การเสริมสร้างวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนา


การส่งเสริมให้วัฒนธรรมมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาคนและพัฒนาประเทศเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นเพราะจะทำให้การพัฒนายืนอยู่บนรากฐานของตนเองและภูมิปัญญาของชุมชนและสังคม

การเสริมสร้างวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนา

         การส่งเสริมให้วัฒนธรรมมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาคนและพัฒนาประเทศเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นเพราะจะทำให้การพัฒนายืนอยู่บนรากฐานของตนเองและภูมิปัญญาของชุมชนและสังคม ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืนในระยะยาว โดยจะต้องมีการดำเนินงานในลักษณะที่เป็นองค์รวม คือการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและสร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัวและชุมชน รวมทั้งสนับสนุนให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการทำนุบำรุงวัฒนธรรมอันดีงามทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น มีโลกทัศน์ทางวัฒนธรรมที่กว้างขวาง และรู้จักเลือกสรรไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาตนเองและสังคม ซึ่งมีแนวทางการพัฒนาหลักดังนี้

1.      การเสริมสร้างวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาคนและสังคม โดย

          1.1    การเสริมสร้างสมรรถภาพของชุมชนหรือสังคมให้เข้มแข็งสามารถพึ่งตนเองโดยตระหนักถึงสิทธิและหน้าที่ทั้งต่อตัวเองและสังคม เพื่อให้เป็นฐานของการพัฒนาชุมชนต่างๆ ทั้งในเมืองและชนบท

          1.2    การสนับสนุนเวทีวัฒนธรรมในรูปแบบที่หลากหลาย เช่น การ สนับสนุนกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่ริเริ่มโดยชุมชนท้องถิ่น การสร้างเวทีเสนอผลงานและเผยแพร่งานด้านศิลปวัฒนธรรม การพัฒนาระบบจูงใจและกระบวนการสร้างสรรค์ด้านศิลปวัฒนธรรมแก่การสร้างผลงานที่มีคุณค่าต่อสังคม

          1.3    การส่งเสริมการพัฒนาอย่างสมดุลระหว่างคน เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

                   (1)     สนับสนุนการวางกฎเกณฑ์การอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลระหว่างคน  ชุมชน กับทรัพยากรธรรมชาติ และระหว่างกลุ่มคนในสังคม โดยใช้หลักความร่วมมือของ
ประชาชนเป็นแนวทางในการดูแลพฤติกรรมของสมาชิกในชุมชน

                   (2)     สนับสนุนการปรับปรุงกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้รับผิดชอบต่อคน สังคม ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจนั้นๆ

           1.4    การส่งเสริมการใช้สื่อที่มีคุณภาพในการเผยแพร่คุณค่าของวัฒนธรรม

                   (1)     ส่งเสริมให้มีสื่อคุณภาพที่น่าสนใจและมีลักษณะหลากหลายเพื่อ
ถ่ายทอดและปลูกฝังคุณค่าที่ดีงามและค่านิยมที่เสริมสร้างความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย และกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ให้เกิดความเข้าใจซาบซึ้งและนำไปปฏิบัติร่วมกันได้

                   (2)     ส่งเสริมวัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์เพื่อให้สามารถควบคุมคุณภาพของสื่อมวลชนและเพื่อให้ประชาชนสามารถเลือกรับข้อมูลข่าวสารที่มีคุณภาพ

                   (3)     สนับสนุนให้สื่อร่วมกันตรวจสอบคุณภาพ มาตรฐานของข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่เผยแพร่ออกสู่ประชาชน

2.      การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับวัฒนธรรมและนำมิติทางวัฒนธรรมมาใช้ในการพัฒนา โดย

          2.1    ปรับเนื้อหาสาระหลักสูตรการศึกษาทุกระดับให้เชื่อมโยงกับวัฒนธรรม โดยการปรับกระบวนการเรียนรู้ที่ใช้ความจริงเป็นหลักและมีการเรียนรู้จากรากฐานทางวัฒนธรรม

          2.2    ส่งเสริมการวิจัย การรวบรวมข้อมูลข่าวสารความรู้ รวมทั้งการสังเคราะห์ข้อมูลข่าวสารและผลการวิจัยเพื่อเสริมสร้างภูมิปัญญาให้สูงขึ้น

          2.3    สนับสนุนให้มีเวทีแลกเปลี่ยนความคิดอย่างสม่ำเสมอ และการสร้างสื่อสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรม

          2.4    ส่งเสริมวัฒนธรรมกับการท่องเที่ยวและการพัฒนาประเทศด้านเศรษฐกิจและสังคม

3.      การพัฒนาและสร้างความภาคภูมิใจในศิลปวัฒนธรรมไทย โดย

          3.1    สนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างรัฐและท้องถิ่นในการทำนุบำรุงสร้างสรรค์และพัฒนาโบราณสถาน พิพิธภัณฑสถาน หอสมุด ฯลฯ

          3.2    เผยแพร่คุณค่า รักษา สืบทอดเอกลักษณ์ความเป็นไทยและการสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมสาขาต่างๆ ขึ้นมาใหม่ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตปัจจุบันและอนาคต

 4.      การเสริมสร้างความภาคภูมิใจในความเป็นไทยและการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลก รวมทั้งการขยายโลกทัศน์ทางวัฒนธรรม โดย

          4.1    ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจถึงรากฐานวัฒนธรรมระดับชาติ ระดับท้องถิ่น และประโยชน์ของวัฒนธรรมที่มีต่อชุมชน และการยอมรับวิถีชีวิตที่แตกต่างหลากหลายภายในสังคม

          4.2    สนับสนุนการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ สร้างความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดี
เกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยกับนานาชาติ และให้สามารถรับวัฒนธรรมต่างชาติมาประยุกต์ใช้อย่างรู้เท่าทัน

          4.3    ส่งเสริมการท่องเที่ยวและการสัญจรทางวัฒนธรรมเพื่อสร้างจิตสำนึกความรู้ ความเข้าใจ เกิดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่เป็นรากเหง้าของวิถีชีวิตภูมิปัญญาดั้งเดิมของตนเองและผู้อื่น รวมทั้งดูแลป้องกันและแก้ไขผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกิจกรรม
ดังกล่าว

5.      การพัฒนาการบริหารจัดการด้านวัฒนธรรม โดย

          5.1    สนับสนุนการจัดทำและประสานแผนปฏิบัติการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และแนวทางด้านวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนา

          5.2    ส่งเสริมและประสานชุมชนและองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นให้มีความรู้ความ
เข้าใจและขีดความสามารถในการสร้างสรรค์วัฒนธรรมเพื่อท้องถิ่น

          5.3    สนับสนุนการระดมทุนเพื่อเพิ่มวงเงินกองทุนวัฒนธรรมให้มีจำนวนมาก
เพียงพอต่อการส่งเสริมวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนา

          5.4    สนับสนุนให้มีการแก้ไขกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติ กฎกระทรวง และมติคณะรัฐ-มนตรีที่เกี่ยวข้องกับงานด้านวัฒนธรรม ให้มีความชัดเจนและมีความเป็นเอกภาพ รวมทั้ง
ดำเนินการกระจายอำนาจ เพื่อช่วยให้การบริหารงานด้านวัฒนธรรมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

          5.5    สร้างระบบฐานข้อมูลที่สมบูรณ์เกี่ยวกับทรัพยากรทางวัฒนธรรมและสร้างดัชนีชี้วัดด้านวัฒนธรรมกับการพัฒนาเพื่อประโยชน์ในการบริหารงานและการติดตามประเมินผล

          5.6     ระดมสรรพกำลังในการดำเนินงานวัฒนธรรม โดยเปิดโอกาสให้ประชาชน สถาบันสังคม หน่วยงานภาครัฐ ธุรกิจเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชนทุกแห่งเข้ามามีส่วนร่วมตามความสามารถ ความถนัดและความสนใจด้วยการยอมรับนับถือซึ่งกันและกัน

หมายเลขบันทึก: 344761เขียนเมื่อ 16 มีนาคม 2010 13:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 13:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท