิทธิตัดสินใจพลาด มีแต่คำว่า “ถูกต้องเท่านั้น” จึงจะทำให้องค์การพัฒนาไปอย่างมีประสิทธิภาพและสัมฤทธิผลในที่สุด

หมายเลขบันทึก: 344765เขียนเมื่อ 16 มีนาคม 2010 14:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 15:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท